เกษตรฯ-กรมชล รับฟังความเห็น เพิ่มปริมาณนำ้ให้เขื่อนภูมิพล นักวิชาการแนะอยากให้ดูผลกระทบระยะยาว

18 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. – 15.00 น. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกรมชลประทาน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (ครั้งที่ 2) ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) , คณะกรรมการลุ่มน้ำสาละวิน ผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น เช่น นายกเทศมนตรีตำบลก้อ อำเภอลี้จังหวัดลำพูน , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร , นักวิชาการด้านต่าง ๆ และผู้แทนภาคประชาชนทั้งที่ได้รับผลกระทบและที่ได้รับประโยชน์

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เกิดขึ้นจากปัญหาความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นและปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยภาครัฐเล็งเห็นว่าแม่น้ำยวมมีปริมาณน้ำส่วนเกินในฤดูฝน สามารถผันมาเก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้ จึงร่างแผนการตั้งสถานีสูบน้ำไว้ที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสร้างอุโมงค์ส่งน้ำความยาวระยะทาง 61.52 กิโลเมตร เพื่อปล่อยน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี และใช้วงเงินก่อสร้างโครงการ 71,000 ล้านบาท พื้นที่ก่อสร้างรวมเป็นจำนวน 3,642 ไร่ เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิรวม 2,784 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 853 ไร่ และพื้นที่กันออกจากพื้นที่ของรัฐที่อยู่ในเขตป่าแต่ราษฎรใช้ที่ดินทำกินได้เนื้อที่รวม 5 ไร่

จากการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ได้ข้อสรุปในการหารือคือ ภายใต้คณะกรรมการต้องมีการตั้งคณะการทำงานขึ้นมา 3 คณะ ได้แก่ 1.คณะทบทวนทางด้านวิศวกรรม 2.คณะทบทวนทางด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย 3.คณะทบทวนด้านประเด็นทางสังคม แต่ข้อสรุปดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินได้ว่า “ควรสร้าง” หรือ “ไม่ควรสร้าง” และเกิดข้อถกเถียงจากคนที่ได้รับประโยชน์กับคนที่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดเป็นการประชุมในครั้งที่ 2

ด้านผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นเกษตรกรบริเวณลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเมื่อถึงเวลาฤดูแล้งเขื่อนบนภาคเหนือจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ ทำให้ปริมาณน้ำที่ใช้ในการเกษตรของพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำปิงตอนล่างและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีไม่เพียงพอ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยให้ภาคการเกษตรในฤดูแล้งกลับมามีผลผลิตอีกครั้ง โดยเฉพาะนาข้าวที่เป็นผลผลิตหลักและใช้น้ำในปริมาณมาก

“วันนี้เรามองเห็นจากข้อวิตกกังวลต่างๆ เรายังต้องการน้ำ ภาคเหนือตอนล่างต้องแย่งน้ำเวลาถึงหน้าแล้ง แต่สื่อมวลชนไม่อยากเผยแพร่ให้ใครรู้ ประเด็นแรกที่ผมจะพูดคือความคุ้มค่าในการลงทุน ข้อที่สอง ประเทศเรามีวัฒนธรรมในการทำเกษตร ต้องปรับสิ่งแวดล้อม ต้องปรับวิถีชีวิต ถ้าเราจะเอาน้ำจากแม่ยวมมาเติมเขื่อนภูมิพลเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร ท่านเลิกวิตกกังวลได้แล้วว่ามันจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ทำเถอะ เอาน้ำมาเถอะ พวกผมจะทำนา” ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ กล่าว

“เราเป็นหนี้เป็นสินในการทำนา เพราะไม่มีน้ำใช้ น้ำไม่พอต่อการทำนา จะให้ไปทำไร่พวกผมก็ทำไม่เป็น เกษตรกรเป็นหนี้มาเป็นสิบปี ถ้าเขื่อนนี่เสร็จเราจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 43,000 ล้านบาท จากการทำนา ถ้าหากชลประทานให้น้ำมา 2,000 ล้าน เราก็จะอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องมาแจกเงินครับ หนึ่งพัน หนึ่งหมื่น เราขอน้ำครับ วิงวอนโปรดเห็นใจพวกเราด้วยครับ” ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ กล่าว

“โครงการนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง แต่ผมเองเสนอให้เดินสร้างต่อในทิศทางที่เป็นประโยชน์ ถ้าวันนี้เราจะหาทางออกเราจะต้องทำอย่างไร? ผมเองทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรมา 35 ปี รู้ปัญหามานาน ติดหนี้ติดสิน เนื่องจากพี่น้องเกษตรกรขาดแหล่งน้ำและการเข้าถึงน้ำอย่างเท่าเทียม พี่น้องเรายากจน ผมก็เคยอิจฉาพี่น้องที่อยู่บนที่ราบสูง เขามีความสุขเพราะอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเรามีน้ำพวกเราจะมีรายได้มากขึ้น ผมขอโอกาสให้เรามีน้ำใช้ใต้เขื่อนภูมิพล เราเสียธรรมชาติแต่เราจะได้สังคมกลับมา” ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือตอนล่าง กล่าว

ด้านกลุ่มผู้เสียประโยชน์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณแม่น้ำยวม แม้ว่าในฤดูแล้งจะมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ก็ตามแต่ก็ยังมีไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร อีกทั้งทางด้านระบบนิเวศอาจถูกทำลายมากเพิ่มขึ้นจากการทำโครงการดังกล่าว ทางด้านนักวิชาการยังตั้งคำถามว่าน้ำที่ใช้จะเพียงพอต่อการช่วยเหลือเกษตรกรทางภาคเหนือตอนล่างหรือไม่ งบประมาณที่ใช้ไปจะคุ้มค่าต่อการทำลายระบบนิเวศหรือเปล่า

“ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ถ้าเป็นเมื่อก่อนน้ำยวงและน้ำเงาเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำมันก็เลยน้อยลง ความเป็นจริงน้ำในไม่ได้มากเหมือนที่หลายคนเข้าใจ ผมเชื่อว่าโครงการทุกทำมีเจตนาที่ดี แต่เราต้องดูว่าที่ต้นน้ำมันมีมากน้อยเพียงใด ขนาดคนในพื้นที่สบเมยก็ยังต้องการน้ำมาเพิ่มอยู่เหมือนกัน” ตัวแทนเกษตรกรอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว

“น้ำแต่ละปีมันจะไม่เหมือนกัน อยากให้เข้ามาดูกับตา อยากให้สำรวจตั้งแต่หัวเขื่อนถึงท้ายเขื่อนว่าน้ำมันเป็นอย่างไร มันจริงอย่าที่เขาพูดกันมั้ย ถ้าสร้างโครงการจริงๆ พวกคุณได้ประโยชน์แต่พวกเราได้รับผลกระทบ เดือดร้อนทำมาหากิน อยากให้ดูว่าได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า เรารู้ว่าคุณต้องการน้ำ แต่เราควรจะอยู่ตามแบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบในหลวงดีกว่ามั้ย ถ้าพวกที่เอาน้ำไปพวกเราก็จะไม่พอใช้น้ำอีก มีเหลือไว้ให้คนอื่นใช้อีก” ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรแม่น้ำเงา กล่าว

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีวิธีใดที่จะไม่มีฝ่าใดฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว และคณะกรรมการจะมีแผนการดำเนินงานที่เปลี่ยนไปหรือไม่จากการได้รับฟังความคิดเห็นจากการประชุมในวันนี้

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง