วิกฤติแม่น้ำกกเปลี่ยนสี ประชาชนร้องหน่วยงานหยุดผลกระทบ เหมืองทองคำในรัฐฉาน เมียนมา กมธ.ที่ดินฯ จี้รัฐเร่งตรวจสอบ

จากกรณีที่ ชาวตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 700 คน รวมตัวกันเดินขบวนรณรงค์ปกป้องแม่น้ำกกเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยในกิจกรรมมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลให้มีการปกป้องแม่น้ำกก โดยการเดินขบวนรณรงค์เพื่อต้องการส่งเสียงให้สังคมได้เห็นถึงผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำที่ส่งผลต่อชุมชน 

จันทร์แสง (นามสมมุติ) วัย 47 ปี ชาวบ้านริมแม่น้ำกก ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า แม่น้ำกกมีการเปลี่ยนสีมานานแล้วประมาณปี 2550 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในอดีตตอนที่เธอยังเด็ก น้ำแม่กกใสมากความลึก 2-3 เมตร ยังสามารถมองเห็นพื้นทรายชัดเจน แต่ปัจจุบันน้ำกลับเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น แค่ระดับเข่ายังมองไม่เห็นพื้นทราย ทำให้ชาวบ้านสงสัยตลอดว่าเกิดจากอะไร ตอนแรกคิดว่าอาจเกิดจากช่วงหน้าฝนที่ดินโคลนชะล้างลงมา แต่เมื่อสังเกตช่วงหน้าแล้ง น้ำก็ยังขุ่นเหมือนเดิม

“ในพื้นที่ก็เดากันว่า สาเหตุน่าจะมาจากการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณต้นน้ำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ส่งผลให้เกิดการชะล้างหน้าดินลงมา และจากข้อมูลที่ได้จากผู้ค้าขายที่เดินทางไปมาระหว่างชายแดน บอกว่าในพื้นที่ต้นน้ำมีเหมืองหินและเหมืองทองคำ แต่เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะเป็นเขตหวงห้าม” จันทร์แสงกล่าว

จันทร์แสงเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เธอบอกว่าที่ชาวบ้านจัดกิจกรรมขึ้นเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกโดยมีเจตนารมณ์หลักของกิจกรรมครั้งนี้คือต้องการสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อชุมชน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่แม่สายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาที่สะสมมายาวนานตั้งแต่การสร้างพนังกั้นน้ำที่เชียงรายในปี 2534 ส่งผลให้แม่น้ำกกเปลี่ยนทิศทางและตื้นเขิน บางพื้นที่ประสบปัญหาหน้าดินพังทลาย ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน และมีน้ำท่วมรุนแรงจนเกือบมิดหลังคาบ้าน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

“ทุกคนตกใจและกังวลมาก เราเลยอยากให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับรู้และดูแลจริงจัง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการพัฒนา แต่กลับได้รับผลกระทบเต็มๆ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจังเลย” จันทร์แสง กล่าว

จันทร์แสง กล่าวอีกว่า แม่น้ำกกเคยเป็นศูนย์กลางชีวิตของชุมชนชนเผ่าสองฝั่งแม่น้ำ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการดื่ม กิน อาบ และทำการเกษตร แต่ปัจจุบันน้ำขุ่นมากจนไม่สามารถใช้น้ำกกดื่มได้ ต้องใช้น้ำบาดาล นอกจากนี้ปลาขนาดใหญ่ที่เคยมีจำนวนมากก็หายไปหมด เหลือเพียงปลาตัวเล็กๆ เท่านั้น

“เมื่อก่อนนี้ปลาตัวใหญ่มาก บางตัวหนักถึง 30-60 กิโลกรัม เคยจับได้ตัวใหญ่ที่สุดคือ 75 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ช่วงสงกรานต์บางคนที่เล่นน้ำมีอาการตาแดงและผื่นคัน คนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าลงน้ำอีก ชาวบ้านชนเผ่าส่วนใหญ่ก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ชัดเจน ทำให้ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิใดๆ”

สภาพแม่น้ำกกในปัจจุบัน

องค์กรสิทธิไทใหญ่แถลงรณรงค์ปกป้องน้ำกก ต้านเหมืองทองคำในรัฐฉาน

14 มีนาคม 2568 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์รณรงค์ของชุมชนในไทย ที่ได้รับผลกระทบจาก กิจกรรมเหมืองทองคำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งก่อให้เกิด มลพิษทางน้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในไทยและเมียนมาโดยเนื้อหาระบุว่า ชาวบ้านตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 700 คน รวมตัวเดินขบวนเรียกร้องให้มีมาตรการปกป้องแม่น้ำกกเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก แต่เหมืองทองคำต้นน้ำกกในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ยังคงดำเนินการขุดตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ดินโคลนและสารเคมีจากเหมืองไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดมลพิษ กระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตชาวบ้าน ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ การเผาป่า และการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังทำลายแหล่งน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายอื่น ๆ ชาวบ้านต้องการให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้และร่วมมือกันหยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม

ภาพ: มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่

ข้อมูลจากพื้นที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 การทำเหมืองทองคำขยายตัวอย่างรวดเร็วริมแม่น้ำกกในเมืองยอน ทางตอนใต้ของอำเภอเมืองสาด รัฐฉาน พื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ส่งผลให้มลพิษทางน้ำรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2567 ซึ่งหมู่บ้านริมแม่น้ำกกทั้งฝั่งไทยและเมียนมาประสบกับโคลนและน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี

ทั้งนี้แถลงการณ์ยังเผยว่าปัจจุบันมีบริษัทจีนหลัก 4 แห่ง ที่ดำเนินการขุดเหมือง โดยใช้แรงงานชาวจีนกว่า 300 คน ขุดทองจากเนินเขาและริมฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการใช้เรือขุดทองโดยตรงในแม่น้ำกก สารตกค้างจากเหมือง เช่น ไซยาไนด์ ไหลลงสู่แม่น้ำ ส่งผลให้น้ำขุ่น ปลาหาย และชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ชาวบ้านหวังให้หน่วยงานรัฐเร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำและดำเนินมาตรการป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดน เพื่อรักษาแม่น้ำกกให้เป็นแหล่งน้ำสะอาดและแหล่งชีวิตของชุมชนต่อไป

พื้นที่การทำเหมืองทองคำบนแม่น้ำกกในเมืองยอน รัฐฉาน ที่มา มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่

หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำแม่กก หลังชาวบ้านกังวลปัญหาปนเปื้อน คาดผลวิเคราะห์ 15-30 วัน

จากกรณีดังกล่าวได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า วันที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 13.30 น. นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย ได้มอบหมายให้ นางสาวพัฒน์นภา พานมะ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง และ นายสมภพ หน่อแก้ว ปลัดหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง นำทีมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่กก หลังมีรายงานปัญหาน้ำปนเปื้อนจากการทำเหมืองทองคำบริเวณต้นน้ำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา

ภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่

หน่วยงานที่ร่วมตรวจสอบประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่), สาธารณสุขอำเภอแม่อาย, กองบังคับการควบคุมทหารพราน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3, ชุดปฏิบัติการกิจกรรมพลเรือนที่ 311 กองกำลังผาเมือง, ชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชน ที่ 3204 กอ.รมน., นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน, กำนันตำบลท่าตอน, ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 14 ตำบลท่าตอน

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ เก็บตัวอย่างน้ำจาก 3 จุดสำคัญ เพื่อนำไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน ได้แก่ 1.บริเวณชายแดนไทย-พม่า ฐานริมกก หมู่ที่ 3 ตำบลท่าตอน 2.สะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน เชื่อมระหว่างหมู่ 5 ตำบลท่าตอน และหมู่ 14 หย่อมบ้านป๊อกป่ายาง ตำบลแม่นาวาง และ 3.บริเวณหมู่ 12 บ้านผาใต้

จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนามใน พบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) และค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามมาตรฐานที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างน้ำจากทั้ง 3 จุดจะถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน

กมธ.ที่ดินฯ- สส.พรรคประชาชน เร่งรัฐตรวจสอบน้ำแม่กก หวั่นสารพิษจากเหมืองทองคำ”

ทั้งนี้ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย สมดุลย์ อุตเจริญ ส.ส.พรรคประชาชน และคณะ แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและผลกระทบข้ามพรมแดนจากการทำเหมืองทองคำ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อแม่น้ำกกและชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา

ภาพ: สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำ เนื่องจากการทำเหมืองทองคำ ตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ต้นน้ำกกของรัฐฉาน ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 7 กิโลเมตร (หรือ 12 กิโลเมตรจากสะพานแม่น้ำกก) ส่งผลให้ดินโคลนจากเหมืองทองคำไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำขุ่นข้นและอาจปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้สกัดแร่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปลาในแม่น้ำตายจำนวนมาก และชาวบ้านขาดแคลนน้ำสะอาดใช้ในการอุปโภคบริโภค

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่คือปัญหาความเป็นความตายของประชาชน เราจะปล่อยให้เหมืองทองคำสร้างความร่ำรวยให้กับคนเพียงไม่กี่คน ขณะที่ชุมชนต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงเช่นนี้ไม่ได้” นายพูนศักดิ์กล่าว

จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมาธิการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ เร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อประเมินผลกระทบต่อประชาชน พร้อมจัดส่งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมโดยด่วน นอกจากนี้ ยังเสนอให้มี มาตรการถาวร เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการปกป้องลุ่มน้ำข้ามพรมแดน และลดปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อทั้งไทยและเมียนมาในขณะนี้

นายพูนศักดิ์ยังระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบพื้นที่ลุ่มน้ำกก เป็นกรณีเร่งด่วน และยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับ ต้นน้ำแม่สาย ซึ่งอาจมีการทำเหมืองทองคำเช่นกัน จึงมีมติให้ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยขณะนี้ได้หารือกับ กรมควบคุมมลพิษ เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบและสร้างความกระจ่างให้แก่ประชาชน

“ถ้าแม่น้ำกกกลับมาใสสะอาด ชาวบ้านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะน้ำคือชีวิต เราอยากให้น้ำกกกลับมาเป็นแหล่งน้ำที่ปลอดภัยต่อทุกคนจริงๆ ค่ะ”

จันทร์แสงกล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong