กัลยา ใหญ่ประสาน จากสหายหญิงเดือนตุลาฯ ถึง สว. ประชาชน “การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากฐานราก”

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ

อ้อย-กัลยา ใหญ่ประสาน ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มอาชีพทำนา และปลูกพืชล้มลุก โดยมีความหวังว่าถ้าเข้าสู่กลไกในระบอบรัฐสภาแล้ว เราอาจจะเข้าใกล้ความเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

ภูมิหลังของกัลยา ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กัลยามีบทบาทสำคัญในฐานะนักเรียนที่สนใจการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ปราศจากการครอบงำของเผด็จการทหาร โดยมุ่งหวังว่าประชาธิปไตยจะเป็นฝันอันสูงสุด ก่อนที่ความมืดจะเข้าครอบงำและตอบแทนด้วยความรุนแรงทั้งก่อนและหลังการนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 กัลยาเองก็เป็นหนึ่งคนที่ต้องพาตัวเองเข้าสู่ป่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในฐานะสหาย ก่อนที่จะโบกมือลากลับคืนรังมาทดลองทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่บ้าน และขับเคลื่อนงานภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงบทบาทใหม่ที่เธอได้รับมาอย่างการเป็นสว. ที่พ่วงท้ายคำว่า “ประชาชน”

แม้จะได้รับตำแหน่ง สว. ได้ไม่นาน แต่กัลยาก็พร้อมที่จะพุ่งเข้าใส่ทันทีเมื่อมีโอกาสในการอภิปรายทั้งการผลักดันด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เสนอให้รัฐลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตร การผลักดันเทคโนโลยีและตลาดในพืชเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนืออย่าง การแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างบูรณาการ ปัญหาทุนจีนที่รุกคืบในด้านการค้าต่างๆ ทั้งด้านการนำเข้าสินค้าด้านการเกษตรที่ไม่มีการตรวจสอบสารเคมี รวมไปถึงการรุกคืบของทุนจีนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ และขอย้ำว่า สว. เพิ่งมีการปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมาร่วมระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น!

Lanner เลยขอพูดคุยในวาระที่เดือนตุลาคมหมุนวนมาอีกครั้ง 51 ปีแห่งความหลัง 14 ตุลาคม 2516 และ 48 ปีของความเจ็บปวด 6 ตุลาคม 2519 ตุลาไปถึงไหน ประเทศไทยไปยังไง?  ความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงยังอยู่ แต่รูปแบบกลับเปลี่ยนไป

“แน่นอนเรายังเชื่อจากพลังจากข้างในจิตใจเรายังอยากเห็นสังคมดีขึ้น เรายังมีความเชื่อแบบเดิมยังอยากทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าเราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องมาจากฐานรากจริงๆ ทั้งเรื่องความคิด อุดมการณ์ กฎหมาย และสำนึกที่ดี”

ตอนเด็กๆ เป็นคนแบบไหน มันมีอะไรที่ขัดเกลาตัวเรามาบ้าง

เราเกิดและโตที่จังหวัดลำพูน พ่อเป็นครูประชาบาล แม่เป็นเจ้าของปั้มน้ำมัน ตัวเองจึงมีโอกาสมากกว่าเด็กคนอื่นๆ ได้ไปดูหนังไปซื้อหนังสือที่เชียงใหม่บ่อยๆ เราเรียนมัธยมที่โรงเรียนจักรคําคณาทร ที่บ้านมีโทรศัพท์เป็นเครื่องที่ 7 ของจังหวัดลำพูน และก็มีโทรทัศน์เราจึงรับรู้ข่าวสารเร็วกว่าใคร ทุกคนก็มาฟังข่าวสารที่บ้านเรา แต่ตอนนั้นเรากลับมีความคิดว่าชีวิตมันว่างเปล่าจังเลย ประจวบเหมาะที่เราสนิทกับคุณย่ามากเขาสอนแต่สิ่งดีๆ กับเราเลยรู้สึกว่าอีกไม่นานคนเราก็ตายเลยอยากจะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมบ้าง

ด้วยความคิดแบบนี้ตอนเด็กเราจึงเป็นนักกิจกรรมตัวยงในโรงเรียน ทำกิจกรรมทุกอย่างทั้งเล่นดนตรี กีฬา เคยเป็นทั้งหัวหน้าห้องและประธานนักเรียน มีอะไรให้ทำก็ทำหมด

เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนไหน

ตอนนั้นเราเรียน มศ.3 แล้วก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีหัวหน้าห้องคนหนึ่งเอาบทกวีและภาพถ่ายของเหตุการณ์มาแปะบนบอร์ดที่ดรงเรียน เราเลยอยากร่วมสนับสนุนบ้างเลยเรี่ยไรเงินคนในโรงเรียนคนละหนึ่งบาท ก่อนนำไปมอบให้กับนักศึกษาที่เชียงใหม่

หลังจากเกิด 14 ตุลาฯ ก็มีโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยออกสู่ชนบท เขาส่งหนังสือเชิญชวนมาที่โรงเรียนเพื่อมาชวนเราไปด้วย เพราะเรามีชื่อเป็นผู้บริจาคเงินให้กับวีรชน 14 ตุลาฯ ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นจบ ม.ศ. 3 แล้ว สอบได้ที่ 1 ของจังหวัดลำพูนด้วยนะ เราก็ขอพ่อกับแม่ว่าอยากมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ประชาธิปไตย พ่อแม่ก็ให้เราไป ตอนนั้นก็ไปเจอนักเรียน นักศึกษาทั้ง 8 จังหวัด เจอหลายคนมาก ทั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย, ธงชัย วินิจจะกูล และรุ่นพี่นักศึกษา มช. พวกพี่ๆ กลุ่มนี้ไปเป็นวิทยากรให้กับค่ายนี้

การไปค่ายครั้งนั้นเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหม่มาก เราได้เรียนรู้เรื่องระบอบเสรีนิยม สังคมนิยม ประชาธิปไตย เกิดความชอบเพราะตั้งแต่เกิดมาไม่รู้จักเรื่องพวกนี้เลย สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือการเอาบทกวีไปติดข้างฝาให้เราได้เดินอ่าน เช่นกวีเปิบข้าว ของ จิตร ภูมิศักดิ์ และมีนิยายให้อ่านเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งที่ตื่นเต้นมากกว่าคือการออกเผยแพร่ประชาธิปไตยหลังจากค่าย

เราอยากรู้ว่าชีวิตในพื้นที่ชนบทเป็นยังไงเพราะอยู่แต่ในเมือง เราได้ไปลงพื้นที่ในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน พื้นที่ที่ห่างจากตัวเมืองไม่กี่กิโลแต่เราเห็นว่าชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีถนน และเดือดร้อนมาก ถูกขูดรีดมากมายเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่นั้นเขาปลูกยาสูบต้นทุนและกำไรของชาวบ้านถูกกำหนดโดยนายทุนหมด ทั้งปุ๋ยและยาถูกกดราคาช่วงที่เราลงพื้นที่ไปช่วยเขาทำไร่มันร้อนมาก เราเลยตั้งคำถามว่า “ทำไมรายได้ กับหยาดเหงื่อของชาวบ้านที่เสียไป ถึงไม่คุ้มค่ากันเลย” 

สิ่งที่ตกใจมากขึ้นไปอีก คือเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเวลาเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านก็ต้องไปหาเป็ดไก่มาให้เพราะกลัวจะถูกรังแกและถูกเอารัดเอาเปรียบ เราจึงเห็นว่าโลกของชนบทมันต่างกับเมืองที่เราอยู่มาก ตอนที่กลับออกมาสรุปงาน เราเลยคุยกับรุ่นพี่ว่าจะไม่เรียนแล้ว ออกจาก มศ. 3 นั้นแหละ แต่เราไม่รู้ว่าจะช่วยชาวบ้านยังไง รุ่นพี่เขาก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากมันจำเป็นต้องหาเพื่อน เครือข่ายและความรู้ในโรงเรียนอีกมากและถ้าออกเรียนไม่รู้จะรอดหรือเปล่า เราจึงกลับไปเรียนแต่ก็โดดเรียนเพื่อไปช่วยชาวบ้านเป็นประจำ

พอช่วงที่เรากลับไปเป็นนักเรียนเราทำกิจกรรมในโรงเรียน การต่อสู้ช่วงนั้นมันแหลมคมมาก พวกพี่ๆ ไปตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) ส่วนนักเรียนอย่างพวกเราก็ตั้งศูนย์นักเรียนฯ ถูกเพ็งเล็งอย่างมาก ผอ.โรงเรียนจักรคำฯเขาเองก็มีคู่มือปราบคอมมิวนิสต์และจับตาดูการเคลื่อนไหวของพวกเราอยู่เสมอ

ช่วงนั้นปี 2518 ในลำพูนมีกรณีเหมืองแร่ดีบุกหมู่บ้านแม่สะป๊วด ตำบลแม่สะป๊วด อำเภอแม่ทา (เหตุการณ์ที่ผู้นำชาวนาและนักศึกษารวม 9 คน ถูกตำรวจจับกุมที่ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2518 ทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัว ก่อนถูกปลอยตัวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2518) พี่สาวของเราก็โดนหมายจับของตำรวจ มีการส่งหมายจับมาที่บ้านเรา ตอนนั้นพี่สาวเรียนอยู่คณะเกษตรศาสตร์ มช. เลยตัดสินใจเข้าป่า ส่วนเราก็ถูกเพ็งเล็งมากขึ้น เจ้าหน้าที่เขารู้ว่าเราสนับสนุนการเคลื่อนไหวหลายอย่าง เราถูกคุกคามจากหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มนวพลกับกลุ่มเจ้าที่ดิน และถูกประกาศว่าบ้านเราเป็นคอมมิวนิสต์ พ่อแม่ถูกเรียกไปอบรมอยู่บ่อยครั้ง

ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา นักศึกษาหนีเข้าป่ากันตอนนั้นเราเองก็เข้าป่าไปเลยไหม

ช่วงนั้นเราไปเรียนคณะเกษตรศาสตร์ มช. เหมือนกับพี่สาว แต่เราไม่ชอบระบบโซตัส เลยไม่ได้ทำกิจกรรมในมหา’ลัย แต่ไปทำกิจกรรมในต่างจังหวัด ได้ไปเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมหลายอย่างได้อ่านหนังสือชีวทัศน์เยาวชน มันจึงกล่อมเกลาให้เรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม

ก่อนเกิด 6 ตุลาฯ เรากำลังไปเตรียมงานรำลึก 14 ตุลาฯ ที่จังหวัดเชียงรายกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเชียงรายตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว พอวันที่ 6 ตุลาฯ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่านักศึกษาถูกปราบปรามอย่างนัก เห็นรูปถ่ายเหตุการณ์ความรุนแรงเยอะมาก

ตอนนั้นเรามีความคิดที่สุกงอมมากและไม่อยากเรียนหนังสือ อยากจับอาวุธต่อสู้กับรัฐ กลับมาที่ลำพูนก็ได้ข่าวว่าเพื่อนเราเข้าป่าไปหมดแล้ว เราจึงกลับมาเก็บของที่หอหญิง พอเข้าไปในหอพบว่าข้าวของเครื่องใช้ถูกค้นกระจุยกระจายหมด เจ้าหน้าที่บอกว่าเรามีเอกสารลับอยู่เลยต้องมาค้น แต่ไม่ใช่อะไรหรอกเราชอบอ่านหนังสือชอบแลกเปลี่ยนกับน้องๆ นักเรียนผ่านจดหมาย เลยมีจดหมายกองอยู่ที่ห้องมากมายก่ายกอง เขาก็เลยกล่าวหาเราว่าเป็นจัดตั้ง

เราจึงไปหลบอยู่บ้านยายเพื่อรอคำสั่งให้เข้าป่า กลับมีคนไปฟ้องว่าเรามาหลบอยู่ตรงนี้ เรารู้สึกว่าหลบที่นี่มันไม่ปลอดภัย น้าเราจึงขับรถออกมาจากในเมืองเพื่อหนีออกมา หลังจากเราหนีเพียงหนึ่งวันทหารหนึ่งกองร้อยเข้าไปล้อมบ้านยาย หลังจากนั้นเราไปหลบอยู่ในเมืองเชียงใหม่ มีคนรู้จักบอกว่าให้ไปหลบอยู่ที่นั้นเดี๋ยวจะมีคนมาติดต่อ คนที่มาติดต่อเป็นเพื่อนเราเรียนอยู่คณะวิศวะ มช. มาถามเราว่า “พร้อมเข้าป่าหรือยัง”

เรารอจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2519 เพราะตอนนั้นด่านตรวจมันจะโล่ง เนื่องจากเป็นวันเฉลิมฉลอง ตอนนั้นที่เข้าป่ามีทั้งหมด 3 คนเป็นผู้หญิงหมดเลย ตอนนั้นเรามีความเชื่อในแนวทางป่าล้อมเมือง และเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์มากๆ เราเห็นภาพความสำเร็จที่จีน เวียดนาม เลยคิดว่าจะเป็นลูกที่ดีของพรรคฯ ตอนนั้นเราเข้าไปในเขตงาน “ปกาเกอะญอ” ในอำเภอม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านประทับใจและรักเรามากเราช่วยชาวบ้านหลายอย่าง ทั้งสร้างโรงเรียนทำให้เด็กรู้ภาษา เขาเรียกเราว่า “นักศึกษา” ไม่ได้เรียกว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์

ออกจากป่าเมื่อไหร่

เราออกมาจากป่า เมื่อปี 2523 แต่ไม่ได้ออกตาม 66/23 นะ เพราะตอนนั้นยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมาย แต่เราออกจากป่าเพราะเรากับเพื่อนๆ ทะเลาะกับพรรคฯ ตอนนั้นเพื่อนเราคนหนึ่งป่วยแต่หมอของพรรคฯ บอกว่าจะฝั่งเข็มรักษาแบบแพทย์แผนจีน แต่เพื่อนเขาต้องการใช้ยาแต่กลับใช้ไม่ได้เพราะมันขัดกับอุดมการณ์พรรคฯ เราก็คิดว่าจะมาเอาอุดมการณ์อะไรกับคนเจ็บป่วย

ประจวบกับตอนนั้นพรรคฯ ได้มีการประชุมกับฝ่ายเวียดนาม เขาบอกว่าพวกนักศึกษาไม่เคารพพรรคฯ อีกเรื่องคือเขาห้ามไม่ให้เราฟังวิทยุ พรรคฯ บอกว่าเพราะจะทำให้จิตใจสับสนโลเล แต่คนของพรรคฯ หลายคนก็ขัดกันเองหลายอย่างมาก เรากับเพื่อนก็เข้าไปถกเถียงแต่หลายคนกลับถูกห้าม ทั้งๆ ที่เพื่อนเราหลายคนเป็นคนมีความรู้อย่างมาก เช่น แปลแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เป็นภาษาปกาเกอะญอ หลายคนขยันทำงาน เขายังกีดกันคนที่ไม่เห็นตรงกับพวกเขา พวกเราเลยรวมตัวกันจะฟ้องจัดตั้งและรายงานให้กับจัดตั้งใหญ่ได้รับรู้

อีกข้อสำคัญก็คือแกนนำพรรคฯ หลายคนเขาเสพสุข ทั้งๆ ที่พวกเรายากจนกันมาก เขาสั่งข้าวในเมืองเข้ามากิน และไม่ให้พวกเรามีการประชุม เขามีแนวคิดแบ่งแยกและปกครอง เราเลยตัดสินใจออกจากป่าและลงมาเจออีกเขตงานหนึ่งเราเล่าเรื่องราวให้เขาฟังเขาก็บอกว่าจะจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทำให้เรามีความหวัง ตอนนั้นประจวบเหมาะกับพี่สาวเป็นคนส่งข้าวจากเมืองสู่ป่าเราเลยขอเงินกลับขึ้นไปเขตงานเดิม พอเรากลับขึ้นไปคนของพรรคฯ กลับบอกเราว่าเราเป็นสัมพันธ์ขวาและปฏิปักษ์ต่อพรรคฯ เราถูกยึดอาวุธไม่ให้ทำงานมวลชนไม่ให้คุยกับชาวบ้าน เรารู้สึกห่อเหี่ยวมาก เรามีความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วจึงออกมาจากป่าตอนแรกเราไปหลบที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่เพราะไม่อยากขายความลับพรรคฯ

จากป่าสู่เมือง เริ่มต้นชีวิตใหม่ยังไง

ตอนออกมาจากป่าเรามีความฝันแบบยูโทเปียเลยอยากทำสวนแบบปกาเกอะญอเลยขอที่ดินพ่อทำสวนแบบที่เราทำกับชาวปกาเกอะญอตอนอยู่ป่า ผนวกกับตอนนั้นลำพูนมีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือทำให้คนหลั่งไหลจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรม แล้วภาคเกษตรตอนนั้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเยอะมากและได้ผลผลิตน้อย ตอนนั้นเรามีความคิดว่าไม่อยากทำตามระบบทุนเราไม่อยากทำธุรกิจแบบนายทุนขูดรีดอยากทำตามความฝันของตัวเองโดยที่ไม่เอาเปรียบใคร เลยมาทำการเกษตร พอเราเข้าไปทำจริงๆ ปรากฎว่าเจอสภาพที่ไม่ดี หน้าฝนดินก็เละ หน้าแล้งดินก็แตกระแหง ตอนแรกเราเอากล้วยมาปลูกก็ตาย เอามะม่วงมาปลูกก็ตายหมด เราเลยปลูกถั่วให้ดินมันฟื้นฟูก่อนเพราะเพื่อนที่ทำงานอยู่กรมปศุสัตว์เขาแนะนำ ปรากฎว่าตอนนั้นสวนเรามีแต่หญ้าป่ารกร้างเลยเพราะเป็นช่วงฟื้นฟูดิน (หัวเราะ) ช่วงนั้นเราได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Silent Spring แปลเป็นไทยว่า “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน” ของราเชล คาร์สัน เขาเล่าว่าอเมริกาใช้สารเคมีทางการเกษตรแล้วเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล เราจึงได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ว่าจะทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี

พอดินกลับมาฟื้นฟูบวกกับที่เราได้แรงบันดาลใจในการไม่ใช้สารเคมีในการปลูกพืชและแนวคิดแบบปกาเกอะญอที่อยากกินอะไรก็ปลูก เพราะเรามีความคิดที่ตั้งไว้ว่าอยากลดค่าใช้จ่ายและพึ่งพาตนเองผนวกกับตอนนั้นไร่ของเราเริ่มมีผลผลิตขึ้นมา ครอบครัวเรากินที่นี่ก็ไม่เคยป่วยเลย ตอนนั้นมีเพื่อน ‘สหายหมอก’ ชญาณิฐ สุนทรพิธ มาขุดหน่อที่นี่บ่อยๆ แนะนำให้เราเปิดร้านอาหาร บวกกับตอนหลังมาเริ่มมีกระแสชีวจิตแนวสุขภาพ 

เราจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพในปี 2540 ทำอาหารพวกแกงพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้านหลายอย่าง เราเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงได้ เพราะคนไม่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เราพยายามวัตถุดิบให้ปลอดภัย อยากให้คนมากินรักษาวิธีชีวิตแบบดั้งเดิมและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตอนนั้นเราทำการตลาดด้วยการนำสีเทียนไปเขียนบนป้ายผ้าก่อนนำไปแขวนตามสี่แยกตามที่คนชุกชุม คนก็มาร้านเยอะขึ้น ตอนทำงานร้านเราก็ได้รู้จักเครือข่ายเกษตรมากขึ้น วัตถุดิบก็มาจากเครือข่ายที่ทำเป็นเกษตรอินทรีย์ เนื้อสัตว์ก็จะเน้นเป็นปลาจะเป็นวัตถุที่คนตัวเล็กยังรักษาวิถีชีวิตที่ปลอดภัย ตอนนั้นเราเชื่อว่านี่คือคำตอบของโลกที่โลกจะไม่ถูกทำลายคนจะเกื้อกูลกัน แต่ตอนนั้นลูกโตขึ้นและต้องเรียนระดับปริญญาก็เลยต้องยุติกิจการชั่วคราว

ช่วงที่ยุติกิจการเราก็ไปช่วยแม่ ตอนนั้นแม่เราเป็นนายหน้าขายที่ดิน เราต้องหาเงินส่งลูกเรียนหนังสือ ตอนนั้นเราก็ออกจากวิถีนี้ไปพักหนึ่งเลย แต่พอมาช่วงปี 2548 เราก็กลับมาทำร้านอาหารและบ้านพักชื่อ โขงสาละวิน แต่ก็อยู่ได้ประมาณ 2 ปีเพราะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว 

ช่วงนั้นหลังจากร้านปิด ช่วงปี 2552-2553 เราตัดสินใจสินใจเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เพราะเรียนไม่จบปริญญาตรีที่ มช. และต่อปริญญาโท หลังจากนั้นสถาบันวิจัยหริภุญชัยที่เป็นเครือข่ายเราช่วงทำร้านอาหารก็เชิญเราไปเป็นนักวิจัยเพื่อหาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน หลังจากจบงานวิจัยเราไปทำงานหลายอย่างในภาคประชาสังคม และได้เป็นนายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ในปี 2557 ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยทั้งจังหวัด รวมไปถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัย

อะไรเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจลง สว. และทำไมถึงเลือกกลุ่ม 5 อาชีพทำนาและปลูกพืชล้มลุก 

ตอนแรกเราไม่ได้อยากเป็นนะ เราอยากสู้ในภาคประชาชนมากกว่า แต่จุดเปลี่ยนทางความคิดของเราคือเราได้มีโอกาสไปฟัง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก ilaw ในช่วงการรณรงค์แคมเปญสมัครเพื่อเปลี่ยน จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ เขาบอกว่าเขาอายุไม่ถึง 40 ไม่สามารถลงสมัคร สว.ได้ ตอนนั้นเรามีความคิดที่ว่าอายุก็ถึงแล้วทำไมไม่ไปลง เด็กๆ หลายคนก็สนับสนุนเรา เราจึงตัดสินใจไปลงสมัคร สว. เราผ่านเข้าไปถึงระดับจังหวัด ตอนนั้นเราเชื่อว่าอย่างน้อยเราเข้าไปได้ก็เข้าไปเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างได้ ตอนนั้นไม่ได้คิดนะว่าจะไปเป็น สว. ขอแค่เข้าและได้ไปเลือกคนที่มีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงก็พอ

อีกอย่างที่ตัดสินใจลง สว. เพราะมีปัญหาอย่างหนึ่งที่เราพบคือภาครัฐไม่มีเรื่องแนวคิดเกษตรอินทรีย์เลย ดูดายและไม่ทำอะไรเลย เราเลยมีความรู้สึกไม่ค่อยดีกับภาครัฐ แต่ละนโยบายที่ออกมาก็ผิดทิศผิดทางไม่เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่มีแต่นโยบายที่เดินทางระบบทุน ทั้งเกษตรแปลงเดียวหรือพืชเชิงเดียว เราจึงเป็นเหมือนภาคประชาสังคมที่คอยคัดค้านนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับเกษตรยั่งยืน มีการออกไปม็อบต่อต้านสารเคมีกันบ่อย เพราะเราต้องไปผลักดันเรื่องอาหารปลอดภัย

ด้วยความที่เราอยากผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืน และเราเคยทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรหลากหลายกลุ่ม เคยเป็นนักวิจัยและนายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เคยเป็นประธานสมัชชาสุขภาพ อย่างที่บอกไปตอนแรก เราก็ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยจนกระทั้งปีตั้งแต่ปี 2557-2565 พอเราเข้ามาขับเคลื่อนตอนนี้มันทำให้เราเห็นว่ารัฐเอื้อระบบทุนไปหมดเลย ถ้าอยากกินอาหารปลอดภัยมันแทบเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจลงสมัครกลุ่มนี้ คือกลุ่ม 5 อาชีพทำนาและปลูกพืชล้มลุก

ตอนลงสมัครคิดว่าจะได้เป็น สว.ไหม

ตอนแรกที่สมัครเข้ามาเราคิดว่าเราไม่น่าจะได้นะ เรารู้สึกโชคดีนะที่ได้เป็น สว. เพราะเห็นกติกาแล้วเรารู้สึกว่ามีการเตี้ยมกันอยู่และกฎกติกาก็มีความไม่เป็นธรรมเป็นระบบที่ไปเพื่อเลือกกันเอง แถมมีเงื่อนไขต้องจ่ายค่าสมัครถึง 2,500 บาทก็เป็นการตัดสิทธิ์หลายคนที่อยากสมัครแต่เราก็สู้ไม่ถอยนะ เรามองว่าถ้าได้คนที่มีความคิดเก่าๆ ที่เข้ามาเพื่อชื่อเสียงหน้าตาสังคมก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เพื่อนสนิทเราก็พยายามช่วยให้เพื่อนๆ ที่สมัคร สว.คนอื่นๆ มาเลือกเรา อีกอย่างเราจับสลากเราไม่ได้เจอสายแข็ง อย่าง ตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการใหญ่

แสดงว่าความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมยังมีอยู่เสมอ?

แน่นอน เรายังเชื่อจากพลังจากข้างในจิตใจเรา ยังอยากเห็นสังคมดีขึ้นอยู่ เรายังมีความเชื่อแบบเดิม ยังอยากทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าเราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องมาจากฐานรากจริงๆ ทั้งเรื่องความคิด อุดมการณ์ กฎหมาย และสำนึกที่ดี

ถ้าถามว่าการออกมาเป็น สว. มันมีอะไรเปลี่ยนไปไหมก็อาจจะมีเปลี่ยนไปบ้าง อย่างการติดต่องานกับราชการก็ง่ายขึ้น เพราะตอนเราทำงานภาคประชาสังคมเขาไม่คุยกับเราเลย แต่พอเราได้มาเป็น สว. ข้าราชการก็ยอมรับและพูดคุยกับเรามากขึ้น “แต่เราต้องไม่ลืมตัวนะ เราต้องให้ชาวบ้านและประชาชนมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือกับเราให้ได้มากที่สุด”

อย่างเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เราอยากเห็นการร่างใหม่ที่มาจากประชาชน เพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ต้องบอกว่ามันมีความยากขึ้นมากเพราะถือว่ามันเป็นเกมส์อย่างหนึ่ง แต่ทิศทางในอนาคตยังไงสังคมมันก็ต้องเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนที่ละหมวดที่ละมาตราหรือทั้งฉบับยังไงก็ต้องเปลี่ยน เราก็อยากใช้กลไกของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงจะมากจะน้อยแต่มันก็ต้องเปลี่ยนแปลง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง