คนเหนือจะใดดีกับแผน PDP บทเรียนจาก ‘แม่เมาะ’ ถึงร่างแผน ‘PDP2024’ ที่ถ่านหินยังไม่หนีไปไหน

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, ภาพหน้าจอ, โพสต์มันทราบ, ผลิตภัณฑ์กระดาษ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

แผน PDP (Power Development Plan) หรือชื่อภาษาไทยคือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า คือแผนแม่บทในการจัดหาไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการพยากรณ์ปริมาณไฟฟ้าและจุด Peak ของไฟฟ้าในแต่ละปี จากนั้นจึงวางแผนว่าแต่ละปีจะต้องจัดหาไฟฟ้าเข้ามาสู่ระบบกี่หน่วยและกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงใด นำไปสู่การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยหรือรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้แผน PDP เสมือนกับเป็นแผนต้นทางของการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมถึงภาคเหนือด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแผน PDP ยังมีส่วนในการกำหนดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอีกด้วย

แผน PDP ส่งผลต่อประชาชนอย่างไร

แผน PDP เป็นเสมือนแผนแม่บทการจัดหาไฟฟ้าที่นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้า รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในท้ายที่สุด และกำหนดเชื้อเพลิงที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและประชาชนทุกคน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสามประการสำคัญดังนี้

ประการแรก แผน PDP จะมีการพยากรณ์ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า จากนั้นจะกำหนดให้จัดหาโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ทำให้แผน PDP เป็นเครื่องที่สร้างความชอบธรรมให้สร้างโรงไฟฟ้ารวมถึงเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งโรงไฟฟ้าและเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างขึ้นหลายครั้งสร้างผลกระทบเชิงลบในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นผลกระทบจากโรงไฟฟ้าได้ชัดเจนคือ กรณีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ผลศึกษาจากวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อาศัยโดยรอบบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีความเสี่ยงต่ออาการโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าพื้นที่อื่นในจังหวัดลำปาง 2-3 เท่า  

ประการที่สอง แผน PDP จะกำหนดเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ LNG พลังงานน้ำจากเขื่อน หรือพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือกากชีวมวล ซึ่งผลกระทบจากการกำหนดเชื้อเพลิงจะครอบคลุมทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพของผู้คน รวมถึงมิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ จะเห็นได้จากการที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษงาน Sustainability Forum 2024 ว่าพลังงานสะอาดจะเป็นพลังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หลังจากที่นายเศรษฐาได้เดินทางไปพบนักลงทุนในประเทศต่าง ๆ โดยนักลงทุนเหล่านั้นต่างมุ่งเสนอว่าจะลงทุนในประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ประเทศไทยยังพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศถดถอยลง

ประการสุดท้าย แผน PDP ส่งผลต่อค่าไฟในทางอ้อม เนื่องจากทั้งการจัดหาไฟฟ้าเข้าสู่ระบบและการกำหนดเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า เหล่านี้นับเป็นต้นทุนที่จะถูกนำเข้ามาคำนวณเป็นค่าไฟที่เราทุกคนต้องจ่ายกัน โดยเฉพาะในส่วนของค่า Ft หรือค่าไฟผันแปรที่ส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยปริมาณไฟฟ้าโรงไฟฟ้าในระบบของประเทศไทย ที่แม้จะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแต่ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายค่าบริการส่วนนี้และจากการคำนวนปริมาณไฟฟ้าในระบบของประเทศไทยก็มีปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินความจำเป็น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของเราพุ่งสูงขึ้น จนนำไปสู่ภาระทางการเงินของผู้ใช้ไฟในท้ายที่สุด

รูปภาพประกอบด้วย ท้องฟ้า, กลางแจ้ง, เสา, เมฆ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ผลกระทบเหล่านี้เองเราจะเห็นได้ว่า แผน PDP เป็นต้นทางของผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้า กำหนดเชื้อเพลิงที่จะใช้ผลิตไฟฟ้า และเป็นต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าที่นำมาสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพและภาระทางการเงินของผู้ใช้ไฟ ดังนั้นพวกเราทุกคนจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากแผน PDP

