เมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการจัดกิจกรรม Myanmar Film Nights 2023 Chiangmai โดย เสมสิกขาลัย (SEM – Spirit in Education Movement) ณ ลานกีฬาบาสเก็ตบอล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมรับชมภาพยนตร์ของขบวนการต่อสู้เมียนมา จากหลากหลายมุมมองทั้งไทย เมียนมา โรฮิงญา วัตถุประสงค์เพื่อตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเผด็จการทหาร เพื่อเปล่งเสียงของประชาชนให้ดังยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์โดยปราศจากเขตแดนและประเทศ
นอกจากการรับชมภาพยนตร์แล้ว ยังมีร่วมเสวนาประเด็น ‘Where do we go now?’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ช่วงเสวนาประเด็น Where do we go now
ศิรดา เล่าว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้ ด้านกองทัพเมียนมาได้พยายามสถาปนาอำนาจในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่กดขี่และรุนแรง เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่ฝ่ายประชาชนกลับเลือกเส้นทางที่จะต่อสู้ต่อไปและได้มีความพยายามที่จะต่อต้านการสถาปนาอำนาจของกองทัพเมียนมา ในฝั่งของกองทัพก็ได้มีความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมทั้งภายในและระหว่างประเทศ เช่น การใช้เครื่องมือทางกฎหมาย การพยายามเจรจากับชาติพันธุ์ การแสดงให้ภายนอกเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในประเทศ ด้านประชาชนได้ต่อต้านโดยการก่อตั้ง PDF (People Defence Force) ซึ่งเป็นวิถีการต่อสู้เชิงความรุนแรง หากมองในมุมมองทางการเมืองจะเห็นว่าประชาชนไม่มีทางเลือก เราเลยต้องมีการพูดคุยว่า “เราจะมีทางเลือกใดหรือไม่ ให้กับผู้ที่ต่อสู้เเพื่อแสวงหาความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริง”
ศิวัญชลีเสนอ จากมุมมองของผู้ถูกรัฐกระทำว่า ความตระหนักเรื่องการต่อสู้เชื่อมโยงเข้าในประเทศไทยอันหนึ่งคือคนแต่ละพื้นที่มีประเด็นที่เขากำลังต่อสู้ และเราจะจินตนาการไม่ออกถึงบริบทการเมืองที่พม่าต้องเจอที่ต่างกับรัฐไทยถึงความรุนแรงที่เราเห็นในวิดีโอและสื่อต่าง ๆ และรัฐไทยยังคงมี ‘ยางอาย’ ต่อนานาชาติที่จะไม่ใช้รูปแบบความรุนแรงแบบนั้น แต่จะใช้กฎหมายเข้ามาจัดการคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ในเชิงความรุนแรง ในมุมมองของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วเมื่อรัฐไทยเริ่มใช้ความรุนแรง และเริ่มแสวงความชอบธรรมในการทำร้ายคนที่เห็นต่าง ศิวัญชลียืนยันว่าไม่ว่ากรณีใดรัฐไม่สามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ ไม่ต้องพูดถึงความชอบธรรมเลย
ศิรดาเล่าว่า “ความรุนแรง ปัญหาเรื้อรัง และรัฐไม่มีความชอบธรรม ซึ่งเป็นความจริงว่าสถาณการณ์ที่มันเกิดขึ้นสิ่งที่รัฐบาลทหารสิ่งที่กองทัพพม่าทำ ก็เรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติได้เลย เราเห็นรูปแบบของการโจมตีพลเรือนการใช้ความรุนแรงโดยใช้อาวุธของกองทัพที่พยายามสร้างความหวาดกลัวและมีผลให้พลเรือนเสียชีวิต ต่อมาในแง่ของทางอ้อมจะเห็นว่ารูปแบบว่าด้วยสถานการณ์ที่ไม่มีระเบียบในสังคมรูปแบบที่การเมืองเป็นลักษณะแบบนี้ที่ถูกแทรกแซงด้วยอำนาจของเผด็จการและประกอบกับประชาชนพร้อมที่จะต่อสู้มันจะทำให้สังคมเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ ในขณะเดียวกันบางพื้นที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวในระดับประชาชนด้วยกันเอง ปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างการเมืองระดับประเทศมันฝังรากลึก ส่งผลกระทบไปถึงระดับชุมชนให้หวาดระแวงกันเองด้วยซ้ำ”
“ปัญหาที่ฝังมาตั้งแต่การเกิดประเทศพม่าตั้งแต่การได้รับเอกราช กระบวนการสร้างและชาติของพม่านั่นมีปัญหา เรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางชาติธรรมแล้วการที่มีชาติพันธุ์พม่านำโดยกองทัพ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชไปแล้ว ได้พยายามจัดการการเมืองทุกอย่างด้วยรูปแบบ top-down และพยายามควบคุมอำนาจไปที่ศูนย์กลางผ่านเครื่องมือกฎหมายต่าง ๆ มันยิ่งตอกย้ำแผลของชาติพันธุ์อื่น ๆ ว่าเป็นชายขอบ รูปแบบการเมืองตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมามันไม่ได้แก้ปัญหาที่มีมาตั้งแต่รัฐพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ แล้วตลอดช่วงที่รัฐบาลพม่าพยายามจะสถาปนาอำนาจผ่านเครื่องมือทางกฎหมาย ทั้งการพยายามไม่ให้พูดถึงแนวคิดเรื่องสหพันธรัฐ แนวคิดการแบ่งแยกดินแดน การไม่ได้ทำตามสนธิสัญญาปางหลวง นี่เป็นจุดประวัติศาสตร์ในช่วง 1940 – 1950 ยิ่งช่วงรัฐประหารเนวินในปี 1960 ก็ยิ่งกลบไม่ให้คนจากชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้มีตัวแทนของตัวเองในระดับประเทศได้อย่างแท้จริง และทั้งเรื่องของการไม่ได้ฟังเสียงของความหลากหลายที่เกิดขึ้น ปัญหาชาติพันธุ์ก็เลยมีความสลับซับซ้อนเกิดปัญหาจนมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างที่เราได้เห็นกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าปัญหาที่ลงรากแบบนี้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร แต่ลักษณะของสงครามภายในสงครามกลางเมืองแบบนี้มันมีมาอยู่แล้วตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตั้งแต่ได้รับเอกราชในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์”
“ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามสิ่งที่เราต้องมีร่วมกันคือความเป็นมนุษย์ ลำพังความเป็นมนุษย์ก็ทำให้เราไม่ควรละทิ้งเพื่อนมนุษย์ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อหน้าต่อตาเรา”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...