“เข้าซอย ผ่อเวียง” รู้ไหมมีอะไรที่ล่ามช้าง

‘ล่ามช้าง’ ชุมชนเก่าแก่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ มีเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะบนกำแพงและสถานที่สำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยเล็ก ๆ  จึงต้องอาศัยการเดินสำรวจเพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมล่ามช้างถึงเป็นชุมชนที่เมื่อมาเยือนแล้วเหมือนถูกมนต์สะกดให้หลงเข้าไปในดินแดนที่เต็มเสนห์ของชุมชนแห่งนี้

แล้วรู้ไหมว่าที่นี้มีอะไรซ่อนอยู่? 

เราเลยถือโอกาสพาทุกคนมารู้จักกับ ‘ชุมชนล่ามช้าง’ ให้มากขึ้นผ่านกิจกรรม ‘เข้าซอย ผ่อเวียง’ 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรม ‘เข้าซอย ผ่อเวียง’ ชวนคนมาร่วมเดินสำรวจตามซอกตรอกซอยรอบเมือง ชมวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ชุมชน ที่ซ่อนอยู่ตามซอกซอยเมืองเก่า เป็นสะพานเชื่อมความรู้ความเข้าใจพหุวัฒนธรรมของเมืองมากขึ้นระหว่างผู้คนและพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ (คูเมืองชั้นใน)  ชุมชนล่ามช้าง , ชุมชนเชียงมั่น โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีการพาลงสัมผัสชุมชนผ่านการลงพื้นที่เดินสำรวจ โดย วรงค์ วงศ์ลังกา คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ   เดือย-พชร อยู่สุข เลขานุการชุมชนล่ามช้าง ณ ชุมชนล่ามช้าง, ชุมชนเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่

การเดินสำรวจชุมชนในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมเมือง “เมืองมีชีวิต” เป็นที่มาของโครงการในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยกลุ่ม Klang Wang Commotion ที่ต้องการนำเสนอมุมมองของเมืองในมิติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปลุกพลังเพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ที่สามารถโอบรับนักท่องเที่ยวได้ในเวลาเดียวกัน

การสำรวจชุมชนในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยที่วรงค์พาสำรวจเมืองผ่านการเล่าเรื่องราวของต้นไม้เก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวเชียงใหม่มาเนิ่นนาน ณ วัดล่ามช้าง ชวนสังเกตอุโมงค์ต้นศรีมหาโพธิ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธจึงนิยมปลูกเรื่อยมา ต้นโพนิยมปลูกกระจายอยู่ตามวัดต่าง ๆ รอบเมืองแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาของเมืองมาอย่างยาวนาน ซึ่งในเชียงใหม่สามารถพบเจอได้ด้วยกัน 4 แห่งคือ  วัดล่ามช้าง วัดเชียงมั่น วัดพระเจ้าเม็งราย วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์

วัดเชียงมั่น  หมุดหมายแรกของพญาเม็งรายวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ โดยเล่าเรื่องต้นไม้ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ล้านนา เราจะเห็นต้นไม้เก่าแก่ของวัด อาทิเช่น ต้นสาเก ต้นลีลาวดี (ลั่นทม) ต้นมะขาม ต้นหว้า ต้นมะเกี๋ยง ต้นสมอไทย ต้นประดู่

เมื่อเริ่มเดินลึกเข้ามาตามซอยเล็ก ๆ  เราจะพบกับบ้านดั้งเดิมของคนในชุมชน ที่มีต้นไม้ใหญ่แฝงไปด้วยความเชื่อควบรวมกับความผูกพันของเจ้าของบ้าน อาทิเช่น ต้นมะขามยักษ์ ต้นไทร ต้นดีปลี ต้นพระยาสันตบัน (ต้นตีนเป็ด)  วรงค์ ได้ยกตัวอย่าง ต้นกระดังงาไทย   ที่คนล้านนานิยมปลูกไว้ริมรั้ว ตามความเชื่อในการเคารพการมีอยู่ของทรัพยากรเพื่อใช้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาบ้าน

พืชอีกหนึ่งชนิดที่มีความสำคัญคือ ต้นผักเฮือด (ผักฮี้) ขนาดใหญ่อายุเกือบ 80 ปี  ในบริเวณโรงแรมศรีภัทร เป็นไม้ยืนต้นสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน หรือเรียกได้ว่าเป็นไม้หมายเมืองตามตำนานของจังหวัดเชียงใหม่ จึงนิยมปลูกตามบ้านเพราะเป็นผักที่ชาวเชียงใหม่นิยมนำมาทำอาหาร เช่น แกงผักเฮือด ยำผักเฮือด 

ผู้ประกอบการโรงแรมศรีภัทร เล่าว่า “ต้นไม้เป็นส่วนนึงของคนในชุมชน” ปัจจุบันนี้ชุมชนเมืองกลายเป็นชุมชนธุรกิจ จึงต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจดำรงต่อไปได้โดยที่ไม่มองแค่รายได้เพียงอย่างเดียวเพราะเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงไป ตามยุคสมัยพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ไว้ 

เพื่อรู้จักชุมชนล่ามช้างให้มากขึ้นกิจกรรมได้นำพาผู้เข้าร่วมพามาอยู่ใจกลางกาดเก่าแก่อายุราว 100 ปี  กาดมิ่งเมือง   ที่ได้รวบรวมวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายช่วงวัยเอาไว้ และเป็นกาดแห่งเดียวในเขตคูเมืองที่ยังคงอนุรักษ์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ สังเกตได้จากลักษณะเสา 2 แบบ คือแบบต่อเติมและแบบดั้งเดิมที่ต่อเติมอย่างเร่งรีบเพื่อรองรับความเจริญอย่างรวดเร็วของกาด ซึ่งความน่าสนใจคือปัจจุบันไม่สามารถทำโครงสร้างแบบนี้ได้อีกแล้วเนื่องจากข้อจำกัดด้าน พ.ร.บ. ป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542 ทำให้การแต่งและเติมไม่สามารถดำเนินการได้

ถัดมาได้มีการนำผู้เข้าร่วมมาที่ กาดกองเก่า ตลาดเก่าที่เผยให้เห็นถึง ‘อารยะธรรมล่ามช้าง’ อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของย่านนี้ เป็นแหล่งรวมความหลากหลากทางศิลปะร่วมสมัยผสมกับวิถีดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างลงตัว นำเสนอผ่านอาหาร เสื้อผ้า งานฝีมือ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างในชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ 

พชร อยู่สุข เลขานุการชุมชนล่ามช้าง พาสำรวจโรงแรมตีฆ้องที่ตนเป็นเจ้าของ ที่ตนต้องรื้อโรงจอดรถหน้าโรงแรมทั้งหมดและปลูกพื้นที่หญ้าที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งสาเหตุที่ตนต้องรื้อนั้นมาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเชียงใหม่ พ.ศ. 2555 ที่กลายเป็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการเชียงใหม่ในเขตเมืองเก่าที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมต่าง ๆ ต้องมีบริเวณพื้นที่สีเขียว 30% กล่าวคือ ต้องมีพื้นที่หญ้าจริง ดินจริง สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องยอมลงทุนทำพื้นที่สีเขียวขึ้นมาใหม่ แต่บางแห่งก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพเนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ขณะนี้มีการหารือร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อหาทางออกและเสนอละเว้นเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองเก่าและสถานประกอบการเก่าที่ดำเนินกิจการมาก่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

การเดินทำให้หลายสิ่งช้าลง และเมื่อเราเดินช้าลงก็จะสังเกตสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น

กิจกรรมเข้าซอย ผ่อเวียง ในครั้งนี้ ปิดท้ายที่วัดเชียงมั่น วัดที่มีเจดีย์อันเป็นต้นแบบของวัดเจดีย์หลวงที่เรารู้จักกัน โดยให้ผู้เข้าร่วมพากันสะท้อนความคิดภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรมเดินชมเมืองว่า เมืองเชียงใหม่ถูกออกแบบสำหรับการเดินแต่ปัจจุบันมันถูกกลืนหายไป เพราะฉะนั้นแล้วการกลับมาให้ความสำคัญกับเส้นทางเล็ก ๆ เหล่านี้ ชุมชนก็จะถูกดึงกลับมาให้ความสำคัญดังเดิม ซึ่งส่วนใหญ่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเดินชมเมืองครั้งนี้ได้สร้างแรงผลักดันในการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเมืองให้สมบูรณ์แบบและเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ถนน ทางเท้า เสาไฟ ท่อระบายน้ำ ที่ยังต้องได้รับการปรับปรุง ที่สำคัญคือการได้รู้ถึงความผูกพันกันระหว่างคนกับต้นไม้ว่ามีความสำคัญต่อวิถีชุมชนอย่างไร  รวมถึงเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ เพื่อมองเมืองเก่าได้อย่างลึกซึ้งผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์และความเป็นมาของต้นไม้เก่าแก่ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเพราะแค่เพียงเรารู้จักต้นไม้นั่นก็เป็นการมอบคุณค่าให้ต้นไม้กลับไปเช่นเดียวกัน

เด็กฝึกงานจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มาเรียนในจังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์ทุกปี และขอทายว่าถึงแม้จะเรียนจบแล้วค่าฝุ่นก็ไม่น่าลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง