ฟังเสียงคนอยู่กับป่าในวันที่มาตรการแก้ไฟป่ากำลังแผดเผาผู้คน

วิกฤตฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ประชาชนในภาคเหนือต่างต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567) คนภาคเหนือป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจถึง 298,689 ราย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ผู้ป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจกว่า 33,783 ซึ่งมากที่สุดในภาคเหนือ ผนวกกับข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยผลกระทบจาก PM2.5 ช่วงเดือน (1 มกราคม – 15 มีนาคม 2567) ทั้งสิ้นกว่า 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว

นอกจากราคาทางสุขภาพที่ต้องจ่ายแล้ว ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจก็สูญเสียไม่น้อยไปกว่ากัน และไม่ว่าจะผ่านไปกี่รัฐบาลปัญหานี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป หรืออีกคำถามสำคัญคือเราแก้ปัญหาผิดจุดอยู่หรือเปล่า?

ภาพ: เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin

หนำซ้ำ ท่าทีของรัฐบาลกลับมีท่าทีที่ดูเหมือนจริงจังแต่ก็ไม่จริงในเวลาเดียวกัน การพยายามแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สั่งการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการห้ามเผา หรือเผาผ่านแอปพลิเคชั่น FireD ห้ามเข้าป่า หรือมาตรการเงินรางวัล 10,000 บาทให้แก่คนที่เผาป่า รวมไปถึงการยังไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในจังหวัดเชียงใหม่ เหตุกังวลว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยว มาตรการเหล่านี้ดูเหมือนจะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน แต่จากสถิติผู้ป่วยกล่าวไปข้างต้นอาจจะสวนทางกับสิ่งที่ภาครัฐพยายามแก้ไขอยู่

ด้วยมาตรการที่ไม่เข้าใจคนพื้นที่มากมายเหล่านี้ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและผลิตซ้ำวาทะกรรม ‘ชาวเขาเผาป่า’ ที่เป็นเหมือนบาดแผลที่เหล่าผู้คนที่มีวิถีชีวิตผูกพันธ์กับป่าต้องเผชิญกับอคตินี้มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ 

ห้ามเผา ห้ามเข้าป่า หยุดวิถีชีวิต

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567 จังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด ฝ่าฝืนบังคับใช้กฎหมายทุกกรณี ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องเผา ต้องได้รับอนุมัติจากศูนย์บัญชาการฯ อำเภอ โดยลงทะเบียนผ่านระบบ FireD หรือแจ้งความประสงค์ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งผลที่ตามมาก็คืออุทยานฯ ก็จะมีมาตรการที่ห้ามเข้าอุทยานฯ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่าและมีที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยานฯ ก็ไม่สามารถเข้าป่าเพื่อทำไร่หรือสวนของตนเองได้ ซึ่งหากเทียบกับปีก่อน ๆ ประกาศนี้บังคับใช้เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือน ส่งผลให้ชาวบ้านปรับตัวไม่ทันกับมาตรการที่เกิดขึ้น มาตรการนี้ที่ได้ผลักให้เหล่าผู้คนที่อยู่กับป่านั้นกลายเป็นผู้ร้ายโดยสิ้นเชิง 

“อันนี้คือมาตรการที่มองว่าเราผิด เราอยู่ตรงนี้ยังไงก็ผิดทำอะไรก็ผิด คนที่คิดมาตรการแบบนี้ขึ้นมามองว่าคนที่อยู่ใกล้ทรัพยากรผิด”

จรัสศรี จันทร์อ้าย

จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวบ้านชุมชนบ้านห้วยผาตืน ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงมาตรการของภาครัฐที่ควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่าของคนที่อยู่กับป่าและไม่เข้าใจบริบทที่เกิดขึ้นพื้นที่

จรัสศรีกล่าวว่าตนมีวิถีชีวิตอยู่กับป่า ทั้งที่ทำกิน ไร่และสวนอยู่ในเขตอุทยานฯ มาตรการที่ห้ามเข้าอุทยานในช่วงฝุ่นควันนั้นทำให้ชุมชนเกิดความหวาดระแวง และกลัว เหมือนกับการแอบเข้าไปในพื้นที่ป่า ทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นเป็นที่ทำกินของตัวเอง นอกจากการเข้าป่าเพื่อไปทำไร่และสวนแล้ว ชุมชนบ้านห้วยผาตืน ก็จะเข้าไปทำแนวกันไฟในป่าในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม

“การที่ไม่ให้พวกเราที่เป็นชาวบ้านเข้าไปในป่า มันมีผลกับวิถีชีวิตกับชาวบ้านแน่นอน มาตรการแบบนี้ก็มองเราเป็นผู้ต้องหา แค่เราเข้าไปแล้วเจอไฟแช็คถือว่าเราเป็นคนจุดหรอ?” จรัสศรี กล่าว

ฉะ FireD ดีจริงไหม

การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นชื่อแนวทางในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ใน จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นแนวทางที่พัฒนามาจากการถอดบทเรียนการทำงานในปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นแนวทางที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม (สภาลมหายใจเชียงใหม่, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ) ร่วมกับหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายปกครองและหน่วยงานป่าไม้ ด้วยมาตรการนี้ทำให้มีการจัดห้อง War room (วอร์รูม) ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566  ชื่อเป็นทางการคือ “ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำปี 2567”  

 

ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

การเข้ามาของ “ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ประจำปี 2567” นี้เอง ทำให้ใช้ไฟในการบริหารจัดเชื้อเพลิงและชีวมวลได้ แต่มีเงื่อนไขคือ จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทะเบียนแจ้งขออนุญาตเผาผ่านแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) เกษตรกร/ผู้ต้องการใช้ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งาน และหลังจากนั้นสามารถบันทึกคำร้องขอได้ด้วยตนเอง หรือหากไม่สะดวกลงทะเบียผ่านแอพพลิเคชั่น FireD ก็สามารถแจ้งผู้ใหญ่บ้านรวบรวมข้อมูลความต้องการตามแบบฟอร์มที่ตำบลหรืออำเภอส่งให้ หลังจากนั้นผู้ใหญ่บ้านนำส่งข้อมูลไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และแต่ละตำบลหรือเทศบาลในพื้นที่จะมี “แอดมิน” หรือเจ้าหน้าที่ผู้คอยทำหน้าบันทึกคำร้องเข้าสู่ระบบแอพพลิเคชั่น FireD (ไฟดี) เพื่อรอการอนุมัติ 

จรัสศรี จันทร์อ้าย

จรัสศรี เล่าว่าการใช้ แอพพลิเคชั่น FireD ในการแจ้งเผา เหมือนจะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการเผาง่ายขึ้นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการไฟได้มากขึ้น แต่อำนาจในการตัดสินใจที่จะบอกว่าใครสามารถเผาได้หรือเผาไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับ ‘แอดมิน’ อยู่ดี เพราะหากช่วงไหนอากาศปิดก็ไม่สามารถเผาได้

“อย่างช่วงไหนเลขสีแดงขึ้นมาเยอะ ๆ ไม่มีใครสามารถเผาได้เลย สุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าใครเผาได้หรือไม่ได้ ก็มาจากข้าราชการส่วนกลาง มันเป็นแอพที่พยายามจะบอกว่า เราให้มีส่วนร่วมแล้วนะ ถามว่าดีไหมแต่ก็เหมือนเราเป็นผู้ร้าย” จรัสศรี กล่าว

จรัสศรี ยังกล่าวต่อไปอีกว่า อำนาจในการตัดสินใจที่จะเผาไม่ใช่ชาวบ้าน แต่มันคือผู้ว่าฯ หรือทีมเฉพาะกิจที่นั่ง War Room(วอร์รูม) จรัสศรี ตั้งคำถามต่อไปถึงสัดส่วนที่ควบคุมวอร์รูม มีประชาชนที่อาศัยอยู่กับป่าที่อยู่ในวอร์รูมเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ 

“ชาวบ้านเข้าไปได้ไหม มีชาติพันธุ์เข้าไปกำหนดตรงนั้นได้ไหม เคยเข้าใจสิ่งที่ชาติพันธุ์พูดหรือยัง ให้เขาเป็นสัดส่วนหนึ่งในกรรมการสิ คุณจะได้รับรู้ข้อมูลและอำนาจในการตัดสินใจร่วมกัน” 

“FireD มันแค่บอกว่าเรา(ชาวบ้าน)มีส่วนร่วม แต่ส่วนร่วมของคุณก็แค่ในการแจ้งเผา แต่อำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ฉัน”

ล่าค่าหัว 10,000 บาท ทางออกหรือซ้ำเติม

“เพื่อที่จะทำให้คิดหนักว่าอย่าเผาดีกว่าเดี๋ยวโดนจับ หรือรู้ว่าใครเผาจะทำยังไงดีนะ แจ้งมาเลยครับ ทุกอย่างทุกมาตรการเพื่อเชียงใหม่มีการเผาที่น้อยลง มีฝุ่นควันที่น้อยลง ให้คนเชียงใหม่หายใจสะดวก” นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อมาตรการ ‘เชียงใหม่ เอาจริง จับ “คนเผาป่า” ได้ ให้ 1 หมื่น’

ภาพ: นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมาตรการมอบรางวัลนำจับ “ทุกคดี” ที่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้และสามารถส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ คดีละ 10,000 บาท โดยมาตรการดังกล่าวมีผลการดำเนินตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมเป็นต้นไป

“เป็นมาตรการที่สร้างแพะรับบาปได้ง่ายมาก ใครจุดก็ไม่รู้คนที่เดินเข้าไปในพื้นที่ป่าแล้วแอบถ่ายรูปก็ถือว่าเราเป็นคนจุด มันไม่ใช่เลย คุณใช้เงินรางวัลมาล่อ แต่ถามกลับไปว่า คุณใช้เงินรางวัลล่อมากี่ปีแล้ว ปีก่อนคุณก็ใช้ปรับ 5,000 บาท มาปีนี้เพิ่มให้ 10,000 บาท ถามต่อว่ามันลดไหม คุณใช้เงินก็ไม่ลด ใช้มาตรการที่เข้มข้นถามว่ามันลดไหม” จรัสศรี ให้ความเห็นว่าควรจะมีการแยกแยะไฟ ต้องแบ่งไฟที่จำเป็นต้องเผาก็ควรให้ทำ แต่ไฟที่เกิดจากการที่เกิดจากคนที่แอบเผาก็ต้องมีมาตรการการจัดการอีกแบบ 

“การที่พี่น้องประชาชนต้องหาเงิน เขาจึงเผาเพื่อหาเห็ด หรือหาผักหวานต่าง ๆ เราเข้าใจได้ แต่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้น ท่านผู้ว่าฯ จึงออกกฎมาว่าใครจับคนเผาป่าได้ก็จะให้รางวัลนำจับ 10,000 บาท ซึ่งก็มีการจับแล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้การเผาป่าลดลงถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าว  หลังจากการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 – 17 มีนาคมที่ผ่านมา

จรัสศรี กล่าวว่า เศรษฐาไม่เข้าใจสภาพปัญหาฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงสภาวะของการเกิดไฟของภาคเหนือ รวมไปถึงไม่รู้ถึงปัญหาในฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 

“การบอกว่าปรับ 10,000 บาทมันดี คือความคิดที่ผิดถ้าดีจริงมันไม่เกิดหมอกควันขนาดนี้หรอก ถ้าการใช้อำนาจตัดสินโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ดีจริง มันจะไม่เกิดปัญหาไฟขนาดนี้หรอก”

มาตรการแก้ไฟป่า ตอกย้ำอคติคนอยู่กับป่า

“เรามองว่ามาตรการห้ามเข้าป่า กับมาตรการห้ามเผา และมาตรการเผาปรับ 10,000 บาท มันทำให้เราที่อยู่ใกล้กับป่ารู้สึกว่าเป็นผู้ร้ายมาก ๆ เข้าป่าก็รู้สึกผิดแล้วนะ ถามว่าชาวบ้านต้องอยู่บ้านทุกวัน หน้าแล้งชาวบ้านต้องหาเก็บผักเก็บไม้ หาปลา หาอาหารในป่า เราก็โดนคนว่าแล้ว ทำไมไม่มองว่าเราร่วมรักษาเหมือนกันอะ เรารักษาปอดให้คนทั้งเชียงใหม่เหมือนกันนะ” จรัสศรี กล่าวด้วยความน้อยใจจากการที่มาตรการของภาครัฐนั้นได้ตอกย้ำอคติที่มีอยู่ให้มากขึ้นกว่าเดิม

จรัสศรี จันทร์อ้าย

ชุมชนบ้านห้วยผาตืน ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมทีเป็นหมู่บ้านที่มีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาสัยอยู่เกือบทั้งชุมชน ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร ในอดีตคนในชุมชนจะทำไร่หมุนเวียนในการดำรงชีวิต ก่อนเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการทำสวนถาวร และมีป่าชุมชนกว่า 6,000 ไร่ ซึ่งป่าของชุมชนนี้เป็นเหมือนปอดที่คอยดูดซับแก๊สเสียจากในตัวเมืองเชียงใหม่

“แล้วทำไมไม่คิดว่าเราก็ช่วยคุณดูแล เราก็เป็นปอดของคุณอะ ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่เดือดร้อนคนเดียวแต่มันโดนทุกชุมชนที่หายใจไม่ออก เราที่อยู่บนดอยถ้ามีการเผาเราก็หายใจไม่ออกเหมือนกัน แถมเรายังต้องเสียน้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่ป่าอีก เราสูญเสียหลายอย่างเลย เพราะชีวิตเราสัมพันธ์กับธรรมชาติ ไม่ได้สัมพันธ์แค่ว่าเป็นต้นไม้สีเขียวช่วยดูดแก๊สพิษไง แต่เราใช้ประโยชน์จากมันดูแลมัน ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุกอย่างของเรา”

ด้วยปัญหาจากมาตรการแก้ไฟป่ารวมไปถึงอคติที่ที่แผดเผาผู้คนที่อยู่กับป่า จรัสศรี ได้เล่าข้อเสนอของประชาชนที่มีชีวิตสัมพันธ์ต่อรัฐที่ไม่เข้าใจบริบทพื้นที่ไว้ดังนี้ 1.อำนาจในการตัดสินใจว่าควรเผาควรอยู่ที่ชุมชนในการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่การแจ้งในแอพพลิเคชั่น FireD ที่จรัสศรีมองว่ามันไม่ใช่อำนาจที่แท้จริง 2.เรื่องการจัดการไฟชุมชนไหนสามารถจัดการได้ควรให้ชุมชนจัดการด้วยตนเอง และไฟในพื้นที่ป่าของรัฐ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการ ต้องแยกแยะไฟจำเป็นกับไฟที่ไม่สามารถควบคุมได้ออก 

ด้าน ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นการใช้ไฟ ผ่าน เฟสบุ๊คส่วนตัว Chatchawan Thongdeelert ไว้ว่า เจ้าหน้าที่เผา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ฯ มีแผนชิงเผาเพื่อลดเชื้อเพลิง ลดความเสี่ยงทุกปี แต่ไม่มีการเสนอข้อมูลที่ชัดเจน ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ยอมรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงจึงเห็นข้อมูลแผนการเผามากขึ้น แต่มีแผนแล้วควบคุมการเผาได้มากน้อยแค่ไหนต้องมีการสรุปกันให้ชัดเจน

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

ชัชวาลย์ ยังกล่าวต่ออีกว่าที่ผ่านมาคนมักพูดเหมารวมต่อการเผาและไม่มีการแยกแยะอย่างชัดเจน ชัชวาลย์ ได้จำแนก การเผา ออกเป็น 3 อย่าง ดังนี้

1. ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้ไฟแต่ไม่สามารถแจ้งเข้าระบบ FireD ได้ด้วยข้อจำกัด ต้องมีการพัฒนาแก้ไขระบบให้เข้าถึงง่าย

2. ชาวบ้านยังมีความจำเป็นต้องดำรงชีพอยู่กับป่าเพราะยังขาดทางเลือกอื่น ที่ทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีได้ ต้องสร้างทางเลือกทางออก มีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

3. ชาวบ้านที่ต้องการกลั่นแกล้ง ท้าทายหรือประมาทเลินเล่อ ก็ใช้มาตรการทางกฏหมาย

“ขออย่าเหมารวม ไล่จับกันแบบอดีต จะยิ่งสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แก้ไม่จบ” ชัชวาลย์ ย้ำ

สุดท้าย ชัชวาลย์ ได้เสนอแผนการแก้ไขปัญหาไฟป่าในระยะยาวว่าต้องแก้ไขที่สาเหตุปัจจัยหลัก นั้นก็คือชาวบ้านถูกจำกัดการพัฒนาโดยกฎหมายอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและป่าสงวน ที่ประกาศทับที่ของชุมชนส่งผลให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมาย ชัชวาลย์เสนอว่าต้องมีการแก้กฏหมายโดยการรองรับสิทธิที่ทำกินให้มีความมั่นคงและสิทธิการมีส่วนร่วมในการรักษาป่า ควบคูการการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตและการผลิตที่มั่นคงยั่งยืนจึงเกิดขึ้นได้ วิถีชีวิตและการผลิตแบบเผาก็จะลดลงไป

จากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 การจัดการไฟของรัฐที่ไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ๆ อาจจะทำให้นึกต่อไปว่าเราควรจะมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่กับพื้นที่จริง ๆ ไม่ใช่แค่การแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นแต่รวมไปถึงอำนาจในการตัดสินใจในสิทธิของตน หรืออาจจะมองไปให้ไกลถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่เป็นประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนที่เข้าใจถึงปัญหานี้ดีกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่เข้าใจทั้งบริบทและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เพื่อเป็นการลดอคติคนอยู่กับป่าที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นมานานกว่าทศวรรษนี้เสียที

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง