เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา
ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
Summary
- ปี 2517 ภาคเหนือเริ่มต้นมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 โดยกำหนดอัตราเริ่มต้นเพียง 16 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยที่สุดในประเทศ
- ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน (2567) ‘เชียงใหม่’ ครองตำแหน่งจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในภาคเหนือมาโดยตลอด แต่แม้จะมีค่าจ้างขั้นต่ำและ GPP รวมสูงที่สุด แต่ GPP Per Capita กลับต่ำกว่าลำพูนและกำแพงเพชร ซึ่งมี GPP รวมต่ำกว่า
- ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พะเยา น่าน และแพร่ มักถูกกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดในภาคเหนือ โดยพะเยาเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดอยู่บ่อยครั้ง (10 ครั้ง) แม้ GPP Per Capita ของทั้ง 3 จังหวัดเติบโตเฉลี่ยถึง 201.36% (2546-2565) แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับเพิ่มขึ้นเพียง 149.37%
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเหนือ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 333.12 บาทต่อวัน แม้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามอัตภาพได้ (315.79 บาทต่อวัน) แต่ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ (334.84 ต่อวัน) ซึ่ง สะท้อนว่าค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิต ‘ที่ดี’ ให้กับแรงงานในภาคเหนือ
- ไม่มีรูปแบบ ‘สำเร็จรูป’ ใดที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะ เช่น โครงสร้างตลาดแรงงาน ระดับผลิตภาพ และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมี ข้อดีและข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป
“จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย. 67) ออกไปโดยไม่มีกำหนด และต้องขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้..”
จากคำพูดของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานทั่วประเทศต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังเฝ้ารอคอยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท มานานหลายเดือน ความหวังที่เคยสูงลิบดูจะสะดุดลงกลางคัน เมื่อการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่หลายคนตั้งตารอถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงการเลื่อนประชุม แต่ยังเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
การถกเถียงเรื่อง ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ไม่ใช่ประเด็นใหม่ หากแต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดเยื้อยาวนาน หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่แม้จะสร้างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับไม่กระเตื้องตาม ย้อนกลับไปในปี 2517 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ ฉบับที่ 3 ระบุอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ต่ำสุดที่ 16 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับสูงสุดที่ 20 บาท
หากมองถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้น (ฉบับที่ 12) ปรากฏว่า ภาคเหนือยังคงมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่น้อยหากเทียบกับทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน พะเยา และแพร่ ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยสุดเป็นลำดับท้าย ๆ ของประเทศ รองจากเพียงจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างอย่างนราธิวาส ปัตตานี และยะลาเท่านั้น
การที่ค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือแทบไม่เคยขยับอย่างเต็มที่ตลอดหลายสิบปี ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้นั้นเพียงพอต่อการครองชีพจริงหรือ?’ ขณะเดียวกันก็ยังชวนให้คิดต่อว่า ‘แล้วตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำของภาคเหนือเป็นยังไงบ้าง?’
50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน
จากข้อมูลค่าจ้างขั้นต่ำ 2516-2567 โดย Rocket Media Lab ภาคเหนือเริ่มมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2517 ภายใต้รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้ ฉบับที่ 3 ซึ่งกำหนดให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 20 บาท ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มต้นเพียง 16 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประเทศ
ปี 2520 ภายใต้รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดการปรับขึ้นค่าจ้างพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในภาคเหนือ จังหวัดตากได้รับอัตราค่าจ้างสูงสุดที่ 21 บาท ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ได้รับ 19 บาท เป็นครั้งแรกที่มีการปรับขึ้นทั่วประเทศพร้อมกันทุกจังหวัด จากนั้นในช่วงปี 2521-2523 ค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเหนือขยับขึ้นต่อเนื่องเป็น 25, 35 และ 44 บาทตามลำดับ
และนับตั้งแต่ปี 2524 ภายใต้รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ (1) จนถึงปัจจุบัน ‘เชียงใหม่’ กลายเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่มีอัตราค่าจ้างสูงกว่าจังหวัดอื่นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกือบทุกประกาศ ยกเว้นบางครั้ง เช่น ประกาศฉบับที่ 2 (22 พฤศจิกายน 2551) และฉบับที่ 4 (10 เมษายน 2553) ที่เป็นการปรับแยกรายจังหวัด และประกาศฉบับที่ 7 (1 มกราคม 2556) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาท
ในปี 2544 มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด ส่งผลให้อัตราค่าจ้างในแต่ละพื้นที่เริ่มมีความแตกต่างกัน ต่อมาในปี 2545 มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยได้มีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นใหม่ในหลายอัตราตามกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมากขึ้น จากนั้นในปี 2546 ภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ความแตกต่างด้านค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งชัดเจนขึ้น โดยจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราค่าจ้างสูงสุดในภาคเหนืออยู่ที่ 143 บาท รองลงมาคือ ลำพูนและสุโขทัยที่ 137 บาท ขณะที่อัตราต่ำสุดอยู่ที่ 133 บาท ในจังหวัดเชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และอุตรดิตถ์
ปี 2556 ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ รวมถึงภาคเหนือด้วย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดของภาคเหนือขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 230.5 บาทต่อวัน ในปี 2555 เพิ่มขึ้นมาเป็น 300 บาทเท่ากันในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นถึง 69.5 บาท
หลังจากปี 2556 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งปี 2560 ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย เชียงใหม่ ได้อัตราค่าจ้างสูงสุดในภาคเหนือที่ 308 บาท ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ อยู่ที่ 305 บาท แม้ในช่วงปี 2562 – 2565 จะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากนัก
ล่าสุดในปี 2567 ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้รับการกำหนดใหม่ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 12) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน จังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในภาคเหนือคือ ‘เชียงใหม่’ อยู่ที่ ‘350 บาทต่อวัน’ ตามมาด้วย นครสวรรค์ และลำพูน ที่ 345 บาทต่อวัน ส่วน เชียงราย ตาก และพิษณุโลก มีอัตรา 343 บาทต่อวัน ในกลุ่มถัดมาเป็น เพชรบูรณ์ อยู่ที่ 342 บาท ขณะที่ กำแพงเพชร พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี อยู่ที่ 340 บาทต่อวัน ด้านจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำต่ำสุดในภาคเหนือคือ ‘น่าน พะเยา และแพร่’ ซึ่งมีอัตราเพียง 338 บาทต่อวัน แตกต่างกันกับเชียงใหม่ถึง 28 บาท และแตกต่างกันกับภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงสูงสุดในประเทศ 370 บาทถึง 32 บาท
เชียงใหม่ค่าจ้างสูง แต่ GPP Per Capita ไม่ขยับตาม – พะเยา น่าน แพร่ GPP Per Capita สูง ค่าจ้างต่ำ
เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ ‘เชียงใหม่’ จะเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำและผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) สูงที่สุดในภาคเหนือมาโดยตลอด ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูที่ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) ซึ่งเป็นรายได้คาดการณ์ที่ประชากร 1 คน สามารถสร้างให้จังหวัด ไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงระดับรายได้ที่ประชาชนได้รับ กลับพบว่า GPP Per Capita ของเชียงใหม่กลับต่ำกว่า ‘ลำพูน’ และ ‘กำแพงเพชร’ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมูลค่า GPP ต่ำกว่าเชียงใหม่
GPP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product) คือ การคิดผลรวมรายได้ที่มาจากกิจกรรมการผลิตทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ ส่วน GPP per capita หรือ ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว คือ ความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการต่อประชากร 1 คน |
ตารางเปรียบเทียบ GPP Per Capita 3 จังหวัด (2016-2022) | |||
ปี | เชียงใหม่ (บาท) | กำแพงเพชร (บาท) | ลำพูน (บาท) |
2559 | 127,126.26 | 137,288.61 | 174,994.09 |
2560 | 130,829.98 | 141,603.12 | 187,529.29 |
2561 | 138,513.49 | 151,801.78 | 207,647.65 |
2562 | 146,433.10 | 153,044.14 | 207,697.38 |
2563 | 134,401.87 | 135,075.21 | 207,970.53 |
2564 | 131,629.42 | 143,448.41 | 221,765.61 |
2565 | 136,042.92 | 164,013.86 | 232,558.92 |
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลำพูนและกำแพงเพชรมีมูลค่า GPP Per Capita สูงกว่า เชียงใหม่คือ การที่ทั้งสองจังหวัดเน้น ‘ภาคอุตสาหกรรม’ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในระดับสูง ทำให้ศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากแม้ประชากรในพื้นที่จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จะพบว่า ‘จังหวัดพะเยา’ ‘น่าน’ และ ‘แพร่’ จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามจังหวะเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ แต่กลับเป็นจังหวัดที่ถูกกำหนดให้มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาคอยู่บ่อยครั้ง
แม้ว่าจังหวัดอื่นในภาคเหนืออาจมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุดในบางครั้ง แต่พะเยากลับมีความถี่สูงที่สุดถึง 10 ครั้ง จากการปรับขึ้นทั้งหมด 15 ครั้ง (นับตั้งแต่ปี 2546 โดยไม่นับปี 2556 ซึ่งกำหนดค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาท และการปรับขึ้นค่าจ้างรายจังหวัด) รองลงมาคือ น่านและแพร่ 9 ครั้ง แม้กระทั่งในปี 2567 ค่าจ้างขั้นต่ำของ 3 จังหวัดนี้ก็ยังคงต่ำที่สุดในภาคเหนืออยู่ที่ 338 บาทต่อวัน ข้อมูลนี้ชวนให้เราขบคิดต่อว่า ‘ทำไมจังหวัดพะเยา น่าน และแพร่ ถึงมีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าจังหวัดอื่นในภาคเหนือ?’
อย่างไรก็ตาม แม้ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดพะเยา น่าน แพร่ มักจะถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มต่ำสุดของภาคเหนือมาโดยตลอด แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของ GPP Per Capita กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ตัวเลขทั้งสองกลับสวนทางกันอย่างชัดเจน
ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำและ GPP Per Capita 3 จังหวัด (2546-2565) | ||||||
จังหวัด | GPP Per Capita (2546) | GPP Per Capita (2565) | อัตราการเติบโต (%) | ค่าจ้างขั้นต่ำ (2546) | ค่าจ้างขั้นต่ำ (2565) | อัตราการเติบโต (%) |
พะเยา | 29,163 | 100,588.22 | 244.91 | 133 | 335 | 151.88 |
น่าน | 30,762 | 86,057.19 | 179.74 | 133 | 328 | 146.62 |
แพร่ | 30,835 | 86,169.99 | 179.43 | 133 | 332 | 149.62 |
ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 แม้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของทั้ง 3 จังหวัด จะเติบโตเฉลี่ยเพียง 149.37% (จาก 133 เป็น 328 – 335 บาท) แต่ในทางกลับกัน GPP Per Capita ของทั้ง 3 จังหวัด กลับมีอัตราเติบโตที่สูงถึงเฉลี่ย 201.36%
สิ่งนี้กำลังบอกอะไรกับเรา? แม้ศักยภาพในการสร้างรายได้ของประชากรในจังหวัดพะเยา น่าน และแพร่จะพัฒนาไปไกล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งควรจะสะท้อนคุณภาพชีวิตของแรงงาน กลับยังคงไม่เคยไล่ตามทันศักยภาพนั้น รายได้ของแรงงานยังคงต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็น และไม่ได้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ นี่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข แต่สะท้อนถึงความไม่สมดุลที่ซ่อนอยู่ในระบบ และความเหลื่อมล้ำที่แรงงานในพื้นที่ต้องเผชิญ..
นี่คือประเด็นสำคัญ ที่บ่งบอกถึงความจำเป็นในการพิจารณาการปรับปรุงค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันกับการเติบโตของพื้นที่ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม และสามารถ ‘ใช้ชีวิต’ อย่างมีคุณภาพในพื้นที่ที่พวกเขาทำงานและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น
ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้เพียงพอต่อการครองชีพจริงหรือ?
หากดูข้อมูลจากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะเห็นได้ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ 17 จังหวัดในภาคเหนือมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราสูงสุดที่ 340 บาทต่อวัน รองลงมาคือ พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และพะเยา 335 บาท เชียงราย ตาก ลำพูน พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี และแพร่ 332 บาท ขณะที่จังหวัดน่านมีอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท
เมื่อคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยของภาคเหนือจากข้อมูลนี้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 333.12 บาทต่อวัน หากเปรียบเทียบกับรายจ่ายตามอัตภาพ คิดจากรายจ่ายพื้นฐานของแรงงาน เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาลและยา (นอกเหนือจากประกันสังคม) ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่ายานพาหนะ ตามข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการดำรงชีพตามอัตภาพจังหวัดภาคเหนืออยู่ที่ราว 315.79 บาทต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยเพียง 17.33 บาทต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานได้เพียงพอแบบ ‘จำกัด’ เท่านั้น
แต่หากคำนึงถึงค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายตามอัตภาพที่บวกเพิ่มด้วยค่าผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ค่าทำบุญ เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิงและพักผ่อน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 334.84 ต่อวัน สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยในภาคเหนือ 1.72 บาท ซึ่งหมายความว่า หากแรงงานในภาคเหนือต้องการใช้จ่ายตามมาตรฐานคุณภาพชีวิตดังกล่าว รายได้จากค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่เพียงพอและอาจติดลบทุกเดือน
แม้ค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันจะสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานสามารถ ‘ใช้ชีวิต’ ได้อย่างมีคุณภาพ..
แล้วเราจะหาทางออกยังไงกับเรื่องนี้?
ก่อนที่เราจะหาคำตอบว่า “จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้เป็นธรรม?” หลายคนอาจสงสัยว่า “ทำไมเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำถึงสำคัญ” และ “ทำไมเราต้องสนใจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ?” ในบทความ ‘บทเรียนจากต่างประเทศของการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ: เพื่อทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย’ โดย เสาวณี จันทะพงษ์ และ ธันยพร สิมะสันติ ได้สรุปเหตุผลสำคัญไว้ใน 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านลูกจ้าง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยให้แรงงานสามารถหลุดพ้นจากความยากจน (Poverty Safety Net) และสร้างความเป็นธรรมทางรายได้ (Fair Wage) ให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง ให้ได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
2. ด้านนายจ้าง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนค่าแรงงานของผู้ประกอบการ ซึ่งผลกระทบนี้จะมากหรือน้อยขึ้นกับจำนวน ‘แรงงานแรกเข้าทำงาน’ หรือ ‘แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ’ ที่นายจ้างว่าจ้าง และผลกระทบทางอ้อมจากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำมักถูกใช้อ้างอิงในการปรับค่าจ้างอื่น ๆ
3. ด้านเศรษฐกิจมหภาค การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลเฉพาะระดับบุคคลหรือธุรกิจ แต่ยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่แรงงานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ สร้างความสมดุล และความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ใช่แค่เพียงตัวเลข แต่เป็น ‘หัวใจสำคัญ’ ในการสร้างสมดุลระหว่างแรงงาน นายจ้าง และเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกฝ่ายเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
จากการศึกษา Global Wage Report ปี 2009 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เผยว่า 60% ของประเทศที่ศึกษาใช้ระบบ ‘อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ’ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ขณะที่ในอีก 40% ใช้ ‘อัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตรา’ ซึ่งแยกตามสาขาการผลิตและอาชีพ รูปแบบนี้ได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชียและละตินอเมริกา เนื่องจากช่วยลดปัญหาการยึดติดกับอัตราค่าจ้างเดียว และสามารถคุ้มครองแรงงานในสาขาที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้มักมีการแทรกแซงจากภาครัฐสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ยืดหยุ่นในระยะยาว
ตัวอย่างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ | ||
ประเทศ | รูปแบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ | การบังคับใช้ |
ฟินแลนด์ | แบบบริหารจัดการ (Managed Wage-setting) อัตราเดียวในทุกสาขาการผลิต | บังคับใช้ทั่วประเทศ |
เอสโตเนีย | แบบลอยตัว (Free Wage-setting) หลายอัตราแตกต่างกันตามสาขาการผลิต | บังคับใช้ทั่วประเทศ |
ฟิลิปปินส์ | หลายอัตราแตกต่างกันตามระดับค่าครองชีพของแต่ละภูมิภาค | ไม่บังคับใช้ทั่วประเทศ |
เวียดนาม | หลายอัตราแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค | บังคับใช้ทั่วประเทศ |
นอกจากนี้ เว็บไซต์ Nomad Capitalist ระบุว่า 90% ของประเทศทั่วโลก มีกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในรูปแบบต่าง ๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ในอีก 10% ที่เหลือ กลับ ‘ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ’ โดยรัฐบาล ข้อมูลจาก Investopedia และ Nomad Capitalist เผยว่า มี 6 ประเทศพัฒนาแล้ว ที่เลือกไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ดังนี้
ตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐบาล | |
ประเทศ | รูปแบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ |
สวีเดน | เป็นประเทศต้นแบบในการยกเลิกการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และหันมาใช้ ‘โมเดลนอร์ดิก’ (Nordic Model) โดยกำหนดค่าแรงผ่านกระบวนการ ‘การร่วมเจรจาต่อรอง’ ระหว่างสหภาพแรงงานและองค์กรนายจ้าง โดยสวีเดน มีสหภาพแรงงานกว่า 110 แห่ง ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับตัวแทนองค์กร ถึงค่าแรงที่สมาชิกในสหภาพควรจะได้ต่อชั่วโมง รวมถึงค่าล่วงเวลาโดยยึดตาม กฎหมายพื้นฐานแรงงาน ที่ระบุว่าพนักงานต้องทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีวันลาพักร้อน 25 วัน และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 13 วันต่อปี |
เดนมาร์ก | ลักษณะเดียวกับสวีเดน |
ไอซ์แลนด์ | เมื่อมีสถานะเป็นพนักงาน ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโดยอัตโนมัติ โดยสหภาพแรงงานเหล่านี้จะเจรจาต่อรองค่าแรง ที่พนักงานควรได้รับโดยตรงกับผู้แทนองค์กรเอง |
นอร์เวย์ | ใช้หลักการเจรจาต่อรองร่วมคล้ายกับเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยค่าแรงในประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับสูง แม้แต่แรงงานทักษะต่ำ เช่น ภาคการเกษตร ก่อสร้าง และทำความสะอาด ก็ยังได้รับรายได้ขั้นต่ำซึ่งอยู่ระหว่าง 556-730 บาทต่อชั่วโมง |
สวิตเซอร์แลนด์ | ให้ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เป็นผู้ตัดสินใจ ผ่านกระบวนการประชามติ เมื่อปี 2020 มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 855 บาทต่อชั่วโมง ครอบคลุม ทุกอุตสาหกรรม |
สิงคโปร์ | ดำเนินระบบ ตลาดแรงงานที่ปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง โดยเปิดโอกาสให้ ผู้แทนแรงงานและนายจ้าง เจรจาต่อรองค่าตอบแทนกันโดยตรง บนพื้นฐานของ ประสบการณ์ ทักษะ การศึกษา และความสามารถ |
จากกรณีศึกษาของ 10 ประเทศที่ใช้โครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกัน ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญว่า ไม่มีรูปแบบ ‘สำเร็จรูป’ ใดที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องอาศัยปัจจัยเฉพาะ เช่น โครงสร้างตลาดแรงงาน ระดับผลิตภาพ และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมี ข้อดีและข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป ในขณะที่หลายประเทศพึ่งพาระบบค่าแรงขั้นต่ำ บางประเทศกลับเลือกแนวทางอื่น ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง สิ่งนี้สะท้อนว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไม่จำเป็นต้องเป็น ‘กฎเกณฑ์ตายตัว’ เสมอไป หากแต่ควรเป็น ‘ทางเลือกที่หลากหลาย’ ซึ่งตอบโจทย์ของแต่ละประเทศได้อย่างแท้จริง
อ่าน [ชุดข้อมูล] 50 ปีค่าจ้างขั้นต่ำภาคเหนือ (2517-2567) ย้อนรอยจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นยังไง ปรับขึ้นช่วงไหนบ้าง? ได้ที่ https://www.lannernews.com/19112567-02/
อ้างอิง
- Hfocus. (2567). “พิพัฒน์” ขอโทษไม่สามารถทำตามสัญญา ปรับค่าจ้าง 400 บาท ไม่ทัน 1 ต.ค.67.
- การเงินธนาคาร. (2566). ส่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ตลอด 50 ปี ปี 2516-2566 ปรับขึ้นมาแล้วเท่าไร?.
- กระทรวงแรงงาน. (2567). อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ.
- Rocket Media Lab. (2566). ค่าจ้างขั้นต่ำ 2516-2567 [ข้อมูลดิบ].
- นลินี ค้ากำยาน. (2567). เชียงใหม่ไม่ได้ปราบแค่เซียน แต่ปราบทุกคน.
- สำนักบัญชีประชาชาติ สศช. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด.
- สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน. (2566). รายงานผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2566.
- เสาวณี จันทะพงษ์ และ ธันยพร สิมะสันติ. บทเรียนจากต่างประเทศของการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ: เพื่อทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย.
- BBC Thai. (2565). ประเทศที่ไร้ “ค่าแรงขั้นต่ำ” แต่แรงงานได้ค่าจ้างสูงกว่าไทย 12 เท่า.
- Realist. (2565). ทำความรู้จัด “ระยอง” จังหวัดที่มี GPP สูงจากอุตสาหกรรม.
อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