สจ. ต้นตำรับการเมืองท้องถิ่น จากผู้ดูแลพื้นที่สู่ผู้มีอิทธิพลในวงการการเมือง

เรื่อง: จตุพร สุสวดโม้

บทบาทของ “สจ.” หรือ สมาชิกสภาจังหวัด เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานระดับภูมิภาค เช่น กรมการจังหวัด ในช่วงแรก การมีตำแหน่ง สจ. เกิดจากการต้องการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในระดับท้องถิ่น ‘Lanner’ คุยกับ ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลของ สจ. ต่อพื้นที่ที่มีพลวัตจากอดีตถึงปัจจุบัน

จาก “สจ.” สู่ “ส.อบจ.” : การเปลี่ยนแปลงและความสำคัญของตำแหน่ง

หลังจากนั้นบทบาทของ สจ. ได้รับการพัฒนาและชัดเจนขึ้น เมื่อมีการออกกฎหมายสร้างสภาจังหวัดหลังจากปี พ.ศ. 2481 ทำให้ สจ. กลายเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบัน การเรียกตำแหน่งนี้ได้เปลี่ยนไปเป็น “สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด” (ส.อบจ.) แทนที่จะเป็น “สจ.” แบบเก่า แต่แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อและบทบาท แต่คนในท้องถิ่นยังคงใช้คำว่า “สจ.” กันอย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต

การที่สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เริ่มมีอำนาจมากขึ้นนั้น เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเติบโตของธุรกิจในท้องถิ่น ที่ทำให้มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจและอิทธิพลจากกลุ่มทุนและกลุ่มผู้มีอำนาจในพื้นที่ ซึ่งเหล่านี้เริ่มผันตัวเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น โดยในยุคนั้นยังไม่มีตำแหน่งการเมืองหลายหลากเหมือนทุกวันนี้ การเข้าสู่การเมืองระดับชาติก็ต้องเริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่พร้อมจึงเริ่มจากตำแหน่งระดับท้องถิ่นเช่นนี้ ก่อนที่จะก้าวไปสู่การเมืองในระดับที่สูงขึ้น

สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) กับการเมืองท้องถิ่น ฐานอำนาจแรกของนักการเมือง

พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะมีสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เป็นผู้มีอำนาจและความสำคัญในระดับท้องถิ่น นักการเมืองหลายคนที่มาจากกลุ่มทุนท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เหล่านั้น ใช้ตำแหน่ง สจ. เป็นฐานในการสร้างอำนาจเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นในเมือง เช่น การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือรัฐมนตรี

ภาพ: ประชาไท

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือหลายตระกูลการเมืองสำคัญในประเทศไทย ซึ่งบรรพบุรุษของตระกูลเหล่านั้นมักจะเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เช่น กรณีของ ชัย ชิดชอบ ผู้ซึ่งเป็นพ่อของ เนวิน ชิดชอบ ที่เริ่มต้นจากการเป็น สจ. มาก่อน การเริ่มต้นจากการเป็น สจ. จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของนักการเมืองที่เรียกว่า บ้านใหญ่ ในทุกวันนี้

ในพื้นที่ต่างอำเภอไม่มีผู้แทนที่ประชาชน คนเลือกก็จะมีกำนัน มีผู้ใหญ่บ้านแล้วก็มี สจ. แต่ว่าคนที่จะดูแลพื้นที่ใหญ่ๆ ระดับอำเภอสมัยก่อน อำเภอหนึ่งจะมี สจ. ได้คนหนึ่งก็คือใหญ่มาก ดังนั้น สจ. จึงทำหน้าที่เป็นคนที่คอยดูสารทุกข์สุขดิบและเป็นข้อต่อที่เชื่อมระหว่างการเมืองระดับท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ

อิทธิพลของ สจ. ในการช่วยเหลือและอุปถัมภ์ประชาชนท้องถิ่น

ดังนั้น สจ. จึงเป็นคนกลางที่จะคอยเชื่อมประสานผลประโยชน์ คอยรับข้อร้องเรียน ความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน เพื่อจะเอาไปต่อหาคนที่มีอำนาจเหนือขึ้นไป อาจจะไม่ใช่แค่นักการเมือง อาจจะรวมถึงส่วนราชการอย่างผู้ว่าฯ นายอำเภอ บทบาทของสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้หลายคนมองว่า สจ. กลายเป็นคนที่ชาวบ้านนับหน้าถือตา ขณะเดียวกันก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่นขึ้นมา คนยังติดปากเรียกว่า สจ. ก็คือแฝงนัยยะของความเป็นผู้มีอิทธิพล

สจ. มีบทบาทสำคัญในฐานะฐานรากของการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติในเขตอำเภอ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับการเมืองและหน่วยงานราชการ บทบาทนี้จึงทำให้ สจ. มีอำนาจและอิทธิพลในพื้นที่ และยังเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้าน โดยอาศัยบทบาทดังกล่าวในการช่วยเหลือและอุปถัมภ์ประชาชน ซึ่งการทำหน้าที่ในลักษณะนี้ส่งผลให้ สจ. สามารถสั่งสมอิทธิพลและความนิยมในพื้นที่ของตนแล้วก็ต่อยอดไปสู่การเมืองระดับที่สูงขึ้นไป

บทบาทและหน้าที่ที่แท้จริงของสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) คือการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งสภาจังหวัดในอดีตและปัจจุบันมีหน้าที่รับฟังปัญหาหรือเรื่องราวของชาวบ้าน เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องถนน และส่งเรื่องไปยังฝ่ายบริหารที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับประชาชน ในบทบาทนี้ สจ. ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้าน เพื่อให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ตามกฎหมาย สจ. ยังทำหน้าที่เป็นสภาตรวจสอบ โดยต้องคอยกลั่นกรองงบประมาณและรับฟังการแถลงนโยบายจากฝ่ายบริหาร เช่น นายก เพื่อให้แน่ใจว่าใช้งบประมาณได้ตามที่รับปากหรือไม่

บทบาทของ สจ. ในการตรวจสอบและถ่วงดุล

บทบาทที่กฎหมายต้องการให้สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ทำคือการเป็นฝ่ายตรวจสอบและถ่วงดุล แต่ในความเป็นจริง บทบาทนี้กลายเป็นบทบาทในอุดมคติที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะปัจจุบัน สจ. หลายคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร และเมื่อถึงเวลาลงเลือกตั้ง สจ. มักลงเลือกตั้งเป็นทีมเดียวกับนายก ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า สมาชิกสภาจังหวัดมักจะสนับสนุนหรือเป็นพวกเดียวกับนายก การทำเช่นนี้ขัดกับหลักการในอุดมคติที่ควรจะมีการตรวจสอบ ถ้าหากคาดหวังให้ สจ. ทำหน้าที่ตรวจสอบจริงๆ ก็คงยากที่จะหวังผลจากสมาชิกที่เราคัดเลือกเข้าไป ดังนั้น สจ. ควรจะพยายามรักษาบทบาทในการตรวจสอบให้ได้ ไม่ควรเป็นกลุ่มที่เดินตามนายกหรือฝ่ายบริหารทั้งหมด

นอกจากหน้าที่ที่สำคัญของสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ในการเป็นตัวแทนของประชาชนในการผลักดันปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาถนนขาดในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งต้องทำการนำเสนอและอธิบายให้ฝ่ายบริหารเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณมาซ่อมแซมหรือแก้ไข สจ. ต้องทำการพูดคุยและแสดงเหตุผลว่าเหตุใดอำเภอของตนถึงมีความจำเป็นมากกว่าอำเภออื่นๆ นี่คือบทบาทหลักของ สจ. ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและผลักดันปัญหาของประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญแต่ยังขาดการทำงานอย่างเต็มที่ นั่นคือบทบาทในการตรวจสอบ คัดค้าน หรือทัดทานฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ในการทำงานในระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) การที่ สจ. ไม่ทำหน้าที่นี้อย่างจริงจังนั้น นับเป็นการขาดแคลนในการทำหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ อำนาจที่กฎหมายให้แก่ ส.อบจ. ยังไม่จำกัดแค่การตรวจสอบฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตรวจสอบการทำงานของหน่วยราชการต่างๆ ที่ทำงานในจังหวัด โดย ส.อบจ. มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ด้วย

ในหลายจังหวัดภาคเหนือ เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างคาแรคเตอร์ของ ส.อบจ. ในเขตเมืองหรือปริมณฑล กับ ส.อบจ. ในพื้นที่ต่างอำเภอ โดย ส.อบจ. ในเขตเมืองมักเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของความชื่นชอบและความคาดหวังของประชาชนอย่างรวดเร็ว ต่างจาก ส.อบจ. ในต่างอำเภอที่บางคนสามารถดำรงตำแหน่งได้หลายสมัย เนื่องจากผู้คนยังคงเลือกกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการที่คนในเมืองมีความคาดหวังของคนในเมืองค่อนข้างจะแตกต่าง

ความแตกต่างระหว่าง ส.จ. ในเมืองและ ส.จ. ในพื้นที่ต่างอำเภอ

ในเมืองที่มีเทศบาลอยู่แล้ว ส.อบจ. สามารถผลักดันงานผ่านเทศบาลได้ แต่ในพื้นที่รอบนอกที่ต้องการการพัฒนามากกว่านั้น อบต. หรือเทศบาลตำบล อาจขาดศักยภาพในการดูแล ดังนั้น สจ. จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ และนำไปพัฒนาในพื้นที่ต่างอำเภอ การผลักดันงบประมาณหรือโครงการจาก สจ. ในต่างอำเภอจึงถือเป็นผลงานที่สำคัญ ซึ่งแตกต่างจาก ส.อบจ. ในเมืองที่อาจไม่ต้องทำในเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากเทศบาลมีหน้าที่เหล่านี้อยู่แล้ว ถ้า สจ. ในต่างอำเภอสามารถผลักดันงบประมาณได้ ก็จะช่วยให้ท้องถิ่นพัฒนาและเป็นที่นิยมในพื้นที่ได้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง