เรื่อง: กองบรรณาธิการ
- ชาดา ไทยเศรษฐ์ นักการเมืองมากบารมีจากจังหวัดอุทัยธานี ด้วยประวัติอันโชกโชนพร้อมกับภาพลักษณ์การเป็นนักเลงการเมือง ทำให้สื่อหลายสำนักตั้งฉายาให้เขาว่า “เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกรัง” อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังชาดาและการเมืองท้องถิ่นอุทัยธานียังมี “อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์” ผู้คอยประคับประครองการเมืองท้องถิ่นอุทัยธานีอยู่
- ชาดา และ อดุลย์ ร่วมกันก่อตั้ง “กลุ่มคุณธรรม” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่เข้มแข็งที่สุดในจังหวัดอุทัยธานี และเป็นฐานทางการเมืองให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ได้ขึ้นไปโลดแล่นในการเมืองระดับชาติได้
- ขณะเดียวกัน อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ และ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ทั้งคู่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐ โดยมูลค่าการก่อสร้างรวมกันเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทบริษัทสหะขนส่งอุทัยธานี ที่มีคู่สมรสของ อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นกรรมการได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐรวมกันแล้วกว่า 301 โครงการ มูลค่ารวม 4 พันล้านบาท โดยเป็นโครงการก่อสร้างในจังหวัดอุทัยธานีไปแล้วกว่า 150 โครงการ
- บริษัทพันล้านการโยธา ที่ลูกชายของ ชาดา ไทยเศรษฐ์เคยเป็นกรรมการ พบว่าได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกันแล้วกว่า 412 โครงการ มูลค่ารวมสูงถึง 3 พันล้านบาท จำแนกเป็นโครงการก่อสร้างในจังหวัดอุทัยธานีแล้วกว่า 229 โครงการ
- นอกจากนั้น ชาดา ไทยเศรษฐ์ ยังมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐอีกอย่างน้อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สิงห์เมืองอุทัย ๙ จำกัด, บริษัท กล้าหาญการโยธา จำกัด และบริษัท อุทัยไชโย จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทก็เป็นบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐมูล และโครงการว่าจ้างส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการในจังหวัดอุทัยธานีเช่นเดียวกัน
- ในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานีครั้งล่าสุด แชมป์เก่าจากกลุ่มคุณธรรมยังคงรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้ แม้จะต้องประสบกับความขัดแย้งภายในกลุ่มคุณธรรมช่วงแรก ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี (ส.อบจ) ปรากฏว่าแชมป์เก่าสามารถรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ 19 จาก 24 ที่นั่ง
- “การจับมือยังคงอยู่ต่อไป” เห็นจะเป็นคำอธิบายการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจมากนัก
เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกรัง คือ สมญานามที่สื่อมวลชนหลายสำนักตั้งให้กับ “หลาดา – ชาดา ไทยเศรษฐ์” นักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังของจังหวัดอุทัยธานี ผู้ซึ่งมีบุคลิกภาพโดดเด่นในฐานะผู้มีอิทธิพลจากจังหวัดอุทัยธานี บุคลิกดังกล่าวของชาดาทำให้การเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีที่ดูประหนึ่งว่าเป็นบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์เท่านั้นที่สามารถคุมการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติได้เพียงตระกูลเดียว
ชาดาเริ่มต้นอาชีพนักการเมืองมาตั้งแต่ปี 2537 ในตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองอุทัยธานี ก่อนจะขยับตำแหน่งขึ้นไปนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ต่อมาก็สามารถชนะการเลือกตั้งเป็น สส. อุทัยธานี (พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน) ก่อนชีวิตทางการเมืองจะพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา
แม้จะมีเหตุทางการเมืองให้ต้องส่งลูกสาว (ซาบีดา ไทยเศรษฐ์) มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยแทน แต่ชาดายังคงมีบารมีในฐานะนักการเมืองระดับชาติและเจ้าพ่อแห่งลุ่มแม่น้ำสะแกรัง นอกจากนั้นบารมีทางการเมืองของชาดา ไทยเศรษฐ์ แลดูเหมือนจะมีแต่เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน
การเมืองท้องถิ่นที่ซับซ้อน บนพื้นที่ที่ซ้อนทับ
แม้จะดูเป็นผู้มากบารมี แต่การเมืองท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานีก็มีลักษณะใกล้เคียงกับการเมืองท้องถิ่นในทุกจังหวัด คือ ไม่มีบ้านใหญ่บ้านใดสามารถคุมการเมืองท้องถิ่นได้ทั้งจังหวัด ในจังหวัดอุทัยธานีเองก็เช่นกัน จะเห็นได้จากกรณี มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งได้ปะทะคารมกับ เผด็จ นุ้ยปรี ในการลงสมัครนกยก อบจ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 กระทั่ง ชาดาต้องเข้ามาเคลียร์และขอให้น้องสาวถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครนายก อบจ. เหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนความซับซ้อนของการเมืองในอุทัยธานีได้เป็นอย่างดี
จากการประเมินจากหลายสำนักข่าวบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ชาดาจำเป็นต้องขอให้น้องสาวถอนตัวออกจากการสมัครนายก อบจ. เพราะ ชาดาจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลการเมืองต่างๆ ในอุทัยธานี เพื่อไม่ให้ตระกูลการเมืองเหล่านั้นรู้สึกว่าบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์กำลังกินรวบตำแหน่งการเมืองในจังหวัดเสียหมด
ในความเป็นจริง พัฒนาการทางการเมืองและบารมีของ ชาดา มี “คนอื่น” และตระกูลการเมืองอื่นอยู่เบื้องหลังเสมอ โดยเฉพาะ “อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์” ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดอุทัยธานี ชาดาและอดุลย์ร่วมมือกับตระกูลการเมืองอื่น ๆ (พลเสน, นุ้ยปรี และตระกูลการเมืองในระดับอำเภอและตำบล) ในนาม “กลุ่มคุณธรรม” ผลักดันชาดาให้ครองความยิ่งใหญ่ในการเมืองระดับชาติดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
การเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีเพิ่งก้าวเข้าสู่ยุคบ้านใหญ่ครองเมืองไม่นาน ก่อนหน้าปี 2560 ยังไม่เคยมีบ้านใหญ่หรือพรรคการเมืองใดสามารถครองคะแนนและตำแหน่งเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก่อนการรวมตัวกันในนามกลุ่มคุณธรรม สส.อุทัยธานี มีเพียง “พันเอก พล เริงประเสริฐวิทย์” นายทหารนอกราชการและเจ้าของบริษัทสับปะรดกระป๋องเท่านั้นที่สามารถครองตำแหน่ง สส.อุทัยธานี ไว้ได้ยาวนานตั้งแต่ 2522 ถึง 2538
ขณะที่บ้านใหญ่หรือตระกูลการเมืองอื่น ๆ ยังคงขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด หนึ่งในนั้นคือ “ศิลปะชัย นุ้ยปรี” พี่ชายเผด็จ นุ้ยปรี ที่อยู่ในการเมืองทั้งถิ่นอุทัยธานีมาตั้งแต่ปี 2519 ในช่วงเวลานั้นศิลปะชัยเริ่มกระชับพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับพลวัตการเมืองระดับชาติที่นักการเมืองท้องถิ่น หรือ สส. บ้านนอกเริ่มมีบทบาทในการเมืองระดับชาติมากขึ้น
พันเอกพล ที่พื้นฐานแล้วมิใช่และไม่เคยแสดงลักษณะของนักการเมืองท้องถิ่นจึงหลุดออกจาการเมืองท้องถิ่นอุทัยธานีไป ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ สส.สุพรรณบุรี จากพรรคชาติไทย อย่าง บรรหาร ศิลปะอาชา เมื่อปี 2538
ในปี 2538 “ประเสริฐ มงคลศิริ” นายแพทย์ประจำจังหวัดอุทัยธานีได้ก้าวขึ้นมาเป็น สส.อุทัยธานี แทนในนามพรรคประชาธิปัตย์ คู่กับ ธีรพันธ์ วีระยุทธวัฒนะ ตัวแทนจากพรรคชาติไทย
ขณะเดียวกัน ในสนามการเมืองท้องถิ่น “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ที่เป็นสมาชิกเทศบาลมาตั้งแต่ปี 2535 ร่วมกับ อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ ก่อตั้งกลุ่มคุณธรรม จนสามารถผลักดันให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ชนะการเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีได้ในปี 2538 ควบคู่กันไปกับตำแหน่ง สส.อุทัยธานี ของประเสริฐ
ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ชาดา ไทยเศรษฐ์ และกลุ่มคุณธรรม เริ่มขัดแย้งกับ ประเสริฐ มงคลศิริ และเครือข่ายของประเสริฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งกลุ่มคุณธรรมกับเครือข่ายตระกูลมงคลศิริต่างขับเขี่ยวทางการเมืองกันมาตลอดทศวรรษที่ 2540
ในการเลือกตั้งปี 2544 ประเสริฐ มงคลศิริ ก้าวลงจากตำแหน่ง สส. และส่งน้องชาย “ประแสง มงคลศิริ” อดีตนักวิเคราะห์นโยบายจากสภาพัฒน์ฯ ลงสมัครเป็น สส. เขต 1 หนึ่งจังหวัดอุทัยธานีในนามพรรคไทยรักไทยแทนตน และสามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นและครั้งต่อมา (การเลือกตั้ง สส. ปี 2544 และ 2548) และในปี 2547 ประเสริฐก็ได้ลงสมัครเป็นนายก อบจ.อุทัยธานี และได้รับชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งแรกของจังหวัดอุทัยธานี
ฟากฝั่งกลุ่มคุณธรรมและเครือข่ายของชาดาและอดุลย์ก็มิได้นิ่งเฉย พวกเขาสามารถผลักดัน “นพดล พลเสน” ผู้สมัคร สส. ในนามพรรคชาติไทยจนสามารถชนะการเลือกตั้ง สส. อุทัยธานีเขต 2 ในปี 2544 และ 2548 คู่กับ ธีรพันธ์ วีระยุทธวัฒนะ จากพรรคชาติไทยที่ชนะการเลือกตั้งเป็น สส. อุทัยธานีเขต 1 ร่วมกับคู่อริของกลุ่มคุณธรรมอย่าง ประแสง มงคลศิริ (ในการเลือกตั้งปี 2544 เขต 1 จังหวัดอุทัยธานีถูกกำหนดให้มี สส. 2 คน และเขต 2 อีก 1 คน) เท่ากับว่าในปี 2544 ต่อเนื่องจนถึงปี 2548 สส. อุทัยธานี เป็นตัวแทนของกลุ่มคุณธรรมไปแล้ว 2 คนจากจำนวนทั้งหมด 3 คน
กระทั่งปี 2550 ชาดา ไทยเศรษฐ์ กระโดดเข้ามาเปิดตัวเป็นผู้สมัคร สส. อุทัยธานีเขต 1 ใต้สังกัดพรรคชาติไทยร่วมกับนพดล พลเสน ที่ลงสมัครในเขต 2 อุทัยธานี จนทั้งคู่สามารถจับมือกันชนะการเลือกตั้งและเขี่ยประแสง มงคลศิริ ออกจากกระดานการเมืองระดับชาติ และต่อมาในปี 2551 เผด็จ นุ้ยปรี สามารถครองชัยชนะการเลือกตั้งสนามนายก อบจ.อุทัยธานี ในนามกลุ่มคุณธรรม แทนที่ประเสริฐ มงคลศิริ เป็นสัญญาเตือนว่าตระกูลนุ้ยปรีได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของกลุ่มคุณธรรมแล้ว
หลังกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ได้ส่งต่อตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีให้แก่อดีตภรรยา (จิตรา แสงไกร) จากนั้นจึงส่ง เบแหม่ม – มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาว ลงสมัครเป็นนายกเล็กเมืองอุทัยธานีต่อจนกระทั่งถึงปี 2563 ตำแหน่งนายกเล็กก็ได้ นายกฯชา – ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ ที่ชนะการเลือกตั้งสานต่อตำแหน่งนายกเล็กต่อจากคุณพ่อและคุณอา
ส่วนอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ นั้นมีบทบาทคอยประคับประครองกลุ่มคุณธรรมและชาดาตลอดมา กระทั่งสามารถโคนตระกูลมงคลศิริ ออกจากตำแหน่งในการเมืองท้องถิ่นอุทัยธานีได้ ในช่วงเวลานั้นทั้งอดุลย์และชาดาเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยร่วมกับ นพดล พลเสน พันธมิตรทางการเมืองของทั้งสอง
อดุลย์ เริ่มเปิดหน้าสู้ในสนามระดับชาติตั้งแต่ปี 2550 หลังจาก นพดล พลเสน ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง สส. จากเหตุพรรคชาติไทยถูกยุบ ส่งผลให้อดุลย์ต้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ต่อมาอดุลย์ได้ลงสมัครในการเลือกตั้งปี 2554 ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา แต่กลับพ่ายแพ้ให้กับ “เทศฯแป๊ะ – กุลเดช พัวพัฒนกุล” จากพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นอดุลย์ก็ไม่กลับมาลงเปิดหน้าสู้อีกเลย
อดุลย์ – อานนท์ เหลืองบริบูรณ์
ตระกูลเหลืองบริบูรณ์ นับได้ว่าเป็นตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดอุทัยธานี จากคำให้สัมภาษณ์ของยายโก ชาวอุทัยฯ วัย 85 ปี ระบุว่า ต้นตระกูลเหลืองบริบูรณ์เป็นชาวจีนที่มาทำการค้าในจังหวัดอุทัยธานี บิดาของอดุลย์ (ประเสริฐ เหลืองบริบูรณ์) ในความทรงจำของยายโกเป็นบุคคลที่ร่ำรวยมาก จากการเปิดร้านขายแก๊สอยู่ตรง 5 แยกวิทยุ (ย่านเศรษฐกิจของอุทัยธานี) และยายโกยังสันนิษฐานว่าบิดาของอดุลย์น่าจะมีเส้นสายในเทศบาลและสภาจังหวัด
สมาชิกตระกูลเหลืองบริบูรณ์เคยฝากผลงานไว้ในหลายวงการ สมาชิกคนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับตระกูลอย่างมากคือ อมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ หรือ โจ้ วง Pause แต่ยังมีสมาชิกของตระกูลอีกหนึ่งคนที่น่าจะสร้างเกียรติประวัติให้กับตระกูลเหลืองบริบูรณ์อยู่ไม่น้อย คือ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” พี่ชายของอดุลย์
อานนท์รับราชการเป็นวิศวกรในกระทรวงคมนาคมตั้งแต่ปี 2541 ช่วงเวลาเดียวกับที่อดุลย์น้องชายของตนกำลังสะสมบารมีในการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี จากการขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มคุณธรรมของอดุลย์กับตระกูลมงคลศิริ
หลังจากเข้ารับราชการ อานนท์ก็เติบโตในสายวิศวกรของกระทรวง กระทั่งข้ามมาดำรงข้าราชการสายบริหารของกระทรวงคมนาคม ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มคุณธรรมของอดุลก็ค่อยๆ เถลิงอำนาจในการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี กระทั่งสามารถผลักดัน ชาดา ไทยเศรษฐ์ และนพดล พลเสน เข้าไปโลดแล่นในสภาผู้แทนราษฎรได้ รวมถึงอดุลย์เองก็เคยเข้าไปนั่งในสภามาแล้วในฐานะตัวแทนของนพดล
อย่างไรก็ตาม หลัง คสช. ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 คณะรัฐประหารเริ่มดำเนินนโยบายปราบปรามผู้มีอธิพลในจังหวัดต่างๆ อดุลย์และชาดาในฐานะผู้มีอธิพลทางการเมืองของจังหวัดอุทัยธานีก็ต้องประสบกับการจับผิดและตรวจตาโดย คสช. ทำให้ในช่วงการรัฐประหารทั้งคู่ต้องลดบทบาททางการเมืองของตนเองลง
ในขณะที่เส้นทางอาชีพของ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กลับพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาที่รัฐบาล คสช. ครองอำนาจ อานนท์ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวงในปี 2558 และดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมทางหลวง” เมื่อปี 2561
ปัจจุบัน อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เกษียณอายุราชการไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 โดยตำแหน่งสุดท้ายของอานนท์ในอาชีพข้าราชการคือ “รองปลัดกระทรวงคมนาคม”
หลังเกษียณอายุราชการ อานนท์ชี้แจงบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. แต่กลับพบข้อน่าสงสัยหลายประการในส่วนทรัพย์สินของภรรยาอานนท์ (ขวัญมิตร เหลืองบริบูรณ์) โดยเฉพาะการถือครองหุ้นโรงโม่หินนันประเสริฐ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกระทรวงคมนาคม เนื่องจากหินจากโรงโม่ถือเป็นวัสดุจัดซื้อสำคัญของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทซึ่งสังกัดกระทรวงคมนาคม
การเมืองท้องถิ่นบนท้องถนน
กระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดในกระทรวงคมนาคม ในปี 2561 ที่อานนท์เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง กรมดังกล่าวได้รับจัดสรรงบกว่า 91 ล้านบาท และในปี 2568 นี้ กรมทางหลวงได้งบประมาณมากกว่า 127 ล้านบาท เม็ดเงินจำนวนมหาศาลของกรมทางหลวงจึงเป็นที่น่าล่อตาล่อใจของบรรดาบริษัทที่แสวงหาผลกำไรจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ
แต่มิใช่เพียงภรรยาของอานนท์เท่านั้นที่พบความเชื่อมโยงกับบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดซื้อจัดจ้างของกรมทางหลวง หากยังรวมถึงน้องชายแท้ๆ ของอานนท์ อย่าง “อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์” ที่มีภรรยานามว่า “วราภรณ์ เอี่ยมพิบูลย์วัฒนา” นั่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการบริหาร “บริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด”
บริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด จดจัดตั้งเมื่อปี 2515 ในชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสหะขนส่งอุทัยธานี มีทุนจดทะเบียน 52,100,000 บาท ก่อนจะจดจัดตั้งใหม่เป็นบริษัทจำกัดในปี 2560 และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 150 ล้านบาท และ 500 ล้านบาทเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา หลังการแปลงสถานะเป็นบริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเพียง 1 ปี อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ พี่ชายของอดุลย์ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง (เข้าดำรงตำแหน่งปี 2561) หากย้อนกลับไปสำรวจจำนวนโครงการตั้งแต่ปี 2554 หลังอานนท์เข้ารับราชการในกระทรวงคมนาคมจนถึงปัจจุบัน (2568) จำนวนโครงการที่บริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐมีมากถึง 301 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 4,027,120,034.00 บาท
โครงการทั้งหมดที่บริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการว่าจ้างเป็นโครงการก่อสร้างถนน โดยถนนเกือบทั้งหมดที่บริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการว่าจ้างเป็นถนนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างต่อภาคกลางตอนบน (นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท และสุพรรณบุรี) และมีโครงการก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนนในภาคเหนือตอนบนบางจังหวัด (น่านและเชียงใหม่)
จำแนกเป็นโครงการในจังหวัดสพรรณบุรี 76 โครงการ จังหวัดนครสวรรค์ 34 โครงการ จังหวัดชัยนาทและน่านจังหวัดล่ะ 17 โครงการ กรุงเทพฯ 3 โครงการ และจังหวัดเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี และนครพนมจังหวัดละ 1 โครงการ ส่วนถนนสายที่สหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการว่าจ้างให้ก่อสร้าง/ซ่อมแซมมากที่สุด คือ ถนนในจังหวัดอุทัยธานี โดยจากจำนวนโครงการทั้งหมด 301 โครงการที่บริษัทได้รับการว่าจ้าง จำแนกเป็นโครงการก่อสร้างในจังหวัดอุทัยธานีไปแล้วกว่า 150 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 49.83 ของจำนวนโครงการทั้งหมดที่บริษัทได้รับ
กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่บริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการวางจ้างมากที่สุด โดยบริษัทได้การว่าจ้างสร้าง/ซ่อมถนนจากกรมทางหลวงมากถึง 138 โครงการ มูลค่าโครงการสูงสุดที่สหะขนส่งอุทัยธานีเคยได้รับว่าจ้างก่อนการเกษียณอายุของ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ คือ 500 ล้านบาท เป็นโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 3319 สายโกรกพระ–ทัพทัน โดยใช้วิธีการคัดเลือกโดยตกลงราคามิใช่วิธีประการประกวดราคา (bidding) ตามปกติ โครงการดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัด สหะขนส่งอุทัยธานี (ชื่อ ณ ขณะนั้น) ได้รับการว่าจ้างเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลัง อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เข้าดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558
โครงการ “จ้างเหมาทำการเสริมผิวแอสฟัลต์ ทางหลวงหมายเลข 3319 ตอนควบคุม 0200 ตอน บันไดสามขั้น – ทัพทัน ตอน 3 ระหว่าง กม.21 550 – กม.21 709 ปริมาณงาน 1,431 ตร.ม. โดยวิธีตกลงราคา (58106034876)”
ล่าสุด เมื่อปี 2567 สหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการว่าจ้างจากกรมทางหลวงเพื่อก่อนสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 333 สายอู่ทอง – ท่าน้ำอ้อย มูลค่าโครงการสูงถึง 624,551,700 บาท โดยช่วงถนนที่บริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีได้รับการว่าจ้างให้ก่อสร้างเป็นถนนในช่วงที่พาดผ่านจังหวัดอุทัยธานี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านไร่ต่ออำเภอหนองฉาง (ตั้งแต่ตำบลเมืองการุ้งถึงตำบลหนองสรวง)
ข้อมูลการเงินย้อนหลัง 10 ปี (2556-2566) บริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด มีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยปีล่ะ 8.06% และอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยปีล่ะ 25.46% โดยในปี 2566 บริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีมีรายได้รวมอยู่ที่ 545,129,718 บาท จำแนกเป็นกำไรสุทธิ 25,738,235 บาท ถือเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีรายได้รวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในจังหวัดอุทัยธานี และมีรายได้เป็นอันดับที่ 13 และฟันกำไรสูงสุดเป็นอันดับที่ 8 ของภาคกลาง ซึ่งรายได้เกือบทั้งหมดของสหะขนส่งอุทัยธานีมาจากโครงการว่าจ้างก่อสร้างถนนของหน่วยงานรัฐ
กล่าวคือ ถนนได้สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้แก่ อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ และวราภรณ์ เอี่ยมพิบูลย์วัฒนา (ภรรยาและผู้ถือหุ้นใหญ่) เห็นได้จากมูลค่าของผู้ถือหุ้นอันเป็นการบ่งบอกถึงมูลค่าของบริษัทที่เจ้าของเป็นเจ้าของจริงๆ ซึ่งในปี 2566 ส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทสหะขนส่งฯ มีมูลค่าสูงถึง 673 ล้านบาท
ตารางงบการเงินของบริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2566
ปี | รายได้รวม (บาท) | กำไร (บาท) | ส่วนของผู้ถือหุ้น (บาท) | หนี้สินรวม (บาท) |
2556 | 301,765,306.95 | -7,258,521.21 | 26,703,905.88 | 38,055,085.47 |
2557 | 290,708,853.18 | 10,875,445.15 | 36,193,288.24 | 68,818,205.86 |
2558 | 373,642,809.47 | 19,460,855.56 | 55,654,143.80 | 128,747,546.08 |
2559 | – | – | 73,359,045.18 | 134,319,118.80 |
2560 | 486,394,858.03 | 16,911,381.40 | 90,270,426.58 | 128,256,837.64 |
2561 | 461,888,814 | 10,525,953 | 100,796,379.93 | 184,777,227.64 |
2562 | 505,233,994.38 | 17,543,601.13 | 246,820,296.52 | 78,038,709.48 |
2563 | 542,310,758.53 | 13,767,171.08 | 260,587,467.60 | 90,690,125.11 |
2564 | 473,702,291.10 | 19,778,813.78 | 530,366,281.38 | 136,766,237.76 |
2565 | 541,384,957.85 | 17,055,640.06 | 547,421,921.44 | 148,919,201.54 |
2566 | 545,129,718.19 | 25,738,235.66 | 673,160,157.10 | 156,426,367.37 |
อย่างไรก็ตาม มิใช่เพียงอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ เท่านั้นที่สะสมความมั่งคั่งผ่านการสร้างและซ่อมถนน หากยังมีนักการเมืองการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีอีกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนน และบุคคลดังกล่าวก็มิใช่คนที่เราจะเดาชื่อได้ยากแต่อย่างใด
การเมืองในคลอง ท้องถิ่นบนเขื่อน
บริษัท พันล้านการโยธา จำกัด แปรงสภาพมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดพันล้านการโยธาที่เคยมี “ฟารุต ไทยเศรษฐ์” ลูกชายผู้ล่วงลับของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ นั่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอันดับสอง ก่อนที่ฟารุตจะเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าจากเหตุยิงปะทะที่จังหวัดราชบุรีเมื่อปี 2555 หลังเสียชีวิตหุ้นของฟารุตก็ถูกโอนให้ อภิวัฒน์ ชินพีระเสถียร ลูกชายของ “อภิรัตน์ ชินพีระเสถียร” ผู้ถือหุ้นใหญ่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพันล้านการโยธาและเป็นคนใกล้ชิดของชาดา ไทยเศรษฐ์
เสี่ยเฮง – อภิรัตน์ ชินพีระเสถียร และครอบครัว มีความใกล้ชิดกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ มาช้านาน ตั้งแต่ชาดายังประกอบอาชีพค้าวัว/ควาย เมื่อครั้งปี 2559 ที่รัฐบาล คสช. ดำเนินนโยบายปราบรามผู้มีอิทธิพลประจำจังหวัดต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานี เสี่ยเฮงก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการปราบรามของรัฐบาล โดยเมื่อ 11 เมษายน 2559 เจ้าที่ทหารเข้าค้นบ้านเสี่ยเฮง พร้อมกับค้นบ้าน ชาดา ไทยเศรษฐ์, อดุลย์ เหลือบริบูรณ์, เผด็จ นุ้ยปรี, ปภาวิชญ์ บุษวดี (สจ.เปี๊ยก) และผู้มากบารมีคนอื่น ๆ ที่ต่างอยู่ในเครือข่ายกลุ่มคุณธรรม
เสี่ยเฮงเป็นผู้จดจัดตั้งห้างหุ้นส่วนพันล้านการโยธามาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยเงินทุน 5 แสนบาท ต่อมาในปี 2553 เสี่ยเฮงร่วมกับฟารุต ไทยเศรษฐ์ จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท จำแนกเป็นทุนของเสี่ยเฮง 6 ล้านบาท และฟารุต 4 ล้านบาท โดยในช่วงเวลาที่พันล้านการโยธาจดเพิ่มทุนเสี่ยเฮงและฟารุตเพิ่งจะมีอายุเพียง 32 ปีและ 25 ปีตามลำดับ และก่อนการดจดทะเบียนเพิ่มทุนพันล้านการโยธาไม่ปรากฏหลักฐานว่าพันล้านการโยธาได้รับการว่าจ้างจากหน่วยราชการใดๆ เลย กระทั่งในปี 2554 หลังการเข้ามาของฟารุต ห้างหุ้นส่วนจำกันพันล้านการโยธาได้รับการว่าจ้างให้ก่อสร้างถนนจาก อบจ.อุทัยธานี มูลค่าโครงการ 1.5 ล้านบาท และงานก่อสร้างถนนจาก อบต.ห้วยแก้ว (อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี) และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดอุทัยธานี มูลค่าโครงการอยู่ที่โครงการละ 150,000 บาท
สอบราคาจ้างก่อสร้างถนนลูกรัง หมู่ที่ 7 บ้านสคลองชะนี ตำบลป่าอ้อ – หมู่ที่ 6 บ้านหนองผักบุ้ง ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี (เลขที่โครงการ : 54074001072)
ต่อมาพันล้านการโยธาจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็นครั้งที่สองด้วยจำนวนเงิน 60 ล้านบาทเมื่อปี 2555 จากนั้นพันล้านการโยธาจึงเริ่มได้รับงานก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยโครงการแรกหลังการจดทะเบียนเพิ่มทุนครั้งที่สองคือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับการว่าจ้างจากกรมพัฒนาที่ดิน มูลค่าโครงการ 2.2 ล้านบาท
นับตั้งแต่ปี 2555 พันล้านการโยธาได้การว่าจ้างจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อ ขุดคลอง หรือสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยจากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 55 โครงการที่พันล้านได้รับการว่าจ้างระหว่างปี 2555-2557 เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้ว 43 โครงการ จำแนกเป็นโครงการที่ได้รับการว่าจ้างจากกรมชลประทาน 20 โครงการ กรมทรัพยากรน้ำ 14 โครงการ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำอีก 19 โครงการที่เหลือ พันล้านการโยธาได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม กรมปกครอง และอำเภอหนองขาหย่าง หน่วยงานละ 2 โครงการ และกรมพัฒนาที่ดิน อบต.ห้วยคต และอบต.ท่าโพ หน่วยงานละ 1 โครงการ
ช่วงเวลาระหว่างปี 2555 ถึง 2557 ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ของสภาผู้แทนฯชุดที่ 23 ในโควตาพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งพันธกิจและอำนาจ/หน้าที่ของกรรมธิการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการแหล่งน้ำ และยังต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ อันหมายรวมถึงกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำด้วยเช่นกัน
แม้จะต้องเผชิญกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนส่งผลให้ชาดาต้องหลุดจากตำแหน่ง สส. จวบจนถูกหน่วยงานความมั่นคงบุกค้นบ้าน แต่พันล้านการโยธายังคงได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน ที่พันล้านการโยธายังคงได้รับการว่าจ้างให้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการว่าจ้างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ.อุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยฯ หรือ อบต. บางพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานี รวมถึงยังปรากฏการว่าจ้างจาก อบจ.นครสวรรค์ ชัยนาท กำแพงเพชร และอยุธยา
การเลือกตั้งปี 2562 ชาดากลับสู่สนามการเมืองอีกครั้งในนามพรรคภูมิใจไทยพร้อมตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และจัดทัพการเมืองท้องถิ่นใหม่ โดยส่ง เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ หลานชายลงสมัครเป็น สส.อุทัยธานี เขต 1 จนสามารถขว้าชัยชนะได้ในท้ายที่สุด ส่งผลให้ตระกูลไทยเศรษฐ์และพรรคภูมิใจไทยครองตำแหน่ง สส.อุทัยธานี ได้ทั้งสองเขตเป็นครั้งแรก
ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยเลือกร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคต่อรองจนได้โควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่ง) รวมถึงโควตารัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ ที่สุดท้ายตกเป็นของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาวของชาดา ที่ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยแทนชาดา หลังมีกระแสข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นไม่ต้อนรับให้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี
โครงการก่อสร้างที่ห้างหุ้นส่วนพันล้านการโยธาได้รับว่าจ้างระหว่างปี 2558 ถึง 2567 ยังคงเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นหลักอยู่เช่นเดิม จำแนกเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจากกรมชลประทาน 66 โครงการ และโครงการจากกรมทรัพยากรน้ำ 81 โครงการ โดยเมื่อปี 2565 พันล้านการโยธาเคยได้รับการว่าจ้างจากกรมชลประทานให้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและขุดลอกคลองมูลค่า โครงการ 149 ล้านบาท
กระทั่งปี 2563 พันล้านการโยธาได้รับการว่าจ้างจากกรมทางหลวงชนบทเป็นครั้งแรกหลัง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2562 จากนั้นพันล้านการโยธาก็ได้รับการว่าจ้างจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทให้ก่อสร้างถนนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รวมแล้วทั้งสิ้น 15 โครงการ แบ่งเป็นถนนของกรมทางหลวง 7 โครงการ (โครงการก่อสร้าง 6 และการจัดซื้อวัสดุ 1) และถนนของกรมทางหลวงชนบท 8 โครงการ (โครงการก่อสร้างทั้งหมด)
วันที่ 21 มีนาคม 2566 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ไม่กี่เดือน ห้างหุ้นส่วนพันล้านการโยธาได้แปรงสภาพเป็นบริษัท พันล้านการโยธา จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท พร้อมกับเปลี่ยนกรรมการบริหารให้เหลือเพียง 1 คน คือ พุทธินันท์ ชินพีระเสถียร
ข้อมูลล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2568 พันล้านการโยธาได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐไปแล้วกว่า 412 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกันสูงถึง 3,038 ล้านบาท และเช่นเดียวกับสหะขนส่งอุทัยธานี การว่าจ้างกว่า 229 โครงการ หรือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนโครงการทั้งหมดที่พันล้านการโยธาได้รับการว่าจ้าง เป็นโครงการก่อสร้างในจังหวัดอุทัยธานี
ท้องถิ่นในเสาไฟฟ้าและรั้วกั้นถนน
หาใช่เพียงบริษัท พันล้านการโยธา จำกัด เท่านั้นที่ปรากฏความเชื่อมโยงกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ กรณีล่าสุดการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ของ “อนันต์ ปาทาน” คู่สมรสของ “ดีดา – ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” ก่อนเธอเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแทนบิดา (ชาดา ไทยเศรษฐ์) ปรากฏชื่อ อลิษา ปาทาน รับโอนหุ้นแทนอนันต์ ซึ่งทั้งคู่ต่างมีนามสกุลเดียวกัน
บริษัทที่ อนันต์ ปาทาน โอนหุ้นให้แก่อลิษา คือ “บริษัท สิงห์เมืองอุทัย ๙ จำกัด” (ชื่อเดิม ห้างหุ้นส่วนจำกัดสิงห์เมืองอุทัย ๙) ที่จดจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 แรกเริ่มจดจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดสิงห์เมืองอุทัย ๙ จดทะเบียน 40 ล้านบาท ปรากฏชื่อ อนันต์ ปาทาน เป็นกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจลงนาม ก่อนจะแปรงสภาพเป็นบริษัท สิงห์เมืองอุทัย ๙ จำกัด ในปี 2564 และปรากฏการโอนหุ้นให้แก่อลิษาดังที่กล่าวไปข้างต้น
ล่าสุดตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2568 บริษัทสิงห์เมืองอุทัย ๙ ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐไปแล้ว 257 โครงการ รวมมูลค่าโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 790,458,987 บาท แม้จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 และมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 40 ล้าน แต่จนถึงปี 2560 สิงห์เมืองอุทัย ๙ กลับได้รับการว่างจ้างจากหน่วยงานรัฐเพียง 4 โครงการเท่านั้น โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการว่าจ้างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานีไปถึง 3 โครงการ
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สิงห์เมืองอุทัย ๙ เริ่มได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังปี 2562 เป็นต้นมา สิงห์เมืองอุทัย ๙ ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมได้รับการว่างจ้างเพียง 17 โครงการในปี 2562 เพียง 1 ปีต่อมา (ปี 2563) สิงห์เมืองอุทัยกลับได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐมากถึง 47 โครงการ หรือเพิ่มมากกว่า 2 เท่าภายในเวลาเพียงปีเดียว
การจัดซื้อจัดจ้างของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา พบว่า สิงห์อุทัยเมือง ๙ ได้รับการว่าจ้างให้ติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมไฟส่องสว่าง และรั้วกั้นบนถนนทางหลวงที่พาดผ่านจังหวัดอุทัยธานี รวมแล้วกว่า 185 โครงการ และโครงการลักษณะเดียวกันบนถนนทางหลวงชนบทที่พาดผ่านอุทัยธานีอีก 45 โครงการ รวมกันแล้วสิงห์เมืองอุทัย ๙ ได้รับการว่าจ้างจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบททั้งหมด 230 โครงการ
ลักษณะการได้รับการจ้างจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทของสิงห์เมืองอุทัย ๙ มีความคล้ายคลึงกับลักษณะการได้รับงานจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทของพันล้านการโยธา กล่าวคือ ทั้งสองบริษัทได้การว่าจ้างจากสองกรมใหญ่ของระทรวงคมนาคม หลังพรรคภูมิใจไทยได้รับโควตาให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคมนาคม
นอกจากนั้น ทั้งพันล้านการโยธาและสิงห์เมืองอุทัย ๙ ยังมีลักษณะการได้รับการว่าจ้างเหมือนกันอีกหนึ่งประการ คือ โครงการส่วนใหญ่ที่บริษัทได้รับการว่าจ้างเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี โดยสิงห์เมือง ๙ ปัจจุบันได้รับโครงการก่อสร้างในจังหวัดอุทัยธานีไปแล้วทั้งสิ้น 206 โครงการ จากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 257 โครงการ
มิใช่เพียงพันล้านการโยธาและสิงห์เมืองอุทัย ๙ เท่านั้นที่มีความเชื่อมโยงกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ แต่ยังมีบริษัทอีกอย่างน้อย 2 บริษัทที่พบความเชื่อมโยงกับชาดา ประกอบด้วย 1) บริษัท กล้าหาญการโยธา จำกัด และ 2) บริษัท อุทัยไชโย จำกัด
บริษัท กล้าหาญการโยธา กำจัด (ชื่อเดิม ห้างหุ้นส่วนจำกัดกล้าหาญการโยธา) ที่ปรากฏชื่อ “อาลี ระหะหมัดประเสริฐ” เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการเมื่อปี 2566 ก่อนแปรสภาพและเพิ่มทุนจดทะเบียน โดย อาลี ปรากฏชื่อเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ที่มี “เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์” หลานชายชาดานั่งเป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 1 และมีปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทยเป็นประธานฯ
จากข้อมูลข้อกรมพัฒนาธุรกิจ กล้าหาญการโยธาได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐไปแล้ว 52 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 258 ล้านบาท ต่อมา บริษัท อุทัยไชโย จำกัด (ชื่อเดิม ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุทัยไชโย) ปรากฏชื่อ “หลาโย – ณัฐพงศ์ เบญจทวีผล” เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการของบริษัท ก่อนแปรสภาพและเพิ่มทุนจัดตั้ง โดยณหลาโยเป็นคู่สมรสของ “ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์” นายกเทศมนตรีเทศเมืองอุทัยธานีและลูกสาวคนโตของชาดา ไทเศรษฐ์ นอกจากนั้นยังปรากฏชื่อ “ปริญญา ไทยเศรษฐ์” สมาชิกของตระกูลไทยเศรษฐ์เคยนั่งเป็นกรรมการบริษัทเช่นกัน
จากข้อมูลข้อกรมพัฒนาธุรกิจ อุทัยไชโยได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐรวมกัน 294 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 2.85 พันล้านบาท โดยจำแนกเป็นโครงการก่อสร้างในจังหวัดอุทัยธานีทั้งสิ้น 146 โครงการ หรือกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนโครงการทั้งหมดที่ได้รับ (ประมาณร้อยละ 49.66)
ขณะเดียวกัน จำนวนโครงการทั้งหมดที่อุทัยไชโยได้รับเป็นโครงการจัดซื้อวัสดุจาก “กรมชลประทาน” ไปแล้วกว่า 242 โครงการ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82.31 ของจำนวนโครงการทั้งหมด ซึ่งโครงการจัดซื้อวัสดุโครงการแรกที่อุทัยไชโยได้รับการว่าจ้างจากกรมชลประทาน เกิดขึ้นหลังปี 2558 เป็นต้นมา หลังจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งประทานกรรมธิการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นลักษณะการได้รับการว่าจ้างที่คล้ายคลึงกับพันล้านการโยธา กล่าวคือ ทั้งสองบริษัทได้รับการว่าจ้างจากกรมชลประทานหลังการดำรงตำแหน่งประทานกรรมธิการเกษตรฯ ของ ชาดา ไทยเศรษฐ์
ก่อสร้าง การเมือง อุทัยธานี
จากกำไรของบริษัทก่อสร้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งคู่คงจะพอบอกเป็นนัยได้ว่าทั้งสองมีความมั่งคั่งเพียงใด แลดูแล้วพัฒนาการทางเงินของบริษัทที่ทั้งคู่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เดินควบคู่ไปกับพัฒนาการของความสัมพันธ์ทางการเมืองจังหวัดอุทัยธานีและการขยายอำนาจทางการเมืองของทั้งคู่อย่างไม่ทิ้งห่างกันนัก
ตารางบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ และ ชาดา ไทยเศรษฐ์
บริษัท | รายได้ปี 2566(บาท) | ความเชื่อมโยง |
บริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด | 545,129,718 | วราภรณ์ เอี่ยมพิบูลย์วัฒนา – คู่สมรส อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ |
บริษัท พันล้านการโยธา จำกัด | 518,555,508 | ฟารุต ไทยเศรษฐ์ – ลูกชาย ชาดา ไทยเศรษฐ์ |
บริษัท สิงห์เมืองอุทัย ๙ จำกัด | 232,568,327 | อนันต์ ปาทาน – คู่สมรส ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ |
บริษัท กล้าหาญการโยธา กำจัด | 12,713,159 | อาลี ระหะหมัดประเสริฐ – เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ |
บริษัท อุทัยไชโย จำกัด | 514,812,593 | ณัฐพงศ์ เบญจทวีผล – คู่สมรส ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ |
กล่าวอย่างง่าย บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งชาดาและอดุลย์ได้รับงานมากขึ้นเรื่อยๆ ตามพัฒนาการทางการเมืองของทั้งคู่ บริษัทสหะขนส่งของอดุลย์ได้รับงานก่อสร้างถนนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังอานนท์ (พี่ชาย) เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงคมนาคม ในขณะที่บริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับชาดาก็ได้รับงานเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ หลังชาดาดำรงตำแหน่งประธานกรรมธิการเกษตรฯ และก้าวข้ามมารับงานเกี่ยวกับถนนหลังพรรคภูมิใจไทยได้ครองเก้าอี้รัฐมนตรีคมนาคม
ขณะเดียวกัน บริษัทก่อสร้างเหล่านี้ก็ยังมีส่วนช่วยหนุนเสริมบารมีของพวกเขาในจังหวัดอุทัยธานีเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทสหะขนส่งอุทัยธานีของอดุลย์ที่ปัจจุบันมีส่วนช่วยเหลือการจัดงานมหกรรมหรืองานพิธีการต่าง ๆ ของเทศบาลเมืองอุทัยธานีและหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ในจังหวัดอุทัยธานี เสมือนการสร้างบารมีทั้งในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงยังเป็นการได้ซึ่ง “คำขอบคุณ” จากบรรดาคนอุทัยธานีไปพร้อมกัน
ความร้อนแรงของชาดา บนหน้าสื่อ ทั้งการเซ็นคำสั่งชงเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ก่อนลาตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯมหาดไทย จวบจนถึงการลงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.นราธิวาส ในการสู้ศึกในสนามนายก อบจ. เสมือนเป็นผู้จัดการรัฐบาลในฟากฝั่งพรรคภูมิใจไทย และผู้บริหาร “บ้านใหญ่” ในการเมืองไทยไปเสียแล้ว ไม่ว่าความร้อนแรงทางการเมืองระดับชาติจะเป็นอย่างไร ชาดา ไทยเศรษฐ์ เองยังคงไม่ละทิ้งพื้นที่และสนามการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีไปไหน ภาพการเปิดโต๊ะเคลียร์ใจระหว่างน้องสาว (มญัญา ไทยเศรษฐ์) กับ เผด็จ นุ้ยปรี เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นผู้บริหารจัดการการเมืองบ้านใหญ่จังหวัดอุทัยธานีของชาดาได้เป็นอย่างดี
ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี ครั้งที่ผ่านมา (6 ตุลาคม 2567) เผด็จ นุ้ยปรี ยังคงสามารถรักษาเก้าอี้นายก อบจ. เอาไว้ได้ ด้วยการชนะการเลือกตั้งแบบไม่ต้องลุ้นกันให้ปวดหัว เนื่องจากมีเพียงเผด็จเป็นผู้สมัครในสนามนายกเล็กจังหวัดอุทัยธานี ส่งผลให้การเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี ตกขบวนกระแสการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา คงเหลือเพียงการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่านั้น ในขณะที่ ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ไม่มีอะไรพลิกโผหรือพลิกโพย ในการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี (ส.อบจ.) ส.อบจ. ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 อดีต ส.อบจ.อุทัยธานี ทุกคนยังคงสามารถรักษาเจ้าอี้ของตนเอาไว้ได้
สจ.ชู๊ด – กฤษฎา ซักเซ็ค หลานชายของชาดายังคงได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.อบจ. อำเภอเมืองเขต 1 ควบกับ คนสนิทของชาดาและเจ้าของค่ายมวยชื่อดัง สจ.เปี๊ยก – ปภาวิชญ์ บุษวะดี ที่สามารถคว้าชัยเหนืออดีตตรองนายก อบต.เกาะเทโพ ในพื้นที่อำเภอเมืองเขต 2 เช่นเดียวกับที่อำเภอทัพทันและอำเภอเมือง เขต 3 ที่แชมป์เก่าจากกลุ่มคุณธรรม (พิชัย จินะธนวิชย์ เขต 3 และธนาคิม พัชรวัต เขต 4) ยังสามารถรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้อย่างสบาย โดยจากจำนวน 4 เขตการเลือกตั้งอำเภอเมืองอุทัยธานีมีเพียงเขต 2 เท่านั้นที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน ขณะที่เขตอื่น ๆ มีผู้สมัครเพียงคนเดียว
เขตอำเภอทัพทันแลดูจะมีการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากทั้ง 3 เขตการเลือกตั้งอำเภอทัพทันมีจำนวนผู้สมัครต่อเขต 2 คนเท่ากัน อย่างไรก็ตามผู้สมัครแชมป์เก่ายังคงชนะและรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ทุกเขต ดังนี้ เขต 1 จำนงค์ พันธ์เขตรการ เขต 2 รุ่งโรจน์ นวกุล และเขต 3 พัชรานี สมัครเขตรกิจ เช่นเดียวกับ อำเภอหนองฉางเขต 1 และ 2 ที่มีผู้สมัคร 2 คนเท่ากัน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า เขต 1 อนันญญา พันธุเมฆ ยังคงรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ ขณะที่เขต 3 ไร้คู่แข่ง วันชัย ชีวระ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.อบจ. อำเภอทัพทันเขต 3 ต่ออีกสมัย
อำเภอบ้านไร่ เขตพื้นที่การเลือกตั้งที่ชาดาสามารถครองตำแหน่ง สส. ได้ยาวนาน 2 สมัย อำเภอบ้านไร่เขต 1-3 มีผู้สมัครเพียงคนเดียว ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.อบจ. หน้าเก่าทั้งสิ้น (เขต 1 ธรรมรงค์ แห้วเพ็ชร์ เขต 2 จำรัส เลิศประวัติ เขต 3 กัณหา อุดมโชควัฒนกิจ และเขต 4 สงบ เพียงเสมอ) เว้นแต่เขต 5 อำเภอบ้านไร่ที่ ศุภวิชญ์ เอี่ยมละออ ทนายคู่บุญของชาดาและอดุลย์ต้องแข่งขันกับผู้สมัครรายอื่น แม้จะเป็นเช่นนั้น ศุรวิชญ์ ยังคงรักษาตำแหน่ง ส.อบจ. ต่อไปได้
ในส่วนอำเภอสว่างอารมณ์ (2 เขต) ห้วยคต (2 เขต) และลานสัก (4 เขต) มีผู้สมัครเขตละ 1 คน เป็นแชมป์เก่าจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 ทั้งสิ้น 5 คนจาก 8 เขต ประกอบด้วย อำเภอสว่างอารมณ์ เขต 1 เอนก ถนอมจิตรธนานนท์ อำเภอห้วยคต เขต 2 ธีระวุฒิ ศรีพิมพ์วงษ์ อำเภอลานสัก เขต 2 ธีราวินทร์ รัตนสัมพันธ์ เขต 3 ธรพล นุ้ยปรี (ลูกชาย เผด็จ นุ้ยปรี) และเขต 4 ศรัญญา โต๋วสัจจา
จากผลการเลือกตั้ง ส.อบจ.อุทัยธานี อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่ามีผู้ได้การเลือกตั้งเป็นแชมป์เก่าไปแล้ว 19 ที่นั่งจากจำนวนเก้าอี้ทั้งหมด 24 ที่นั่ง และเผด็จ นุ้ยปรี ยังคงสามารถรักษาเก้าอี้นายก อบจ.อุทัยธานี ได้ต่อไปอีกวาระ (รวมทั้งสิ้น 5 วาระ)
ในขณะที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ เจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกรังตามที่สื่อเรียกขานก็กำลังมีอนาคตทางการเมืองที่รุ่งเรื่องในสภาและทำเนียบรัฐบาล หลังสามารถผลักดันสมาชิกในครอบครัวไทยเศรษฐ์เป็นรัฐมนตรีรวมแล้วถึง 3 คน (มนัญญา ชาดา และซาบีดา ไทยเศรษฐ์) ในการเลือกตั้งครั้งหน้าชาดาก็น่าจะยังเป็นตัวละครทางการเมืองระดับชาติที่น่าจับตามองเช่นเดิมหรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ตัดภาพกลับมาที่จังหวัดอุทัยธานี ชาดา ไทยเศรษฐ์ ยังวางทายาททางการเมืองลงไปแทบทุกตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีที่ไม่เคยขาดนายกจากบ้านไทยเศรษฐ์มาตั้งแต่ปี 2538 ขณะที่ยังมีเครือญาติคนอื่นของตนแฝงฝั่งอยู่หน่วยงานการเมืองท้องถิ่นต่างๆ อีกมาก
ทางฝั่งของอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ ยังคงแฝงเป็นลมใต้ปีกของชาดาและกลุ่มคุณธรรมเดินสายผูกสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการในท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับการคอยส่งเสริมและประคับประครองการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีอยู่ไม่ห่าง ทุกๆ งานพิธีการของจังหวัดอุทัยธานี จะต้องปรากฏภาพอดุลย์อยู่ร่วมในฐานะแขกกิตติมศักดิ์เสมอมา
“การจับมือยังคงอยู่ต่อไป” เห็นจะเป็นคำอธิบายการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจมากนัก เผด็จ นุ้ยปรี และบรรดา ส.อบจ. สามารถรักษาอำนาจและตำแหน่งของตนเอาไว้ ภายใต้ร่มใหญ่นาม “กลุ่มคุณธรรม” ที่มี “ชาดา ไทยเศรษฐ์” และ “อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์” สองผู้มากบารมีและรุ่มรวยด้วยความมั่งคั่งคอยบริหารความสัมพันธ์ทางการเมืองในจังหวัดอุทัยธานีเอาไว้ กระทั่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี สามารถเป็นฐานและกลไกลทางการเมืองที่ผลักดันให้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ก้าวขึ้นไปเป็นนักการเมืองมากบารมีดั่งทุกวันนี้ และเห็นทีการรัฐประหาร/ยึดอำนาจประชาชนจะไม่ได้ทำให้นักการเมืองมากบารมีอย่าง ชาดาและอดุลย์ หลุดออกไปจากวงโครจรการเมืองไทยแต่อย่างใด มิหนำซ้ำการรัฐประหารครั้งล่าสุดกลับเพิ่มพูลพลังทางการเมืองและความมั่งคั่งของทั้งคู่ให้มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
อ้างอิง
- ACT Ai. (ม.ป.ป.). Supplier Detail: บริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด. ACT Ai. https://actai.co/SupplierDetail/0615560000242?search=”สหะขนส่งอุทัยธานี”&compName=บริษัท%20สหะขนส่งอุทัยธานี%20จำกัด&hash=5ff3dbe2f15b079f09975e51df4247580134a9a12893e94b8d1e9520dd868369
- ACT Ai. (ม.ป.ป.). Supplier Detail: พันล้านการโยธา จำกัด. ACT Ai. https://actai.co/ SupplierDetail/131192549321901322342221?search=พันล้านการโยธา&compName=พันล้านการโยธา%20จำกัด&hash=6c74085ac7f64eea911efded3bf57cdc2b8ce772dc658d6172e06bc982f2ba3eb8d1e9520dd868369
- ACT Ai. (ม.ป.ป.). Supplier Detail: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สิงห์เมืองอุทัย ๙. ACT Ai. https://actai.co/SupplierDetail/0613556000151?search=สิงห์อุทัยเมือง%20๙%20%20&compName=หจ.%20สิงห์เมืองอุทัย%20๙&hash=2ac296882631d89bc104a3072713c5257f5a38c6c7bae4dda18d9f19211f1889
- ACT Ai. (ม.ป.ป.). Supplier Detail: ห้างหุ้นส่วนจำกัด กล้าหาญการโยธา. ACT Ai. https://actai.co/SupplierDetail/0613535000186?search=กล้าหาญการโยธา%20&compName=หจ.%20กล้าหาญการโยธา&hash=b8fb997e3c2a3adb8d448e3285c916a1a728d5d5ced85baef0a2a2380d94aeec
- ACT Ai. (ม.ป.ป.). Supplier Detail: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุทัยไชโย. ACT Ai. https://actai.co/SupplierDetail/0613557000189?search=อุทัยไชโย&compName=หจ.%20อุทัยไชโย&hash=4b931592b962e7c77e1adc037f7dabbd247ed42e09ea73cd3ce5967a672c3b4d
- Isranews. (24 สิงหาคม 2558). ผู้บริหาร หจก.พันล้านฯ ยังไม่สะดวกแจง ปมรับโอนหุ้น ลูก”ชาดา” 20 ล. หลังเสียชีวิต. สำนักข่าวอิศรา. https://www.isranews.org/content-page/item/40857-news_40857.html
- Isranews. (28 สิงหาคม 2558). พบ หจก.พันล้านฯ‘เสี่ยเฮง’-ลูกอดีต ส.ส. กวาดรับเหมา จ.อุทัยฯอื้อ 900 ล้าน. สำนักข่าวอิศรา. https://www.isranews.org/isranews-news/item/40937-news_40937.html
- Isranews. (28 ตุลาคม 2566). โชว์งบฯ บ.รับเหมา ลูกเขย‘ชาดา’ ปี 2565 รายได้ 671 ล้าน. สำนักข่าวอิศรา. https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/123288-inves09-545-107.html
- Isranews. (31 มกราคม 2568). พบ หจก.พันล้านฯ‘เสี่ยเฮง’-ลูกอดีต ส.ส. กวาดรับเหมา จ.อุทัยฯอื้อ 900 ล้าน. สำนักข่าวอิศรา. https://www.isranews.org/isranews-news/item/40937-news_40937.html
- กรุงเทพธุรกิจ. (12 เมษายน 2559). ทหาร-ตร.บุกค้นรัง11จุด เครือข่าย’ชาดา’อดีตส.ส.อุทัยธานี. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/politics/694341
- กรมชลประธาน. (16 ตุลาคม 2556). ประชุมคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์. กรมชลประธาน. http://oopm.rid.go.th/subordinate/opm11/events/2556/groupnews003-10-56.aspx
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (ม.ป.ป.). บริษัท สหะขนส่งอุทัยธานี จำกัด. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/0qgJNqboZ0b4CHZG3g6VoFPRyvjY5icXVXNY3xaxVkLJHAdzMLp0nVSllMI32DJz
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (ม.ป.ป.). บริษัท พันล้านการโยธา จำกัด. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/XzmHpYUzTRHHDcpF4RwYXl4Fqo0f1hMRg5kpy4yTAl2-w7xx5aNvKOtmKMk-nmDW
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (ม.ป.ป.). บริษัท สิงห์เมืองอุทัย ๙ จำกัด. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/8reLuOte_m4-TqdmMQOoGcpCZcSWjJhWrfPhzWJBnB8YoeSWl7sQJUjap2wHQH_u
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (ม.ป.ป.). บริษัท กล้าหาญการโยธา จำกัด. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/nf4k8uqG4Y8fffhuRTtJQv5wqMJT-viCwnx4vO3r5YL3zG5vTX_XhBiIonX7HWvC
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (ม.ป.ป.). บริษัท อุทัยไชโย จำกัด. https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/LK8ysy5xfY0UDsC-NactKC4kaLWqLhwudwg2bhMqDf613LKxCLslWPqnnu_uEuOh
- กรมทางพิเศษแห่งประเทศไทย. (1 เมษายน 2564). https://www.exat.co.th/20210401-กทพ-ร่วมงานสวดพระอภิธร/
- คนตามข่าว. (28 สิงหาคม 2561). “คนตามข่าว : อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง”. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/columnists/news_1105727
- คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์. (ม.ป.ป.). รายนามกรรมาธิการ. https://old.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/agronomy/gallery_view_catelogy.php?category_id=3&filename=index
- คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์. (25 ตุลาคม 2566). สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ N 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา. https://web.parliament.go.th//assets/portals/125/fileups//files/สรุปผลการประชุม(ok)_ค_4พ_25ต_ค_66.pdf
- ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. (4 พฤศจิกายน 2564). เปิดประวัติ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รักษาการอธิบดีเจ้าท่า. ฐานเศรษฐกิจ. https://www.thansettakij.com/economy/502135
- ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย. (4 ตุลาคม 2567). เลือกตั้ง นายก อบจ. อุทัยธานี; เผด็จ นุ้ยปรี คนดี….คนเดิมของ “พี่” หรือของ “ใคร?”. Lanner. https://www.lannernews.com/04102567-03/
- ผู้จัดการออนไลน์. (7 มกราคม 2552). ศาลสั่งคืนสิทธิ “อดุลย์” มีคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส.อุทัยธานีได้. ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/crime/detail/9520000001098
- ผู้จัดการออนไลน์. (23 ธันวาคม 2567). ศึกเลือกตั้ง ส.อบจ.อุทัยธานี คึกคัก! “สจ.เปี๊ยก”คนดังคู่ชาดา เจอคู่แข่งแล้ว ทายาท “นุ้ยปรี-มนัญญา”ลงสนามครบ. ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/local/detail/9670000122849
- สำนักงบประมาณ. (2560). เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ ๓ เล่มที่ ๔ ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐. https://www.bb.go.th/topic-detail.php?id=10650&mid=545&catID=1267
- ธาตรี มหันตรัตน์, (2558), นักการเมืองถิ่นจังหวัดอุทัยธานี, สถาบันพระปกเกล้า, กรุงเทพฯ
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี. (14 มกราคม 2564). กกต.ประกาศรับรองนายก อบจ.อุทัยธานี พร้อมประกาศรับรองสมาชิก อบจ. 23 คน. https://www.uthaipao.go.th/home/2021/01/14/president-certification-announcement-uthai-thani-provincial-administrative-organization-with-member-certification-announcement/
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี. (1 กุมภาพันธ์ 2568). รายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง สจ. อบจ.อุทัยธานี (อย่างไม่เป็นทางการ). https://www.facebook.com/share/p/153v71b4FW/
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...