จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2025 ในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ล่าสุดยังคงมีรายงานความเสียหายและผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยยอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 3,726 ราย มีผู้บาดเจ็บกว่า 5,100 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 129 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2025) ขณะเดียวกัน การเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 400 ครั้งภายใน 10 วันหลังแผ่นดินไหว รวมถึงพายุฤดูร้อนที่ตามมาในช่วงวันที่ 5 เมษายน 2025 ได้ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยิ่งเลวร้ายลง สร้างความยากลำบากในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างมาก
แม้จะมีการส่งความช่วยเหลือจากหน่วยงานระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่ง แต่การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศและการควบคุมของรัฐบาลทหารที่เริ่มขึ้นจากการรัฐประหารในปี 2021 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากยังคงไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนน้ำสะอาด ไฟฟ้า และบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
ประกาศหยุดยิง ที่ไม่ได้หยุดจริง
ข้อมูลจาก BBC รายงานว่า ท่ามกลางวิกฤติภัยพิบัติที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง กลุ่มกบฏในเมียนมาที่ต่อสู้กับกองทัพ ได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว เพื่อเปิดทางให้การช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกทางกองทัพเมียนมากลับปฏิเสธที่จะตอบรับข้อเสนอการหยุดยิงดังกล่าว กระทั่งในวันที่ 2 เมษายน 2025 กองทัพจึงได้ประกาศหยุดยิงชั่วคราวเป็นระยะเวลา 20 วัน เพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและพายุฤดูร้อน
แม้กองทัพเมียนมาจะประกาศหยุดยิงชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กลับมีรายงานจากกลุ่มกบฏกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ว่าทหารเมียนมาได้ใช้อาวุธปืนกลยิงใส่ขบวนรถบรรทุกสิ่งของบรรเทาทุกข์ของสภากาชาดจีนจำนวน 9 คัน ขณะเดินทางผ่านรัฐฉาน มุ่งหน้าไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยทางกองทัพเมียนมาออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ยิงใส่ขบวนรถโดยตรง แต่เป็นการยิงขึ้นฟ้า เนื่องจากขบวนรถไม่ยอมหยุดตามคำสั่ง ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนยันว่า เจ้าหน้าที่และสิ่งของช่วยเหลือทั้งหมดปลอดภัย พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาให้ความสำคัญกับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นหลัก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน เวลา 13:10 น. มีรายงานว่ากองทัพทหารใช้เครื่องบินเจ็ทโจมตีทิ้งระเบิด 2 ลูกที่ปั๊มน้ำมันในหมู่บ้านเยโถ๊ะ เมืองตะไบ่จิน ภูมิภาคมัณฑะเลย์ ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต 13 ราย รวมถึงเด็กเล็กอายุ 3 ขวบ และ 2 ขวบเศษ และคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของกองทัพทหารเมียนมา ที่ประกาศหยุดยิงแต่กลับไม่ได้หยุดจริงๆ
การช่วยเหลือในเมียนมาถูกจำกัดอย่างเข้มงวด
ในสถานการณ์ที่ยังคงตึงเครียดนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและกลุ่มผู้บริจาคจากภูมิภาคต่างๆ เช่น รัฐมอญ กะเหรี่ยง ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศไทย ประสบปัญหาในการนำสิ่งของช่วยเหลือเข้าพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในเมืองสะกาย เนื่องจากกองทัพทหารได้กำหนดว่า ในการช่วยเหลือจะต้องมีจดหมายแนะนำอย่างเป็นทางการ และต้องประสานกับทีมกู้ภัยของรัฐบาลทหารเท่านั้น ผู้ที่ไม่มีเอกสารหรือการอนุมัติล่วงหน้า จะไม่สามารถผ่านจุดตรวจได้ การตรวจสอบที่เข้มงวดนี้ ทำให้ของบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์นั้น ไม่สามารถส่งไปถึงผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
ทีมอาสาสมัครเพื่อนไทย-เมียนมา เปิดเผยถึงความพยายามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมาว่า ได้มีการรวบรวมสิ่งของจำเป็น โดยเฉพาะยา และของใช้บางอย่างที่หาซื้อยากในพื้นที่ เช่น มุ้ง ผ้าอนามัย ชุดชั้นในหญิง-ชาย เป็นต้น เพื่อส่งไปยังพื้นที่ประสบภัย เนื่องจากของใช้เหล่านี้ในเมียนมานั้นหาซื้อยากและแพงขึ้น แต่เนื่องจากกระบวนการขนส่งต้องใช้เวลาหลายวัน ทำให้ความช่วยเหลือบางส่วนไม่ทันต่อสถานการณ์ ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาและการเข้าถึงพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีความยากลำบากในการวางแผนการช่วยเหลือ เนื่องจากสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ในบางพื้นที่แม้จะได้รับผ้าใบกันฝนแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2-3 กลับต้องเผชิญฝนตกหนักและน้ำท่วม ทำให้ความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อาสาสมัครจึงต้องปรับตัวและวางแผนวันต่อวันเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้เราก็ต้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะพอเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือช่วงสงกรานต์ สถานการณ์มันก็เปลี่ยนไปเยอะเลย ก่อนหน้านี้กองทัพก็มีการออกนโยบายและตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเมียนมา ซึ่งหมายความว่า ใครที่จะเข้าไปช่วยต้องติดต่อผ่านรัฐบาลทหารเท่านั้น แล้วก็ต้องให้ความร่วมมือกับเขาด้วย ถ้าไม่ร่วมมือ ก็เข้าไปไม่ได้เลย”
ข้อจำกัดและความยากลำบากในการช่วยเหลือของอาสาสมัครทั้งฝั่งไทยและเมียนมา คือ ต่างต้องระมัดระวังในการให้ความช่วยเหลือ เพราะสถานการณ์ในพื้นที่นั้นยังมีความรุนแรงและข้อจำกัดของรัฐบาลทหาร นอกจากนั้นยังต้องประเมินการให้ความช่วยเหลืออย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับอย่างสูงสุด
“มันมีความท้าทายเยอะ ทั้งในแง่ของนโยบายและเงื่อนไขต่างๆ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก การให้ความช่วยเหลือไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งเงินหรือของไปจบแล้ว แต่ยังต้องระวังเรื่องความปลอดภัยในทุกขั้นตอน รวมถึงการระวังภาพถ่ายและการเผยแพร่ข้อมูล เพราะกลัวจะตกอยู่ในเงื่อนไขที่รัฐบาลทหารตั้งไว้ ถ้าไม่ทำงานร่วมกับเขา อาจจะถือว่าเป็นการผิดกฎหมายหรือผิดเงื่อนไข”
ทีมอาสาสมัครเพื่อนไทย-เมียนมา เล่าว่าในส่วนของพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ได้มีแค่เมืองมัณฑะเลย์ที่เป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเท่านั้น แต่ยังมีจุดที่ได้รับผลกระทบหนัก อย่าง “สกาย” กับ “อังวะ” และหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลอีกหลายแห่ง แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่ากับในเมือง ดังนั้น จึงต้องพยายามกระจายการช่วยเหลือให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลได้ด้วย
อีกประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ในเหตุการณ์นี้นั่นคือเรื่อง การเกณฑ์ทหาร อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงมาจากความขัดแย้งในประเทศ เพราะฉะนั้น ในการช่วยเหลือก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ด้วย
“เราต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเยาวชนอยู่เยอะ เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานในพื้นที่ เราก็ต้องระวังเรื่องการสู้รบในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการเจรจาหยุดยิงเพื่อให้การช่วยเหลือสะดวกขึ้น แต่จากที่เห็น ทหารก็ยังไม่ได้หยุดยิงจริงๆ ก็ยังมีการทิ้งบอมบ์เกิดขึ้นบ่อยขึ้น”
ทีมอาสาสมัครเพื่อนไทย-เมียนมา มองว่า การเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่เกิดเหตุก็ต้องระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้คนในพื้นที่ต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้น เช่น ต้องวางแผนให้ดีว่าในการโอนเงินไปช่วยแต่ละครั้งเพียงพอสำหรับของที่ต้องซื้อหรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการแตกต่างกันไป
นอกจากนั้นยังมองว่า การบริจาคผ่านรัฐบาลทหารไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะแม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะผ่านมาแล้วกว่า 2-3 อาทิตย์ แต่สิ่งของที่ถูกส่งผ่านรัฐบาลทหารก็ยังไม่ถูกกระจายไปถึงมือคนในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
“ถ้าเราอยากจะบริจาคให้มันถึงมือผู้รับจริงๆ คิดว่าเราอาจต้องตรวจสอบให้ดีก่อน ว่ากลุ่มที่เราเลือกจะร่วมบริจาคทำงานในพื้นที่จริงไหม เขาทำงานมานานแค่ไหน และมีคนในพื้นที่ช่วยงานด้วยหรือเปล่า ต้องแน่ใจว่ากลุ่มนั้นทำงานอย่างต่อเนื่องแล้วจริงๆ ”
ทั้งนี้ ทีมอาสาสมัครเพื่อนไทย-เมียนมา ได้ทิ้งท้ายว่า แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมาเกือบ 1 เดือน แต่สถานการณ์ก็ยังไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติหรือสร้างศูนย์กลางความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เพราะความเสียหายยังมีอยู่มาก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในสถานการณ์วิกฤตนี้ คือ การขยายเวลาหยุดยิงเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือ ที่ควรจะต้องทำให้จริงจังและเป็นจริง ไม่ใช่แค่ประกาศที่ไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
รวมช่องทางบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมาโดยไม่ผ่านรัฐบาลทหาร
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...