“ช่วงที่น้องขายของออนไลน์ มีผู้ชายมาขอเล่นชู้ด้วย แต่น้องปฏิเสธ เพราะน้องมีแฟนอยู่แล้ว ผู้ชายคนนั้นเลยไปแจ้ง 112 ทำให้น้องถูกจับ”
ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก วุฒิชัย พากดวงใจ ที่กล่าวถึงเรื่องราวการถูกฟ้อง 112 ของ ‘พรพิมล’ แม่ค้าขายของออนไลน์วัย 22 ปี ที่ถูกกล่าวหาโดยทีฆทัศน์ว่าได้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาใส่ความรัชกาลที่ 10 บนเฟซบุ๊กส่วนตัวจนถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
พรพิมล เป็นคนลำปางที่มาอาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ เพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เธอได้ทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยการขายเสื้อผ้าออนไลน์ โดยในช่วงที่ขายดีที่สุดเธอมีกำไรจากการขายของต่อเดือนสูงถึง 30,000 – 40,000 บาท จากแม่ค้าอนาคตไกลแต่ชีวิตของเธอก็ต้องพลิกผัน เมื่อถูกฟ้องด้วย ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจาก สภ.ช้างเผือก เข้าจับกุม ‘พรพิมล’ แม่ค้าขายของออนไลน์วัย 22 ปี จากหอพักแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ” นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังแสดงหมายค้นเพื่อเข้าตรวจค้นห้องพัก และได้ยึดโทรศัพท์มือถือรวมถึงไอแพดของพรพิมลไว้ด้วย
พรพิมลถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของ สภ.ช้างเผือก และถูกพนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) วันที่ 1 เม.ย. 2564 แม้พรพิมลจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งยินยอมให้เข้าถึงโทรศัพท์มือถือและไอแพดที่ถูกยึดไว้ เพื่อยืนยันว่าเธอไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา แต่สุดท้ายในคดีนี้พรพิมลก็ได้ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นเวลา 23 วัน และยังถูกคัดค้านการประกันตัวถึงสองครั้ง ท้ายที่สุดก็ได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในเวลาต่อมา
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง
พรพิมลได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อประชาไทว่า เธอหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและไม่เหลือความไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องความปลอดภัย รวมถึงมองไม่เห็นโอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิมในประเทศไทย การลี้ภัยไปยังประเทศอื่น จึงเป็นทางออกที่เธอเชื่อว่าจะช่วยให้เธอได้เยียวยาบาดแผลในใจและเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
“ในตอนนี้ที่กำลังจะได้เริ่มชีวิตใหม่ หนูไม่คิดหวังว่าจะได้กลับไทย และหนูก็ไม่อยากกลับไทยเลย มีสิ่งเดียวที่ไทยที่หนูคิดถึงมากๆ คือ ครอบครัวของหนู ถ้ามีหน้าที่การงานที่มั่นคง หนูอยากเอาเขามาอยู่ด้วย หนูรู้สึกโดดเดี่ยวตั้งแต่เล็กจนโต การออกมาอยู่แบบนี้มันไม่ใช่ความรู้สึกใหม่ หนูชิน หนูย้ายออกจากบ้านมาอยู่หอพักตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4 แล้วพอจบม.6 ก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ส่วนจะให้กลับไปไทย หนูไม่อยาก หนูกลัว มันไม่ไหวแล้ว ประเทศไทยเป็นภัยต่อจิตใจหนูมากเลยค่ะ”
การถูกฟ้องร้องในคดีนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของพรพิมลไปอย่างสิ้นเชิง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายร้ายแรงและมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้ใครร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้เสียหาย คนที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีนี้ก็มักจะมีโอกาสรอดคดีน้อยมาก จนเรียกได้ว่าแทบไม่มีโอกาสรอดคดีเลยด้วยซ้ำ ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง
บัสบาส และพรชัย ยังถูกคุมขังจากคดี 112
นอกจากพรพิมลแล้วยังมีผู้ถูกดำเนินคดี 112 ในภาคเหนืออีก 2 คน นั่นคือ บัสบาส-มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมชาวเชียงราย ที่ถูกศาลพิภากษาจำคุกเป็นระยะเวลารวมกว่า 54 ปี จากข้อกล่าวหาในคดี 112 และ พรชัย วิมลศุภวงศ์ ชาวปกาเกอะญอจากแม่ฮ่องสอน ที่ถูกคุมขังจากคดี 112 มาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567 โดยศาลลงโทษจำคุก 12 ปี และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นฎีกา ทำให้เขาไม่ต่อสู้คดีต่อ บทสัมภาษณ์ของพรชัยจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำให้เห็นปัญหาของคดีมาตรา 112 ว่าเป็นคดีที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปกล่าวหาได้ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งคดีของเขาที่ถูกกล่าวหาโดยอดีตผู้ชุมนุม กปปส. สองคนที่แบ่งกันฟ้องทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และยะลา สร้างความลำบากให้กับเขาในการเดินทางไปต่อสู้คดีทั้งภาคเหนือและภาคใต้
ท้ายที่สุดแล้ว การใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ก็จะยังคงเป็นปัญหาที่เราสามารถพบเห็นได้อีกเรื่อยๆ หากยังไม่มีการแก้ไขข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้ แต่กว่าจะไปถึงตอนนั้น เราก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ต้องมีใครถูกกล่าวหา และต้องสูญเสียอิสระภาพเพียงเพราะความเกลียดชังหรือความเห็นต่างทางสังคม
อ้างอิง
“พรชัย” ผู้ต้องขังคดี ม.112 ยังรอ “ใบแดง” พร้อมสนับสนุนนิรโทษกรรมประชาชนทุกข้อหา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...