“เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว”
ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน
จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง หลังสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เริ่มการก่อสร้าง เปิดที่ดิน พร้อมเกรดปรับพื้นที่โครงการ คู่ขนานกับการเวนคืนที่ดินในขอบเขตโครงการ
เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เส้นทางรถไฟแห่งอนาคต
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 323.1 กิโลเมตร รูปแบบเส้นทางเป็นทางคู่ใหม่ขนานกันตลอดเส้นทาง มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่งที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ โดยมีวัตถุประสงค์รองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าภาคเหนือ รวมถึงรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของที่กำลังก่อสร้างจะเชื่อมการค้าระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้จากไทยไปลาว จีน เวียดนาม และเขตเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ นับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ตลอดจนช่วยส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลง เพื่อเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ
จากการวิเคราะห์ผลประโยชน์จากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ: มุมมองของจังหวัดเชียงราย ในวารสารเศรษฐศาสตร์รามคําแหง พบว่า ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจเชียงรายและจังหวัดที่มีการก่อสร้างทางรถไฟ อํานวยความสะดวกการค้าการลงทุนชายแดน การท่องเที่ยว ด้านคมนาคมขนส่งและด้านการจ้างงานระดับเศรษฐกิจชุมชน
60 กว่าปีที่รอคอย ย้อนรอยโครงการก่อสร้างทางรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้วางแผนริเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-พะเยา-เชียงราย-เชียงของ ตั้งแต่ปี 2503 และได้มีการสำรวจเส้นทางเบื้องต้นเมื่อปี 2512 โดยกำหนดให้ใช้เส้นทาง เด่นชัย-แพร่-สอง-เชียงม่วน-ดอกคำใต้-พะเยา-ป่าแดด-เชียงราย เป็นระยะทาง 273 กิโลเมตร แต่โครงการดังกล่าวก็ได้หยุดชะงักลงเพราะต้องใช้งบประมาณมาก หากลงทุนไปอาจจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป
ต่อมาในปี 2537-2538 ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ปัดฝุ่นโครงการนี้อีกครั้ง และได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการทบทวนผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า โครงการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-พะเยา-เชียงราย มีความเหมาะสมในการดำเนินงานโดยผ่านแนวเส้นทาง เด่นชัย-แพร่-สอง-งาว-พะเยา-เชียงราย และลดระยะเส้นทางเหลือ 246 กิโลเมตร ทำให้ในปี 2539-2541 ใช้งบประมาณราว 2.2 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างเอกชนให้สำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบ จนมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ. 2544 กระทั่งปี 2547 ได้มีการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างทางรถไฟอีกครั้ง พร้อมทำการศึกษาความเหมาะสมของการต่อขยายเชื่อมโยงกับประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งผลการศึกษาสรุปได้ว่าแนวทางที่ได้ทำการสำรวจออกแบบไว้นั้นเป็นเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
จนถึงปี 2552 ทางรัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายระบบร่างและการให้บริการรถไฟ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟ พ.ศ. 2553-2554 ต่อคณะรัฐมนตรี และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 รวมทั้งเห็นชอบแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟ
โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ได้มีการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ งานออกแบบรายละเอียด งานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผ่านการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและการมีส่วนร่วมภาคประชาชน การประชุมสัมมนาทางวิชาการ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชน 4 ราย ทำการศึกษาโครงการก่อสร้างใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 – เดือนมิถุนายน 2555 และได้ทำการออกแบบโครงการและจัดทำรายงาน EIA แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2559 เดิมมีกำหนดการสร้างในปี 2560 แต่ถูกเลื่อนออกไป
ในที่สุดมีการความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เริ่มจากชุมทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 72 เดือน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการล่าช้าออกไป เพราะกว่าจะเปิดประมูลก็ล่วงเข้าปี 2564 จนวันที่ 29 ธันวาคม 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างกับผู้รับจ้างจำนวน 3 สัญญา วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท ซึ่งเริ่มเวนคืนที่ดินในเดือนเมษายน 2565 และส่งมอบที่ดินแปลงแรกเพื่อการก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2565 โดยมีกำหนดก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการในปี 2571
หากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนการดังกล่าว ก็ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่ใช้เวลารอคอยยาวนานถึง 68 ปี กว่าที่ความฝันจะปรากฏเป็นจริง
ความคืบหน้ารถไฟเด่นชัย-เชียงราย
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในเดือนเมษายน 2567 ว่าโครงการยังเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ โดยภาพรวมงานก่อสร้าง คืบหน้า 9.409% แผนสะสม 9.238% เร็วกว่าแผน 0.171%
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. คืบหน้า 9.165% แผนงานสะสม 4.484% เร็วกว่าแผน 4.681% สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. คืบหน้า 10.816% แผนงานสะสม 11.237% ช้ากว่าแผน -0.421% และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. คืบหน้า 7.792% แผนงานสะสม 12.980% ช้ากว่าแผน -5.188%
อย่างไรก็ตาม นอกจากความก้าวหน้างานด้านโยธาแล้ว ปัจจุบัน รฟท. ยังได้เร่งรัดการดำเนินงานเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้าง ให้โครงการสามารถเสร็จสิ้นได้ตามแผนต่อไป โดยทั้ง 3 สัญญามีพื้นที่ที่ต้องดำเนินงานเวนคืนฯ รวม 8,665 แปลง 12,076 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน สปก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่นๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนในโครงการฯ แล้ว
เสียงแห่งความผิดหวังของชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน
หลังมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ จึงดำเนินการเวนคืนที่ดิน เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แต่ปรากฏว่าค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ผู้ถือเวนคืนจะได้รับนั้นไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้กำหนดราคาประเมินที่ใช้ในการคำนวณเพื่อจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกเวนคืนนั้นโดยอ้างอิงราคาจากกรมธนารักษ์ หรืออ้างอิงราคาจากสำนักงานที่ดิน หรืออ้างอิงจากราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินในวันใช้บังคับพระราชกิจฎีกาตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดิน เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนที่ดิน ไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีความชัดเจนจึงทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจในการที่จะทำสัญญาต่าง ๆ
ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ทบทวนการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ ขอให้ รฟท.ปรับราคาเวนคืนที่ดินให้สูงขึ้นและเป็นธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ และข้อที่ 2 หากไม่สามารถปรับได้ ขอให้จัดสรรที่ดินบริเวณใกล้เคียงรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร ทดแทนที่เดิมของชาวบ้าน รวมทั้งต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีด้วย
“ค่าเวนคืนที่ได้ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เราเสียไม่ใช่แค่ที่ดินที่เวนคืน แต่คือที่นาที่ทำมาหากิน ที่มรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ เงินที่ได้มาจะเอาไปซื้อใหม่ก็ไม่พอ”
“ทางรถไฟผ่านกลางนา เขาจ่ายค่าเวนคืนเฉพาะที่เขาใช้ พื้นที่ด้านข้างเราใช้ประโยชน์ไม่ได้ขอให้เขาซื้อ เขาไม่เอา เขาว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์”
เสียงความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่ถูกเวนคืนที่ดินตลอดเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จากสิ่งที่เฝ้ารอนานนับหลายสิบปี กลายมาเป็นฝันร้ายและความเจ็บซ้ำที่เกิดขึ้นจากค่าเวนคืนที่ดินที่ไม่เป็นธรรม
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะก่อให้เกิดผลดี ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า และการคมนาคมขนส่ง แต่โครงการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชาชน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ภาครัฐควรมีการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดี โดยการให้ความสำคัญกับการชดเชยที่เป็นธรรม การให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และการมีมาตรการในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม
อ้างอิง
- http://www.ecojournal.ru.ac.th/journals/17_1500188557.pdf
- https://mgronline.com/local/detail/9670000008666
- https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/191738
- https://www.srt-denchai-chiangrai-chiangkhong.com/รายละเอียดโครงการ2
- https://thecitizen.plus/node/10936
- https://thecitizen.plus/node/90827
- https://www.thestorythailand.com/28/03/2022/59920/
นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน