อย่างที่ทราบกันดีว่าในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคการเมืองแต่ละพรรคเข็นนโยบายต่างๆออกมาประชันกันในหลากหลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่ถือว่าน่าจับตามองและมีความเข้มข้นในช่วงต้นปีแบบนี้ คงจะหนีไม่พ้นประเด็นมลพิษทางอากาศอย่างปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ในวันนี้ LANNER จะขอพาทุกคนไปสำรวจนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ออกแบบมาเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาดังกล่าวกัน
พรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกลมุ่งเน้นการกำจัดแหล่งผลิตฝุ่น PM2.5 ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากยานพาหนะ ผ่านการเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดในกรุงเทพเป็นรถใช้ไฟฟ้าใน 7 ปี, เปิดบริการเช็คสภาพรถยนต์ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีฟรี, ตั้งด่านตรวจฝุ่น, ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง และการรณรงค์การใช้บริการขนส่งมวลชนผ่าน “วันรณรงค์ลดการใช้รถส่วนบุคคล” (Car Free Day)
นอกเหนือจากการควบคุมแหล่งผลิตฝุ่นในเมืองใหญ่แล้ว ยังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับโรงงานอุตสาหกรรม, ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินและหันมาลงทุนกับพลังงานสะอาด, ลดการเผาในภาคเกษตรผ่านการให้เงินอุดหนุนสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ดีขึ้น รวมไปถึงทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในการนำซังข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวไปแปรรูป, แก้ปัญหาไฟป่าด้วยการนำเงินไปสนับสนุนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยง
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศของกลุ่มทุน ผ่านการเพิ่มมาตรฐานบรรษัทภิบาลให้เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว, ออกกฎหมายเพื่อควบคุมการรับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา, ทำการเจรจาและสร้างความร่วมมือทางการค้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีการผลิต
สุดท้าย พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายการกำหนดและติดตามค่ามาตรฐานปริมาณฝุ่น โดยกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ให้มีมาตรฐานสากลขึ้น และสร้างสถานีตรวจวัดและระบบแจ้งเตือนให้ครบทุกจังหวัด ปรับปรุงการแจ้งเตือนของรัฐให้เป็นระบบ ผ่านการใช้ระบบแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติผ่านโทรศัพท์มือถือสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
พรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยดันนโยบายปลูกป่าเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ พร้อมทั้งเข้มงวด ห้ามเผาป่า เผาไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด และของเหลือจากผลิตผลทางการเกษตรอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงยังมีนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรหมแดน ด้วยการเจรจากับมิตรประเทศ เพื่อร่วมมือกันกำจัดฝุ่นที่ต้นตอ พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีนำซากผลผลิตทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหรือพลังงาน
นอกจากนี้ยังมีนโยบายควบคุมฝุ่นควันในเมืองหลวงอย่างการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเครื่องยนต์ดีเซลในกรุงเทพฯ เป็นรถไฟฟ้า อีวีภายใน 4 ปี รวมทั้งตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงานในจังหวัดรายล้อมกรุงเทพฯ อย่างเข้มงวด
ในภาคอุตสาหกรรม พรรคเพื่อไทยดันนโยบายสนับสนุน “ธุรกิจสีเขียว” โดยเร่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงยังเสนอนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นควันโดยใช้หลักกฏหมายเป็นเครื่องมือ ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อวางโครงสร้างทางกฎหมายเพื่ออากาศสะอาดของพี่น้องประชาชน
พรรคภูมิใจไทย
พรรคภูมิใจไทยดันนโยบายการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดกรุงเทพฯ ผ่านการใช้รถเมล์ปรับอากาศพลังไฟฟ้า โดยตั้งเป้า 4,000 คันภายในปี 2566 นี้
พรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ดันนโยบายออกกฎหมาย “อากาศสะอาด” และบังคับใช้อย่างจริงจังเข้มงวด เป็นหลัก เพื่อเป็นอาวุธให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแล และแก้ปัญหา PM2.5 รวมไปถึงยังมีการผูกโยงการแก้ปัญหาฝุ่นควันเข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการดันนโยบายคาร์บอนเครดิตและธุรกิจสีเขียว
พรรคสร้างอนาคตไทย
พรรคสร้างอนาคตไทยเน้นการแก้ปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่าไม้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการพัฒนาอาชีพของผู้คนในพื้นที่ และการกระจายอำนาจการจัดการโรงไฟฟ้าทุกโรงทั่วประเทศแก่ชาวบ้านในพื้นที่
พรรคชาติไทยพัฒนา
ดันนโยบายคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ควบคุม และแก้ไขปัญหามลพิษ ผ่านการพัฒนาคุณภาพการผลิตพลังงาน รวมไปถึงการแสวงหาพลังงานทดแทนจากทรัพยาการธรรมชาติ และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืน
พรรคชาติพัฒนากล้า
พรรคชาติพัฒนากล้าเสนอวิธีแก้ปัญหาฝุ่นควันผ่านการเวรคืนผืนป่าจากการบุกรุกและแปลงสภาพป่าดั้งเดิมเป็นไร่ข้าวโพด ที่มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และการเผา ผ่านการใช้นโยบายการออกพันธบัตรป่าไม้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...