เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ
อาจจะกล่าวได้ว่าสถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นต้องเผชิญกับปัญหาในหลายด้าน ปัญหาหนึ่งที่เด็กไทยเผชิญมาตลอดคือการขาดความคิดสร้างสรรค์ถูกห้ามถูกคิดจินตนาการไปไกลกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยม ข้อมูลจาก การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2565 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยว่าประเทศไทยได้คะแนนการคิดสร้างสรรค์ อยู่ที่อันดับที่ 54 จาก 64 ประเทศ และมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศ OECD นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสถิติที่สะท้อนว่าเราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหรือไม่?
แต่ในหมู่บ้านทุ่งยาว หมู่บ้านที่ห้อมล้อมไปด้วยป่าไม้ในตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีสถานที่ในชื่อ สวนศิลป์บินสิ Films Farm School ซุกซ่อนอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ และความยั่งยืน เติบโตไปด้วยกัน กับการทำงานเรื่องการศึกษานอกระบบไปพร้อมๆ กับการทำกับอาสาสมัครนานาชาติและ Filmmaker ของ เนาว์-เสาวนีย์ สังขาระ ผู้ที่ชีวิตติดปีกอยู่กับการเดินทางและเป็นอาสาสมัครในหลายประเทศ ก่อนกลับมาปรับวิธีคิดเปลี่ยนมุมมองในความเชื่อที่ว่าการอยู่กับที่ก็เป็นการเดินทางอย่างหนึ่ง
ในวันที่เราเดินทางไปพูดคุยที่สวนศิลป์บินสิ เราเห็นอาสาสมัครต่างชาติกำลังลงแรงทำอาคารเล็กๆ กันอย่างขะมักเขม้น ซึ่งเนาว์บอกว่าสิ่งที่อาสาสมัครกำลังทำอยู่คือ New Chapter ใหม่ที่พัฒนามาจากความใฝ่ฝันและบทเรียน 10 ปีเต็มของสวนศิลป์บินสิ นั่นคือ ‘โรงเรียนบินสิ’
ถ้ามีคนมาถามว่าคุณว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ จะตอบว่ายังไง 🙂
ตอนนี้คงนิยามได้อยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการทำงานด้านการศึกษา เราสนใจเรื่องการศึกษาทางเลือก เนื่องจากเราได้รับผลกระทบทางจิตใจ (Trauma) เรื่องการศึกษาตั้งแต่เด็ก เพราะการศึกษามันทำลายความคิดสร้างสรรค์เราเลยค้นหาการศึกษาทางเลือกมาโดยตลอด
ย้อนไปในวัยเด็กเราชอบศิลปะมากชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ขอแชร์เรื่องนึงสมัยเรียนตอนนั้นอยู่ประถม 5 เรารู้ว่าการวาดภาพอย่างไรมันจะชนะการประกวด ต้องวาดแบบไหนใส่สีแบบไหน แต่เราไม่ชอบการเอาชนะเพราะมันทำให้เราหยุดจินตนาการและคิดแต่ในกรอบ เราเลยวาดใบไม้สีม่วงไปส่งครู ครูบอกเราว่าใบไม้สีม่วงไม่มีจริง เราร้องไห้และไม่วาดรูปอีกเลย มันเห็นชัดเลยว่าการศึกษามันฆ่าจินตนาการมาตลอด เราก็เลยแสวงหาการศึกษาที่เราอยากเห็น เราหาไม่เจอในเมืองไทย พอ 10-20 ปีต่อมาเรามีโอกาสไปเรียนเมืองนอก เราดันไปเจอใบไม้สีม่วงจริงๆ จินตนาการในวัยเด็กของเรามันมีจริง
อีกส่วนเป็น Filmmaker เป็นคนทำสารคดี เพราะเราชอบเดินทางชอบบันทึกชีวิตและเรื่องราวของผู้คน ตอนเด็กๆ พ่อให้กล้องเรามาตัวหนึ่งก่อนไปทัศนศึกษา กล้องมันทำให้เราอยากไปโรงเรียน เพราะพ่อพูดกับเราว่า “กล้องมันเครื่องมือที่เก็บเรื่องราวในการเดินทาง” ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็พกกล้องไปโรงเรียนตลอดเวลา ดูมีอภิสิทธิ์มาก (ฮา) การถือกล้องตัวหนึ่งมันพบเห็นเรื่องราวและชีวิตของผู้คน ความชอบทั้งสองอย่างมันจึงมาบรรจบกัน สนใจเรื่องการศึกษาทางเลือก ตอนทำสารคดีก็สนใจเอาประเด็นนี้มาทำ มันเลยเกี่ยวโยงกันเรื่อยมา
แต่เราไม่ได้เรียน Filmmaker หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกันเลย เราเรียนด้านภาษา ที่ มศว. (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เรียนจบเราขอ Gap Year เลยเพราะเราเรียนเพียงเอาใบปริญญาไปให้ที่บ้าน เพราะลึกๆ เราอยากเรียนด้านศิลปะ แต่ภาพใบไม้สีม่วงมันตามหลอกหลอนเราอยู่โดยตลอด มันฆ่าจินตนาการของเรา มันวนอยู่ในชีวิตเรานานมาก
ฟังดูเหมือนเป็นนักเดินทางที่ร่อนเร่ไม่อยู่กับที่เลย
เรามีโอกาสไปอเมริกา ที่ๆ เราได้ไปเจอใบไม้สีม่วงนั่นแหละ เราไปโรงเรียนทางเลือกที่เราสามารถออกแบบและสร้างหลักสูตรเองได้ หาครูเองได้ มหัศจรรย์สุดๆ แต่ตอนนั้นเราอยากเป็น Filmmaker เลยไปเรียนต่อด้านนี้ที่ประเทศแคนาดา พอเราไปเรียนเขาก็ยื่นกล้องให้เลย แล้วเอามาฉายแบบเดินพรมแดงไรอย่างงั้น หลังจากนั้นเลยมีความฝันว่าอยากเดินทางโดยใช้กล้องทำสารคดีเรื่องการศึกษารอบโลก แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปนะ เพราะเรากลับมาไทยก่อน ตอนนั้นไฟแรงอยากใช้ความรู้ที่มีอยู่มาทำประโยชน์เลยไปสอนหนังสือในโรงเรียนทางเลือกที่สังขละบุรี (จังหวัดกาญจนบุรี) ที่ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนไทยเมียนมา เราก็ไปสอนเด็กเมียนมาในเรื่องของจินตนาการ แต่มีเด็กคนนึงพูดกับเราว่า
“พี่สอนหนูให้จินตนาการไม่ได้หรอก ท้องหนูยังหิวอยู่ ตอนนี้ไม่มีข้าวจะกินจะจินตนาการได้ยังไง”
พอเราได้มาทำตรงนี้ ก็ค้นพบเลยว่าการศึกษานอกระบบมันมีความหลากหลายมันเป็นเรื่องลักษณะพิเศษลงไปอีก การศึกษานอกระบบในอเมริกามันเป็นโลกอีกแบบ ความหิวมันทำให้เด็กที่เราสอนมันยังจินตนาการไม่ได้ เราเลยออกเดินทางอีกครั้งไปหาโรงเรียนทางเลือกอีกหลายๆ แบบ เลยตัดสินใจไปอินเดียเพราะมันคล้ายกับสิ่งที่เราทำคือการอยากเป็น Filmmaker เกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก
ตอนแรกที่ไปใช้ชีวิตในอินเดียเราอยากเข้าไปหาการศึกษาทางเลือกก่อนเพื่อจะได้พบเจอคนหลายกลุ่ม เพราะในอเมริกา ในโลกตะวันตกโรงเรียนทางเลือกมันเหมาะกับชนชั้นกลาง ส่วนในอินเดียโรงเรียนทางเลือกมันคือสำหรับชนชั้นจัณฑาล (ชนชั้นที่ต่ำที่สุดในประเทศอินเดีย) เราก็ไปศึกษาว่าเขามีการศึกษายังไงการเรียนการสอนแบบไหน เราก็ไปเรียนรู้ก็เห็นวิธีการใน Empower การสร้างอาชีพและการแก้ปัญหาครอบครัว หลายอย่างมันเพลิดเพลินมากเลยอยู่ยาวถึง 4 ปีเลยทั้งๆ ที่ตอนแรกจะอยู่แค่เดือนเดียว แต่สุดท้ายกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวเดินทางรอบโลกเพราะมีความคิดว่าถ้าไปอินเดียได้แล้วก็ไปเดินทางรอบโลกได้แล้วนะ
แล้วสวนศิลป์บินสิ! มาได้ยังไง อะไรคือ Films-Farm-School แล้วทำไมต้องที่จังหวัดลำพูน
ตอนนั้นเราคิดว่าจะเดินทางไปรอบโลก ก็เลยกลับบ้านมาเตรียมตัวทำวีซ่าเรียบร้อยพร้อมเดินทางไปรอบโลก กลับพบว่าพ่อป่วยเป็นมะเร็งเลยตัดสินใจดูแลพ่อก่อน ตอนนั้นเราตกใจและร้องไห้เลย ไม่รู้มาก่อนว่าทำไมพ่อถึงเป็นมะเร็ง ก็ค้นพบว่าวิถีชีวิตและอากาศในกรุงเทพฯ มันไม่เอื้ออำนวยในการใช้ชีวิต เลยตัดสินใจย้ายที่อยู่ตอนแรกก็หาไปทั่วเลยนะแต่สุดท้ายก็มาเจอที่ลำพูนเพราะเป็นเมืองเล็กที่เราชอบและอีกอย่างที่เราชอบมากคือชุมชนที่เราอยู่เขามี “ป่าชุมชน” ที่อายุร้อยกว่าปี (บ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน) เรามองว่ามันมีโอโซนที่ดี เราเชื่อว่าชุมชนปลอดภัย ช่วยกันดูแลป่า มันเหมาะที่ตั้งรกรากใหม่ในการดูแลครอบครัวและเอื้อต่อการเรียนรู้ เราเลยอยากจะทำ Film-Farm-School มันก็ต่อยอดจนมาเป็นสวนศิลป์บินสิ! เราทำฟิล์มและมันเหมาะต่อการทำฟาร์มที่เรารู้จักสิ่งที่เรากิน ที่มันเกี่ยวกับ Well-being เพราะเราจะต้องช่วยพ่อที่ป่วยให้หายให้ได้
ทีนี้รูปแบบการเดินทางของเรามันเปลี่ยนไปแล้วจากการเดินทางไปที่อื่นไปข้างนอกกลายเป็น การเปลี่ยนการอยู่กับที่ให้เป็นการเดินทาง เราจึงทำที่นี่ให้เป็นโรงเรียนทางเลือกให้คนเดินทางมาหาเรา เมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2557) เราเปิดรับสมัครอาสาสมัครหลากหลายสาขาอาชีพและอายุมีหลากหลายแบบมาก พ่อแม่มาเห็นเขาบอกกับเราว่าเราบ้าแล้ว (ฮา) เพราะตอนแรกเขาไม่ยอมย้ายเพราะเมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ (สวนศิลป์บินสิ) มีแต่ป่ามีแต่สวนลำไย จะอยู่ได้ยังไง
ตอนแรกเราก็เปิดคอร์สรับอาสาสมัครมาประมาณ 20 กว่าคน และคนก็ทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายคนที่มาเป็นอาสาสมัครเรียนจบปริญญาเอกเป็นด็อกเตอร์ เป็นโน่นนี่นั่นหลากหลายมาก เราก็พาพ่อแม่มาดูว่านี่เราไม่ได้บ้าคนเดียวนะ มันมีชุมชนมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบเหมือนกัน พ่อแม่ก็เลยเริ่มทำความเข้าใจ ตอนแรกเขาก็มาดูก่อนว่าจะรักษาที่ไหนยังไง มาพบว่าโรงพยาบาลที่ลำพูนหมอใส่ใจและใกล้ชิดกว่า พยาบาลเรียกเขาว่า ‘พ่อแม่’ เขาก็เริ่มใจอ่อนเลยถามย้ำกับเราอีกรอบว่าจะมาอยู่ที่นี่ตลอดไปจริงไหมไม่ใช่ว่าทำแล้วหนีไปต่างประเทศอีกนะ เราก็ยืนยันว่าเราจะปักหลักอยู่ที่นี่ สุดท้ายก็ขายบ้านที่กรุงเทพฯ และย้ายมาอยู่ที่ลำพูน
แล้วคนชุมชนตกใจไหม ว่ามาทำอะไร
ช่วงแรกที่เรามาอยู่ในชุมชนเราพยายามเข้าหาชุมชนไปเป็นอาสาสมัครในโรงเรียน ไปช่วยงานชุมชนพวกงานบวช งานแต่ง งานศพ แต่เราฟังคำเมืองไม่รู้เรื่องเพราะเราเป็นคนกรุงเทพฯ เราเลยปรับวิธีการเข้าหาชุมชนโดยการช่วยซัพพอร์ตงานต่างๆ แทนด้วยการนำน้ำเย็นๆ ไปตั้งให้คนในชุมชนดื่มหลังจากเสร็จงานที่ใช้แรงแบกหามในชุมชน และเราก็ไปช่วยถ่ายภาพงานในชุมชน อีกอย่างก็คือการพาอาสาสมัครที่มาเรียนรู้กับเราลงไปทำกิจกรรมในชุมชน
มีช่วงหนึ่งเราไปเป็นครูอาสาในศูนย์เด็กเล็กเราไปสอนเด็กๆ โดยพยายามให้ครูเห็นว่าการสอนก็ทำให้มีชีวิตชีวาได้ด้วยวิธีการเรียนรู้ผ่านการเล่น เช่น ไปเรียนรู้เรื่องต้นไม้ในชุมชน หรือไปร่วมโครงการกับโรงพยาบาลให้เด็กได้ไปเรียนรู้ปัญหาในโรงพยาบาลอย่างปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ให้เด็กเข้าไปช่วยล้างห้องน้ำเพราะโรงพยาบาลมีพนักงานทำความสะอาดไม่เพียงพอ พาเด็กไปเล่นดนตรีและศิลปะให้คนไข้ ครูที่สอนในโรงเรียนเลยเห็นว่ามันสนุกขึ้น อีกอย่างเราไม่ได้แค่พาเด็กไปเล่นอย่างเดียวแต่เราให้เด็กสะท้อนภายหลังการเล่นให้เห็นว่าการเล่นมันได้อะไรนอกจากความสนุก
แล้วอย่างระบบอาสาสมัครมีไอเดียมาจากไหน
ด้วยความที่เราเคยเป็นอาสาสมัครอยู่แล้วสมัยที่เดินทางไปต่างประเทศ ทำให้เห็นโลกอีกมุมหนึ่งไม่ใช่แบบนักท่องเที่ยว มันเป็นรูปแบบการเดินทางอีกแบบหนึ่งเราได้รู้จักชีวิตของผู้คนจริงๆ เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คนอยู่กับโลกของตัวเองมากขึ้น เราเลยเปิดรับอาสาสมัครนานาชาติรับสมัครเป็นการเปิดโลกมากขึ้น เราก็ไปเชื่อมกับแพลตฟอร์มอาสาสมัครหลายแพลตฟอร์มเลยแต่แพลตฟอร์มที่เหมาะกับเรามากที่สุดก็คือ Worldpackers เพราะค่อนข้างเป็นคนหนุ่มสาวที่ชอบผจญภัยและมีพลังงานที่แมทช์กับเรา
ด้วยความที่เราเปิดรับอาสาสมัครที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาเขาเก่งภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำร่วมกันกับชุมชนก็คือการเปิดสมัครสอนภาษาอังกฤษในหมู่บ้าน ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะสอนแค่เด็กๆ ในชุมชน แต่ผ่านไปแป๊บเดี๋ยวไม่ถึงวัน คนสมัครมาเยอะมากทั้งผู้ใหญ่และเด็กในชุมชน เราเลยเปิดการสอนภาษาเป็นสองแบบทั้งแบบเด็กและผู้ใหญ่
อีกอย่างอาสาสมัครนานาชาติที่มาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปิดโลกกว้าง ส่วนใหญ่ก็จะมาใช้ความรู้ความสามารถที่เขามีมาปรับใช้ในการทำงานในสวนศิลป์บินสิ อย่าง สถาปนิกก็มาออกแบบโรงเรียนให้ หรือบางคนก็เป็นนักพัฒนาเกมหรือจะพูดอีกแบบคือกิจกรรมนี้มันเอาไว้สำหรับคนหมดไฟในการทำงานหรือคนที่เหนื่อยกับโลกของการทำงาน การที่เรารับอาสาสมัครเข้ามาจึงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง เขาให้ความรู้กับเรา เราก็มีที่พักมีอาหารแลก ได้รู้จักชีวิตของกันและกันจริงๆ
ความ Filmmaker ยังอยู่ไหม หรือแค่ทำสวนศิลป์บินสิ! ก็กินเวลาไปเยอะแล้ว
สามปีแรกที่เราอยู่ในจังหวัดลำพูนเราพับปีกเรื่องการเดินทางรอบโลกไปเลย เพราะเราต้องดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งแต่หลังจากพ่อมาอยู่ลำพูนได้ 3 ปี พ่อก็หายจากมะเร็ง หมอบอกไม่ต้องมาแล้วหมอเบื่อแล้ว เราจึงกลับทำตามความฝันในการเป็น Filmmaker อีกครั้ง เราเอา Project ไปเสนอ Thai PBS เขาก็ให้ทุนมาทำ ชื่อรายการบินสิ เป็นรายการสารคดีเดินทางรอบโลกพูดเรื่องการศึกษาทางเลือก แต่ทำได้ไม่เท่าไหร่น่าจะเกือบๆ 2 ปี โควิดระบาดเราก็ทำต่อไม่ได้ ตอนนั้นเงินหมดพอดีบวกกับเราไม่มีเวลามากพอ ก็เลยจบไป แต่มันยังอยู่ในเนื้อในตัวนั่นแหละ ก็มีช่องในยูทูปเล็ก ๆ ของตัวเองชื่อว่า Binsi และก็มีไอเดียว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเราก็อยากทำหนังนะเพราะมันคือความฝันของ Filmmaker
ตอนนี้ก็คือทำสวนศิลป์บินสิ! เต็มเวลาเลย
หลักๆ ตอนนี้ก็ทำสวนศิลป์ฯ เพราะถึงจุดหนึ่งเรามีความรู้สึกว่าอยากจะเป็น Filmmaker อยากทำหนัง แต่บางครั้งชีวิตมันมีอะไรสำคัญกว่า โรงเรียนสำคัญกว่า พ่อสำคัญกว่า หมาสำคัญกว่า เราจึงค่อยๆ ทำให้ดีไปทีละอย่างมันจะงดงามกว่า เลยตั้งใจว่าเราอยากทำพื้นที่เรียนรู้ตรงนี้ให้เสร็จ เราพยายามถอดบทเรียน 10 ปีที่ผ่านมาในเรื่องการเปิดสวนศิลป์บินสิ ให้เป็น New Chapter อีกโปรเจคหนึ่งคือ ‘โรงเรียนบินสิ’
โรงเรียนบินสิ! คืออะไร?
สวนศิลป์บินสิ! ปีนี้มาถึงปีที่ 10 เราทำเวิร์คช็อปไปแล้วกว่า 300-400 ครั้ง คนมาเข้าร่วมก็หลายพันคน มันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และความยั่งยืนมันเติบโตด้วยกันได้เราก็เห็นความเป็นไปได้หลายอย่างในการสร้างการเรียนรู้มันสร้างให้มีชีวิตชีวา มันคือพื้นที่สำหรับคนต่างเพศต่างวัยเป็นพื้นที่นอกโรงเรียนที่ไม่มีขอบ เป็นการสร้างการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตเพราะที่สวนศิลป์ฯ เราไม่ได้ให้คำตอบให้กับเขา แต่เราให้เขาสะท้อน-ประมวล-ทบทวนชีวิตของตัวเขาเอง เพราะเรามองว่า 10 ปีนี้มันตกตระกอนว่าสามารถเป็นหลักสูตรได้
โรงเรียนบินสิ!
โรงเรียนบินสิ ! เราวาดหวังว่ามันจะเป็นโรงเรียนที่ผู้เรียนสามารถออกแบบทางเลือกของชีวิต มีความอิสระในทางเลือกของชีวิตให้รู้จักตัวเองรู้จักชุมชน ด้วยความที่เราเดินทางไปเห็นโรงเรียนทางเลือกหลายแบบจึงเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าเราต้องทำแล้วแหละ ในปัจจุบันเราเห็นอะไรหลายอย่างที่เป็นปัญหาของระบบการศึกษาที่สร้างปัญหาต่อเด็กเยอะมากจะเห็นว่าโอกาสของเด็กสมัยนี้มันก็น้อยลง เราเห็นเด็กนักเรียนที่เป็นโรคซึมเศร้าจากการสังคมมากขึ้่น เราเลยอยากทำโรงเรียนที่มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น เพราะในประเทศไทยเด็กไม่ค่อยเห็นว่ามันมีการเรียนทางเลือกมากเท่าไหร่ การเรียนรู้ทางเลือกส่วนใหญ่ในไทยมีต้นทุนที่สูงเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จึงมีราคาแพง หรือออกมาในรูปแบบของการทำธุรกิจ หรือพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือการการเยียวยาแต่ส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่ของชนชั้นกลาง แต่เรื่องการศึกษาของคนชายขอบนั้นกลับน้อยลงหรือแทบจะไม่มีเลย
โรงเรียนบินสิ! ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนก่อสร้างมาแล้วเกือบ 1 ปี ก็มีอาสาสมัครที่เป็นสถาปนิกมาช่วยออกแบบแล้วหลายคน เราวางแผนว่าจะเปิดทำการในปี 2568 ช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม แต่ก็ยังมีความความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอยู่ที่เราจะเห็นได้จากในปัจจุบันว่าเด็กอยู่ในสังคมยากมากขึ้น เด็กถูกผูกขาดในมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจกันเยอะมากขึ้น รวมไปถึงมิติในแง่ของจิตใจที่เราจะเห็นว่าเด็กเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะมาก รวมไปถึงสังคมที่ขัดแย้งกันหนักมากทั้งเรื่องการเมืองที่แบ่งเป็นหลายฝั่ง รวมไปถึง Climate Disruption เรื่องมลพิษ เรื่องอากาศที่แย่ลงอย่างมาก
สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่โรงเรียนบินสิ! อยากให้เด็กเห็น เข้าใจ และรู้สึก โรงเรียนนี้จะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ แต่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เด็กสามารถตั้งคำถามสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวโดยไม่เพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น คำตอบเป็นสิ่งที่เด็กต้องหาเองโรงเรียนบินสิ! เป็นเพียงเครื่องมือในการช่วยให้เด็กหาคำตอบผ่านการตั้งคำถาม เพราะเราอยากสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เด็กเห็นว่าใบไม้สีม่วงมีจริง
“ฉันเชื่อในสิ่งที่ฉันเห็น ใครไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่ฉันเห็นใบไม้สีม่วง”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...