จาก “คนล้านนารุ่นใหม่” ถึงการเรียกร้อง “มหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” ย้อนดูการเคลื่อนไหวของ’คนเมือง’ ก่อนจะเป็น ‘มช.’

เรียบเรียงจาก “จาก ศรีเชียงใหม่ ถึง คนเมือง: สื่อหนังสือพิมพ์กับความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนายุคแรกเริ่ม”

อ่าน “จาก ศรีเชียงใหม่ ถึง คนเมือง: สื่อหนังสือพิมพ์กับความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนายุคแรกเริ่ม” ในคอลัมน์ออกข่วง https://www.lannernews.com/21092566-01/

เรื่อง: พริษฐ์ ชิวารักษ์

ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2500 มีการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการตื่นรู้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การเข้าถึงแนวคิดสมัยใหม่ต่างๆ จุดฉนวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงและผลักดัน คือการฝนเน้นและพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือให้มีความเจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับเมืองหลวง สลักลึกอัตลักษณ์ล้านนาไม่ให้หายไปเป็นเพียงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่จะถูกเขียนโดยส่วนกลาง และปัจจัยหนึ่งคือการมีมหาวิทยาลัยภาคเหนือเป็นของตัวเอง เกิดเป็นการเคลื่อนไหวในหมู่คนภาคเหนือขึ้น

การเคลื่อนไหวก่อนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคนล้านนา-คนภาคเหนือ

ล้านนาเริ่มก่อรูปเป็น “ภาคเหนือ” ของประเทศไทย การเดินทางและติดต่อสื่อสารระหว่างล้านนา/ภาคเหนือกับสยาม/ภาคกลางเริ่มสะดวกสบายขึ้น และสังคมเศรษฐกิจของล้านนา/ภาคเหนือก็เกิดการขยายตัวจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนการเมืองจากกรุงเทพฯ พร้อมกับที่สายสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจระหว่างชนชั้นนำจนถึงชนชั้นกลางของทั้งสองภูมิภาคเริ่มแน่นแฟ้นขึ้น และการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นนี้ส่งผลให้เริ่มมีลูกหลานชนชั้นกลางล้านนาที่เข้ามารับการศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ 

การเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ทำให้คนล้านนาได้พบกับความเจริญที่ล้ำหน้าบ้านเกิดของตนเองไป ซึมซับเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจในหมู่ปัญญาชนไทย ณ ขณะนั้น เช่น แนวคิดประชาธิปไตย แนวคิดชาตินิยม และแนวคิดก้าวหน้า ซึ่งเมื่อนักเรียนเหล่านี้ทยอยจบการศึกษาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว หลายคนเลือกประกอบเป็นนักหนังสือพิมพ์และมีบทบาทในการก่อรูปความคิดท้องถิ่นนิยมสมัยใหม่ในระยะแรกเริ่ม เพื่อพัฒนาล้านนาให้มีความเจริญทัดเทียมเมืองหลวง พร้อมทั้งต้องการศึกษาและสืบทอดอัตลักษณ์ล้านนาของตนตามหลักวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา มิให้สูญสลายกลายกลืนไปกับอัตลักษณ์ไทยอันมีสยามเป็นแกนกลางทั้งหมด

การย้ายถิ่นฐานของชาวล้านนาและการตื่นตัวในหมู่ “คนล้านนารุ่นใหม่” นำมาสู่การก่อตั้งสมาคมชาวเหนือ (The Northerner’s Association) ในช่วงปลายปี พ.ศ.2489 ได้จัดทำนิตยสาร โยนก ขึ้นเป็นนิตยสารของสมาคม โดยนัยก็คือเป็นปากเป็นเสียงของชาวล้านนาในกรุงเทพฯ และการกล่าวถึงล้านนาในฐานะการเป็น “ภาคเหนือ” มากขึ้น และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อกำเนิดกลุ่มทุนท้องถิ่น และการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มทุนการเมืองจากกรุงเทพฯ ผลักดันตลาดนักเขียนนักอ่านล้านนาให้เติบโตขึ้นมาก จนในช่วงทศวรรษ 2490 กลายเป็นยุคเฟื่องฟูครั้งแรกของสื่อสิ่งพิมพ์ในล้านนา โดยมีหนังสือพิมพ์ “คนเมือง” ที่มีบทบาทโดดเด่นในการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยประจำภาคเหนือหรือ “มหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน


ภาพ: https://www.cmthainews.com/archives/19698

การผลักดันสู่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การส่งเสียงเรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือผ่านหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อสงัด บรรจงศิลป์ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ชาวเหนือ เมื่อทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ ชาวเหนือ ภายใต้การบริหารของสงัดก็ได้รายงานข่าวการอภิปรายของทองดีและเชิญชวนให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว แต่ยังไม่มีความคืบหน้มากนัก ต่อมาเมื่อสงัดย้ายมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง แล้วก็พยายามขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวอีกครั้งผ่านพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ที่ตนบริหารอยู่ โดยได้เริ่มนำเสนอประเด็นในหนังสือพิมพ์ คนเมือง ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 หรือประมาณเดือนเศษหลังการก่อตั้งหนังสือพิมพ์เพียงเท่านั้น ต่อมาระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 24 กรกฎาคมในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์ คนเมือง ก็หยิบยกประเด็นมหาวิทยาลัยภาคเหนือมาสื่อสารในบทนำของหนังสือพิมพ์เป็นเวลาถึงแปดสัปดาห์ติดต่อกัน และยังเปิดหัวข้ออภิปราย “ควรตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือไม่ ?” ในคอลัมน์ออกข่วงเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ซึ่งความคิดเห็นส่วนมากก็เป็นไปในแนวทางสนับสนุนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือ เพราะ “เป็นการเผยแพร่ศีลธรรม วัฒนธรรม และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นลานนาไทย” และ “เชียงใหม่เป็นนครที่ใหญ่กว้างขวาง ภูมิประเทศเหมาะแก่การจะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยมาก ทั้งอากาศก็สบาย การคมนาคม การสาธารณูปโภคก็สะดวกสมบูรณ์”


คอลัมน์ออกข่วงและข้อเขียนว่าด้วยมหาวิทยาลัยภาคเหนือที่มีผู้ส่งมาเผยแพร่  ภาพ: https://www.cmu.ac.th/th/article/d4116a5b-56ee-4d81-97ab-7ef8a768aa46

นอกเหนือจากที่นำเสนอข่าวและเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นแล้ว หนังสือพิมพ์ คนเมือง ยังพยายามรณรงค์เคลื่อนไหวในสังคมด้วยการผลิตป้ายวงกลมสีแดงขนาด 4 นิ้วที่มีข้อความว่า “ในภาคเหนือ เราต้องการมหาวิทยาลัย” แจกจ่ายให้ผู้คนนำไปติดไว้ตามบ้านเรือน ร้านค้า กระทั่งเกวียนและกระจกรถ จนปรากฏเต็มไปทั่วทั้งตัวเมืองเชียงใหม่ และยังจัดทำแสตมป์สีแดงขนาดเล็ก ๆ ที่มีข้อความว่า “เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย” ไว้แจกให้ประชาชนนำไปติดรณรงค์บนซองจดหมายควบคู่กับแสตมป์ของจริงด้วย ถัดจากนั้น ยังจัดพิมพ์เอกสารคำปฏิญาณต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือที่รู้จักกันว่าใบปลิว “ห่วงมหาวิทยาลัย” แจกจ่ายให้ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อ นอกจากนี้ ทางหนังสือพิมพ์ยังจัดทำแผ่นสไลด์กระจกสีเขียนข้อความว่า “ขอสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” และ “เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย” นำไปให้โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เปิดฉาย กระตุ้นให้กระแสเรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือและความคิดท้องถิ่นนิยมล้านนาขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมากในหมู่ชาวเชียงใหม่และชาวล้านนาในจังหวัดอื่นๆ



อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ดังกล่าวทำให้หนังสือพิมพ์ คนเมือง ต้องเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับทางการอยู่บ้าง หลังจากที่ข่าวการรณรงค์เป็นที่รับรู้ของรัฐบาลแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็มีหนังสือส่งมาถึงผู้ว่าราชการเชียงใหม่ให้ดำเนินคดีกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง จากกรณีจัดพิมพ์แผ่นพับใบปลิวรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจกจ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต สงัดจึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปสอบปากคำและถูกลงโทษปรับในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เป็นจำนวนเงิน 50 บาท กล่าวกันว่าเดิมทีมีผู้เสนอให้ดำเนินคดีสงัดในข้อหายุยงปลุกปั่นให้ประชาชนในภาคเหนือกระด้างกระเดื่องและลุกฮือขึ้นแบ่งแยกดินแดนล้านนาเป็นอิสระตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่หลายฝ่ายเห็นว่าข้อหาดังกล่าวรุนแรงเกินข้อเท็จจริงเกินไป จึงไม่ได้มีการดำเนินการถึงขั้นนั้น

แม้ว่าการรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยภาคเหนือของหนังสือพิมพ์ คนเมือง จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือขึ้นโดยทันที แต่ก็ทำให้รัฐบาลกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงความต้องการมหาวิทยาลัยของคนล้านนา เมื่อรัฐบาลได้หยิบยกประเด็นการก่อตั้งมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาคขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในปี พ.ศ.2502 จึงได้เลือกก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือที่เชียงใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรก เนื่องจากเห็นว่า “เป็นความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง” การก่อสร้างมหาวิทยาลัยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2505 และเปิดดำเนินการเรียนการสอนในปี พ.ศ.2507 โดยใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ดังเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง