เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 12:30 – 16:30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคาร 50. ปีรัฐศาสตร์ฯ โดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Friedrich Naumann Foundation กับ Locals Thai PBS และ สถานบันพระปกเกล้า ร่วมจัด “เวที The Voice เลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ 2568” เพื่อนำเสนอทิศทางการกระจายอำนาจและข้อเสนอนโยบายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้จังหวัดเชียงใหม่จากพรรคการเมือง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
ช่วงมองพรรคมองเชียงใหม่จะเอาจะใดกับทิศทางกระจายอำนาจ
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวบนเวทีว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.) โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้มีงบประมาณ อำนาจ และบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เขายังกล่าวถึงความพยายามของชาวเชียงใหม่ในการผลักดัน พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร เพื่อเสริมสร้างอำนาจในการบริหารงานของท้องถิ่น ซึ่งยังมีปัญหาหลายด้านที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เชียงใหม่ติดอันดับ 3 ของประเทศ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น น้ำท่วม
นอกจากนี้ยังเน้นถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเชียงใหม่ ที่ติดอันดับ 67 ในด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เขาจึงย้ำว่า การเมืองท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม (เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5) และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อให้ชาวเชียงใหม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณและนโยบายต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
หัวหน้าพรรคประชาชนได้ตั้งคำถามถึงนโยบาย “ผู้ว่า CEO” ว่าจะตอบโจทย์การกระจายอำนาจจริงหรือไม่ โดยยกประเด็นอำนาจทับซ้อนระหว่างผู้ว่าราชการที่แต่งตั้งจากกรุงเทพฯ กับนายกอบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เขาตั้งคำถามว่า ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางหรือผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจะสามารถเข้าใจและแก้ไขปัญหาของชาวเชียงใหม่ได้ดีกว่ากัน การตั้งคำถามนี้เป็นการเรียกร้องให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีความชัดเจนและจริงใจในการบริหาร โดยเฉพาะในการรวมอำนาจการบริหารไว้ที่นายกอบจ. เพื่อให้การบริการสาธารณะและการจัดการต่าง ๆ ใกล้ชิดกับประชาชนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เขายังยกปัญหาน้ำประปาสะอาดที่ขาดแคลนในหลายพื้นที่ และการขาดแคลนบริการน้ำประปาที่มีความแรงเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน
“ปัญหาการขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่และเสนอให้ อบจ. มีอำนาจในการจัดการเดินสายรถเมล์เอง ซึ่งพรรคประชาชนเคยเสนอการผลักดันกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สามารถจัดการปัญหาชีวิตของประชาชนได้ โดยเชื่อว่า การมีศูนย์ทันตกรรม ศูนย์กายภาพ และศูนย์ฟอกไตทั่วถึงในทุกอนามัยจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ นายกหรือผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้ว่า CEO”
ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความสำคัญของเชียงใหม่ในฐานะจังหวัดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ 25 อำเภอ ครอบคลุมกว่า 22,440 ตารางกิโลเมตร และประชากรเกือบ 4 ล้านคน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ เชียงใหม่ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของภาครัฐ แม้การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและการส่งออก แต่เชียงใหม่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายหมื่นล้านบาท ดนุพรยังเน้นถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 2500 โดยมาตรา 78 ซึ่งระบุให้ภาครัฐกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดูแลตัวเองได้
การกระจายอำนาจถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญปี 2540 และถึงแม้จะผ่านมาแล้วกว่า 28 ปี ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาในการกระจายอำนาจ เนื่องจากการปกครองของประเทศยังไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ในหลายยุคหลายสมัย การปกครองของประเทศมักจะเปลี่ยนแปลงจากการปกครองแบบคณะปฏิวัติ ซึ่งจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ทำให้การกระจายอำนาจถูกบั่นทอนในบางช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำการเมืองมาอย่างยาวนานยังคงยืนหยัดในแนวคิดการกระจายอำนาจ ซึ่งมีความสำคัญในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงมีความสำคัญ เพราะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้การกระจายอำนาจมีความสำคัญในการส่งเสริมการบริหารจัดการ
“การกระจายอำนาจนี้แบ่งออกเป็นหลายด้าน เช่น การกระจายทรัพยากรและการกระจายงบประมาณที่ต้องนำไปใช้ในท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องมีเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดให้ลงมาที่ท้องถิ่น แต่การกระทำจริงนั้นอาจต้องใช้เวลาและความพยายามในการสร้างพื้นฐานความพร้อมให้กับแต่ละจังหวัด การที่รัฐบาลกลางจะดำเนินการกระจายอำนาจให้สำเร็จได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างและระบบต่าง ๆ เพื่อให้การกระจายอำนาจนั้นเกิดผลอย่างแท้จริง พรรคเพื่อไทยได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจมาตั้งแต่ปี 2544 และยังคงยึดมั่นในจุดยืนนี้แม้จะมีเหตุการณ์ปฏิวัติหลายครั้งที่ทำให้การกระจายอำนาจสะดุดลง แต่พรรคยังคงเชื่อมั่นว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน และทุกพรรคการเมืองต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้”
มองพรรคมองเชียงใหม่จะรู้จะใดกับทิศทางการกระจายอำนาจ
‘ดนุพร’ กล่าวถึงการกระจายอำนาจที่เริ่มต้นในสมัยพรรคไทยรักไทย และต่อเนื่องมาในพรรคเพื่อไทย โดยเน้นการกระจายอำนาจที่แท้จริงในระดับท้องถิ่น ผ่านนโยบายสำคัญ เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้านและ SML ซึ่งใช้แนวทางการจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนในพื้นที่บริหารจัดการเอง เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาท้องถิ่น แทนการกระจายงบประมาณจากส่วนกลางที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ นโยบายกองทุนหมู่บ้านเริ่มต้นด้วยการให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และคาดว่าจะพัฒนาเป็นธนาคารหมู่บ้านในอนาคต ส่วน SML คือการจัดสรรเงินทุนตามขนาดของหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็น S (เล็ก), M (กลาง), และ L (ใหญ่) เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนครัวเรือนในแต่ละพื้นที่
รัฐบาลได้โยนงบประมาณให้กับหมู่บ้านในขนาดต่างๆ เช่น 200,000 บาท, 300,000 บาท, และ 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของหมู่บ้าน โดยเมื่อได้รับงบประมาณแล้ว พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านจะจัดทำประชาคมเพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้เงินเหล่านี้ในการพัฒนาท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีปัญหาการโจรกรรมอาจเลือกใช้เงินสร้างระบบกล้องวงจรปิด หรือหมู่บ้านอื่นอาจเลือกสร้างที่เก็บน้ำประปาหรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการติดตั้งไฟฟ้า และจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำหรับชุมชน การกระจายอำนาจเหล่านี้เป็นการทดลองเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและพัฒนาท้องถิ่น
ในปัจจุบัน รัฐบาลมีแผนจะฟื้นนโยบาย SML ขึ้นใหม่ โดยใช้งบประมาณประมาณ 11,000 ล้านบาท ครอบคลุมหมู่บ้านกว่า 80,000 แห่ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ผ่านประชาคมในหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น การจัดการกองทุนหมู่บ้านและการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพในชุมชน
“ขอย้ำอีกครั้งว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนทุกคนควรให้ความสนใจ การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา รวมถึงอนาคตของลูกหลานเราอย่างแท้จริง ดังนั้น ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันการกระจายอำนาจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ว่าพี่น้องประชาชนจะสนับสนุนพรรคใด ก็ขอให้ร่วมกันสนับสนุนนโยบายการกระจายอำนาจนี้ต่อไป”
‘ณัฐพงษ์’ กล่าวถึงการกระจายอำนาจว่าพรรคเพื่อไทยสามารถเริ่มดำเนินการในหลายประเด็นสำคัญได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ประชาชนพร้อมหรือรอการแก้ไขกฎหมายในระยะยาว ตัวอย่างที่ยกมาเกี่ยวกับการผลักดันกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจที่สามารถร่วมมือกันในสภาฯ ได้ทันที เขายกตัวอย่างประเด็นสำคัญเรื่องสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรัฐบาลกลาง ที่พรรคเพื่อไทยเคยระบุในนโยบายเลือกตั้งปี 2566 ว่าต้องการผลักดันให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35% โดยเร็วที่สุดคำถามคือ โดยเร็วที่สุดนั้นหมายถึงเมื่อไหร่? กี่โมง?
“เราทราบดีว่าการผลักดันการกระจายอำนาจเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ 40 โดยมีการกำหนดตาม พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจในปี 42 ซึ่งตอนนั้นได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 35% แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 49 ก็มีการแก้ไขกฎหมายให้ลดเหลือแค่ 25% แต่ก็ยังตั้งเป้าหมายที่ 35% อยู่ จนถึงวันนี้ เราไม่เคยถึง 35% ตอนนี้โดยประมาณอยู่ที่ 29-30% เท่านั้น ดังนั้น หากเราต้องการผลักดันการกระจายอำนาจอย่างจริงจังและอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนก็สามารถเสนอได้เลย เราพร้อมที่จะให้พรรคประชาชนเสนอหรือพรรคเพื่อไทยเองก็สามารถเสนอ พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจใหม่ ให้มีเป้าหมายที่ 35% อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เราต้องการผลักดันให้ถึง 35% ภายในสมัยนี้ให้ได้ ผมเชื่อว่าเราสามารถร่วมมือกันสนับสนุนเรื่องนี้ได้”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...