แผน PDP ส่งผลต่อคนภาคเหนืออย่างไร 

ภาคเหนือตอนบนที่ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่และน่าน โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ทั้งจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะในจังหวัดลำปางและรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ซึ่งถ่านหินถือได้ว่าเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าที่สกปรกและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น  

ในแผน PDP ฉบับที่ผ่าน ๆ มารวมถึงร่างแผนฉบับใหม่หรือ PDP2024 ที่กำลังจะเปิดรับฟังในเร็ววันนี้ ยังคงให้มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่จนถึงปี พ.ศ.2580 ภาคเหนือยังคงสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ที่ 1,200 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 6 จากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ณ ปี พ.ศ.2580  

จากร่างแผน PDP2024 เราจะเห็นว่ายังคงปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไว้เพียงแต่เพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นแทน พร้อมกันนี้กว่าที่จะมีการผลิตไฟฟ้าจากงานอื่นเข้าสู่ระบบก็ต้องรอไปราวปี พ.ศ.2573 โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2569 ภาคเหนือจะไม่มีการปรับลดการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอีกเลย อนุมานได้ว่าเหตุที่ปี พ.ศ.2569 มีการปรับลดปริมาณการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาจากการที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 จะปลดถูกปลดออกจากระบบเนื่องจากสิ้นอายุการใช้งาน แต่หลังจากนั้นภาคเหนือจะไม่มีการลดการพึ่งพิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอีกเลย ทั้งที่จากการศึกษาเรื่องต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย พบว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งฝุ่นละอองที่เป็นพิษและมลพิษโอโซนก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนมากมาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อาทิ เส้นโลหิตในสมองแตก โรคหัวใจ และมะเร็งปอด

โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของผลกระทบด้านสุขภาพของผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จากผลศึกษาจากวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สำรวจระหว่างปี 2543-2545 พบว่าผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่มีความเสี่ยงต่ออาการโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าพื้นที่อื่นในจังหวัดลำปางกว่า 2-3 เท่า โดยอาการที่พบคือ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ เรื้อรัง หอบหืด และหลอดลมอักเสบ ลักษณะอาการป่วย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เกิดการสัมผัสมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นระยะเวลานาน และจากรายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ.2548 ระบุว่าไฟฟ้าจากแม่เมาะคือต้นทุนสุขภาพราคาแพงของชาวบ้าน จากกรณีฝนกรดเมื่อปี พ.ศ.2535 ที่ส่งผลให้ผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะในระยะ 7 กิโลเมตรต่างมีอาการหายใจไม่สะดวกคลื่นไส้วิงเวียนศีรษะเคืองตาและจมูก พร้อมกับที่ผู้ป่วยโรคหัวใจและภูมิแพ้มีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว แม้ทาง กฟผ. ผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าจะออกมาเยียวยาและลงทุนติดตั้งเครื่องมือดักจับฝุ่น แต่ก็ใช่ว่าผลกระทบสุขภาพจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะหายไป เหล่านี้เป็นผลกระทบที่ผู้คนภาคเหนือโดยเฉพาะผู้คนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะต้องประสบพบเจอมายาวนาน ยังไม่นับรวมกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่สาเหตุหนึ่งก็อาจมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ร่างแผน PDP2024 ก็ “ยังจะคงโรงไฟฟ้าถ่านหินเอาไว้”  

รูปภาพประกอบด้วย ใบหน้าของมนุษย์, เด็กผู้ชาย, สาว, คน

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
(ภาพเด็กและผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/content-page/item/400)

ในแผนฉบับก่อนหน้าหรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 และ 9 ต่อ จากที่เคยจะต้องปลดระวางในปี พ.ศ.2568 แต่ในแผนฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเก่าที่จะปลดระวาง แต่โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะสร้างก็จะยังคงใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง พร้อมกับมีมติคณะรัฐมนตรีรับรองการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่แล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ขณะที่ในร่างแผน PDP2024 ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่อาจอนุมานได้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะยังคงเดินเครื่องต่อไป จากการที่ร่างแผน PDP2024 ที่ยังคงโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ในระบบอย่างน้อยจนถึงปี พ.ศ.2580

โรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดมลพิษฝุ่น PM2.5 ที่ผู้คนในภาคเหนือต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน และทวีความรุนแรงขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้สาเหตุหลักจะมาจากการเผาในที่โล่ง แต่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ซ้ำร้ายฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินจะเกิดการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่อปีจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีสัดส่วนมากที่สุด เกิดเป็นฝุ่น PM2.5 ที่มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นสารตั้งต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การกัดกร่อนเยื่อบุและอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ หากสูดดมสะสมเป็นเวลานานและอาจส่งผลให้เป็นโรคทางโพรงจมูกและหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ในที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้ผู้คนในภาคเหนือต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ตามมาจากการสูดดมฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน “แม้จะมีความเสี่ยงเช่นนี้ร่างแผน PDP2024 ซึ่งเป็นแผนที่นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าและกำหนดเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ก็ยังจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้คนในภาคเหนือใช้ไปอย่างยาวนาน พร้อมกับดูเหมือนจะไม่มีวันปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากระบบการผลิตไฟฟ้าของภาคเหนือเลย”

(ภาพเมืองเชียงใหม่ในช่วงที่ประสบกับมลภาวะจากฝุ่น ขอบคุณภาพจากไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/north/2663970

คนเหนือจะทำยังไงดีกับแผน PDP? 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นร่างแผน PDP2024 และดูเหมือนว่าจะกักขังคนเหนือให้ต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินไปอีกยาวนาน อย่างน้อย ๆ คนเหนือก็ต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินไปจนถึงปี พ.ศ.2580 ทั้งที่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้สร้างผลกระทบในมิติต่าง ๆ แก่คนเหนือมากมาย ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านสุขภาพ กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะคือภาพสะท้อนของผลกระทบที่เกิดจากแผน PDP ที่ไม่ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียที แม้จะมีผลกระทบต่อผู้คนรอบโรงไฟฟ้าและผู้คนในภาคเหนือมากขนาดไหน ในปัจจุบันถึงจะมีการใช้เทคโนโลยีดักจับฝุ่นที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน แต่ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถดักจับฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการดังกล่าวได้หมดจด โรงไฟฟ้าถ่านหินยังสร้างผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่องและแผน PDP ก็ได้สร้างความชอบธรรมให้ผลกระทบเหล่านั้นยังคงอยู่และกระจายความเสียหายออกไปอีก จากการไม่ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

ประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net-Zero ในปี พ.ศ.2608 ให้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในขณะที่ร่างแผน PDP2024 ที่จะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2580 ประเทศไทยยังคงใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ารวมกันอยู่ร้อยละ 48 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งการนำถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักของภาคเหนือก็ยังไม่หายไปไหนในปี พ.ศ.2580 เป้าหมาย Net-Zero อาจเป็นประเด็นสำคัญที่คนเหนือจะใช้เพื่อผลักดันให้ไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม และเสนอให้ค่อย ๆ ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมออกจากระบบการผลิตไฟฟ้าเรื่อย ๆ พร้อมกับผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านมาพึ่งพาเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มมีราคาที่ถูกลงแล้ว และหลายประเทศโดยเฉพาะเยอรมันและเดนมาร์กก็ได้ก้าวเข้าสู่การพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า  

สำหรับการลดการพึ่งพิงถ่านหินและหันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นอกจากจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนเหนือแล้ว ดร.ภิญโญ มีชำนะ ได้เขียนบทความต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคิดอย่างไร และบทความใครได้-ใครเสีย จากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเผยให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และความเป็นไปได้ของการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงจากการหันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นผลให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอาจจะมีส่วนช่วยให้ค่าไฟของพวกลดลงอีกด้วย 

นอกจากนี้การหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการกระจายอำนาจทางพลังงาน หรือก็คือการลดอำนาจ/พลังทางการเมืองของกลุ่มทุนพลังงาน เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้และขายได้ ผ่านระบบมาตรการรับซื้อไฟฟ้า (Feed-in Tariff: FiT) แม้ประเทศไทยจะมีการประกาศแนวนโยบายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ก็ดำเนินไปอย่างไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก  

ตามระเบียบการจัดทำแผน PDP สำนักงานคณะกรรมนโยบายและแผนพลังงานจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ จึงได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงภาคเหนือด้วยเช่นกัน คนเหนือสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอข้อเรียกร้องที่มีต่อแผน PDP ได้ผ่านเวทีดังกล่าว โดยในร่างแผน PDP2024 ภาคเหนือจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2567 ผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น

พร้อมกันนี้ JustPow องค์กรสื่อสารประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักข่าว Lanner จะเปิดเวทีรับฟังระดมความคิดเห็นจากคนเหนือในหัวข้อ “เอาไงกันดีกับแผน PDP2024 ที่…” พร้อมกิจกรรมทั้งเวิร์กช็อปฐานการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างพลังงานไทยและทำไมค่าไฟแพง เวทีเสวนา “แผนพีดีพี 2024 : สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น” ที่ประชาชนทุกภาคส่วนแต่ละภูมิภาคจะได้ทำความเข้าใจประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ ในร่างแผน PDP2024 นี้พร้อมสะท้อนถึงปัญหาในและพื้นที่และสิ่งที่อยากจะให้เป็นในอนาคตทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงพื้นที่ เวทีจะจัดในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่จะถึงนี้ เวลา 9.00 น. ถึง 15.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

รายการอ้างอิง 

  • Green Network. (2565). ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ของ กฟผ. สืบค้น 17 มิถุนายน 2567 จาก https://www.greennetworkthailand.com/egat-2/ 
  • Greenpeace. (2558). ต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย. ไม่ปรากฎสำนักพิมพ์ 
  • ภิญโญ มีชำนะ. (2561). ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคิดอย่างไร (ตอนที่ 1). สืบค้น 17 มิถุนายน 2567 จาก https://thaipublica.org/2019/08/pinyo-meechumna02/ 
  • ภิญโญ มีชำนะ. (2561). ใครได้-ใครเสีย จากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (ตอนที่ 1). สืบค้น 17 มิถุนายน 2567 จาก https://thaipublica.org/2019/09/pinyo-meechumna03/ 
  • นครินทร์ ศรีเลิศ. (2566). ‘ไฟฟ้าสะอาด’ อาวุธใหม่ ไทยใช้ดึง‘การลงทุน’จากต่างประเทศ. สืบค้น 17 มิถุนายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1103974#google_vignette 
  • ประเสริฐ แรงกล้า. (2566). พลังงานหมุนเวียนและความคลุมเครือของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน. วารสารพัฒนศาสตร์, 6(2), 1-22. 
  • สุขภาพคนไทย. (2548). ไฟฟ้าจากแม่เมาะ คือต้นทุนสุขภาพราคาแพงของชาวบ้าน. สืบค้น 17 มิถุนายน 2567 จาก https://www.thaihealthreport.com/file_book/book2546-10-9.pdf 
  • สฤณี อาชวานันทกุล. (2567). ความไม่เป็นธรรมของค่าไฟ. สืบค้น 17 มิถุนายน 2567 จาก https://justpow.co/article-unfair-electricity-bill/ 
  • สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน. (2563). แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2579 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1. ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์ 
  • เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024). (12 มิถุนายน 2567​).  กรุงเทพฯ: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน.  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง