“Sex Work” ข้ามชาติในเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่

เรื่องและภาพ: จตุพร สุสวดโม้

“ถ้าหนูมีโอกาสเหมือนคนอื่น หนูจะไม่มีวันละทิ้งการเรียน ละทิ้งความฝัน แต่ชีวิตในพม่ามีแต่ความอดยาก ต้องหนีเข้ามาหางานทำที่นี่” หนึ่งในเหตุผลที่หญิงจากรัฐฉานตอนใต้ตัดสินใจหนีเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย

“ก่อนโรคโควิดระบาด ทำงานมีรายได้ 4,000-6,000 ต่อวัน บางวันได้หลักหมื่นบาท เดี๋ยวนี้นะ 3 วันยังไม่ได้สักบาท” นิลาหญิงชาวไทยใหญ่พยายามเปรียบเทียบรายได้ในอดีตกับปัจจุบัน แม้สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ก็ไม่ได้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากนัก

อาคารที่มีผนังปูนกั้นเป็นแถวยาวเรียงรายแบ่งเป็นหลายล็อก แสงไฟสลัวหลากสี ถูกตกแต่งให้เป็นบาร์ขนาดย่อมบนเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีชื่อว่า เมืองเชียงใหม่

ภาพหน้าบาร์ถูกตกแต่งด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มียี่ห้อ

เก้าอี้สี่ตัววางหน้าบาร์ขนาดเล็ก ด้านหลังประดับไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดีมีราคา ส่วนตู้แช่ที่เต็มไปด้วยเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ถัดไปข้างหน้ามีโต๊ะไม้ไว้เป็นที่พักของพนักงานรอคอยต้อนรับลูกค้า 

ร้านบาร์ที่อาจจะดูเก่าและทรุดโทรมแต่เต็มไปด้วยไฟประดับแสงไฟหลากหลายสี ในย่านนี้เป็นที่รู้กันดีว่า“มีหญิงสาวรับงานพิเศษอย่างว่า” ที่เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการหาความสุขในยามค่ำคืน

ภายในร้านมี “นิลา” (นามสมมติที่ชื่อใหม่ที่ผู้เขียนตั้งให้เธอเผื่อว่าวันข้างหน้าอาจจะไม่ต้องการให้ใครได้รับรู้ตัวตนนี้ของเธอ) เธอเป็นสาวชาวไทใหญ่ จากประเทศพม่า วัย 23 ปี ทำงานเป็นพนักงานบาร์แห่งหนึ่งในย่านถนนลอยเคราะห์ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เธอและเพื่อน ๆ ต่างวัย อีก 3 คน กำลังเริ่มแต่งหน้าเสริมสวยในค่ำของวันที่กำลังมีฝนตกปรอย ๆ เพื่อรอคอยต้อนรับลูกค้าที่จะเข้ามากิน ดื่ม เสพ แสง สี เสียง ในช่วงค่ำคืน….

ภาพพนักงานบาร์กำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมต้อนรับลูกค้า

ร้านแห่งนี้อยู่ท่ามกลางสถานบริการผิดกฎหมายหลากหลายรูปแบบ เป็นที่หมายตาของวงการสีกากีเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ผ่านธุรกิจสีเทา 

มีลูกค้าขาประจำและขาจรแวะเวียนทยอยมาใช้บริการ หลังสถานการณ์ Covid-19 ที่กำลังซบเซาไม่ต่างจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน….

“เงินที่ได้จากการทำงานส่วนหนึ่งมาจากส่วนแบ่งค่าดริ้งค์จากทางร้านเพราะไม่มีเงินเดือน ส่วนรายได้หลักที่ทำให้มีเงินพอจ่าย ค่าห้อง ค่ากิน และเหลือส่งกลับไปยังบ้านประเทศบ้านเกิด มาจากการทำงานพิเศษแอบแฝง” เป็นหนึ่งในเหตุผลที่นิลาเลือกทำอาชีพค้าบริการเป็นอาชีพเสริมเพราะเป็นแหล่งรายได้เดียวที่เพียงพอประทังชีวิต

หลังจากสถานการณ์ Covid-19 เริ่มมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่บางวันก็ไม่ได้คึกคักอย่างเคย เหมือนวันนี้ที่ฝนตกกระหน่ำพัดพาชายผู้ท่องราตรีหายไปตามสายฝน

“ก่อนโรคโควิดระบาด ทำงานได้เงินวันละ 4,000-6,000 บาท บางวันได้หลักหมื่นบาท เดี๋ยวนี้นะ 3 วันยังไม่ได้สักบาท” เธอพยายามเปรียบเทียบรายได้ในอดีตกับปัจจุบัน แม้สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแต่ก็ไม่ได้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากนัก

ภาพขณะที่ฝนกำลังตกทำให้ดูเงียบเหงาเพราะไร้เงาลูกค้า

ขณะที่ฝนตกกระหน่ำเธอแจกแจงว่า ชีวิตในไทยลำบากมาก เพราะมีรายได้ที่ไม่แน่ไม่นอน ส่วนชีวิตก็อยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะยังไม่สามารถทำงานในไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ต้องแบกรับความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบโดยไร้การเหลียวแล

กรมการจัดหางานเปิดเผยว่าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย 2.74 ล้านคน  ในนั้นแรงงานจากเมียนมา 1.86 ล้านคน 

“ถ้าหนูมีโอกาสเหมือนคนอื่น หนูจะไม่มีวันละทิ้งการเรียน ละทิ้งความฝัน แต่ชีวิตในพม่ามีแต่ความอดยาก หนูจึงหนีเข้ามาหางานทำที่นี่” หนึ่งในเหตุผลที่ของหญิงสาวชาวไทใหญ่ตัดสินใจหนีเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายเพราะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนไร้โอกาสเข้าถึงการศึกษา

นิลาเล่าย้อนว่า ในปีแรกก่อนมาทำงานในไทยต้องเปลี่ยนงานถึงสี่ครั้ง ตั้งแต่เป็นแม่บ้าน คนเลี้ยงเด็ก พนักงานเสิร์ฟ ทำงานไม่มีสวัสดิการรองรับ รายได้น้อยแต่ค่าใช้จ่ายสูง ไม่มีแม้กระทั่งเงินเก็บเพียงพอที่จะไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย

“หนูต้องหาเงินปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท เพราะต้องจ่ายพิเศษให้นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เขายอมขึ้นทะเบียนให้” เธอเล่าพร้อมถอนหายใจ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กรมการจัดหางานระบุว่ามีแรงงานกัมพูชา,เมียนมา, ลาว และเวียดนามที่ไม่ได้รับการอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 7.06 แสนคน ซึ่งรัฐบาลเปิดให้ดำเนินการขึ้นทะเบียน แต่ถึงปัจจุบันมีเพียงประมาณ 2 แสนคนที่ขึ้นทะเบียนสำเร็จ ขณะที่อีก 5 แสนคน ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมีค่าใช้จ่ายที่สูงและมีความล่าช้าเพราะรัฐบาลไม่ได้มีแผนรองรับไว้

ชีวิตนิลาต้องผลิกผันมาทำงานที่สังคมไม่ได้ให้การยอมรับมากนักต้องใช้ร่างกายเป็นต้นทุนเพื่อแลกกับเงิน 

“หนูทำงานทุกวัน แต่ไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่สิ ไม่มีวันจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เงินที่ได้มันไม่พอค่าใช้จ่าย เพื่อนเลยแนะนำให้มาทำงานนี้เป็นอาชีพเสริม”

“แรก ๆ ที่เริ่มต้นทำงาน รายได้มันก็ดีค่ะ แต่ต้องใช้ร่างกายและจิตวิญญาณเพื่อแลกกับเงิน ซื้อง่ายขายคล่อง เพราะเศรษฐกิจยังไม่ซบเซาเหมือนตอนนี้” นิลาเล่าถึงรายได้ที่ผันผวนไม่ต่างจากสภาวะเศรษฐกิจกลับกลายให้มาทำอาชีพค้าบริการทางเพศอย่างเต็มตัว

การทำงานเป็นสาวบาร์โดยรับงานพิเศษแอบแฝงเป็นอาชีพที่เธอไร้ทางเลือกแต่อย่างน้อยก็ทำให้เธอมีรายได้ที่สามารถจุนเจือชีวิตได้

“ชีวิตหนูไม่ได้มีทางเลือกนักหรอก ถ้ามีอาชีพอื่นรองรับ และมีรายได้เพียงพอจุนเจือตัวเองและดูแลครอบครัวที่อยู่ข้างหลังได้ ก็อยากเลิกทำอาชีพนี้นะ” เป็นหนึ่งในความหวังที่เธอต้องการเปลี่ยนแปลง

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด แม้อยู่หลังสถานการณ์ Covid-19 ลดการระบาด นิลาหญิงข้ามชาติจึงมีชะตาชีวิตที่ต้องทำงานค้าบริการทางเพศภายใต้ความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความไม่มั่นคงด้านอาชีพที่ผิดกฎหมาย และในขณะเดียวกันยังคงเป็นแรงงานข้ามชาตินอกระบบ ไร้สวัสดิการรองรับ และอาจจะต้องทำงานนี้ต่อไปโดยที่ไม่รู้วันสิ้นสุด 

ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ภาพ: amnesty international Thailand

ปรากฎการณ์นี้ ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ นักศึกษาปริญญาโทด้านรัฐสวัสดิการและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน ผู้ทำงานวิจัยเรื่องภาษีกลุ่มคนคลั่ง Wealth Tax เกี่ยวกับการเก็บภาษีของคนรวย คนที่สามารถสร้างความมั่นคั่งมหาศาลได้ เพราะเขาใช้ทรัพยากรและหยาดเหงื่อของคนอื่น พวกเขาควรที่จะจ่ายภาษีทดแทนกลับคืนสู่สังคม เพื่อส่งเงินเข้าสู่ระบบบำนาญถ้วนหน้าแก่ทุกคน

ศุภลักษณ์อธิบายว่า หลายคนกำลังผลักดันให้ Sex worker ถูกกฎหมายในประเทศไทยผ่านมุมมอง Sex work is work เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ค้าบริการทางเพศถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากนายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมักยึดตัวแบบจากโมเดลของ 2 ประเทศที่การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย สามารถจดจัดตั้งธุรกิจค้าประเวณีได้อย่างเสรี คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศเยอรมัน

มุมมองของศุภลักษณ์อธิบายว่า การทำให้การค้าบริการถูกกฎหมาย ซ่องถูกกฎหมาย สามารถจดทะเบียนเป็นธุรกิจค้าบริการได้อย่างเสรี ไม่ได้แปลว่าการถูกเอารัดเอาเปรียบจะหายไป ประเทศที่เปิดเสรีอย่างเยอรมนีต่างมีผู้มีอิทธิพล หรือ มาเฟียคุมสถานบริการทั้งนั้น เป็นเจ้าของซ่องเองโดยถูกกฎหมาย อีกทั้งในเยอรมันนี 80-90% ของพนักงานบริการคือแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย การค้าบริการทางเพศจึงยิ่งเป็นการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติที่มีโอกาสต่ำกว่าคนอื่นในสังคม 

“การผลักดันอุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศให้เปิดเสรีในไทย เหมือนเรากำลังทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้า ปล่อยให้ลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ คนจนที่มีโอกาสไม่เท่ากับคนอื่น ที่โดนเอาเปรียบจากรัฐไทยอยู่แล้ว ไปค้าประเวณีให้กับเศรษฐีใหม่จากประเทศจีน อินเดีย”

ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนโดยเปิดโอกาสให้ทุนสีเทามาทำธุรกิจโฆษณา หลอกล่อเด็กสาวให้ไปทำงานโดยให้วงการมีสีเข้ามาฟันกำไร นี่คือการค้ามนุษย์อย่างโจ่งแจ้งถูกกฎหมาย ที่กำลังจะถูกสนับสนุนโดยรัฐ ทำไมคนคนนึงถึงมีสิทธิในการซื้อสิทธิบนร่างกายของคนอื่น

ไม่เห็นด้วยกับ Sex work is work เป็นอนุรักษ์นิยม ?

ศุภลักษณ์อธิบายปรากฏการณ์นี้ต่ออีกว่า ด้านประเทศสวีเดนนั้น ผู้ค้าบริการทางเพศไม่ผิดกฎหมาย แต่คนซื้อมีความผิด โดยใช้มุมมองที่ว่า คนที่เลือกอาชีพขายบริการคือคนที่ไม่ได้รับโอกาสเท่ากับคนอื่น หากพวกเขามีโอกาสก็คงไม่เลือกทำอาชีพที่ต้องตีตราตนเอง ต้องหลบ ๆ ซ่อนๆ ส่วนคนที่ซื้อคือคนที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น มีเงิน มีอำนาจที่มากกว่า โดยเข้ามาหาประโยชน์จากคนที่ไม่มีโอกาส Swedish model ก็ยังเสนอสวัสดิการให้พนักงานบริการทางเพศในระยะยาว เพื่อให้พวกเขาได้หลุดออกจากอุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้ประเทศที่ก้าวหน้าอื่นๆ ก็ได้นำโมเดลนี้มาใช้ตาม เช่น ฝรั่งเศส นอร์เวย์ แคนาดา และมีอีกหลายประเทศที่เล็งจะนำมาใช้

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้มีมาตราการของสหภาพยุโรปเพื่อจัดการกับการค้าประเวณีโดยรับรองรายงานที่เสนอโดยสมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคสังคมนิยมเยอรมัน ในรายงานระบุชัดว่าการค้าบริการคือส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง ทรานส์ และเด็ก ซึ่งเป็นการสนับสนุนสังคมชายเป็นใหญ่ (toxic masculinity), ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ (racism),ลัทธิการเหยียดเพศ (sexism), ลัทธิการเลือกปฏิบัติทางชนชั้น (classism) เด็กและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเพศและการค้ามนุษย์และที่สำคัญที่สุด “Consent เป็นสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้” 

นักศึกษาปริญญาโทด้านรัฐสวัสดิการกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ไม่สนับสนุนการค้าบริการทางเพศอย่างเสรีแต่ รัฐควรยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อยุติการกดทับและตีตราพนักงานค้าบริการทางเพศ ทั้งนี้ควรให้สวัสดิการระยะยาวเพื่อหาทางออกให้กับผู้ขายบริการทางเพศ และสร้างงานที่รองรับให้พวกเธอหลุดออกจากอุตสาหกรรมการค้ามนุษย์โดยสมัครใจเนื่องจากไร้ทางเลือกในอาชีพ

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง