กมธ. การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่เชียงใหม่ เปิดเวทีรับฟังประชาชน เดินหน้าหารือที่มา สสร. สู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

17 มกราคม 2568 เวลา 09.00 – 16.00 ที่ผ่านมา ณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดย นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองประธานคณะกรรมาธิการ และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง เลขานุการคณะกรรมาธิการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ จัดกิจกรรมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตัวแทนจากภาคประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากประชาชน ตัวแทนภาคประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมถึงการเสนอแนวทางการออกแบบและจัดทำสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อพัฒนาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งนี้ กิจกรรมการลงพื้นที่ของ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถูกจัดออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้า กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างเวลา 09.00 – 12.00 น. กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ โดยตัวแทนแต่ละกลุ่มได้ร่วมซักถามและนำเสนอประเด็นปัญหา รวมถึงข้อร้องเรียนต่างๆ อันมาจากบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเสนอวาระที่ต้องการผลักดันไปยังคณะกรรมาธิการฯ

โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับตัวแทนประชาชน เพื่อวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะต่อประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยกิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายหลักในการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการและสะท้อนถึงความหลากหลายของประชาชนในทุกมิติอย่างแท้จริง

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ (Empower Foundation) ได้สะท้อนปัญหาที่พนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) เผชิญ โดยระบุว่า การที่อาชีพนี้ยังถูกจัดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน เช่น การถูกจับกุมและมีประวัติอาชญากรรม ส่งผลให้ไม่สามารถออกจากอาชีพนี้ได้ และเปิดช่องทางให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์และการค้าประเวณีเด็ก

ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริการทางเพศสร้างรายได้มหาศาล หากได้รับการทำให้ถูกกฎหมาย รายได้เหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง และช่วยลดปัญหาการกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อยกเลิกการห้ามค้าประเวณี ซึ่งร่วมทำกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสร็จตั้งแต่ปลายปี 2566 แต่กฎหมายดังกล่าวกลับหายไป

นอกจากนี้ ทันตาระบุว่า ขณะที่รัฐบาลไทยได้รายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (Committee on the Elimination of Discrimination against Women: CEDAW) ว่าได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เอ็มเพาเวอร์จึงได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เพื่อเรียกร้องความคืบหน้าของกฎหมายดังกล่าวต่อไป

นิตยา เอียการนา ตัวแทนจากสมาคม IMPECT กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะระบุถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษา แต่ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกลับประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูงและข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายด้านที่ดินและการศึกษา ชนเผ่าพื้นเมืองพยายามพึ่งพาตนเองในการจัดการการศึกษาในชุมชนของตนโดยไม่ขึ้นกับส่วนกลาง แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อความมั่นคงของประเทศ

นิตยาเน้นย้ำว่า การผลักดันพระราชบัญญัติชาติพันธุ์ฯ ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่คือการสร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ และเพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถบรรลุเป้าหมายในการรับรองสิทธิตามที่ระบุไว้

สุริยันต์ ทองหนูเอียด จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการร่างกฎหมายและการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร่างกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม้จะลดจำนวนผู้เข้าชื่อจาก 50,000 เหลือ 10,000 คน ก็ยังเป็นเรื่องยากที่กฎหมายจะผ่านการพิจารณา และยังเสี่ยงต่อการถูกปัดตกได้ทุกเมื่อ

สุริยันต์ชี้ว่า ปัจจุบันการลงโทษมักตกอยู่กับประชาชนตัวเล็กๆ ขณะที่ผู้มีอำนาจไม่ถูกตรวจสอบอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ สุริยันต์ยังเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงระบบกระบวนการยุติธรรมจาก ระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น พร้อมผลักดันให้ระบบกฎหมายในประเทศไทยตอบสนองต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง

ภายหลังการนำเสนอข้อมูลปัญหาจากเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง เลขานุการคณะกรรมาธิการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของรัฐธรรมนูญในบริบทปัญหาปากท้องของประชาชน โดยระบุว่า แม้จะมีผู้มองว่ารัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องแก้ไข และควรให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องมากกว่า แต่ข้อเท็จจริงกลับชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะในประเด็น สิทธิชุมชน และ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ

ในรัฐธรรมนูญปี 2560 สิทธิชุมชนถูกจัดอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุว่า สามารถใช้ได้ หากถูกละเมิด การฟ้องร้องสามารถทำได้ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างไรตาม การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปได้ยากเนื่องจากขาดกฎหมายลูกที่รองรับ

ประเด็น พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ยังพบข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ที่ระบุว่า กฎหมายใดที่ขัดต่อความมั่นคง ศีลธรรมอันดี สิ่งแวดล้อม หรือการอนุรักษ์ สามารถถูกยกเว้นได้ ซึ่งประภาสเสนอให้ยกเลิกมาตรานี้ และนำสิทธิชุมชนกลับมาอยู่ในหมวดสิทธิตามแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชน ประภาสชี้ว่ากระบวนการปัจจุบันมีเพียงการจัดทำ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) และ EHIA (การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุม คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นความสำคัญของประเด็นเหล่านี้และจะจัดทำรายงานสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการฯ และวุฒิสภา เพื่อเน้นย้ำความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาปากท้อง กฎหมายลูก และรัฐธรรมนูญ อันเป็นแนวทางในการพัฒนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป

สำหรับประเด็นเรื่องพนักงานบริการทางเพศ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีเพียง 2 มาตราที่กล่าวถึงสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ คือ “สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย” และ “สิทธิในการประกอบอาชีพ” แต่รัฐธรรมนูญกลับไม่ได้คุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ หรือแม้แต่แรงงานทั่วไป เช่น ในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า แรงงานต้องได้ค่าแรงที่ ‘เหมาะสม’ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้คำว่าค่าแรงที่ ‘เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ’ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ยังระบุสิทธิในการเสนอข่าวสารของพนักงานสื่อมวลชนอย่างเสรีโดยไม่มีใครมาควบคุม แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้

เทวฤทธิ์ชี้ให้เห็นว่า หลักการของรัฐธรรมนูญที่มีชัยพูดถึง คือการที่สิทธิเสรีภาพต้องเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับรอง แต่กลับขัดแย้งกับแนวคิดที่ว่าสิทธิเสรีภาพนั้นมีอยู่ก่อนรัฐ ซึ่งเมื่อรัฐเข้ามาแล้วก็ต้องคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น เทวฤทธิ์มองว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ที่การใช้คำว่า ‘พึง’ กระทำในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทำให้รัฐต้องทำแต่ไม่บังคับ มิหนำซ้ำยังขาดความคุ้มครองที่เข้มแข็งต่อสิทธิเสรีภาพจนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา การปกป้องสิทธิจึงหย่อนไป

ในประเด็นท้องถิ่น ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานคร ชี้ให้เห็นว่า เชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่กว่า 700 ปีที่มีธรรมชาติ แต่ปัญหาของเชียงใหม่ก็คล้ายกับกรุงเทพฯ คือเรื่องน้ำท่วมในฤดูฝนและฝุ่นในฤดูแล้ง ซึ่งแม้กรุงเทพฯ จะมีปัญหาเรื่องนี้มานานแต่กลับแก้ไขไม่ได้

โดยอธิบายว่าการกระจายอำนาจคือการกระจายความเจริญและงบประมาณ ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้เอง เช่น ปัญหาฝุ่นที่ชุมชนขาดงบประมาณในการจัดการ หรือการโอนภารกิจดับไฟป่ามาให้ท้องถิ่น แต่กลับไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน โดยอยากให้ชาวเชียงใหม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ กว่า 157 แห่งที่ตั้งอยู่ในเชียงใหม่แต่กลับไม่ฟังเสียงคนท้องถิ่น แต่กลับฟังเพียงกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินงบประมาณก็ถูกจัดสรรอย่างไม่เท่าเทียม จึงควรให้เชียงใหม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ และมีสภาพลเมืองเพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ

กิจกรรมในช่วงเช้าจบลงด้วยการที่ ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานคร และ เครือข่ายเกษตรทางเลือก จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมถ่ายภาพแสดงเจตนารมณ์และพลังร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่

สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่าย มีการจัดการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยแบ่งกลุ่มสนทนาใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ที่มา สสร. อำนาจหน้าที่ของ สสร. และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันพูดคุยและเสนอแนะแนวทางการออกแบบและจัดทำ สสร. เพื่อพัฒนาและนำไปสู่กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่วมกัน

กลุ่มที่มาสสร. เสนอว่า สสร. ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีความหลากหลาย โปร่งใส เป็นอิสระ แต่ห้ามเป็นข้าราชการประจำ มีประสิทธิภาพ อุดช่องโหว่สำหรับคนที่มีความได้เปรียบ และยึดหลักความเป็นธรรม เท่าเทียม การเลือกตั้ง สสร. มีผู้เสนอให้มีตัวแทนระดับจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน อีก 123 คนมาจากบัญชีรายชื่อระดับประเทศ เพื่อให้คนกลุ่มน้อยที่มีประเด็นของตนได้รับเลือกด้วย ควรมีกรรมการกลางที่ไม่ใช่ กกต. และผู้แพ้เองก็ยังสามารถร่วมเสนอร่าง รัฐธรรมนูญหรือความคิดเห็นต่อ สสร. ที่ได้รับเลือกได้เช่นกัน หลังออกจากการเป็น สสร. แล้วควรมีกำหนดงดเว้นการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วยเพื่อไม่ให้มีใครจ้างลงสมัคร

ด้านกลุ่มคุณสมบัติ สสร. ให้น้ำหนักความเป็นตัวแทนเชิงประเด็นมากกว่าเชิงพื้นที่ และควรเลิกยึดโยงกับจำนวนประชากร สสร. ไม่จำเป็นจบกฎหมายหรือรัฐศาสตร์ ขอเพียงแค่เชี่ยวชาญในประเด็นของตนเองโดยดูจากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ มีเกณฑ์อายุขั้นต่ำ 18 ปี และมีการเสนอเกณฑ์ขั้นสูงเพื่อไม่ให้ได้ สสร. ที่แก่เกินไป ตลอดจนไม่ควรเลือกปฏิบัติ ต้องเปิดเผยที่มาของรายได้และเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยต้องโทษคดีทุจริตคอรัปชั่น ต้องเปิดโอกาสให้มีการแนะนำตัว โดยให้ กกต. เป็นผู้เผยแพร่เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนการหาเสียง ที่ผู้มีเงินย่อมได้เปรียบกว่า

ขณะที่กลุ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนเสนอให้มีตัวแทนกลุ่มอาชีพ รวมถึงตัวแทนกลุ่มหลากหลายทั้งอายุ เพศสภาพ สถานะ ต้องมีกลุ่มเปราะบางหรือได้รับผลกระทบทางกฎหมายเข้าไปด้วย รวมถึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนออนไลน์ ในเรื่องความโปร่งใสมีผู้เสนอให้ถ่ายทอดสดการประชุมและให้ประชาชนออกความเห็น นอกจากนี้ สสร. ควรทำงานอย่างน้อย 1 รอบปีเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย มีหลักประกันห้ามฉีกรัฐธรรมนูญแต่ให้แก้ไขได้ ภาษาควรเข้าใจง่ายและควรแปลเป็นภาษาชนเผ่าเพื่อความหลากหลาย ควรเผยแพร่เรื่องรัฐธรรมนูญให้ทั่วถึง เปิดพื้นที่ให้เยาวชน แก้ได้ทุกหมวด แต่ข้อท้าทายคือสังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญไกลตัว รัฐจึงควรทำความเข้าใจกับสังคมผ่านทางกลไกต่างๆ ให้ทั่วถึง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง