17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ภายหลังกิจกรรมการลงพื้นที่ของ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ในนาม “ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่” ยื่นหนังสือถึง กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ โดยมีข้อเรียกร้องให้เพิ่มบทบัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมทั้งศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร รวมทั้งกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดจัดการตนเอง โดยมีเนื้อหาดังนี้
“เรียน ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทย มีการพูดถึงการกระจายอำนาจในมิติใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน จนนำไปสู่การแก้กฎหมายตามมาอีกหลายฉบับเพื่อให้ก้าวหน้าเท่าทัน โดยเฉพาะมีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งส่งเสริมอำนาจทั้งของประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่น ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้ช่วงเวลานั้นถูกเรียกว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการกระจายอำนาจ” อย่างไรก็ตาม การเกิดรัฐประหารปี 2549 ลากยาวมาจนถึงการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2560 กลับทำให้ประเด็นการกระจายอำนาจถูกลดทอนความสลักสำคัญลงไป กระทั่งคำว่า “กระจายอำนาจ” ยังไม่ปรากฎในรัฐธรรมนูญปี2560
กระนั้นก็ตาม เนื่องจากประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษระดับจังหวัด ที่เรียกกันว่า “จังหวัดจัดการตนเอง หรือจังหวัดปกครองตนเอง” เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อทั้งชีวิตคนในท้องถิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย ภาคประชาชนในหลายจังหวัดจึงร่วมกันรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้นำร่องทำการระดมรายมือชื่อเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร” เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วเมื่อปี 2556 แต่ก็ตกไปเนื่องจากเกิดรัฐประหาร ต่อมาปี 2565 เรื่องการกระจายอำนาจให้จังหวัดปกครองตนเองได้ถูกสังคมพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ได้มีหลายพรรคการเมืองที่ชูนโยบายอย่างเด่นชัดให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2567 ภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มรณรงค์เข้าชื่อเพื่อเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร” อีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันให้ทันช่วงการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 นี้
เนื่องจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ของวุฒิสภา มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชนและการดำเนินการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการสิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพฯ
ดังนั้น ภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ในนาม “ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่” จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
1.ขอให้ดำเนินการเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2.ขอให้ดำเนินการศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ที่ประชาชนกำลังเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้พิจารณาในประเด็นสำคัญๆ อาทิเช่น ความต้องการของประชาชนในการจัดการตนเอง ความพร้อมของจังหวัดในมิติสำคัญต่างๆ ความเป็นไปได้ ปัญหาอุปสรรค และประเด็นข้อโต้แย้งคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้รวมทั้งศึกษากฏหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯจะรับเอาข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการตามเห็นสมควรต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
ชำนาญ จันทร์เรือง ประธานภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ รองประธานภาคีเครือข่ายฯ”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...