17 มี.ค.2568 กรีนพีซ ประเทศไทย เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยทำร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าปี 2567 ที่ผ่านมาพบร่องรอยการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคนี้ถึง 3,762,728.63 ไร่
ในรายงานยังระบุข้อค้นพบต่างๆ อีกดังนี้
– ในปี 2567 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมทั้งหมด 15,328,533.50 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือตอนบนของไทย 2.9 ล้านไร่ รัฐฉานของเมียนมา 6.6 ล้านไร่ และตอนบนของสปป.ลาว 5.8 ล้านไร่
– ร่องรอยเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีทั้งหมด 3,762,728.63 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.85 ของร่องรอยเผาไหม้ทั้งหมดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในปี 2567
– พบจุดความร้อนรวมกัน 76,892 จุด ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คิดเป็นร้อยละ 35.06 ของจุดความร้อนทั้งหมด (โดยพบในพื้นที่ป่าร้อยละ 46.31)
– ระหว่างปี 2558 ถึง 2567 มีพื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมกันเกือบ 11.8 ล้านไร่ (11,781,751 ไร่) เกือบทั้งหมดเป็นการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งผลต่อการทำลายพื้นที่ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะในรัฐฉาน เมียนมาที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ภาพ: จุดความร้อนสะสมเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี2567 พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขง (ซ้าย) เมื่อเปรียบเทียบกับร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาเดียวกัน (กลาง) และ (ขวา) พื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ระหว่างปีพ.ศ. 2558 และ 2567 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ําโขง (ภาคเหนือตอนบนของไทย, ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา)
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกำหนดให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างเคร่งครัด และโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานในประเทศและข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ โดยเปิดโอกาสให้สาธารณะและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างโปร่งใส เพื่อให้บริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษและละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน ในขณะที่ภาครัฐสามารถเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้สิงที่สำคัญที่สุดคือการลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ โดยหันมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ มาตรการเหล่านี้จะแสดงถึงความกล้าหาญของรัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนที่คุกคามสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
“รัฐบาลไทยจะสามารถประกาศด้วยความภาคภูมิได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อสัตว์อันดับต้นของโลก และเป็นครัวของโลก อย่างแท้จริง หากมีการบังคับใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับอย่างเข้มงวดต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีการับประกันว่าแหล่งที่มาเหล่านี้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าในภูมิภาคและไม่เป็นต้นเหตุของฝุ่นพิษข้ามแดน ปัจจุบันไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กำลังส่งผลกระทบในรูปแบบของภัยพิบัติฝุ่นพิษ น้ำท่วม และดินถล่ม ที่รุนแรงขึ้นทุกปี ขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตเหล่านี้ แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากหายนะนี้คืออุตสาหกรรม” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว
กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่อุตสาหกรรมและรัฐบาลอ้างอิงถึงนั้นยังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล และกระบวนการการตรวจสอบย้อนกลับว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนภายใต้ระบบการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของภาคเหนือตอนบนที่มีการเชื่อมโยงกับปัญหาสิทธิที่ดิน พ่อค้าคนกลาง ล้งและโรงโม่เถื่อน รวมถึงเอกสารการรับซื้อที่ประชาชนส่วนมากไม่เคยเห็น
ฝุ่นพิษข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแม้จะถูกมองจากภาครัฐว่าเป็นปัญหาในพื้นที่ป่า แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงเป็นตัวการสำคัญของฝุ่นพิษข้ามแดนและการทำลายป่าระดับภูมิภาคมานานร่วมสองทศวรรษ ฝุ่นพิษเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งด้านสิทธิในอากาศสะอาด สิทธิเกษตรกร และสิทธิชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่มักถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวการก่อฝุ่นพิษและการทำลายป่าไม้ขนานใหญ่ อย่างไรก็ตามข้อมูลการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีจำนวนรวมแล้วเทียบเท่ากับเกือบสี่เท่าของกรุงเทพฯ
ตัวเลขข้อมูลจุดความร้อนและการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้สะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา ซึ่งรัฐบาลไทยยังขาดความมุ่งมั่นและมาตกรการแก้ไขอย่างหนักแน่นและเอาจริง แต่กลับส่งเสริมการเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาอย่างยาวนานราวสองทศวรรษ ทั้งภายในและนอกประเทศ
การเติมโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นี้เชื่อมโยงโดยตรงกับการส่งเสริมของนโยบายหลายชุดจากรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งนโยบายประกันราคา การกู้ยืม การนำเข้า 0% และการส่งเสริมให้บริษัทไทยสามารถไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ทั้งหมดนี้เมื่อปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนรุนแรงขึ้นกลับไม่เห็นเจตจำนงและความพยายามของรัฐบาลไทยในรูปแบบเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม ตรงจุด และกล้าหาญ ตราบใดที่ไม่ระบุถึงบทบาทและภาระรับผิดของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนของ กรีนพีซ ประเทศไทยมีดังต่อไปนี้
1.กำหนดให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานในประเทศและข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ โดยที่สาธารณะและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้
2.กำหนดให้มีการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหากในห่วงโซ่อุปทานของตนเชื่อมโยงกับการก่อมลพิษทางอากาศ
3.ลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ
4.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...