กะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน-บ้านกลาง นำร่องจัดการเชื้อเพลิงยั่งยืน ด้านปลัดกระทรวงทรัพฯ ลงพื้นที่ไร่หมุนเวียนหนุนชุมชนเผาเป็นระบบ

รายงาน: ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

18 มีนาคม 2568 ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง และ บ้านแม่ส้าน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) รวมถึงเครือข่ายชุมชนของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และเครือข่ายภาควิชาการ จัดเวทีนำเสนอแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบการเกษตรไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนชาติพันธุ์ที่ต้องใช้ไฟตามวิถีในพื้นที่ไร่หมุนเวียน นำเสนอแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมถึงนำเสนองานวิชาการถอดรื้อมายาคติว่าด้วย “ไฟ” และ “ไร่หมุนเวียน” โดยมี ‘จตุพร บุรุษพัฒน์’ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางร่วมกิจกรรม ที่ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการทำพิธีกรรมตามความเชื่อชาวปกาเกอะญอต้อนรับ ปลัดกระทรวงฯ โดยมีการมัดมือโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพื่อให้พรและไล่สิ่งชั่วร้าย มีการกล่าวทักทายและให้แนวทางว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในช่วงมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดตามประกาศผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดย พนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ และ ศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง 

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงภารกิจของกระทรวงฯ ในการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับชุมชน โดยขอบคุณชุมชนบ้านกลางและบ้านแม่ส้าน ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมย้ำว่าแม้สภาพป่าของชุมชนเหล่านี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ แต่ในระดับประเทศไม่ใช่ทุกชุมชนที่จะสามารถจัดการทรัพยากรได้ดีเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายของรัฐเพื่อป้องกันผลกระทบในวงกว้าง

สำหรับการควบคุมไฟป่าและ PM 2.5 กระทรวงฯ ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่กับป่า โดยได้เสนอแนวคิดสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีบทบาทในการดูแลป่า เช่น หากพื้นที่ที่ชุมชนดูแลไม่มีการเกิด Hotspot ในช่วงฤดูไฟป่า ชุมชนอาจได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ จตุพรย้ำว่า “ป่าเป็นของคนไทยทุกคน” ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไฟป่าคือ การให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง

ในประเด็นของมาตรการห้ามเข้าป่าเพื่อป้องกันการเผาป่า จตุพรได้กล่าวว่าทางกระทรวงฯ ได้ขอความร่วมมือจากชุมชนให้ช่วยกันดูแลป่า และเสนอให้มีการกำหนดพื้นที่และระยะเวลาของไร่หมุนเวียนให้ชัดเจน นอกจากนี้ เขาได้เล่าถึงประสบการณ์ในอดีตขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่เคยออกแบบระบบ “จองเผา” เพื่อทำให้การเผาเป็นระบบและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับข้อกังวลเรื่องเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ปลัดกระทรวงฯ ระบุว่าหลังจากหารือกับหัวหน้าอุทยานฯ ได้มีการปรับลดพื้นที่อุทยานฯ จาก 7 แสนไร่ เหลือ 4 แสนไร่ ซึ่งไม่มีการทับพื้นที่ของหมู่บ้านแม่ส้านและบ้านกลาง อย่างไรก็ตาม สมชาติ รักสองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง ได้เสนอว่าชาวบ้านต้องการเห็นแผนที่แนวเขตอย่างเป็นทางการเพื่อความสบายใจ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

ปลัดกระทรวงฯ ยังได้เปิดพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ป่าไม้และอุทยานฯ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน น้ำประปา ถนนเข้าหมู่บ้าน รวมถึงปัญหาการขอเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่ที่ทหารใช้และทับที่ทำกินของชุมชน โดยยืนยันว่าทางกระทรวงฯ พร้อมดำเนินการแก้ไขให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ป่าและวิถีชีวิตของประชาชน

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

ทั้งนี้ภายในกิจกรรมมีการนำเสนองานวิจัยว่าด้วยศักยภาพในการกักเก็บฝุ่นในระบบการเกษตรไร่หมุนเวียน และข้อค้นพบว่าด้วยการปรับของชุมชนชาติพันธุ์กับสถานการณ์ฝุ่นควัน ไฟป่า โดย นายณัฐนนท์ ลาภมา ตัวแทนทีมวิจัยบ้านแม่ส้าน นายอิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) รศ.ดร.ธวัดชัย ธานี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.จตุพร เทียรมา  คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผศ.ดร.ยิ่งลักษณ์ กาญจนฤกษ์  วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตวุฒิสมาชิก และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนเยาวชนและทีมวิจัยบ้านแม่ส้าน 

ณัฐนนท์ ลาภมา เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันจากไฟป่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำไร่หมุนเวียนของชุมชน โดยเฉพาะการถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของหมอกควัน ทั้งที่ในความเป็นจริง บ้านแม่ส้านไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นแม้แต่ตารางนิ้วเดียวในช่วงที่ฝุ่นควันพุ่งสูงขึ้น และการเผาไร่ในระบบไร่หมุนเวียนก็เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เพียง 30 นาที เท่านั้น นอกจากนี้ ชุมชนยังมีมาตรการป้องกันไฟป่า เช่น การทำแนวกันไฟยาวกว่า 36 กิโลเมตร และมีการจัดการเชื้อเพลิงอย่างรัดกุม

“ไร่หมุนเวียนไม่ใช่สาเหตุของหมอกควัน และป่าที่ชุมชนดูแลกว่า 60% ยังสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การเหมารวมว่าชุมชนชาติพันธุ์เป็นต้นเหตุของปัญหาจึงไม่เป็นธรรม” ณัฐนนท์กล่าว

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

ศุภสิทธิ์ เสนะ ระบุว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากความต้องการเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบไร่หมุนเวียนสู่สังคมภายนอก เพื่อสร้างความเข้าใจว่าการทำไร่หมุนเวียนไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 และมีการบริหารจัดการไฟเป็นระบบ มีการทำแนวกันไฟป้องกันไฟลุกลามและเฝ้าระวังไฟอย่างใกล้ชิด

จตุพร เทียนมา กล่าวว่าระบบไร่หมุนเวียนเป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืนตามระเบียบความหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการเผาและฟื้นฟูพื้นที่ตามหลักธรรมชาติ โดยหากเทียบกับการทำเกษตรในพื้นที่ราบ ระบบไร่หมุนเวียนกลับมี ผลกระทบต่อดินและฝุ่นควันต่ำกว่า โดยสามารถกักเก็บฝุ่นควันต่ำกว่า PM100 ได้ในปริมาณมาก

ธวัดชัย ธานี อธิบายว่า การทำวิจัยเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนในพื้นที่สูง เช่น บ้านแม่ส้าน ใช้ เครื่องมือตรวจวัดฝุ่น มาตรฐานระดับสากล จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อตรวจสอบผลกระทบจากการเผาและการชะล้างพังทลายของดิน โดยผลการศึกษาพบว่า ระบบไร่หมุนเวียนสามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้ และควรมีการศึกษาต่อยอดเพื่อนำข้อมูลไปใช้กำหนดแนวทางเกษตรกรรมที่เหมาะสม

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

ด้าน ยิ่งลักษณ์ กาญจนฤกษ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับภูมินิเวศ โดยชี้ว่า ไร่หมุนเวียนไม่ใช่แค่ระบบเกษตร แต่เป็นโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น มะแขว่นจากไร่หมุนเวียนของชุมชนแม่ส้าน สร้างรายได้กว่า 1.9 ล้านบาท และตลาดรวมของชุมชนมีมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท ต่อปี

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ เปิดเผยข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า แม้ระบบไร่หมุนเวียนจะเป็นเกษตรกรรมที่มีความยั่งยืน แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซ้ำยังถูกจำกัดโดยกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียนถูกจัดเป็นเขตป่า และชาวบ้านไม่สามารถทำไร่ได้

นอกจากนี้ มาตรการห้ามเผาของภาครัฐที่ออกในช่วงฤดูไฟป่า ขัดกับช่วงเวลาการเผาในระบบไร่หมุนเวียน ทำให้ชาวบ้านต้องเผาแบบเร่งรีบ หรือเผาหลบเลี่ยงดาวเทียม ส่งผลให้การเผาไม่สมบูรณ์และเกิดปัญหามลภาวะมากขึ้น เช่น ฝุ่น PM 2.5

“มาตรการห้ามเผาต้องมีการแยกแยะระหว่าง ‘การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร’ กับ ‘ไฟป่า’ และควรมีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อรักษาระบบไร่หมุนเวียนให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ธนากรกล่าว

เตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวเสริมว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ไร่หมุนเวียนมีคุณูปการต่อระบบนิเวศ ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูดิน และช่วยกักเก็บน้ำ แตกต่างจากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี

“หากรัฐยังไม่เข้าใจระบบไร่หมุนเวียน และพยายามใช้มาตรการห้ามเผาโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง อาจส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชน” เตือนใจกล่าว

ต่อมาในเวลา 11.30 น. ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะได้ลงพื้นที่ร่วมกับตัวแทนชุมชนบ้านแม่ส้าน เพื่อตรวจสอบแนวทางการจัดการเชื้อเพลิงในระบบไร่หมุนเวียน ณ แปลงเกษตรที่เตรียมแผ้วถางก่อนเข้าสู่กระบวนการเพาะปลูก ในระหว่างการลงพื้นที่ 

จตุพรให้สัมภาษณ์ว่า เห็นถึงความตั้งใจของชุมชนในการดูแลรักษาป่า และยืนยันว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในไร่หมุนเวียนสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของไฟลุกลามเข้าสู่พื้นที่ป่า จึงเน้นย้ำว่าควรมีแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ระบุวัน เวลา และแจ้งไปยังฝ่ายปกครองและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบและสามารถดำเนินงานร่วมกันได้ ด้านชุมชนบ้านแม่ส้านยืนยันว่า การแจ้งแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงไปยังฝ่ายปกครองเป็นสิ่งที่ชุมชนทำเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว และมีมาตรการป้องกันไฟป่าอย่างเป็นระบบ

“ต้องยอมรับว่าบ้านแม่ส้านมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรป่าได้ดี แต่ไม่ใช่ทุกชุมชนที่จะสามารถทำได้เช่นนี้ ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ชุมชนที่อยู่กับป่ามองเห็นความสำคัญ และร่วมกันดูแลรักษาป่าในแบบเดียวกับบ้านแม่ส้าน หากทุกชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ดีเช่นนี้ เราคงไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรืออุทยานฯอีกเลยก็เป็นได้” จตุพรกล่าว

ต่อมาในเวลา 15.00 น. ชาวบ้านบ้านแม่ส้านและสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์แปลงทำกินที่เตรียมจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นแปลงแรกของฤดูกาลเพาะปลูกนี้ โดย ชุมชนได้กำหนดแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

เพื่อป้องกันผลกระทบต่อพื้นที่ป่า ชุมชนได้ดำเนินการทำแนวกันไฟรอบแปลงอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไฟลุกลามไปยังเขตป่าและพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดูแล “ต้นอ่อนของต้นมะแขว่น” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายจากเปลวไฟด้วยการนำกาบกล้วยมาพันรอบต้นอ่อน

กระบวนการการจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละแปลงใช้กำลังชาวบ้านกว่า 20 คน โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ทิศทางลม สภาพอากาศ ช่วงเวลาเผา และความลาดชันของพื้นที่ เพื่อให้การควบคุมไฟเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเผาในไร่หมุนเวียนของบ้านแม่ส้านใช้เวลาต่อแปลงไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยชาวบ้านจะช่วยกันเฝ้าระวังไฟตลอดกระบวนการเผา และจะอยู่ในพื้นที่จนมั่นใจว่าเชื้อเพลิงดับสนิท ก่อนเดินทางกลับเข้าหมู่บ้าน

ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong