ไผบ่ม่วน ฮาม่วน: “ธาดา” จากวันที่เร่งวอลลุ่มเท่ากับมาสเตอร์ ถึงวันที่อยากเติบโตไปพร้อมกัน

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

ทา-ดา แปลว่า ผู้สร้างสรรค์ ด้วยความหมายที่เหมาะเหม็งขนาดนี้เลยไม่แปลกที่ “ตี๋” และ “ออมสิน” จะหยิบไปตั้งเป็นชื่อวงดนตรีโฟล์กซองของตัวเอง ‘ธาดา’ หนึ่งในศิลปินที่อยู่ในช่วงที่ซีนดนตรีโฟล์กห้อมล้อมตลาดเพลงไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 จนถึงวันนี้ ที่สำคัญคือตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาธาดาเองก็เหมือนไม่เคยห่างหายไปไหน เพราะมีผลงานเพลงเข็นออกมาให้แฟน ๆ ได้ฟังอยู่ตลอด แถมยังฮิตติดหูมากมาย

แม้ว่าปลายปีที่แล้วแฟนเพลงของธาดาจะรู้ว่า ตี๋จะต้องไปรับราชการทหาร แต่เมื่อไม่นานมานี้ธาดาเองก็เพลงปล่อยเพลงใหม่อย่าง “น้ำท่วมโลก” ให้ได้ฟัง แม้แนวดนตรีออกจะแปลกหูแปลกกลิ่นไปเล็กน้อยแต่ก็ป็อปจับใจไม่มีเปลี่ยน

จากซ้ายไปขวา ตี๋-ปฏิพล ประกอบการ, ออมสิน-พัชรพล นามไพร และ เขม-เตชินท์ อินทรชิต

และในโอกาสที่ตี๋ลาพักผ่อนประจำปีพอดิบพอดี ‘ไผบ่ม่วน ฮาม่วน’ เลยถือโอกาสนั่งพูดคุยกับทั้ง 3 สมาชิก ตี๋-ปฏิพล ประกอบการ ร้องนำ-กีตาร์, ออมสิน-พัชรพล นามไพร กีตาร์ และ เขม-เตชินท์ อินทรชิต คีย์บอร์ด ตั้งแต่ช่วงของการก่อตั้งวงลากมาถึงตอนนี้ และแวบ ๆ แลมองอนาคตอีกสักนิด

รู้จักกันได้ยังไง

ออมสิน: ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นเพื่อนของเพื่อนกันอีกที ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดผมกับตี๋ เจอกันที่คณะสถาปัตย์ เทคโนตีนดอย (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่) พอคุยกันแล้วก็รู้สึกถูกคอเลยทันที คุยกันแบบว่าลึกซึ้งมาก ตั้งแต่เรื่องเพลงยันเรื่องการเมืองเลย รู้สึกว่าน่าจะเป็นที่เคมีมันตรง แต่เมื่อก่อนไม่ได้มีแค่ตี๋นะ มันมีเพื่อนอีกคนด้วย แต่ตอนนี้กลับไปอยู่ที่แม่สอด (จ.ตาก) แล้ว พอกลับแม่สอดไปแล้วก็เหลือผมกับตี๋ 2 คน ทำเพลงแบบฟีลหนุ่มน้อยกำลังมีไฟแล้วเตรียมตัวดัง (ฮา) ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยังเด็กอยู่มากเลยพอทำเพลงก็คิดว่าจะต้องดังอะไรประมาณนั้นเลย

ตี๋:  ประมาณช่วง 2559-2560 ครับผม ตอนนั้นผมอ่ะเรียนปี 1 แล้วออมสินเรียนปี 2  คือแรก ๆ ผมทำเพลงลง SoundCloud ตอนนั้นก็อัดเพลงด้วยไมค์ราคาถูกเลย ไมค์จีนไรงี้ แล้วก็คุยกับเพื่อนอีกคนชื่อ “พูน” ที่บอกว่าไปอยู่แม่สอดนี่แหละว่าแบบเฮ้ย! เราก็ฟังเพลงในแอพฯ ฟังใจ (Fungjai) แล้วฟังใจก็เหมือนเป็นที่ที่เอาเพลงไปโยน ๆ ได้ ถามหาเพลงได้ และน่าจะมีคนฟัง

ผมก็เริ่มแต่งเพลงลงฟังใจนี่แหละครับใช้ชื่อ Ptee แล้วก็มาเจอออมสินหลังจากนั้นเลยครับ แล้วตอนนั้นออมสินเขาก็ทำเพลงเหมือนกันลงฟังใจ ลง SoundCloud เหมือนกัน

ออมสิน: รู้สึกเหมือนเพี้ยน ๆ เนาะเราด้วยความที่ฟังใจเป็นแพลตฟอร์มใหม่แล้วผมกับตี๋ก็เริ่มได้รับความนิยม มีคนฟังเพลงที่เราทำ แต่ว่าของตี๋เนี่ยก็จะฟังง่ายกว่าย่อยง่ายกว่า แต่ผมทำเพลงแนว Instrumental แนว Experimental อะไรแบบนี้ เป็นซาวด์กีตาร์อย่างเดียวไม่มีเนื้อ ทีนี้ทำไปสักพักก็คิดว่าไม่ทำแล้วดีกว่าชื่อมันหยาบเกิน 

ชื่อไร?

ออมสิน: “KuyAom” เหมือนช่วงนั้นเพื่อนในคณะชอบเรียกแบบนี้เวลาเรียกออมปกติไม่หันต้องเรียกชื่อนี้ แอบดูซื่อบื้อนะเหมือนชื่อคิดไม่ค่อยออก แล้วตอนนั้นเราก็ไปร้านแจ่มเจริญ ไปนั่งคุยกันจริงจังนี่แหละว่าถ้าเราจะตั้งชื่อวงเนี่ยเราควรจะตั้งชื่อวงว่าอะไรดี ตอนนั้นก็มีหลาย ๆ ชื่อเข้ามา แต่เหมือนตอนแรกชื่อที่ผมจะเลือกน่าจะชื่อ Sick My Duck มั้งที่ผมเลือก (ฮา) แต่ผมก็มองว่าชื่อแบบนี้มันไม่ได้เหมาะกับการเป็นวงโฟล์ก

รู้ใจกันเลยไหมว่าจะตั้งวงที่เป็นวงโฟล์ก?

ตี๋: ตอนนั้นยังไม่รู้ครับตอนนั้นยังไม่รู้จัก Genres ของเพลงเลย แต่ด้วยความที่เรามีกัน 2 คน ที่ผมเองก็มีแนวทางในการทำเพลงที่มันย่อยง่ายฟังย่อยกับออมสินที่ถนัดการทำเพลง Instrument อยู่แล้ว แล้วรู้สึกว่าแค่เอามาชนกันแค่นี้เลย แต่พอเอากีตาร์ไฟฟ้ามาใส่ในเพลงก็ไม่ขนาดนั้นก็ดูเหมือนเป็นโฟล์กมากกว่า

ออมสิน: ส่วนชื่อที่ 2 ที่ผมอยากได้ก็คือชื่อว่า “ไม่ได้ทำเพื่อการกุศล” ที่จริงชื่อหลังนี้จะเป็นชื่อวงนะ แม้ตอนหลังจะกลายเป็นชื่ออัลบั้มชุดแรก ตี๋บอกชอบมาก คือกูมาเอาตังค์อย่างเดียวมาเพื่อเงินอย่างเดียวอะไรแบบนี้

ตี๋: เราทำเพลงเราก็ควรที่จะได้เงินใช่ไหม ซึ่งเอาจริงพูดแบบไม่โลกสวยมันก็คือเรื่องจริงเพราะศิลปินยังไงก็ต้องขับเคลื่อนชีวิตด้วยเงิน ถ้าเราทำเพลงทำอะไรแบบนี้แล้วมันไม่ได้อะไรเลยเราไปหมักหมูดีกว่าไหมให้มันเข้าเนื้อมันยังดูได้อะไรมากกว่า(ฮา)

ผมคิดอย่างนี้เลย เหมือนเป็นส่วนผสมกันระหว่างพาณิชย์กับการสนอง Need ตัวเอง แต่ทีนี้ชื่อนี้มันอาจจะไม่เข้ากับธีมของวงก็เลยเปลี่ยนวิธีเลือกโดยการไปสุ่มใน Google เลย ตอนนั้นเสิร์ชไปว่าชื่อมงคล แล้วเลื่อนไปเลื่อนมาก็ไปเจอชื่อ “ธาดา” นี่แหละ เราเข้าไปดูความหมายของมัน แปลว่า “ผู้สร้างสรรค์” อ่านแล้วมันก็ดูเข้ากันดีก็เลยเลือกชื่อธาดาเป็นชื่อวง

ช่วงนั้นซีนดนตรีเชียงใหม่หรือในไทยมันเป็นยังไงบ้าง

ออมสิน: ถ้าเป็นซีนดนตรีที่ชัดที่สุดน่าจะเป็นแนว ๆ Acoustic เป็นโฟล์ก นี่แหละเพลงพี่โจ้ (เขียนไขและวานิช) อะไรแบบนี้แต่ว่าเอาเข้าจริงแล้วในช่วงที่ผมเริ่มทำเพลงกันน่ะผมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ากระแสหลักของเพลงมันคืออะไรกันแน่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพลงอินดี้เป็นยังไง ช่วงนั้นรู้สึกว่ามันมีหลาย ๆ อย่างทับถมกันเต็มไปหมดมีทั้งอินดี้มีทั้งเพลงกระแสหลักแล้วเราก็แยกไม่ออกว่า 2 อย่างนี้มันต่างกันยังไงเราไม่รู้ จนกระทั่งได้ยินเพลงพี่โจ้นี่แหละ

ตี๋: ตอนนั้นก็จะเป็นเพลงพี่โจ้ พี่เล (สุขเสมอ) มี Selina and Sirinya อะไรแบบนี้ แต่โดยรวม ๆ แล้ววัยรุ่นเชียงใหม่ที่ฟังเพลงแนวนี้ก็จะฟังเพลงของแก๊งนี้ แล้วทำไปทำมาเขาก็บูมขึ้นมาดังขึ้นมา เราก็ติดสอยห้อยตามเขาไปด้วย

แต่ถ้าพูดถึงซีนดนตรีสำหรับผมเนี่ย ผมมองว่าซีนอินดี้มันมาค่อนข้างเยอะเลยในช่วงนั้น Desktop error วง Inspirative พวกวง Post-Rock อ่ะ ก่อนหน้านั้นซีนเพลงในเชียงใหม่เป็นแบบนี้เลยนะ มี Solitude Is Bliss อะไรอย่างนี้ช่วงนั้นก็จะสนุกมาก แล้วพอเวลาผ่านไปซีนแบบนี้มันเริ่มกลายมาเป็น Acoustic แทน เป็นเพลงโฟล์คแนวพร่ำเพ้อพรรณนาถึงธรรมชาติ สายลม แสงแดดประมาณนี้ ซึ่งเราก็ชอบฟีลนี้เหมือนกันเพราะรู้สึกว่าเราก็อยู่ใกล้กับสภาพแวดล้อมที่มันเป็นแบบในซีนเพลงพวกนั้นด้วย ถ้าเราจะขึ้นดอยมันก็ง่ายแค่เราอยู่ตีนดอยเอง ก็เลยรู้สึกอิน

ออมสิน: แล้วอีกอย่างผมมองว่าเพลงแนว Acoustic พวกโฟล์กมันเป็นเพลงแนว Storyteller แล้วตี๋ก็เขียนออกมาเป็นภาพได้ชัดเจนมาก

คิดแบบสถาปัตย์ว่างั้นเหอะ

ตี๋: ผมไม่แน่ใจเหมือนกันแต่ผมเรียนสถาปัตย์ตอน ปวช. มามันก็เหมือนกับว่าเราสามารถเห็นภาพในหัวขึ้นมาได้ตลอดเวลา ไม่ได้เห็นเป็นก้อนความรู้สึกเท่าไหร่ ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้นคือมองเป็นภาพขึ้นมาแล้วพัฒนามันออกมาเป็นเพลง ผมรู้สึกว่าผมไม่ค่อยได้ใช้ความรู้สึกกับเพลงเท่าไหร่แต่จะใช้ภาพมากกว่า ผมจะไม่ค่อยถอดความรู้สึกออกมาแต่จะถอดภาพออกมามากกว่า เอาง่าย ๆ เลยคือเวลาเราเขียนเป็นตัวหนังสือเนี่ยมันจะเห็น MV อยู่ในหัวเลย มันจะไม่เป็นอารมณ์แบบอกหักแล้วค่อยพัฒนาความรู้สึกออกมาเป็นเพลง มองมันเป็นโครงสร้างเหมือนออกแบบบ้านไรงี้

พอเริ่มฟอร์มวงกันแล้วทำเพลงกันเลยไหม?

ออมสิน: ทำเลยครับ ตอนนั้นมันก็ออกมาเป็นเพลง “ปลายฝนต้นหนาวที่เพอร์เฟคพอจะตกหลุมรักใครซักคน” แรงบันดาลใจมาจากแฟนเก่าเลย ตอนแรกก็เขียนเพลงไป แบบไม่มีทำนองแต่พอเขียนเสร็จปุ๊บก็รู้สึกว่ามันเป็นเพลงจีบสาวดี ๆ เลยนี่นา ก็ส่งให้ตี๋ไปขยายต่อ

ตี๋: คือพอได้บทนั้นของออมสินมาผมเอามาขยาย ขยายเสร็จปุ๊บก็ใส่ทำนองตรงนั้นเลยเริ่มจาก Progression ง่าย ๆ ใช้คอร์ดเอาง่ายไว้ก่อน ไปอัดเพลงที่บ้านออมสิน คือบ้านผมมันไม่มีอะไรเลยนอกจากคอมพิวเตอร์กับไมค์จีนอ่ะครับ(ฮา) แล้วก็ยกคอมกับไมค์ไปนั่นแหละ ที่นี้จะอัดกีต้าร์ยังไง เพราะตอนนั้นไม่มี Interface เลยใช้เอฟเฟคกีตาร์ Direct เข้าคอมพ์ เสียงมันก็เลยจะป๋องแป๋งฟังไม่ได้ดีเท่าไหร่

จำได้ว่าเพลงนั้นไม่ได้มิกซ์เสียงด้วย แล้วตอนนั้นก็คิดว่าเพราะแล้วนะ ตอนนั้นก็แค่ตัดเสียงทำสปอร์ตทำในโปรแกรม Adobe Audition ไอ้โปรแกรมสีเขียว ๆ อ่ะ ทำแบบโง่ ๆ ถูไถไปนั้นแหละ ทีนี้พอได้ไฟล์มาปุ๊บก็ไปเร่งวอลลุ่มให้มันดังขึ้นเท่ากับมาสเตอร์ (ฮา) เสียงดังเท่ากับดี (ฮา) ด้วยความที่ตอนนั้นเราอายุแค่ 20-21 เองอ่ะ แล้วเราไม่มีความรู้ด้วยก็ทำมันไปแบบนั้นแหละ ทีนี้เราต้องลง YouTube แล้วก็เลยเอารูปตัวเองมาเป็นรูปปก แล้วก็ต้องมีฟอนต์เหลือง คือถ้าจะอินดี้จริงก็ต้องมี Font เหลือง อัพเพลงเสร็จก็ช่วยกันแชร์ จำได้แม่นเลยว่าคนที่แชร์คนแรก ๆ นี่คือพี่ชา (สุพิชา เทศดรุณ) นี่แหละ

กระแสเป็นไง?

ตี๋: ก็เรื่อย ๆ เหมือนแบบว่าทุกคนก็มาให้กำลังใจกันเข้ามาฟัง แล้วมันก็ขึ้นเติบโตเร็วมากตอนนั้นสำหรับผมอ่ะนะ เหมือนจะไปถูก Taste ใครหลาย ๆ คนด้วย ส่วนเรื่องชื่อเพลงผมก็ไปถามแฟนเก่านี่แหละครับแล้วเขาก็ส่งมาให้ผมก็เลยเลือกชื่อนี้เลย คนก็เริ่มรู้จักเราเยอะขึ้น ตอนแรกเขาไม่รู้หรอกว่าธาดาคือใครเพราะเพลงโฟล์กบนปกเพลงมันไม่ค่อยมีรูปศิลปิน แล้วเราก็เอาเพลงลง YouTube SoundCloud กับฟังใจพวก Streaming นี่ก็คือไม่มีตัดออกไปเลย เพราะเราลงไม่เป็น

พอมีเพลงแรกแล้วก็เริ่มทำเพิ่มอีก 2 เพลงก็รวมกันก็กลายเป็น 3 เพลง พอครบ 4 เพลงเราถึงเริ่มไป Perform แต่ครั้งแรกก็คือกากมากตอนนั้นไปเล่นที่ร้านแจ่มเจริญ เป็นร้านที่บ่มเพาะดนตรีอะไรพวกนี้แหละ พอเล่นก็รู้เลยว่าค่อนข้างแย่เลย ตอนนั้นรู้สึกเฟลจัด ๆ ด้วยความที่เป็นการ On Stage ครั้งแรกก็เลยทำอะไรผิดพลาดไปหมด สั่นมาก ๆ แล้วหลังจากนั้นก็ได้เล่นบ่อยขึ้นมันก็สบายขึ้นนิดนึง ทีนี้ก็เหมือนได้กระโดดข้ามสเต็ปไปเลยคือได้ไปเล่นกับ พี่นที (นที ศรีดอกไม้) พี่ราม (เอกศักดิ์ ชานาง) Selina and Sirinya ตอนนั้นเขามาทัวร์ Gathering in the Glen ที่เชียงใหม่ แล้วเปิดให้วงในพื้นที่ส่งผลงานเข้าไป ถ้าได้คัดเลือกจะได้เล่นเปิดในงาน สรุปได้เฉย

ขอคั่นนิด ชวนเขมมาได้ยังไง

เขม: ตอนนั้นคือไม่รู้อะไรเลยจำได้ว่าตอนนั้นผมเล่นคีย์บอร์ดให้ พี่ เรืองฤทธิ์ บุญรอด ก่อน เราก็เลยตัดสินใจทำโฮมสตูดิโอแล้วตี๋ก็เลยมาใช้สตูดิโอของเราทำอัลบั้ม ทำอัลบั้มแรกเลยที่ชื่อว่าไม่ได้ทำเพื่อการกุศล ก็มาอัดที่นี่แหละครับแล้วก็ยาวเลย พอได้ปล่อยเพลงแรกแล้วพี่ชาก็ชวนไปเล่น Gathering in the Glen

ออมสิน: ผมยังงงอยู่เลย แต่ก่อนผมเคยเล่นที่ร้านเดียวกันกับพี่เขมครับ เล่นด้วยกันเฉย ๆ แต่ก็งงลืมไปแล้วว่าอยู่ดี ๆ ไปโผล่ที่บ้านพี่เขมได้ยังไง แต่ก็เห็นเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำเพลงเขาไปอัดเพลงทำเพลงบ้านพี่เขมกัน แล้วเราก็ได้ไป ๆ มา ๆ อยู่บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยชวนตี๋ไปอัดเพลงที่บ้านพี่เขม ก็เลยรู้จักพี่เขมเลย ละชวนมาทำวงเลย

เขม: Gathering in the Glen นี่แหละ ๆ งานแรกที่ธาดาได้ Perform 3 คนพร้อมกัน

เล่นงาน Gathering in the Glen นี่มั่นใจขึ้นเลยไหม

ตี๋: ประหม่าเหมือนเดิม แต่ก็ได้ภาพได้ Follower เข้ามาเพิ่มมากขึ้น คือคนก็รู้จักเราแล้วเพลงมันอยู่ใน Genres เดียวกัน คนก็ตาม ๆ กันเข้ามา เริ่มได้เล่นบ่อยขึ้น แถมคนก็เริ่มมีภาพจำเกี่ยวกับวงเรามากขึ้น แล้วมันก็มีหลาย ๆ เพลงที่ปล่อยออกมา เช่น ตุลาปีที่แล้วฉัน(เคย)มีเธอ, นก หรือเพลงแบบฝากฟากฟ้า ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้วงเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นอีก

แล้วพอมันได้ 7-8 เพลงแล้วเราก็เริ่มทำซีดีกันเอง บางแผ่นเล่นไม่ได้ด้วยซ้ำส่งไปให้พี่บูมเดี่ยว (เอกภาพ ป้านภูมิ) พี่บูมบอกเพลงเพราะมากเลย “เงียบกริบ” ด้วยความที่ครั้งแรกเราไม่รู้ว่าเขาทำกันยังไงผมก็เลยไปให้ร้านเขาไรท์แผ่นซีดีให้แผ่นละ 4 บาท 100 แผ่นอะไรแบบนี้ก็รวมเป็น 400 บาทแล้วก็เอามาตัดเองใส่ซองเองแล้วขายแผ่นละ 150 บาท แล้วก็ขายได้หมดเลยทั้ง 100 แผ่น แล้วเราก็ทำ copy เพิ่มอีก 2-3 รอบ สดจริง หลังจากทำแบบสด ๆ ไปแบบนั้น พี่ชาแกคงเอ็นดูมั้ง พี่ชาถามว่ามันจะเอาไปลง Streaming ไหม แกก็จัดการให้เสร็จสับ ประสานให้หมดเลย หลังจากนั้นก็เริ่มมีรายได้จากเพลง มีคนฟังแบบสม่ำเสมอ

โชว์มันเริ่มถี่ขึ้นไหม ออกทัวร์ต่างจังหวัดกันไหม

ออมสิน: ตอนนั้นติดลมเลยครับด้วยความที่เราได้เล่นสดบ่อยขึ้น แล้วมันก็มีภาพจำประหลาด ๆ ด้วยมั้งว่าเราเป็นวงโฟล์กสายตลกเฮฮา ตลกบริโภค คือตบมุขแบบชงมากูตบงี้ อย่างไอ้ตี๋เนี่ยมันเป็นตัวตบมุกเลยนะ ส่วนพี่เขมนั่งเงียบกริบ(ฮา) เคยจะปั้นพี่เขมแล้วนะ แต่ปั้นไม่ขึ้น เป็นตัวงง แล้วเขางงว่า ฮะ! เกิดอะไรขึ้น งั้นก็ขายความเงียบไปเถอะ แล้วด้วยความที่ตอนนั้นเรายังอายุน้อยด้วยนะโชว์ทีก็ลามปามไปเรื่อย มันล้น จนเรื้อนไปเลย แซะคนนั้นแซวคนนี้ การเมืองก็พูด คือเอาหมดเลยตอนนั้น

ตี๋: สำหรับผมอ่ะช่วงนั้นที่ได้เริ่มออกไปทัวร์ รู้สึกว่าเรามี Energy สูงมีความมั่นใจสูงขึ้น ว่าแบบมาดิกูสู้ได้หมดอ่ะ เรื่องดนตรีตอนนั้นเรามั่นใจมากว่าเราทำมาเยอะแล้วมีประสบการณ์เยอะแล้วก็เลยมีความมั่นใจมาก

คิดว่าวงประสบความสำเร็จไหมตอนนั้น

ตี๋: ผมว่ามัน Success ในระดับหนึ่งมันมีฐานคนฟังที่มั่นคง แต่ก็คิดเหมือนกันว่าอยากให้มัน Advance กว่านี้ แต่มันก็จบเลยนะ เพราะหลังจากนั้นโควิดระบาดก็เงียบกริบเลยช่วงนั้น แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นก็ผ่านมันมาได้แบบทุลักทุเล กลับมาโชว์ได้ก็ยังมีคนมาต่อแถวรอถ่ายรูปกับเราแล้วแถวยาวมาก คือยืนถ่ายรูปกันเป็นชั่วโมงกว่าจะหมดแถวอ่ะ มันก็เลยเริ่มเหลิงเริ่มส่งเสริมให้เรามีความมั่นใจ เหมือนคนดูเป็นกำลังใจเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากไปต่อ เราเลยต้องทำเพลง ทำเพลง ทำเพลงต่อ แบบว่าไม่อยากหายไป ไม่อยากให้คนฟังรอฟังนาน ๆ

มีทะเลาะกันบ้างไหม

ตี๋: มีครับ มีเรื่องที่ผิดใจกันบ้าง แต่ก็ทำงานกันได้นะ แต่ก็คือตึง ๆ กันเลย คือเข้าสตูฯ ก็คือเหมือนเข้ามาเพื่ออัดเฉย ๆ อัดเสร็จแล้วก็แยก ไม่คุยกัน เข้าใจป่ะ หลัง ๆ เริ่มส่งไฟล์ข้ามกันไปมา เริ่มไม่มองหน้ากันแล้วเพราะปกติเราต้องมารวมตัวกันนะเวลาทำเพลง เหมือน Work from home กันเลยล้ำหน้าก่อนโควิดอีก ตอนก่อนดังคือรักกันชิบหายแต่พอดังปุ๊บเงียบกริบ (ฮา) แต่พอผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้วมันก็คลี่คลายไปหมด

ตี๋-ปฏิพล ประกอบการ

ด้วยความที่เป็นศิลปินอยู่ต่างจังหวัดเนี่ยเห็นความยากง่ายยังไงบ้าง

ออมสิน: ผมว่าไม่ใช่แค่นักดนตรีครับแต่ศิลปินทุกรูปแบบเลยพอเราอยู่ต่างจังหวัดพื้นที่ที่จะโชว์มันน้อยครับ แต่สำหรับตัวศิลปินที่จะคิดงานขึ้นมาเนี่ยมันไม่ได้ยากอะไรหรอกครับเพราะว่าเชียงใหม่ก็เป็นเมือง Creative อยู่แล้วแต่ปัญหาก็คือมันไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยของ แล้วด้วยความที่ศิลปินในเชียงใหม่มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันพื้นที่รองรับก็น้อยแบบน้อยชิบหาย พูดจริงนะทุกวันนี้ก็เหมือนกับว่าเอกชนเป็นคนขับเคลื่อนกันเองทั้งนั้นเลยครับที่ทำกันในเชียงใหม่

ตี๋: และมันไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีที่จะเจอฐานคนฟัง อย่างธาดาต้องยอมรับว่าเราอยู่ในจังหวะที่มันพอดี ซีนดนตรีตอนตั้งวงมันลงตัวไปหมด แต่นั่นแหละมันไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแบบนั้น มันก็เลยขาดพื้นที่แสดงออกของคนที่เขามีของอะไรแบบนี้ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะครับเพราะว่าไม่อย่างนั้นคนก็คงไม่มุ่งหน้าเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ กันหรอกครับ

เขม: ที่ผมเจอมาก็คือบางวงเขาก็มาทำแล้วก็ขายไม่ออกครับ ไม่มีโชว์ ไม่มีงาน พื้นที่มันน้อยและยังไม่กว้างพอให้เราได้มีทางเลือกในการปล่อยของ

ออมสิน: ผมว่าเราขาดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เครือข่ายที่มันเอื้อให้เราเข้าถึงทรัพยากรมันมีจำกัดเกินไป มันน้อย แต่ก็นับถือคนที่ยังทำมันอยู่นะครับ อย่างเรื่องการตลาดเนี่ย ศิลปินทำเองไม่เป็นหรอกมันต้องมีคนมาสอน มี Workshop 

ตี๋: ผมเห็นด้วยกับออมสิน เพราะว่าผมมองว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสามารถในการทำ Marketing ให้ตัวเองได้แล้วก็จริง ๆ แล้วมันมีหลายองค์ประกอบในการทำเพลงถ้าเกิดว่าต้องการจะอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีจริง ๆ ผมว่าศิลปินในเชียงใหม่ยังจำเป็นต้องได้รับการ Support เรื่องพวกนี้ให้มากกว่านี้นะครับ คืออย่างผมเองก็ยังต้องไปถามหาคนที่รู้เลยว่า การทำ MV การทำการตลาดทำยังไง มันไม่มีใครสอนอ่ะ มันไม่มีผู้รู้มาบอกให้คนตัวเล็กสามารถเอาไปใช้จริงเอาไปทำจริงได้ มันขาดการแบ่งปันความรู้ เราไม่อยากเห็นศิลปินที่ต้องดิ้นรนจนสุดท้ายต้องถอยกันอีกแล้ว

แล้วก่อนที่จะปล่อยซิงเกิลน้ำท่วมโลกไปทำอะไรกันมาบ้าง?

ตี๋: ติดทหารครับ!!! ที่ออกมาสัมภาษณ์ได้ก็ช่วงลาพอดีนี่แหละครับ

ออมสิน: ตอนรู้เรื่องว่ามันจะเข้ากรมผมก็ไม่ได้ไปส่งมันนะ เพราะผมจะร้องไห้ แบบว่าไม่ได้เจอกันอีก 2 ปี แต่สุดท้ายก็ทนไม่ไหวเลยขับรถไปหา เจอแม่ตี๋แล้วผมก็เลยถามแม่ตี๋ว่าตี๋ไปหรือยังครับ แม่ตี๋เลยบอกว่าอ๋ออีกสักพักนึงเลย เพราะมันเป็นผลัดสอง

ออมสิน-พัชรพล นามไพร

ตี๋: ก่อนจะไปเลยทิ้งท้าย เอาเพลงที่มีอยู่มารวม ๆ กัน ทำเป็นอัลบั้ม Goodbye,hello แล้วก็มีการจัดคอนเสิร์ตที่ลาไปทหารด้วยที่กรุงเทพฯ กับที่เชียงใหม่

ออมสิน: พอไอ้ตี๋ไปแล้ว ผมก็ทำอีกวงชื่อวง Something Sweet ด้วย 

เขม: ผมก็มีงานอัดบันทึกเสียงมาเรื่อย ๆ ครับ เป็นอัดเพลงอย่างเดียวเลยครับ เราก็มีเล่นให้วงอื่น ๆ ก็คือมีงานเรื่อย ๆ

ในค่ายมีคนรู้จักธาดาไหมครับตี๋

ตี๋: มี ๆ 3-4 คนที่เขามาบอกว่าหน้าผมคุ้น ๆ นะ ผมก็เลยบอกเขาไปว่าทำเพลงอยู่ธาดา เขาก็เลยบอกว่า เฮ้ย! เคยฟัง เพลงธาดาเนี่ย

แล้วน้ำท่วมโลกมายังไง

ตี๋: คือผมก็ฟังเพลงหลากหลายมากขึ้นอะไรอย่างนี้แล้วเหมือนมันมีบาง Mood ที่มันสามารถหยิบเอามาใช้กับเพลงธาดาได้ใน Period ใหม่ในบริบทใหม่ คือเราอยากทำให้มันฟังง่ายเข้าถึงคนได้มากขึ้น ให้มันป็อปขึ้น อยากเอาความชอบของเรามาใส่เพิ่ม แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็น Acoustic  แบบที่เป็นนะ เพียงแต่อยากต่อยอดและหาความเป็นไปได้ใหม่เพิ่มเติม สำหรับธาดาผมคิดว่ามันเป็นความสร้างสรรค์ของวงที่จะใส่อะไรไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบแบบไหน แค่ชั่งน้ำหนักให้ดีว่าไม่ให้มันล้นไม่ให้มันหายอะไรแบบนี้

ที่สำคัญเลยเพลงน้ำท่วมโลกเนี่ยเป็นเพลงแรกที่ผมเขียนทำนองขึ้นมาก่อน เพราะปกติเนี่ยผมต้องมานั่งจี้ตัวเองก่อนว่าต้องเขียนประโยคออกมาประมาณนี้นะเนื้อหาประมาณนี้นะ แต่อันนี้คือโล่ง ๆ เลยก็คือมีแค่กีตาร์ 1 ตัวแล้วก็ลองเล่นไปเรื่อย ๆ ฮัมไปมั่ว ๆ เป็นภาษาอังกฤษด้วยนะ ก่อนที่จะเคาะจนลงตัวเป็นแบบที่ทุกคนได้ฟัง เนื้อหาในเพลงพูดถึงการพาตัวเองออกไปจากความเศร้า ลึก ๆ ก็แบบว่ามาเถอะออกมาข้างนอกออกมาใช้ชีวิตกันบ้าง ออกมาสนุกกันหน่อย

มีอะไรบ้างที่อยากทำในปีนี้

ตี๋: คืออยากทำงานที่คุณภาพดีกว่านี้ขึ้นไปอีก ยังจะปล่อยเพลงอีกเรื่อย ๆ ส่วนอัลบั้มไม่ต้องรอเพราะขอปลดทหารก่อน และก็การวางแผนเรื่องการเงินด้วย อันนี้สำคัญมากเลย แบบว่ารายได้ที่เราได้รับมาเราก็จะมีการแบ่งเข้ามาที่วงด้วย เพื่อใช้ในการต่อยอดผลงานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าด้วยความที่เป็นวงอิสระไม่ได้สังกัดกับใครเลยก็ต้องดีดดิ้นหาความรู้หาทางออกกันไป

ขอถามเขมเพิ่มนิดหน่อย ในฐานะที่โตที่สุดในวง เห็นการเติบโตของตี๋กับออมสินหรือธาดายังไงบ้าง

เขม-เตชินท์ อินทรชิต 

เขม: ผมเห็นธาดาตั้งแต่เริ่มทำเพลงแรกเลยนะ เห็นความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการอยู่ตลอด คือเป็นวงที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องของโปรดักชั่น การทำเพลง และการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อ่ะครับ มองดูตอนนี้ก็ถือว่าโตขึ้นมาก ๆ  และผมเองก็โตไปพร้อมกับน้อง ๆ ไปพร้อมกับธาดานี่แหละ ถ้าถามว่าเห็นธาดาเติบโตไปยังไง มันแข็งแรงขึ้นมากแล้วนะ พร้อมบวกอ่ะครับ 

คำถามสุดท้ายแล้ว ฝากผลงานกันหน่อย

ตี๋: ยังไงก็ฝากผลงานด้วยเลยแล้วกัน อยากแมสแล้ว(ฮา)

ออมสิน: ฝากด้วย ๆ ตอนนี้ผมก็ทำ Something Sweet ฝากวงด้วยเลยละกัน

เขม: ไม่ค่อยได้พูดแต่ก็ขอฝากด้วย ผมกำลังทำเพลงแนว Ambient ชื่อว่า Techinfolk เป็นงานตัวเองทำคนเดียวครับแล้วก็มีวง Mary James ที่กำลังทำเพลงกัน ละก็วงเบื๊อกเพิ่งปล่อยเพลงแม่ดาวประดับใจและก็จะปล่อยเพลงใหม่อีกเร็ว ๆ นี้ แล้วก็ฝากคณะสุเทพการบันเทิงด้วยครับ แล้วก็ที่สำคัญฝาก Studio ของผมด้วย Greenhouse Studio แวะมาอัดเพลงได้ครับ พูดน้อยแต่เน้นมาขายของ

ตี๋: ผมฝากวงอีกวงนึงครับวงชื่อ Yoh ครับ งานเดี่ยวเน้นฮิปฮอปผสมป็อปไรงี้

ออมสิน: ฝากร้านก๋วยเตี๋ยวไพฑูรย์ตรงข้ามราชภัฎเชียงใหม่ด้วย แต่ขออย่างเดียวขอให้กินที่ร้านครับถ้าเกิดว่าเอากลับบ้านบูดแน่นอน

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง