เปิดมุมวิเคราะห์ทำไม ‘มนต์ชัย’ ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก 3 สมัยซ้อน

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

18 สิงหาคม 2567 จังหวัดพิษณุโลกได้มีการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก (อบจ.พิษณุโลก) นายก.อบจ ครั้งนี้ มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งหมด 671,170 คน โดยมีผู้มีสิทธิมาแสดงตนทั้งหมด 361,642 คน มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 1,283 หน่วย ทั้งหมด 9 อำเภอ โดยมีผู้สมัครนายก อบจ.พิษณุโลกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ หัวหน้าทีมพลังพิษณุโลก  เบอร์ 1 แชมป์เก่าอดีตนายก อบจ. เบอร์ 2 เศรษฐา กิตติจารุรักษ์ และเบอร์ 3 สิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก อย่างไม่เป็นทางการ 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ‘มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์’ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 214,519 คะแนน อันดับ 2 คือ สิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล เบอร์ 3 ได้คะแนน 104,163 คะแนน และอันดับ 3 คือ เศรษฐา กิตติจารุรักษ์ เบอร์ 2 ได้คะแนน 13,579 คะแนน

มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ว่าที่นายก อบจ.พิษณุโลก 3 สมัยซ้อน จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ โดยเส้นทางการเมืองของ มนต์ชัย เคยเป็นอดีต สส.พิษณุโลก สังกัดพรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551 ก่อนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.พิษณุโลก เมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นสมัยที่ 3 ระยะเวลารวมกว่า 12 ปี มี บิดา คือ ชาญชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทางภาคเหนือตอนล่าง และในจังหวัดพิษณุโลก

ด้านสำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่าระหว่างปี 2543-2557 ห้างหุ้นส่วนจำกัดพิษณุโลกวิวัฒน์พัฒนา ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของนายชาญชัยได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ จ.พิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่างอย่างน้อย 113 โครงการ รวมวงเงิน 1,716 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของสังกัดกระทรวงมหาดไทย 30 โครงการ 774.3 ล้านบาท ส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดพิษณุโลก 20 โครงการ 200.7 ล้านบาท และส่วนของ อบจ. พิษณุโลก 5 โครงการ 9,830,500 บาท

4 ข้อค้นพบเครือข่ายการเมือง กำลังหลักเลือกตั้งท้องถิ่น ตอกย้ำชัยชนะ 3 สมัยซ้อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยกับสำนักข่าว Lanner ว่าจากลงพื้นที่การสังเกตุการณ์เลือกตั้งในหลายพื้นที่ทั้งจังหวัดพิษณุโลก พบว่าคนมาเลือกตั้งมีจำนวนที่น้อยมาก อย่างพื้นที่ในอำเภอเมืองพิษณุโลก จากผู้มีสิทธิ 800 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 200 คน ซึ่งชี้ชัดว่าคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองพิษณุโลกตื่นตัวน้อยกว่าคนต่างอำเภอ โดยวีระมีข้อค้นพบจากการสังเกตการณ์และวิเคราะห์ทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

1.จำนวนคนมาเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลกมีจำนวนน้อย เพียงประมาณ 53% แต่ในแง่หนึ่งอาจจะมากกว่าในพื้นที่อื่น อย่างนครสวรรค์พบว่ามีคนมาใช้สิทธิเพียง 37% ซึ่งสาเหตุที่คนปัจจัยที่คนพิษณุโลกมาเลือกตั้งนายก อบจ. น้อยมีสาเหตุมาจากการออกไปทำงานและเรียนนอกจังหวัดของคนพิษณุโลก การกลับมาเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นข้อจำกัดด้านทรัพยากรเวลาและค่าเดินทาง ซึ่งทำให้คนทัศนคติของคนที่ออกไปทำงานนอกจังหวัดและคนที่อยู่ในจังหวัดต่างกัน คนที่อยู่ในจังหวัดพิษณุโลกที่เป็นเมืองรอง จะเป็นคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้พฤติกรรมทางการเมืองต่างกัน ซึ่งผลการเลือกตั้งก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นภาพ

2.การเปลี่ยนแปลงของคะแนน การเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2563 นั้น มีการแข่งขันกันระหว่าง 2 บ้านใหญ่ คือ บ้านของมนต์ชัยและบ้านของนิยม ช่างพินิจ ที่ส่งหลานสาว ยลดา ช่างพินิจ ลงเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ บ้านของนิยม ช่างพินิจ ไม่ได้ลงแข่ง ทำให้เหลือแค่บ้านของมนต์ชัยที่มีเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง ซึ่งในรอบนี้มีการแข่งกับสิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล ผู้สมัครนายกอบจ.พิษณุโลก เบอร์ 3 แม้ว่าจะไม่ใช่ตัวแทนของพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน แต่ก็มี อดีต สส.ในพรรคที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่าง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่ช่วยลงพื้นที่ในการหาเสียงอย่างเต็มที่ ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาหากมองในแง่ดี พรรคเบอร์ 3 ได้คะแนนมากขึ้นถึง 240% หากเทียบกันการเลือกตั้งนายก อบจ. ในครั้งก่อน 

หากมามองที่ผู้ชนะอย่างมนต์ชัย หลายคนมองว่าเป็นการเมืองบ้านใหญ่ มีจักรกลการเมือง มีหัวคะแนนที่คอยช่วยเหลือ แต่ต้องยอมรับว่ามีการปรับตัว มีโซเชียลมีเดียในการหาเสียง มีการยิงแอด (Advertising) ในเพจ Facebook รวมไปถึงการหาเสียงผ่าน TikTok ทำให้มีคนสนับสนุนเยอะมาก รวมไปถึงการทำงานเครือข่าย ทีมของมนต์ชัยก็ทำได้ดีกว่า เรียกว่าไม่แปลกที่ชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งนายกอบจ. ในครั้งนี้ มนต์ชัยจะชนะการเลือกตั้งแน่ ๆ แต่การลุ้นของการเลือกตั้งในครั้งนี้คือ คะแนนหลังเลือกตั้งจะเบียดกันขนาดไหน หากเบียดกันได้เยอะการทำงานของคนชนะจะพัฒนาจังหวัดได้ดีมากขึ้น เพราะต้องพัฒนาจังหวัดเนื่องจากกลัวโดนแซงในครั้งต่อไป

3.หากมาดูที่ผลคะแนนจากทั้งหมด 9 อำเภอ พบว่า มีอำเภอเดียวที่พรรคสีส้มทำคะแนนได้สูสีคืออำเภอเมือง ในขณะที่อำเภออื่นก็แพ้อย่างขาดลอย มีแค่อำเภอชาติตระการ ที่พอจะสูสีและคะแนนเบียดกัน ถ้ามองกันจริง ๆ อำเภอรอบนอกที่เหลือ หากมามองเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาไม่ใช่เครือข่ายของมนต์ชัย เพราะมนต์ชัย ในเชิงการเมืองเป็นเครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอำเภอรอบนอกเหล่านี้เป็นเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่ากลุ่มการเมืองในพื้นที่รอบนอกสามารถไปกันกับมนต์ชัยได้ดีในระดับหนึ่ง 

หากมาดูผลคะแนนที่คนรอบนอกที่เทไปให้กับมนต์ชัย ก็มักจะมีคำพูดที่ว่า คนในเมืองต้องการการเปลี่ยนแปลง ส่วนคนรอบนอกนั้นรับเงิน ต้องย้ำว่า คนรอบนอกชอบมนต์ชัยเป็นเรื่องไม่ผิด การไปโทษว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลง มองว่า 200 บาท แลกกับ 4 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ต้องกลับมามองที่พรรคสีส้มที่แพ้ในการเลือกตั้งนายกอบจ.หลายที่ ต้องกลับมาทำการบ้านว่าทำไมเรื่องการเปลี่ยนแปลง หรือความฝันมันถึงจูงใจคนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคสีส้มต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าทำได้ดีขึ้นแต่ไม่สามารถพลิกกลับมาชนะได้ 

“ต้องระวังเรื่องของการมองว่าพรรคฝั่งตรงข้ามซื้อสิทธิขายเสียง มีเครือข่ายการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เป็นการดูถูกประชาชน เพราะฉะนั้นต้องทำงานพื้นที่ให้ต่อเนื่อง จุดหนึ่งคนจะเห็นเองอย่างการเลือกตั้งระดับชาติ แต่เลือกตั้งท้องถิ่นมันทำงานยากกว่า เพราะท้องถิ่นมันคือวิถีชีวิต”

4.กลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง มนต์ชัยมีเครือข่ายทำงานที่เข้มแข็ง สามารถขอความร่วมมือในการลงพื้นที่ หาคนวิ่งคะแนน ซึ่งฝั่งพรรคสีส้มทราบถึงปัจจัยนี้และมีการลงพื้นที่หาเสียงทุกอำเภอ แต่จากการลงพื้นที่ในอำเภอบางระกำและอำเภอบางกระทุ่ม ประชาชนส่วนใหญ่บอกว่าไม่ค่อยเห็นพรรคสีส้มเลย ซึ่งพรรคสีส้มมักจะไปจัดเวทีบริเวณตลาดเทศบาล งานชุมชน และงานบอล แต่ไม่ได้เดินเจาะรายหมู่ ซึ่งต่างจากทีมของมนต์ชัย ที่มีการลงพื้นที่รายหมู่ที่ถึงแม้จะไม่ได้ลงเอง แต่มีคนเดินให้ในทุกพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ทำให้พรรคสีส้มมีเครือข่ายในพื้นที่น้อย แต่กลับไม่มีการปิดช่องว่างตรงนั้น หากจะใช้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงในการหาเสียงเลือกตั้ง ปดิพัทธ์ คนเดียวไม่พอต้องมีคนมาช่วยในการหาเสียง รวมไปถึงวันที่มีการเลือกตั้งไม่มีคนไล่คะแนนและประสานกับเครือข่ายในพื้นที่ คือคนที่โทรเช็คตอนเช้าให้ไปเลือกเบอร์ของตน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน

‘พิษณุโลกเมืองทางผ่าน’ ถนนและเส้นทางปัจจัยที่ทำให้ ‘มนต์ชัย’ ชนะ

นอกจากข้อค้นพบจากการสังเกตการณ์และวิเคราะห์ทั้งหมด 4 ข้อ วีระยังกล่าวอีกว่าตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่มนต์ชัยบริหารจังหวัดมานั้นจะเห็นได้ว่า มีเครือข่ายและพรรคพวกในพื้นที่เยอะมาก ที่มีการทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างการทำถนน ขุดคลอง ซึ่งสำหรับคนต่างจังหวัดมองว่า ‘ถนน’ เป็นขั้นแรกของความเจริญ และเดี๋ยวเรื่องอื่นจะตามมา ซึ่งมนต์ชัยตอบโจทย์เรื่องโครงสร้างพื้นที่ฐานตรงนี้ได้ 

“หลายครั้งเขาต้องการถนนนะ เขาไม่ต้องการรัฐสวัสดิการ”

แต่หากมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดนั้นอาจจะยังไม่มี ตัวอย่างเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งพิษณุโลกสามารถผลักดันเรื่องนี้แต่พิษณุโลกกลับเป็นเมืองรองอยู่ เป็นทางผ่านขึ้นไปเขาค้อ พอพิษณุโลกเป็นทางผ่านเวลาจัดงานใหญ่ก็จบแค่งานมหกรรมอาหารกับงานเกษตรเพียงเท่านั้น งานมหกรรมขนาดใหญ่อย่าง Work Expo ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ทราบว่าเป็นปัญหา 

ภาพ: อบจ.พิษณุโลก

ส่วนปัจจัยที่ทำให้มนต์ชัย ได้รับความนิยมนอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่าง ถนน แล้ว มนต์ชัยนั้นมีเครือข่ายที่ฝั่งรากไปจนถึงระดับเคาะประตูบ้านได้ อย่างการใช้ สจ.คนหนึ่งที่สามารถวิ่งหาคะแนนในระดับหมู่บ้าน และเป็นคะแนนที่เป็น ‘จักรกลการเมือง’ ที่สามารถรู้ได้ว่าหมู่บ้าน หมู่นี้มีคะแนนกี่คะแนน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ผ่านตัวเลขเหล่านี้ได้


ปัจจัยที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือความเป็นอนุรักษ์นิยมของจังหวัดพิษณุโลกโดยตัวของมันเอง เนื่องจากเป็นจังหวัดกองทัพ ที่มีค่ายทหารอยู่ 4 ค่ายใหญ่ และค่ายทหารย่อย ๆ อีกมากมาย ในเชิงชายแดนในค่ายทหารเหล่านี้ไม่ได้ดูแค่เรื่องของความมั่นคง แต่ดูเข้าไปแทรกซึมอยู่ตามโรงเรียน สภามหาวิทยาลัย สภาหอการค้า กิจกรรมก็มีการทำงานร่วมกันกับทหารกับพลเรือนอยู่ตลอด 

ทำให้ความชอบของประชาชนต่อทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยมจึงมีมากจึงไม่ชอบการเปลี่ยนเท่าไหร่ ซึ่ง อำเภอวังทองและอำเภอเนินมะปรางจะเห็นได้ชัดว่าชอบทัศนคติแบบนี้ จากการเป็นพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีแนวคิดที่กลัวในการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้จากผู้ที่ลงเลือกตั้ง นายก อบจ. ในเบอร์ 2 ที่ไม่ได้มีการหาเสียงแม้แต่น้อย แต่ก็มีคนเลือกเป็นหมื่นคะแนน เนื่องจากเคยเป็น สจ. ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องศาสนาไว้เยอะและออกสื่อบ่อยทำให้คนมีอายุก็ชอบคนนี้มากซึ่งเป็นธรรมชาติของคนพิษณุโลก

“ถ้าเปลี่ยนไปไม่ดี อยู่กับของเก่าดีกว่า” 

หลังจาก กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ มนต์ชัย ก็จะอยู่ในตำแหน่งนายก อบจ. รวมกันกว่า 16 ปีเต็ม ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะต้องมีการส่งไม้ต่อให้กับลูกชายอย่าง อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ ในการรับมรดกทางการเมือง ซึ่งหากรอบหน้ามีการเลือกตั้งนายก อบจ. อีกครั้ง ลูกชายของมนต์ชัยก็อาจจะลงเลือกตั้ง เนื่องจากลูกชายเองก็เคยทำงานการเมืองท้องถิ่นในตำแหน่ง สจ. อยู่ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะนี้ในจังหวัดพิษณุโลก

“การเลือกตั้งแพ้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรารู้ว่าประชาชนที่สนับสนุนเราได้มีทางเลือก พื้นที่ไหนเราแข็ง พื้นที่ไหนเราอ่อน ก็พัฒนาต่อไป การที่จะเปลี่ยนวิธีคิดทางการเมืองของคนต้องใช้เวลา อย่าคาดหวังจะชนะการเลือกตั้งในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ อาจจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี 20 ปี” วีระ กล่าวทิ้งท้าย

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง