เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Migration Network (MMN) จัดงานเสวนา “Neighbours in Need : การย้ายถิ่นจากเมียนมา” และนิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสงครามกลางเมืองในเมียนมา และแนวทางในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นฐานสากล (18 ธ.ค. 2568) ณ ห้องประชุมธนี พหลโยธิน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในวงเสวนาได้มีการพูดถึงสถานการณ์เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานจากเมียนมาในปัจจุบัน โดยมี แจ็คกี้ พอลล็อค ตัวแทนจาก MMN เป็นผู้ดำเนินรายการ
บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิ MAP Foundation เล่าถึงประเด็นหัวข้อการย้ายถิ่นแบบผสม และงานที่ไม่มั่นคง โดยยกตัวอย่างในภาคการเกษตรว่า ในการทำเกษตรของประเทศไทยเราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยปัญหาในแง่กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ และปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงในงานของแรงงานข้ามชาติในไทย
ด้าน อีฟ ตัวแทนจากสมาคมแรงงานยองจีอู (YCOWA) ได้กล่าวถึงผลกระทบต่อสภาพการจ้างงานในอำเภอแม่สอดว่า มีแรงงานข้ามชาติในแม่สอดที่ถูกกดขี่ และเอาเปรียบโดยที่เขาไม่สามารถต่อสู้กับปัญหานี้ได้ เพราะการที่แรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารมายืนยันสถานะ ทําให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ได้และต้องติดอยู่ในกับดักของการเป็นทาสในโลกสมัยใหม่ จนนําไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงาน วนไปอยู่ในวงจรความยากจนต่อไป และเธอยังมองว่า สิ่งที่เราจะช่วยเหลือพวกเขาได้ คือการช่วยเหลือเขาทั้งในด้านมนุษยธรรม แล้วก็ในเชิงกฎหมาย
นอกจากนั้นในวงสนทนายังมีการพูดคุยและนำเสนอประเด็นที่ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมาต้องพบเจอในไทยจากการที่ไม่มีสัญชาติ พร้อมทั้งผลักดันให้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหานี้
“พ่อแม่เราอพยพมาก่อนที่เขาจะมีเรา เราเกิดและโตมาในประเทศไทย เรียนหนังสือก็เรียนที่นี่ แต่เราเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเลขบัตรประชาชน การทำธุรกรรมการเงินมันก็ยาก เราไม่สามารถเปิดบัญชีได้อย่างปกติ ถูกจำกัดให้เปิดได้แค่บัญชีออมทรัพย์ในโรงเรียนที่ฝากได้แต่ถอนออกมาใช้ไม่ได้ แล้วเรื่องการศึกษา ถ้าเราอยากกู้ยืมเพื่อการศึกษามันก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีสัญชาติ เราอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายตรงนี้ได้จริง อยากให้เราขอสัญชาติได้จริงโดยไม่ต้องใช้เงื่อนไขและเวลาเยอะขนาดนี้”
วัศพล ลุงปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตัวแทนผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมาที่เข้าร่วมงานเล่าว่า เขาเกิดและโตในไทย มากว่า 22 ปี ปัจจุบันยังคงไร้สัญชาติ และถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติของไทย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้การใช้ชีวิตในไทยของเขานั้นดำเนินไปด้วยความลำบาก ทั้งในแง่ของการที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้เท่าที่ควร ความยากลำบากในการทำธุรกรรมต่างๆ
“เข้ามาในเมืองไทยเกือบ 30 ปีแล้ว รู้สึกว่ามันยากมากกับการใช้ชีวิตในเมืองไทยโดยที่เราไม่มีสัญชาติ แม้เราจะมีบัตรที่ช่วยให้สามารถมีสิทธิเข้ารับสวัสดิการบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา แต่เรามองว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิตของเรามันมีมากกว่านั้น”
อาทิตย์ แผ่บุญ ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวไทใหญ่ และผู้ประสานงานเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เล่าคล้ายกันว่า ข้อจำกัดของผู้ย้ายถิ่นฐานในไทยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ ส่วนปัญหาที่เขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเขามากที่สุดคือการที่เขาต้องยืนยันตัวตนในเรื่องการเดินทาง เพราะว่ากฎหมายยังจำกัดสิทธิในการเดินทางของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่ โดยเขาเล่าว่าในการเดินทางออกนอกจังหวัดที่อาศัยอยู่ เขาจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเดินทางทุกครั้ง แม้จะไปแค่จังหวัดใกล้ๆ ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากเพราะต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอเอกสารค่อนข้างเยอะ
“สถานะของเราตอนนี้เราเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ในราชอาณาจักร อย่างไม่ถูกกฎหมาย เราอยู่ได้ตามเงื่อนไขของ ครม. ซึ่งถ้าวันไหนที่เขายกเลิกขึ้นมา เราและกลุ่มคนไร้สัญชาติก็มีโอกาสที่จะถูกให้ออกจากประเทศได้ทุกเมื่อ ซึ่ง ถ้าถามว่าเราย้ายกลับประเทศต้นทางได้ไหม ตอนนี้เรากลับไปมันก็ไม่มีอะไรให้เราอีกแล้ว เราไม่เหลืออะไรเลย”
“ความคิดเห็นเกี่ยวกับมติครม. เมื่อ 29 ตุลาที่ผ่านมา เรามองว่ามันเป็นก้าวที่สำคัญ แล้วเราก็รู้สึกดีใจที่รัฐบาลมองเห็นและพยายามเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ เราก็รู้สึกว่ามีความหวังกับมัน แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะช้าแบบที่ผ่านมาหรือเปล่า เพราะเรารอมันมานานมากแล้วจริงๆ”
“ความหวังสูงสุดของเราคือการเป็นคนไทย เราอยู่ในสังคมนี้ เราเรียกที่นี่ว่าบ้าน เรามีครอบครัว มีทุกอย่างอยู่ที่นี่ แต่เรากลับไม่มีความมั่นคงอยู่ที่นี่เลย”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...