19 ธันวาคม 2565
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดกิจกรรม “แรงงาน = คน : เราทุกคนที่ย้ายถิ่นไม่ใช่คนอื่น” ณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 17.40 – 20.00 น. เนื่องในวันแรงงานย้ายถิ่นฐานสากล
ภายในงานมีการแสดงจากภาคีเครือข่าย อาทิ การแสดงเต้นรำเปิดงานโดยเยาวชนลูกหลานแรงงาน ลำพูน , การแสดงเต้นโดย มูลนิธิการศึกษาประกายแสง , การแสดงแร็ปจากแร็ปเปอร์กลุ่มชาติพันธ์ นำแสดงโดย Triple H , การแสดงแฟชั่นโชว์ เดินแบบที่เล่าประวัติศาสตร์คนทำงานผลัดถิ่นของประเทศไทย
แสดง 18:11 น. การแสดงละคร ‘เราต้องการรัฐสวัสดิการ’ นำแสดงโดยแรงงานผลัดถิ่น นำเสนอภาพความลำบากของวิถีชีวิตแรงงานผลัดถิ่น และขาดสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ ความยากลำบากในการทำงานและชีวิตที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เวลาเจ็บป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจาก ไม่มีประกันสังคม เจ็บป่วยก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างที่ควรเป็น ค่าแรงการจ้างงานก็ไม่แน่นอน แรงงานหญิงรายได้น้อยกว่าแรงงานชาย ทั้งนายจ้างยังใช้ช่องว่างต่าง ๆ ในการเอาเปรียบแรงงานของตน จึงเรียกร้องถึงความต้องการรัฐสวัสดิการแรงงาน
เวลา 18:55 น. วิดีโอ ‘แรงงานเคลื่อนย้ายไม่ใช่คนอื่น’ ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนย้ายแรงงานผลัดถิ่นโดยย้อนอดีตถึงการเข้ามาของแรงงานผลัดถิ่นต่าง ๆ ไทยเริ่มตั้งแต่รัชสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติ คือการเข้ามาของแรงงานชาวจีน และสาเหตุของการเคลื่อนย้ายประชากรแรงงาน และเสนอความต้องการของแรงงานที่ย้ายเข้ามาว่าการเข้ามาของแรงงานผลัดถิ่นนั้นเป็นเรื่อง “ปกติ” หากแต่การดูถูกแรงงานผลัดถิ่นโดยเฉพาะสามจังหวัดคือ ลาว พม่าและกัมพูชานั้นต่างหากคือความ “ผิดปกติ” ร่วมกันสร้างความเข้าใจใหม่ให้แก่สังคมเกี่ยวกับแรงงานผลัดถิ่น
โดยมี Talk show จากแรงงานต่างชาติ 3 คน ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และความรู้สึกร่วมกันภายในงาน
Brahm Press ผู้อำนวยการมูลนิธิ Map Foundation กล่าวว่าภาวะโยกย้ายนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีหยุด ผู้คนนั้นอยากโยกย้ายเพื่ออยากหาอะไรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสใหม่ๆ หางานทำ หาประสบการณ์ หนึความยากจน และการกดขี่ภายในประเทศ หลายคนก็เคยถูกบังคับให้ต้องโยกย้าย แรงงานที่โยกย้ายเข้ามานั้นเป็นแรงงานที่เข้ามาเพื่อหางานเท่านั้นหรืออาจจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เขาต้องโยกย้ายเข้ามา ปัญหาคือการโยกย้ายไม่ถูกยอมรับในประเทศไทยและมีนโยบายควบคุมไม่ให้แรงงานมีอิสรภาพ ดังนั้นแรงงานที่เข้ามาจะได้รับสิทธิ์ใดๆบ้างที่เป็นชั่วคราวหรือถาวร
Liz hilton แรงงานชาวต่างชาติชาวออสเตรเลีย กล่าวว่าตนถูกเรียกว่าฝรั่ง แต่จากในคลิปพอดูในเอกสารก็ถูกหาว่าเป็นต่างด้าว การย้ายถิ่นเป็นเรื่องธรรมชาติ เรานั้นถูกแบ่งแยกมาตั้งแต่เกิดทำให้เราได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน จากกรณีที่รัฐไม่สนับสนุนให้รายได้แก่ผู้หญิงที่ทำงานบ้าน กรณีที่ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานไม่ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน หรือแม้แต่ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ไม่ได้รับการต้อนรับ ทั้งที่ไม่มีใครวางแผนที่จะทำอะไรไม่ดี ดังนั้นLizเสนอว่า การย้ายถิ่นไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นการแก้ปัญหา เราเกิดมาเหมือนกันทำไมต้องมีการแบ่งแยกกัน ใครได้อะไรจากการแบ่งแยกนี้ หากวันหนึ่งทุกคนร่วมมือกันปฏิเสธความไม่ยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ การแบ่งแยก เขาจะแพ้และเราจะชนะ คิดว่าการย้ายถิ่นเป็นเรื่องธรรมชาติ เรากำลังจะย้ายถึงจุดร่วมกันที่เราจะไม่แบ่งแยกว่าเป็นพวกไหน แต่เรามีแค่หนึ่งพวกที่เป็นพวกเรา
nan saw yin แรงงานท้องถิ่นในเชียงใหม่ กล่าวว่าตนนั้นเป็นคนลางเคอ เหตุผลที่เข้ามาในไทยเพราะตนไม่มีงานทำ รายได้ไม่เพียงพอในการยังชีพ และได้เห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่เจริญกว่า สภาพที่ดีกว่า มีงานให้ทำ มีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้สภาพครอบครัวดีขึ้นจึงต้องเข้ามาทำงานที่เชียงใหม่และอยากให้ลูกได้โตมาในสังคมที่ดี แต่คนเชียงใหม่กลับมองว่าเราเป็นคนอื่น เราต้องการชีวิตที่ดี แต่ถูกมองว่าเป็นต่างด้าวที่เข้ามาแย่งงาน ตนได้ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนพม่า ถูกกีดกันเรื่องอาชีพ ลูกถูกมองว่าเป็นลูกของแรงงานย้ายถิ่น ถูกปิดกั้นเรื่องข่าวสาร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราถูกแบ่งแยก สุดท้ายเราแค่อยากมีชีวิตเหมือนคนอื่นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ภายในงานมีการจัดบูทให้ความรู้และกิจกรรม อาทิ บู๊ทแคมเปญลงชื่อสิทธิแก่ผู้ถูกกระทำจากความอยุติธรรม จาก Amnesty international thailand , บู๊ทกิจกรรมให้ความรู้เรื่องแม่ควรได้รับเงินเดือนจากการทำงานบ้าน และบู๊ทให้ความรู้จาก Map Foundation เรื่องการให้ความรู้สร้างเสริมสุขภาพเพื่อห่างไกลจากโรค 5 โรค
มีการอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันย้ายถิ่นสากล จาก เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เนื้อหาว่า
‘วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ
การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่ง ไปยังอีกประเทศหนึ่ง เพื่อทำงานเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานาน ทั่วโลก โดยได้มีการแบ่งสาเหตุของการเคลื่อนย้ายแรงงานไว้ 4 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ
1. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงงานจากประเทศที่เศรษฐกิจต่ำกว่า ด้อยพัฒนากว่า จะย้ายตัวเองไปทำงานในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า
2. การเคลื่อนย้ายไปประเทศอื่น เพราะสงครามหรือความขัดแย้งภายในภายประเทศตัวเอง
3. การถูกย้ายไปเป็นแรงงานในประเทศเจ้าอาณานิคมซึ่งเกิดขึ้นในสมัยยุคล่าอาณานิคม
4. การอพยพเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานในประเทศอื่น เพราะภัยธรรมชาติ หรือความขาดแคลนจากประเทศตนเอง และในช่วงปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นฐานของตัวเอง จากรายงานของ Oxfam ระบุว่า ทุกๆ ปีจะมีประชากรทั่วโลกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องอพยพออกจากถิ่นฐานของตัวเอง เพราะปัญหา climate change ซึ่งคนกลุ่มนี้มีทั้งที่อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย และย้ายตัวเองไปตั้งรากฐานใช้ชีวิตทำงานในประเทศอื่น
ในประเทศไทย การย้ายถิ่นของแรงงานจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีมานาน โดยการใช้แรงงานข้ามชาติในลักษณะการ “ว่าจ้าง” ในยุคแรกเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ช่วงทศวรรษ 2370 ทุก ๆ จะมีแรงงานจากภาคใต้ของจีนเข้ามาทำงานในไทยราว 6,000 – 8,000 คน เข้ามาทำงานรับจ้างในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีความต้องการแรงงานสูง ทำให้มีคนจีนอพยพเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี
หลังทศวรรษ 2500 ประเทศไทยเริ่มปรับตัวเองสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ความต้องการแรงงานจึงทวีจำนวนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจึงเริ่มมีนโยบายอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า หลังจากนั้นจึงได้เปิดให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็น 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ปัจจุบันมีตัวเลขการจ้างแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติที่ถูกกฎหมายกว่า 2.5 ล้านคน โดยร้อยละ 80 ของแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่า ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือ แรงงานจากกัมพูชา ลาว และเวียดนาม
ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเรื่องการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนี้
1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
4. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)
5. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ให้คุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพ อาทิ พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี’
สุดท้ายการแสดงวัฒนธรรม โดย บีม มูลนิธิประกายแสง ก่อนปิดกิจกรรม
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...