‘ระบบตรวจสอบย้อนกลับ’ แนวข้อบังคับภาคธุรกิจกับปัญหาฝุ่นข้ามแดน

ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยข้ามพรมแดน กรกนก วัฒนภูมิ ตัวแทนเครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน ETOs Watch ได้กล่าวถึงการรับมือกับปัญหานี้ ทั้งในมุมมองของภาครัฐและภาคธุรกิจ รวมถึงข้อท้าทายและแนวทางการแก้ไขที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

กรกนกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาครัฐ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์ ครม. พบว่า หากค้นหาคำว่า ‘มลพิษทางอากาศ’ ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2566 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีมติ ครม. ออกมาแล้ว 16 ครั้ง ในจำนวนนี้มีเพียง 10 ครั้ง เท่านั้นที่กล่าวถึงปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของมติดังกล่าวยังไม่เข้มข้นเพียงพอ และมาตรการส่วนใหญ่เป็นเพียงแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้จัดทำมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการตรวจสอบย้อนหลัง, การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านโดยกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์, การนำมาตรฐานตรวจสอบมลพิษมาใช้ตั้งแต่ต้นทางของภาคเกษตร เช่น การรับซื้ออ้อยเผา หรือข้าวโพด ที่เป็นสาเหตุของการเผาในประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งผลกระทบมาถึงไทย และยังจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจอีกหลายชุด เช่น คณะกรรมการอำนวยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567 โดยรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ และปลัดกระทรวง อธิบดีจากหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการ และยังมีการตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ดูแลแผนฝุ่นละออง แต่แผนฉบับที่ 2 ยังไม่ออก ทำให้มาตรการภาครัฐล่าช้า

นอกจากมาตรการที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยยังมีความร่วมมือในระดับอาเซียนและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงหลายกลไก ประกอบด้วย

ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP) มีวัตถุประสงค์ให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการภายในประเทศและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์แหล่งกำเนิดไฟป่า สาเหตุ ความรุนแรง และผลกระทบจากหมอกควัน 

Roadmap อาเซียนปลอดหมอกควัน (ASEAN Haze-Free Roadmap) มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน พัฒนา ตัวชี้วัด สำหรับติดตามปัญหา

ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ (ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม) เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน มีแผนปฏิบัติการเชียงราย ปี 2560 เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน

ยุทธศาสตร์ “ฟ้าใส” หรือ Clear Sky Strategy (CSS)  แผนงานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมาที่มีเป้าหมายเพื่อลดจุดความร้อน การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟไหม้ป่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพต่อประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการจัดตั้งสายด่วน (hotline) เพื่อประสานงานระหว่างทั้งสามประเทศ

กรกนกเสริมว่าจากข้อมูลที่ได้ยกมานี้อาจทำให้เห็นว่ามาตรการ หรือการจัดการปัญหาฝุ่นของภาครัฐนั้นอาจมีหลายระดับ แต่ถึงอย่างนั้น จากผลลัพธ์ที่ปรากฎให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ก็ชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า มาตรการเหล่านี้ช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

“มาตรการของภาครัฐมีหลายระดับ ตั้งแต่ ระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับอนุภูมิภาค โดยมีการตั้งคณะกรรมการ ออกแผน และพัฒนาตัวชี้วัด แต่คำถามสำคัญคือ มาตรการเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่? และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแค่ไหน?”

การทำงานของภาคธุรกิจ

กรกนกได้เล่าบทบาทการทำงานของภาคธุรกิจในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าภาคธุรกิจมี ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เป็นระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบ ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การแปรรูป ขนส่ง กระจายสินค้า ไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยระบบนี้ต้องสามารถย้อนกลับไปตรวจสอบทุกขั้นตอนได้ นอกจากนั้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ดำเนินการตามนโยบายการจัดซื้ออย่างยั่งยืน โดยไม่สนับสนุนการรับวัตถุดิบที่มาจากพื้นที่บุกรุกป่าและเลือกซื้อจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย 

ภาพจาก ETOs Watch Coalition 

แม้ในปัจจุบันกฎหมายไทยจะยังไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจน แต่กฎหมายระดับนานาชาติมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรง เช่น EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่กำหนดให้สินค้ากลุ่มสำคัญ 7 รายการ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ 

“เรื่องนี้ส่วนใหญ่มาจากข้อบังคับของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎหมายเข้มงวดเกี่ยวกับระบบตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีข้อกำหนดเช่นกัน แต่ของ EU ถือว่าเข้มงวดที่สุด และเป็นตลาดส่งออกหลักของเรา นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ธุรกิจต้องปฏิบัติตาม”

กรกนกกล่าถึงข้อถกเถียงที่บางฝ่ายมองว่า หากไทยตั้งกำแพงภาษีหรือไม่รับซื้อสินค้า อาจขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่อย่างไรก็ตาม กฎของ WTO ก็ยังมีข้อยกเว้น เช่น ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เธอยังอธิบายอีกว่า ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับในไทย คือการที่ ปัจจุบันยังไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายและยังขาดมาตรฐานกลางที่บังคับใช้กับทุกภาคส่วน นอกจากนั้น ธุรกิจไทยในต่างประเทศยังไม่ได้รับการกำกับดูแลที่เข้มงวด เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินใกล้ชายแดนไทย ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

“ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับในไทย คือยังเป็นระบบสมัครใจ เพราะไม่มีข้อบังคับทางกฎหมาย ทำให้แต่ละภาคเอกชนมีมาตรฐานแตกต่างกัน กฎหมายสิ่งแวดล้อมยังไม่เข้มแข็งพอ และไม่ได้ครอบคลุมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ รัฐควรออกกฎหมายและมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และทำให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ กรกนกยังมีข้อเสนอแนะว่าปัญหามลพิษทางอากาศต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการที่มีอยู่ให้มีผลบังคับใช้จริง การออกกฎหมายและมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นจะช่วยสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และทำให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็ต้องรับผิดชอบต่อแหล่งที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

“ในส่วนของ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ควรผลักภาระการพิสูจน์ไปยังภาคธุรกิจ แทนที่จะให้ประชาชนเป็นฝ่ายหาหลักฐาน นอกจากนั้น ควรมีกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ควบคู่กับ พ.ร.บ. อากาศสะอาด เพื่อให้การควบคุมมลพิษมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอเพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้จริง และทำให้ภาคธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น”

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจาก วงเสวนา PM2.5 จากท้องถิ่นถึงประเทศไทย โดย ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ, วิชชากร นวลฝั้น, ชนกนันทน์ นันตะวัน, ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์, กรกนก วัฒนภูมิ, วัชลาวลี คำบุญเรือง และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุม 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong