เรื่อง: กองบรรณาธิการ
19 พฤศจิกายน 2517 ครบรอบ 50 ปีที่กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวนาไทย รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ร่วมกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร หรือที่เรียกกันว่า “ขบวนการสามประสาน”
ย้อนกลับไปในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาที่ดุเดือดและชัยชนะของประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลกระทบให้กับชนชั้นชาวนา ที่ ณ ตอนนั้นถือเป็นจำนวนร่วม 80% ของประชากร กำลังได้รับความยากลำบากจากการ “ไม่มีที่นาทำกิน” เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีดและฉ้อโกงเอาไป ได้มีความหวังแก่ชัยชนะของพวกเขาขึ้นมาบ้าง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนที่เป็น “สันหลังของชาติ” ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงในแง่นี้เอง ศาสตราจารย์ ดร.ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) อาจารย์ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาชาวไร่ในประเทศไทย ระบุว่า ความสำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการชาวนาชาวไร่นี้คือ “วัฒนธรรมการเมือง” เนื่องจากทำให้ชาวนาชาวไร่มีสิทธิมีเสียงขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกทำให้ไม่มีเสียง เพื่อได้ความเป็นธรรมในชีวิตของตนเอง การได้ใช้กฎหมายนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับชาวนาชาวไร่มหาศาลและทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกกลัวขึ้นมา
การชุมนุมในกรุงเทพฯ ของกลุ่มชาวนาเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2517 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นอย่าง สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ให้ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว ควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง และอัตราค่าเช่านาที่ว่ากันว่ามีนัยสำคัญมากที่สุดที่ส่งผลให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อให้เกิดการแก้ไข
แต่ท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องต่างๆ ของชาวนาก็ไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น และแม้รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน (ก.ส.ส.) แต่ที่สุดก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ การรวมตัวชุมนุมในกรุงเทพฯ ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมที่มีความดุเดือดมากที่สุด
9 สิงหาคม 2517 กลุ่มชาวนาจากหลายจังหวัดเข้ามารวมตัวจัดการชุมนุมอีกครั้งในกรุงเทพฯ พร้อมประกาศว่านี่จะ “เป็นครั้งสุดท้าย” ของการชุมนุมของพวกเขา มิเช่นนั้น พวกเขาจะทำการคืนบัตรประชาชน ลาออกจากการเป็นคนไทย และประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเองโดยไม่ให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และแม้ว่าการกระทำตามที่ประกาศจะทำให้มีความผิดฐานกบฏ ถึงอย่างนั้นตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนได้กว่า 2,000 ใบในช่วงเดือนกันยายน
และเพื่อให้การรวมตัวดูทรงพลัง 19 พฤศจิกายน 2517 กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” โดยมี “ใช่ วังตะกู” ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานคนแรก นำไปสู่การต่อสู้ร่วมกันกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร ในนาม “ขบวนการสามประสาน”
ในวันเดียวกัน ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีการชุมนุมประท้วงซึ่งมีชาวนามาร่วมกันประมาณ 2000 คนที่ศาลากลางจังหวัดหวัด อีกสามวันต่อมาคือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2517 ชาวนาหลายพันคนจากหลายอำเภอพากันเข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยรถบรรทุกและรสบัส ชาวนากว่า 3000 คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดและประกาศปักหลักจนกว่ารัฐบาลจะตอบกลับข้อเรียกร้อง (ไทเรล, 2546, หน้า 123)
ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาชาวไร่และกลุ่มกรรมกรมาประท้วงกลางเมืองหลวงที่ถือว่าใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 ชาวนาและอาชีพคนจาก 23 จังหวัด มีจำนวนถึง 80000 คนมารวมตัวกันที่สนามหลวงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลการสนับบสนุนข้อเรียกของชาวนาและประเด็นย่อยอื่นๆ (ไทเรล, 2546, หน้า 111-112.)
นอกจากนี้ การลุกขึ้นสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐและทุน เนื่องจากสหพันธ์ชาวนาได้ก่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และการรวมศูนย์อำนาจในที่ดิน จากการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ 2517 และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อันเป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนท้องถิ่น
“หากพูดถึงขบวนการชาวนาชาวไร่มักเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงกลับไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องเล่าของขบวนการเคลื่อนไหวเท่าที่ควร ทั้งที่ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก พลังของผู้หญิงเองก็เป็นพลังในการเคลื่อนไหว หากไม่มีพลังเหล่านี้ขบวนการเคลื่อนไหวคงไม่มีทางเป็นไปได้”
ประโยคเกริ่นนำของ รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ที่ร้อยเรียงมาจากการวงพูดคุยของ ‘กลุ่มผู้หญิง’ ที่กลั่นมาจากประสบการณ์ตรงภายใต้การเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาชาวไร่เมื่อปี 2517-2519 ในวาระของการรำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานประกอบไปด้วยการพูดคุยถึงขบวนการชาวนาชาวไร่ในหลายแง่มุม ซึ่งวงคุยสุดท้ายนั้นถือเป็นบทสนทนาที่กลั่นจากความทรงจำผ่านผู้หญิงถึงผู้หญิง ก่อนที่เรื่องเล่าของขบวนชาวนาในวันนั้นจะหายสาบสูญในสักวัน
แม่แจ่มจันทร์ เดชคุณมาก จากบ้านแม่จ้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ย้อนความเมื่อคราวยังเป็นเด็กสาวตัวน้อย “ตอนนั้นอายุ 13-14 ปีเป็นครั้งแรกที่เข้ามายุ่งกับการเมือง ช่วงปี 2517-2518 พี่ ๆ โครงงานชาวนาที่เป็นนักศึกษา หลังจากพ่อหลวงอินถากับ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน (เลขาธิการพรรคสังคมนิยม) ถูกลอบสังหาร เมื่อปี 2518 นักศึกษาจึงเข้ามาช่วยเหลือในหมู่บ้านนี้การเข้ามาของนักศึกษาทำให้พวกเราได้รับความรู้จากพี่ ๆ ในโครงงานชาวนาเป็นจำนวนมาก จนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่สามารถทำงานต่อได้เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนัก ตนและพวกจึงตั้งกลุ่มมังกรน้อยซี่งได้ทำงานแทนพี่ ๆ ในการสื่อสาร แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงปลายปี 2518 ตนเองอยากเข้าไปในป่าซึ่งอยากไปเรียนรู้ในป่า แต่หลัง 6 ตุลา ก็เข้าป่ายาวเลย”
แม่วิไล รัตนเวียงผา บ้านป่าเมี่ยง เวียงผาพัฒนา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สนับสนุนหนุนช่วยการต่อสู้ในขบวนการชาวนาชาวไร่ เธอเล่าประสบการณ์ของเธอว่า“พ่อเป็นหนึ่งในการเข้าร่วมสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ และเข้าป่า ตนมีหน้าที่ดูแลสหายหญิง หลังจากนั้นในปี 2520 แต่ละคนก็พูดกันว่าจะเอายังไงต่อ ป้าหมดกำลังใจ ขึ้นป่าไปช่วยกิจกรรมบนดอยเพราะเอ็นดูนักศึกษาเนื่องจากช่วยเหลือหมู่บ้าน และมีความเป็นธรรมและความยุติธรรมในใจ”
จากหนังสือ รำลึก 47 นิสิต จิรโสภณ เล่าถึงกรณีการต่อสู้ของชาวบ้านในหลายกรณี ระหว่างปี 2517 ต่อเนื่องถึงปี 2518 ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวกฏหมายค่าเช่านาในเขตที่ราบทั้งในกรณีห้างฉัตร และกรณีแม่เลียง การเคลื่อนไหวดำเนินไปจนกลายเป็นการเดินขบวนไปเรียกร้องที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง จนทางการรับคำเรียงร้องจึงยุติลง
กรณีที่จะกล่าวถึงคือการเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองแร่บ้านแม่เลียง ในจังหวัดลำปาง ในมุมของนักศึกษาช่วงเวลานั้นที่เข้าไปช่วยเหลือเล่าว่า “ปี 2518 โครงงานชาวนาขยายตัวสูงมาก ชาวนาชาวไร่ต้องการที่ปรึกษา ป้าวิได้เข้ามาเข้าร่วมการต่อสู้เหมืองแร่ในครั้งนี้ ป้าจึงตัดสินใจดรอปเรียนในช่วงปี 2518 เนื่องจากการเคลื่อนไหวในพื้นที่ตรงนี้ไม่มีใครไปทำอย่างจริงจัง ตนจึงได้ไปสำรวจปัญหา ชาวบ้านก็สุกงอมทางความคิดจึงเดินขบวนประท้วง ในที่สุดที่เกิดผลสำเร็จเพราะรัฐสั่งยุติโครงการ การประท้วงใหญ่เพื่อเรียกร้องจากการยุติการสร้างเหมืองช่วงปี 2518 การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงเป็นผลงานชิ้นเอกของนักศึกษา”
‘ป้าวิ’ ชญาณิฐ สุนทรพิธ อดีตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2517-2519 กล่าวถึงบทบาทที่นักศึกษาได้เข้าไปทำงานสนับสนุนชาวนาในพื้นที่แม่เรียง เนื่องจากมีปัญหาจากการสร้างเหมืองแร่ หากดำเนินการเหมืองสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อการทำนาของชาวบ้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบชลประทาน
ส่วนการต่อสู้ของผู้หญิงเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในขบวนการเคลื่อนไหว “หากยุคก่อนของการเป็นชาวบ้าน เราได้เรียกร้องตลอดสมัยที่อยู่ในป่าก็มีการรณรงค์เรื่องสิทธิ์ความเสมอภาคของผู้หญิง ในบริบทของชาวบ้านเอง มีสามีเป็นนักประชาธิปไตยมีอะไรเราก็คุยกันตลอด เราต้องช่วยกันต่อสู้” ความคิดเห็นของแม่แจ่มจันทร์ ป้าวิในฐานะผู้หญิงที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในป่า เล่าต่อว่า “เธอไม่คิดว่าตนเองเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ใครให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งโดยภารกิจไม่คิดว่าหญิงหรือชาย ขบวนการภาคประชาชนสอนให้เราทำได้หมด จะต่างกันแค่ภาระกำลังเท่านั้นเอง”
การต่อสู้ก็มิได้หยุดอยู่เพียงแค่ช่วงทศวรรษที่ 2510 – 2520 แต่เพียงเท่านั้น การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ก็ยังคงสืบเนื่องและมีอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา ประภาส ปิ่นตบแต่ง เขียนบทความเรื่อง ขบวนการชาวนาชาวไร่ในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบััน ได้ชี้ให้เห็นว่า ในทศวรรษที่ 2520 เกิดสมัชชาเกษตรกรรายย่อยต่างๆ และก็ยังมีการรวมตัวกันสืบเนื่อง อย่างกรณีสมัชชาคนจนที่มีลักษณะของชุมชนท้องถิ่น ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายย่อยๆ เช่น เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก เครือข่ายสลัม ซึ่งรวมตัวกันในภายหลังเป็นสมัชชาคนจน
เรื่องเล่าเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหว ทั้งการต่อสู้ในเรื่องสิทธิของตนเองจึงมีความสำคัญมากเนื่องจากจะช่วยเป็นบทเรียนในการต่อสู้ได้แล้ว บทบาทของการเคลื่อนไหวจึงควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประชาชน เพื่อขยายพื้นที่ในประวัติศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาเลย
ในท้ายที่สุดนี้ ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และน้ำเสียงจากผู้คนที่ผ่านการต่อสู้อันเป็นหลักฐานจากคำบอกเล่าจากประสบการตรง ในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นี้ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสดุดีความกล้าหาญในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม รายละเอียดตามโปสเตอร์ด้านล่าง
รายการอ้างอิง
- ประภาส ปิ่นตบแต่ง. ขบวนการชาวนาชาวไร่ในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบัน. วารสารวิจัยสังคม ปีที่ 41 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 61) หน้า 1-50.
- ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น. การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย. นนทบรี : ฟ้าเดียวกัน. 2560.
- ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ. เรียบเรียง. “แม่ไม่เคยเสียใจที่เข้าป่า” เรื่องไม่ปิดลับของผู้หญิงในขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ.lanner. https://www.lannernews.com/28082567-01/. (เข้าถึงเมื่อ 11/19/2567).
- ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ. เรียบเรียง. “เรื่องอะไรอีกที่ประวัติศาสตร์เดือนตุลาในภาคเหนือยังไม่ถูกเขียน?” ประวัติศาสตร์ขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือของไทยและช่องว่างของประวัติศาสตร์นิพนธ์คนสามัญ. lanner. https://www.lannernews.com/07082567-01/. (เข้าถึงเมื่อ 11/19/2567).
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...