วานนี้ (19 มกราคม 2568) ที่ผ่านมา ณ ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคประชาชนจัดเวที ‘สนับสนุนร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร มีอนาคตเป็นของตัวเอง’ เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในพื้นที่ ผ่านเสวนา ‘รัฐธรรมนูญกับการกระจายอำนาจ’ และ Talk ‘คนเคลื่อนเมือง’ รวมไปถึงการแสดงดนตรี และกิจกรรมต่างๆ เพื่อชวนประชาชนเข้าชื่อผลักดัน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น.
โดยเสวนารัฐธรรมนูญกับการกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญส่งผลให้เกิดการกระจายอำนาจในท้องถิ่นอย่างไร? ณัชปกร นามเมือง จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) เผยให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้การเมืองไทยเผชิญกับ ‘การเมืองแบบไม่เห็นหัวประชาชน’ โดยเฉพาะการใช้อำนาจ ส.ว. 250 คนจาก คสช. ที่ขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก ทั้งในปี 2562 และ 2566 ขณะเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ ‘นิติรัฐประหาร’ ซึ่งใช้อำนาจกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อแทรกแซงการเมือง เช่น การยุบพรรคฝ่ายค้าน และการใช้มาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ
หากถอยจากการเมืองภาพใหญ่มาสู่การเมืองภาพย่อย หรือการเมืองท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องการกระจายอำนาจ เราก็จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 การกระจายอำนาจเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ถูกถ่วงโดยรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560
จากการศึกษาของ อาจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพ พบว่า การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกจำกัดใน 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. งาน ท้องถิ่นไม่มีอิสระในการบริหารงานอย่างแท้จริง การดำเนินงานต้องยึดตามกฎหมายที่ส่วนกลางกำหนด หากอำนาจหน้าที่ทับซ้อนกับส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ท้องถิ่นจะไม่สามารถดำเนินการได้ 2. เงิน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 งบประมาณที่จัดสรรให้ท้องถิ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ของรายได้ประเทศ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมสำหรับการบริหารภารกิจตามการศึกษาที่ระบุว่าควรอยู่ที่ 45% อีกทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.ถ่ายโอนภารกิจท้องถิ่น ยังจำกัดสัดส่วนการจัดสรรงบไว้ที่ 35% และ 3. คน ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเองได้ ต้องพึ่งพาการแต่งตั้งและการสอบคัดเลือกที่ควบคุมโดยส่วนกลาง
ทั้งนี้ จาก 3 มิติข้างต้นก็มาสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญตรงที่ หากย้อนกลับไปในปี 2564 ในช่วงเวลานั้นมีการเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่น ซึ่งเน้น 2 ประเด็นสำคัญคือ 1. การปรับเปลี่ยนอำนาจท้องถิ่นจาก Positive List เป็น Negative List เดิมการบริหารงานของท้องถิ่นอยู่ในกรอบ Positive List ซึ่งระบุชัดเจนว่าท้องถิ่นทำได้เฉพาะสิ่งที่กฎหมายกำหนด ร่างใหม่เสนอให้ปรับเป็น Negative List หมายถึงท้องถิ่นสามารถดำเนินการทุกอย่างยกเว้นสิ่งที่กฎหมายห้าม ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และ 2. การเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนงบประมาณสูงสุด 35% ของรายได้ประเทศ เปลี่ยนเป็น 50% เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอทั้งในการบริหารภารกิจและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งท้องถิ่นถือได้ว่าเป็นเครื่องจักรใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต เศรษฐกิจภาพใหญ่เติบโต สิ่งนี้ก็จะไปสัมพันธ์กับเรื่องของรัฐธรรมนูญที่ว่า ถ้าหากเราไม่มีรัฐธรรมนูญที่มีสปิริตของการกระจายอำนาจ ไม่ได้ระบุทั้งเรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นมีอิสระจากส่วนกลาง หรือถ่ายโอนงบประมาณให้สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น การพัฒนาท้องถิ่นก็จะไม่เกิดขึ้น นี่ก็คือเรื่องของความจำเป็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ในเมื่อเราเห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นที่จะต้องมีการร่างใหม่ ต้องมีการแก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจ วันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์นี้ รัฐสภาจะมีการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสาระสำคัญมันก็คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน นี่คือวาระสำคัญ ถ้าเราอยากจะผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ เราอยากจะไปลบล้างผลพวงรัฐประหาร ผมคิดว่า 13 – 14 กุมภาพันธ์นี้ อาจจะเป็นโอกาสเดียวว่า ถ้าเราอยากได้รัฐะรรมนูญใหม่ที่มาจากตัวแทนของประชาชนให้ทันก่อนปี 2570 13 – 14 กุมภาพันธ์นี้คือนัดชี้ชะตา ซึ่งเราไม่สามารถฝากความหวังไว้แค่ตัวแทนในรัฐสภาได้ คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประสบความสำเร็จมีเงื่อนไขหลักๆ 2 เงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือ สส. และ สว. ต้องเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ก้คือเราต้องได้เสียงเห็นชอบเกิน 351 เสียง กับสองคือ เราต้องได้เสียง สว. เกิน 67 เสียง หรือ 1 ใน 3 เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย พวกเขาก็อาจจะปัดตก เพราะฉะนั้นโอกาสเดียว ณ ตอนนี้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันอาจจะตกได้ เพราะฉะนั้นอันนี้มันอยู่ในมือพวกเราที่จะต้องช่วยกัน ทีนี้ถามว่าพวกเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าอยากจะให้ 13 – 14 กุมภาพันธ์นี้ประสบความสำเร็จ ผมว่าเรื่องง่ายที่สุดครับ”
โดยณัชปกรทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เราทำได้คือการพูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 60 และการส่งเสียงว่าเราต้องการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเลือกคนมาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ
“ผมคิดว่ารัฐรรมนูญที่คนเหนืออยากได้ คนเชียงใหม่อยากได้ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เราไปร่วมเสนอ ไม่ใช่จิ้มเอาคนจากส่วนกลาง แล้วคิดว่าคนพวกนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญมาร่างรัฐธรรมนูญให้กับเรา เราต้องยืนยันว่าเราอยากจะเลือกตั้งตัวแทน สสร. ของเราเอง”
ทางด้าน ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจรัฐธรรมนูญทั่วโลกและพบว่า 85% ของรัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆ กล่าวถึงการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น โดยมีมิติสำคัญ 8 ด้านที่ควรปรากฏในรัฐธรรมนูญ ได้แก่
1. หลักการทั่วไป การรับรองสิทธิและทิศทางการกระจายอำนาจในภาพรวม 2. โครงสร้างภายนอก การกำหนดจำนวนชั้นบริหารของท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยไม่เคยระบุ 3. โครงสร้างภายใน การแบ่งฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่นเพื่อการตรวจสอบซึ่งกันและกัน 4. อำนาจหน้าที่ การกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น 5. การคลัง การกำหนดการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐบาลระดับชาติและท้องถิ่น 6. การกำกับดูแล ประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่นิยมเขียนการกำกับดูแลไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไทยกลับให้ความสำคัญในส่วนนี้ 7. การมีส่วนร่วม การส่งเสริมบทบาทประชาชนในการถอดถอนนักการเมือง เสนอกฎหมาย และทำประชามติในระดับท้องถิ่น และ 8. เขตปกครองตนเอง การยอมรับเขตปกครองพิเศษซึ่งเป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ แต่ไทยยังมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว
จากการศึกษาพบว่ารัฐธรรมนูญไทยยังขาดความสมบูรณ์ในมิติทั้ง 8 ด้าน หลายประเด็นถูกลดความสำคัญโดยโยกไปกำหนดในกฎหมายอื่น ทำให้การกระจายอำนาจไม่ได้รับการรับรองในระดับรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยกำลังเผชิญข้อจำกัดสำคัญในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ส่งผลต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการ ตัดคำว่า ‘กระจายอำนาจ’ ออกจากรัฐธรรมนูญ และการยอมรับผู้บริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในเขตปกครองพิเศษ ข้อบกพร่องนี้สะท้อนการถดถอยของประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น และสร้างข้อสงสัยว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะสถาปนาอำนาจท้องถิ่นในระดับรัฐธรรมนูญ”
ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการการเมืองการปกครองท้อนถิ่น อธิบายพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ พัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการต่อสู้เพื่อการกระจายอำนาจที่ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างจริงจัง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นโดยตรง เหตุนี้ทำให้ประชาชนไม่ได้ตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาสู้ในเรื่องกระจายอำนาจเท่าที่ควร
มิติที่สองก็คือ ระบบการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้เฉพาะความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง โดยขาดการศึกษาในเรื่องของการบริหารจัดการบ้านเมือง และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้ประชาชนขาดความรู้และขาดรอยต่อในการพัฒนาประวัติศาสตร์
มิติที่สามคือ หลังจากปี 2490 ประเทศไทยได้เผชิญกับอิทธิพลจากแนวคิดอำนาจนิยม โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของประเทศเป็นไปอย่างล่าช้าและกลับถอยหลังลง
มิติที่สี่ ธเนศวร์ชี้ให้เห็นว่า การปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยยังคงพัฒนาช้า เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ อำนาจหลักทั้งหมดจึงยังคงอยู่ในส่วนกลาง ส่งผลให้ไม่มีอำนาจที่ท้องถิ่นจะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้
ท้ายที่สุด ธเนศวร์ได้รณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานท้องถิ่น เพื่อที่จะร่วมผลักดันให้ท้องถิ่นพัฒนาไปสู่อนาคตอย่างแท้จริง
ในส่วนของ Talk “คนเคลื่อนเมือง” เชียงใหม่มหานครทำไม? ได้อะไร? ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในเชียงใหม่ได้ออกมาส่งเสียง
ชาติชาย ธรรมโม ภาคประชาสังคมจากชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ พูดถึงประเด้นการจัดการทรัพยากรที่มาจากท้องถิ่นและจังหวัดที่มาจากมติของประชาชนเป็ นสำคัญ ทางด้าน เริงฤทธิ์ ละอองกิจ สหภาพบาริสต้าเชียงใหม่ ระบุว่าถ้าเกิดการกระจายอำนาจ เรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานจะดีขึ้นและอาจจะตอบโจทย์และตรงจุดซะกว่านโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลปัจจุบันเสียอีก พลอย โพธิ์แก้ว ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร ตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2325 (ปัจจุบันอายุ 243 ปี) แต่เชียงใหม่ตั้งก่อนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 (ปัจจุบันอายุ 729 ปี) สิ่งนี้คือสิ่งที่น่าสนใจนะครับ ในเมื่อกรุงเทพสามารถเป็นมหานครได้ แล้วทำไมเชียงใหม่จะเป็นมหานครไม่ได้”
รุ้งนภา ชยุติมันต์กุล ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่าถ้าเชียงใหม่สามารถจัดการตัวเองได้จะเป็นเรื่องดี โดยยกกรณีของการจัดการขนส่งสาธารณะ ในส่วนของ กรศิริ ธรรมาวุฒิกุล อดีตนักจัดการศึกษาชำนาญการพิเศษ สะท้อนถึงปัญหาการศึกษาในท้องถิ่นโดยระบุว่า “การศึกษาคือความยิ่งใหญ่ในใจชนทั่วทุกคน สร้างเยาวชนให้เป็นคนดี แต่จะดีได้อย่างไรเมื่อประเทศไทยของเราเป็นรัฐรวมศูนย์”
ทางด้าน จรัสศรี จันทร์อ้าย จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ พูดถึงปัญหาอำนาจที่ยังคงกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งคนเชียงใหม่ไม่เคยมีโอกาสได้ตัดสินใจด้วยตนเอง
ปิดท้ายด้วย สราวุฒิ ภมรสุจริตกุล เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ให้ความเห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่นในการสร้างเศรษฐกิจ โดยระบุว่า “ผมเชื่อว่าถ้าเราเชียงใหม่ได้มีโอกาสจัดการตัวเอง มาสร้างพืช สร้างอัตลักษณ์ของเชียงใหม่เองให้มันดังระเบิดในระดับโลก ให้เขารู้ว่าเรามีทั้งอัตลักษณืและการเกษตรที่ดี เชียงใหม่ของเราจะเป็น No.1”
ช่วงสุดท้าย ภาคีเครือข่ายทั้งหมดร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ผลักดัน ‘เชียงใหม่มหานคร’ โดย ชัชวาล ทองดีเลิศ, ชำนาญ จันทร์เรือง, ไพรัช ใหม่ชมพู สุรีรัตน์ ตรีมรรคา โดยมีเนื้อหาดังนี้
“สิริมังคละ
นพบุรีศรีนครพิงค์เจียงใหม่ นับถึงวันนี้มีอายุย่างเข้า 729 ปี๋ มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งตางด้าน ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและอุดมสมบูรณืทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า มีวัฒนธรรมตี้หลากหลาย งดงาม หลากหลายด้วยชนเผ่าชาติพันธุ์ นับได้ว่าเป็นเมืองตี้ผู้คนต่างใคร่มาเยือนและอยู่อาศัยคนเจียงใหม่เป็นคนมีน้ำใจ๋งามเป็นตี้ร่ำลือไปทั่ว
น่าเสียดายตี้ผ่านมาเจียงใหม่ได้ถูกรุกรานจากความเจริญ ควมตันสมัย จากระบบธุรกิจและระบบทุนนิยมผูกขาดจนยะฮื้อความมีเสน่ห์ ความงดงามหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งปวงถดถอยด้อยค่าและลดลงตามลำดับ โดยตี้คนเจียงใหม่บ่อาจปกป้องตั๋วเก่าได้ ด้วยเหตุแห่งอำนาจได้ถูกรวมศูนย์ไว้ ณ ตี้ส่วนกลาง
หนึ่งร้อยสามสิบสามปี๋นับตั้งแต่พุทธศักราช 2435 เป็นต้นมา อำนาจการตัดสินใจทั้งปวง ถูกโอนเข้าสู่ส่วนกลางและรัฐบาลกลาง ประชาชนต๊องถิ่นและผู้คนที่เกยเป็นเจ้าของทรัพยากร มีอำนาจก๋านตัดสินใจ รวมทั้งดูแลรักษาใจ๊ประโยชน์ กลับถูกลดทอนอำนาจมาโดยตลอด ก๋ารบริหาร ก๋ารตัดสินใจเติงหมดถูกกำหนดมาจากส่วนกล๋าง โดยคนตี้บ่ฮู้และบ่เข้าใจปัญหาตี้แต๊จริงเป็นผู้กำหนด โครงก๋ารพัฒนาตี้เข้ามาในพื้นตี้ บ่สอดคล้องกับความต้องก๋ารของท้องถิ่นและประชาชน จ๋นเกิดความขัดแย้งขึ้นบ่อยครั้ง และ ซาวปี๋ตี้ผ่านมา ความขัดแย้งตางการเมืองเริ่มรุนแรงนักขึ้นเป็นลำดับ จ๋นเกิดก๋ารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนนัก ด้วยเหตุแห่งการรวมศูนย์อำนาจไว้ตี้ส่วนกลางนั่นเอง
ประชาชนจาวเชียงใหม่หลายภาคส่วน ทั้งภาคองค์กรท้องถิ่น ประชาสังคม ก๋ารเมือง ชุมชนและกลุ่มพลังตางสังคมต่างๆ ได้ตระหนักต่อปัญหานี้ จึ่งได้เกิดก๋ารศึกษา ขับเคลื่อนและ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเฮียนฮู้ฮ่วมกัน จ๋นได้ข้อสรุปว่า จำเป๋นตี้จะต้องยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ขึ้นแห็มครั้งหนึ่ง หลังจากที่เฮาเกยรวบรวมรายจื้อเสนอเข้าสู่สภาไปเมื่อปี๋ 2556 แต่ต้องตกไปเพราะมีก๋ารรัฐประหารเมื่อปี๋ 2557 เฮาจึ่งเสนอใหม่ในครั้งนี้แห็มเพื่อฮื้อเป๋นแนวทางในการจัดการตั๋วเก่าของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ตามเจ๋ตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ตี้ได้บัญญัติไว้ บัดนี้ การยกร่างเบื้องต้นได้สำเร็จล้วและประธานรัฐสภาได้อนุญาตฮื้อหมู่เฮาได้รณรงค์เพื่อการลงลายมือชื่อ เสนอเข้าสภาต่อไป
วันนี้..เฮาจึงขอประกาศว่า เฮาจะฮ่วมกั๋นผลักดันการกระจายอำนาจหื้อเกิดผลอย่างแต๊จริง ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนท้องถิ่น จะต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตและทิศทางการพัฒนาด้วยตั๋วเก่า เฮาจะฮ่วมกั๋นขับเคลื่อน ด้วยพลังแห่งปัญญาบนพื้นฐานศรัทธา ประกอบด้วยเจตนาตี้บริสุทธิ์ ปราศจากอคติตางการเมืองใดๆ เพื่อก่อฮื้อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ พร้อมทั้งส่งมอบบ้านเมืองในอนาคตตี้ดีงามหื้อกับลูกหลานอย่างภาคภูมิใจ๋ต่อไป
ด้วยความเคารพเพื่อการมีอนาคตเป็นของตัวเอง
19 มกราคม 2568”
ร่วมกับผลักดัน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ร่วมกันปลดล็อคให้เชียงใหม่จัดการตนเองได้ที่ https://cmlocalselfgov.com
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...