‘เวิ้งฉำฉา โหล่งฮิมคาว’ จัด ‘เสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณ’ ปลอบขวัญ ปันความสุข เยียวยาหัวใจผู้คนและผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เรื่อง: องอาจ เดชา

‘เวิ้งฉำฉา โหล่งฮิมคาว’ เตรียมจัดกิจกรรม ‘เสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณ’ เพื่อปลอบขวัญ แบ่งปันความสุขเยียวยาหัวใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นการโคจรมาพบกันของนักดนตรี ประสาท ประเทศรัตน์, เอ แมลงเพลง, สุวิชานนท์ รัตนภิมล และชิ สุวิชาน ศิลปินปกาเกอะญอ มาร่วมบรรเลงท่วงทำนองสุนทรียะของดนตรีที่มาจากข้างใน ให้ความรื่นรมย์และความสุขทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 18.30-20.30 น. ณ ลานใต้ต้นฉำฉาใหญ่ เวิ้งฉำฉา โหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยภายในงานจะเชิญชวนให้ผู้มาร่วมงานได้เขียนการ์ดให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงกิจกรรมแบ่งปัน ระดมทุน เสื้อผ้า อาหาร เครื่องใช้ และเมล็ดพันธุ์ไปมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว บอกเล่าที่มาของดนตรีแห่งจิตวิญญาณในครั้งนี้ว่า เริ่มจากลูกชาย (ทองดี ทองดีเลิศ) ที่ดูแลเวิ้งฉำฉา ในชุมชนโหล่งฮิมคาว มาคุยกับว่า อยากให้ชวน ‘เอ แมลงเพลง’ นักดนตรีมาจัดกิจกรรมที่เวิ้งฉำฉา ขณะเดียวกันสุวิชานนท์มาพักที่บ้านพอดิบพอดี เลยได้คุยกันว่าเชียงใหม่ น่าจะมีงานดนตรี ที่ไม่ใช่แค่บันเทิงแต่มีสุนทรียะด้วย เป็นความสุขจากภายในที่ส่งมอบให้กันผ่านเสียงดนตรี จึงเป็นที่มาของงาน ‘เสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณ’ ขึ้น 

“งานนี้จึงเป็นการโคจรมาพบกันของนักดนตรี นอกจาก สุวิชานนท์ แล้วก็จะมี เอ แมลงเพลง ผู้ซึ่งเล่นดนตรีแบบพลิ้วไหวไปตามจินตนาการ พี่ประสาท วงแบนโจแมน แล้วก็ชิ สุวิชาน นักดนตรีชนเผ่าปกากะญอ ที่ใช้เครื่องดนตรีเตหน่ากู มาขับขาน จึงเป็นความลงตัวที่ประสานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นเสียงดนตรีที่มีชีวิตจิตวิญญาณ ประจวบกับที่ผ่านมา เชียงใหม่มีสถานการณ์เจอภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งประชาชนหลายพื้นที่มีความทุกข์ยากเดือดร้อนมาก จึงถือโอกาสจัดกิจกรรมนี้เพื่อร่วมปลอบขวัญแบ่งปันความสุขเยียวยาหัวใจให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมกันด้วย”

ชัชวาลย์ บอกว่า นอกจากจะได้รับความรื่นรมย์ในเสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณกันแล้ว ยังได้ร่วมกันปลอบโยนปลอบขวัญ โอบกอดผู้ที่กำลังเศร้าโศกจากการประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย โดยเราตั้งใจให้ผู้มาร่วมงานได้เขียนการ์ดให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมไปถึงการจัดกิจกรรมแบ่งปัน ระดมทุน เสื้อผ้า อาหาร เครื่องใช้ และเมล็ดพันธุ์ไปมอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมกันด้วย

สุวิชานนท์ รัตนภิมล กวี นักเขียน และคนเขียนเพลงดนตรี จากหุบเขาครีบปลาวาฬ ได้พูดถึงคุณค่าความหมายของคำว่า ‘เสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณ’ นี้ว่า ดนตรีมีเกิดมีดับ มีต่อเนื่อง มีจบเพลง เพลงหนึ่งจบเพลงใหม่ก็เกิด เหมือนชีวิตจิตใจ จึงเป็นดนตรีแห่งใจ แม้จะมีถ้อยคำเข้าผสม นั่นก็เป็นมวลสารหนึ่งในกระแสใจอันหลากหลาย  ดนตรีไม่มีผิด ไม่มีถูก เป็นอิสระทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง มีแต่ดำเนินไป เสียงดนตรีที่ดังขึ้นนั้นดีแล้ว ไม่เทียบเคียง เล่นจบแล้วเพลงจบ ไม่แยแสในเสียงที่เลยผ่านพ้นไปแล้ว เราเห็นดนตรีเป็นบทเพลงในจิตวิญญาณ ให้กำลังของใจได้อยู่ ได้พูดคุยกัน ความสงบและความสุขเป็นของชำร่วย ให้เก็บไว้ระลึกถึง เก็บไว้ในใจของใครของมัน ความงาม ความสงบ นั้นเป็นเบื้องต้น เหมือนจะตอบในสิ่งนี้ ข้างหลังของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีสิ่งนี้ เป็นความสุขความสงบที่เกิดได้ด้วยตัวเราเอง แล้วเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นด้วย ผ่านดนตรี บทเพลง บทกวี หรือตัวหนังสือใดๆ มันนำพาไปรู้จักกับความจริงโลก ความจริงชีวิต เหตุและผลของการใช้ชีวิตอีกมาก อันเป็นคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่เราจับจองได้ รู้สึกได้ ก็ส่งต่อออกไป เป็นความชอบที่มีอยู่ในใจเสมอมา

“เสียงของความสุขที่คุณจะได้ส่งเสียงไปกับเราด้วย ความรื่นรมย์ที่คุณจะรับและให้เรา ความง่าย สงบ งามและแสนธรรมดา จะปรากฏในเสียงดนตรีที่เราเล่น หัวใจคุณได้ร้องเพลงและเล่นดนตรีที่ส่งเสียงอยู่ในใจ ไม่มีการอธิบายความหมาย เนื้อกาลเวลา คุณต้องฟังเอง คุณจะได้รู้สึกถึงความต่อเนื่องของโน้ตต่อโน้ต เพลงต่อเพลง โดยไม่ได้บอกกล่าวมาก่อน ความรื่นรมย์ที่เปล่งออกไป และความรื่นรมย์ที่คนรับฟังได้เต็มใจ เราจะได้ความสุขร่วมกัน ดนตรีก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง พาเราท่องโลกความจริงอันสุนทรีย์ ได้เยียวยารักษาใจ ดูแลใจด้วย” 

สุวิชานนท์-ประสาท-เอ แมลงเพลง 

เช่นเดียวกับ ประสาท ประเทศรัตน์ วงแบนโจแมน และเป็นปราชญ์ท้องถิ่น มนต์ขลังของแพร่ ผู้ใช้ธรรมะและดนตรีเป็นตัวเชื่อมบำบัดเยียวยาชีวิตจิตวิญญาณก็ได้บอกว่า ชัดแจ้งในอารมณ์ของเสียงนั้นๆ เรียกวิญญาณ อันเดียวกันกับสิ่งแวดล้อม ความเห็นชัดแจ้งในใจ อธิบายยากนะ อันนี้มาจากการเจอครูบาอาจารย์ที่ฝึกใจแล้ว การเล่นการสังเกต เราจึงเปลี่ยนใบไม้ร่วงเห็นจริงๆ ชัดๆ ในใจ มันต่างจากเห็นคิดว่าเห็น ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยคิด มันประกบทันที เรียกว่าเลยไปบ้าง คำ “ตายเดี๋ยวนั้นทันที” เมื่อเสียงจบนักดนตรีจบหรือเปล่า หรือติดไม่จบ อย่างเสียงทั้งหมดล้วนเกิดขึ้น จะรู้หรือไม่รู้ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น รู้แล้วมันจะได้อะไร มีประโยชน์อะไร มันไม่มีอะไร และไม่ได้อะไรด้วย คือมันจบๆ ไป สิ้นๆ ไป แค่นั้น พอใจคลายลง จากเมื่อก่อนเมื่อเล่นจบไม่จบ มันยังตามเรามารบกวน สิ่งตรงหน้าเดี๋ยวนั้น ไม่รู้ ไม่เห็นอะไรที่เราเล่น

“คาดหวังไม่มี มีแต่ไว้วางใจ ไว้วางใจตนเองนะ ของใครของมัน เวลาเล่นจึงมีอิสระ ต่างจากนักดนตรีที่เล่น มักคาดหวังกับตนเองน้อย ผมเคยและตัดใจว่า เราสามารถคุมคน คุมเสียงได้ เพราะไม่ได้ปรับ วงเดินเล่นจึงเกิด การอัดเสียงสดจึงเกิด เพราะตัดความคาดหวังออกเยอะ”

เอ แมลงเพลง

เอ แมลงเพลง หรือ ‘เอกลักษณ์ หน่อคํา’ นักดนตรีเดินทาง ศิลปินอิสระเมืองเหนืออีกคนหนึ่ง ที่บอกกับใครหลายคนว่าทำดนตรีด้วยใจรักและมาจากข้างใน บอกว่า สำหรับผมทั้งฝึก เรียน เล่น รัก และเป็นชีวิตจิตใจ ดนตรีให้ชีวิตที่มีสีสัน ได้เดินทาง สานต่อความสุขในชีวิตไม่สิ้นสุด ดนตรีเยียวยาใจ ส่งต่อความสุขให้กันและกันได้

“ตลอดสิบกว่าปี ผมได้เดินเข้าสู่ธรรมชาติหลากหลายชุมชน ค้นหาความสงบ เพื่อสร้างสรรค์งานทางดนตรีที่เป็นของตนเอง ซึ่งได้เล็งเห็นชีวิตที่มีความงดงามแตกต่างแต่ละชนชั้น ทั้งศิลปะการเป็นอยู่ และเป็นการดูแลใจตนเองและคนรอบข้าง ก็อยากให้คนไทย ให้รู้จักการฟังที่หลากหลาย และเรียนรู้ศิลปะให้มากขึ้น เพราะผมมองว่า ศิลปะเป็นตัวบอกความเจริญของชุมชนนั้นๆ”

ชิ สุวิชาน ศิลปินปกาเกอะญอ

ทางด้านของ ชิ สุวิชาน ศิลปินปกาเกอะญอ ที่พกพา ‘เตหน่ากู’ หรือพิณที่โค้งงอ เครื่องดนตรีของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ไปขับขานจิตวิญญาณเชื่อมโยงสัมผัสกับผู้คนผู้ฟังในหลายพื้นที่ของประเทศและในต่างแดนมาหลายประเทศให้ได้รับฟังกัน โดยเขาบอกว่า ทุกบทเพลงนั้นมีชีวิตมีจิตวิญญาณ ยกตัวอย่างบทเพลง ‘ข่อดือเดอ’ มันเป็นบทเพลงสันติภาพ ของสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม ที่เราอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ เป็นการสื่อออกไปว่า อยากให้ทุกคนกลับมากินขันโตกเดียวกัน กลับมาแชร์พื้นที่แบ่งปันร่วมกัน มาล้อมวงพูดคุยกันถึงเรื่องชีวิต วัฒนธรรมและจิตวิญญาณร่วมกัน 

“คือเราอยากจะสื่อสารว่า จริงๆ เราคือครอบครัวเดียวกัน เพราะเราคือสังคมเดียวกัน การมีอยู่ของอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมของเรา ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมันเป็นเรื่องเดียวกับคนทั่วโลก เพราะฉะนั้น มันเลยมีพื้นที่ทั่วโลกให้เราไปแลกเปลี่ยน ถ้าเราได้พื้นที่ที่เหมาะสม ผมคิดว่ามันจะเข้าถึงหัวใจของผู้คนได้ ถ้าพื้นที่ไหนใช้หัวใจฟัง สิ่งที่เราสื่อออกไปก็จะถึงทุกคน”

หากสนใจอยากไปร่วมปลอบขวัญ ปันความสุขกับ “เสียงดนตรีแห่งจิตวิญญาณ” พบกันในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่เวลา 18.30-20.30 น. ณ เวิ้งฉำฉา ลานใต้ต้นฉำฉาใหญ่ โหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือซื้อบัตรเข้าชมกันได้ที่ร้านทองดี antiques & handicrafts หรือที่เพจ  Werngchamchaa  บัตรมี 2 ราคา นักศึกษา 100 บาท และบัตรผู้ใหญ่ 300 บาท

สถานที่จัดงาน คลิกตามลิงค์ข้างล่างนี้ได้เลย https://www.google.com/maps/place/Werngchamchaa/@18.785307,99.0477032,17z/data=!3m1!4b1!4m6!3m5!1s0x30da2519a9933773:0x4d7640ee92074aad!8m2!3d18.785307!4d99.0477032!16s%2Fg%2F11fqctl6lk?entry=ttu&g_ep=EgoyMDI0MTAwNy4xIKXMDSoASAFQAw%3D%3D

และสามารถสมทบทุนปลอบขวัญ ปันความสุข เยียวยาหัวใจผู้คนและผู้ประสบภัยน้ำท่วมร่วมกันได้ที่ ธนาคารกรุงไทย หจก. เวิ้งฉำฉา เลขบัญชี 077-1-17104-4

'องอาจ เดชา' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง มีนามปากกาว่า 'ภู เชียงดาว'

เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner

ข่าวที่เกี่ยวข้อง