เรื่องและภาพ : พีรดนย์ กตัญญู
ลานโล่งกว้างบวกกับเรือนไม้หลังเล็กใหญ่สลับกัน 3 หลัง ต้นไม้ใหญ่หลายต้นรอบล้อม สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใกล้กับประตูไผ่ล้อม ชื่อสวนอัญญามีที่มาจากชื่อของ ‘อัญญาโกณฑัญญะ’ หนึ่งในปัญจวัคคีย์และพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา
หน้าที่สำคัญของสวนอัญญาคือการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางสังคม รวมไปถึงเป็นที่หลับนอนของเหล่านักศึกษาและชาวนา ในช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน พ.ศ. 2516 – 2519 ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านวันเวลามาถึงปัจจุบัน เดิมทีสถานที่แห่งนี้เมื่อ 50 กว่าปีก่อนเป็นผืนนารกร้างว่างเปล่าก่อนที่จะถูกบุกเบิกแผ้วถางในปี 2513 โดย ‘ครูองุ่น มาลิก’ ครูอันเป็นที่เคารพรักของเหล่านักศึกษาที่อาจไม่ใช่ลูกศิษย์ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่คือห้องเรียนสังคมในห้วงยามของการเปลี่ยนแปลง
ครูองุ่น มาลิก มีชื่อเล่นว่าแม่หนู เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2460 ณ จังหวัดพระนคร ครูองุ่นเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ เป็นบุตรีของพระรุกขชาติบริรักษ์ (ทอง สุวรรณมาลิก) ขุนนางในรัชกาลที่ 7 และนางบู่ สุวรรณมาลิก
วัยเด็กครูองุ่นเติบโตมาในช่วงเวลาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ 7 ไปจนถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2475 ซึ่งในขณะนั้นครูองุ่นมีอายุได้ 15 ปี ช่วงเวลาเหล่านั้นหล่อหลอมครูองุ่นมีความสนใจต่อสังคมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ครูองุ่นเกิดความศรัทธาในการทำงานและอุดมการณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎร รวมไปถึงการยึดหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรประกาศไว้ คือ
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ปี 2477 ครูองุ่นเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ หลังจากจบชั้นมัธยมได้เข้าเรียนต่อเป็นนิสิตรุ่นที่ 3 ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาในปี 2481
เส้นทางชีวิตการทำงานของครูองุ่นนั้นได้แยกหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ผู้สื่อข่าว รวมไปถึงเลขานุการโรงงานยาสูบ แต่อาชีพที่ครูองุ่นได้ทุ่มเททั้งเวลาและจิตวิญญาณให้คืออาชีพที่เรียกว่า “ครู”
ครูองุ่นทำงานเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษประจำหลายแห่งในกรุงเทพมหานครในช่วงปี 2481-2501 ซึ่งโรงเรียนวัดธาตุทองเป็นโรงเรียนสุดท้ายของการเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ก่อนที่เธอจะได้เข้าอบรมภาคฤดูร้อนและเรียนในภาคค่ำที่วิทยาลัยวิชาการการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2502 ซึ่งครูองุ่นถือเป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะนี้
หลังจากเรียนจบครูองุ่นได้ทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั้งปี 2505 เธอได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจบการศึกษาในปี 2507 หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ครูองุ่นได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2507-2509
และในปี 2510 ครูองุ่นตัดสินย้ายตัวเองมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครูองุ่นเป็นที่รักและเคารพของนักศึกษา ไม่ถือตัวและเป็นกัลยาณมิตร แตกต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยคนอื่นๆ เอกลักษณ์ คือ นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก สะพายย่าม ครูองุ่นมักจะปรากฏตัวในกิจกรรมของนักศึกษา เช่น การประท้วง เวทีอภิปรายทางการเมือง การแสดงละครเสียดสีสังคม และไม่ใช่แค่กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ครูองุ่นก็ยังคงเป็นที่รู้จักของใครหลายต่อหลายคนในหลายท่วงทำนอง และที่เชียงใหม่นี้เองครูองุ่นได้ก่อตั้งสวนอัญญาขึ้นมาในปี 2513 ที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด สนับสนุนงานทางสังคมจากวันนั้นถึงวันนี้
คำบอกเล่าของ “ลูกศิษย์” นอกห้องเรียน
2 เมษายน 2566 เราเดินทางมาที่สวนอัญญา ในวันที่มูลนิธิไชยวนาและเครือข่ายลูกศิษย์ครูองุ่น มาลิก ได้จัดงานทำบุญเนื่องในวาระครบรอบ 106 ปี วันคล้ายวันเกิด ครูองุ่น มาลิก ในวันที่ 5 เมษายน ที่พ่วงวาระทำบุญให้มิตรสหายผู้ล่วงลับที่ล้วนเดินผ่านสายธารการต่อสู้กับเผด็จการมากกว่าครึ่งศตวรรษ
ครูองุ่นเดินทางข้ามวันเวลาไม่เคยหายไปจากความทรงจำของหลายคน ขณะเดียวกันความคิดความเชื่อของคนรุ่นใหม่ก็ยึดโยงกับครูองุ่นได้อย่างไม่เคอะเขิน
มนัส จินตนะดิลกกุล อดีตนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานกับพรรคจุฬาประชาชน กระทั่งปลายปี 2517 ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯ ได้ทำการประสานงานกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาในภาคเหนือ ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯ จึงขอให้มนัสขึ้นมาช่วยทำงานในภาคเหนือ
ในช่วงนี้เองนอกจากขบวนการนักศึกษาที่ก่อตัวขึ้น ยังมีขบวนการชาวนาที่ก่อตัวและมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเดียวกัน เกิดการรวมตัวกันหลัง 14 ตุลา 2516 ในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ที่รวบรวมสมาชิกได้มากถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งเรียกร้องประเด็นการควบคุมค่าเช่านาจากการขึ้นค่าเช่านาตามอำเภอใจจากเจ้าของที่ดิน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาข้าวของไทยตกต่ำ จึงเกิดการเรียกร้องการตราพระราชบัญญัติการควบคุมค่าเช่านาจนสามารถออกเป็นกฎหมายได้ในปี 2517 เรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของการต่อสู้ของชาวนาที่ทำให้ชาวนามีที่ดินทำกินโดยไม่ถูกกดขี่
แต่กระนั้นเอง ระหว่างปี 2517-2522 แกนนำชาวนาหลายคน ถูกสังหาร บางคนได้รับบาดเจ็บ หลายคนหายสาบสูญ ซึ่งในปี 2518 เป็นช่วงที่มีการลอบสังหารที่รุนแรงที่สุด แกนนำชาวนากว่า 21 ชีวิตถูกสังหาร หนึ่งในนั้นคือ พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ และรองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย
การเรียกร้องในจังหวัดเชียงใหม่นั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตัวเมืองซึ่งเป็นศูนย์รวมของหลายหน่วยงาน ด้วยการเดินทางไปและกลับของเหล่าชาวนานั้นยากลำบากรวมไปถึงที่พักในตัวเมืองเชียงใหม่นั้นหาได้ยากยิ่ง สวนอัญญาจึงเป็นที่พักผิงให้กับเหล่าชาวนาที่เข้ามาเคลื่อนไหวในตัวเมือง
“ผมรู้จักครูองุ่นเมื่อปี 2518 ช่วงที่กลุ่มนักศึกษาและสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถูกจับถูกลอบสังหารในช่วงเวลานั้นครูองุ่นมีที่ดินข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอนุญาตให้นักศึกษาใช้พื้นที่ในการพูดคุยและการทำกิจกรรม เมื่อนักศึกษาถูกจับ ครูองุ่นก็มาประกันตัวให้นักศึกษา โดยใช้ทรัพย์สินของตัวเองมาค้ำประกันตลอด ตอนนั้นมีครูองุ่นเพียงคนเดียวที่มาช่วยเหลือ”
และด้วยความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับเหล่านักศึกษาช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ครูองุ่น ได้ถูกตั้งข้อหาเป็นภัยสังคม และถูกควบคุมตัวไปยังศูนย์การุณยเทพ จังหวัดเชียงใหม่
“ผมกับครูองุ่นมาสนิทกันจริงๆ ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ครูองุ่นถูกจับเข้าศูนย์การุณยเทพ เชียงใหม่ ในขณะที่พวกผมหนีเข้าป่าที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ก็มาถูกทหารจับกุมและถูกส่งตัวไปที่ศูนย์การุณยเทพเหมือนกัน เลยได้พบและได้คุยกัน แต่เราก็ต้องทำแกล้งเป็นไม่รู้จักกันเพราะกลัวว่าจะโดนสอบสวน” มนัสเล่าถึงช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมในช่วงเวลายากลำบากกับครูองุ่น
มนัสบอกว่า ช่วงที่ใกล้จะได้รับการปล่อยตัว มนัสและเพื่อนๆ ก็มานั่งจับเข่าคุยกับครูองุ่นถึงอนาคตในวันข้างหน้า ครูองุ่นบอกว่าหลังจากออกจากที่นี่จะกลับกรุงเทพฯ ไปก่อตั้งมูลนิธิ (มูลนิธิไชยวนาในปัจจุบัน) และชวนมนัสไปทำงานด้วย แต่มนัสบอกอาจารย์ว่าถ้าได้ออกจากที่นี่ก็จะกลับไปเข้าป่าอีกครั้ง โดยสัญญาว่าถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ก็จะมาช่วยครูองุ่นทำมูลนิธิ ต่างคนต่างแยกย้ายในทางที่เลือก ครูองุ่นก็ไปทำมูลนิธิตามแบบที่คิดเอาไว้ ส่วนมนัสและเพื่อนๆ ก็เข้าป่าจนถึงช่วงที่รัฐบาลประกาศนิรโทษกรรม และออกจากป่าในปี 2526
ตุ๊กตาหุ่นมือ สมบัติที่มีค่ายิ่งเงินตรา
ชญาณิฐ สุนทรพิธ หรือ “ป้าวิ” ที่คนรุ่นใหม่ที่เข้าในใช้พื้นที่สวนอัญญาในปัจจุบันมักเรียกกันจนติดปาก เธอคือผู้ที่อยู่ดูแลสวนอัญญามากว่า 35 ปี เล่าถึงความทรงจำติดตลกของครูองุ่นขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์การุณยเทพว่า
“ครูถูกจับเข้าศูนย์การุณยเทพข้อหาเป็นภัยต่อสังคม ต้องเข้าอบรมกว่า 9 เดือนเต็ม แต่ด้วยอาจารย์เขาเป็นนักวิชาการ เป็นคนช่างพูด โน้มน้าวใจเก่ง เขาอยู่ไหนเขาก็พูดได้ เขาไปอบรมพวกข้าราชการ กอ.รมน. จนเป็นพวกฝ่ายซ้ายหมด อาจารย์เขาปฏิบัติธรรมทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน ชวนเจ้าหน้าที่หรือใครที่โดนจับมาปฏิบัติธรรมด้วยกัน”
หลังได้รับการปล่อยตัว ครูองุ่นกลับมาอยู่ที่บ้านซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ และได้ใช้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตทุ่มเทไปกับการประดิษฐ์หุ่นมือนับหมื่นๆ ตัวเพื่อมอบให้เด็กผู้ยากไร้ ก่อตั้งคณะละครหุ่นมือและออกแสดงตามชนบท และจัดตั้ง “มูลนิธิไชยวนา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กยากไร้ในภูมิภาคต่างๆ การส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยสาธารณสุขต่อประชาชน รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมอำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม
“มีครั้งหนึ่งที่ไปเยี่ยมครูองุ่นที่บ้านซอยทองหล่อ อาจารย์ก็พูดกับเราว่า ‘ไอ้วิ! เดี๋ยวครูจะพาไปดูสมบัติมรดกของฉัน’ ครูก็พาไปดูหีบ พอเปิดหีบขึ้นมาก็มีแต่หุ่นมือที่แกประดิษฐ์ขึ้นมา หุ่นรูปควายบ้าง หุ่นรูปนกบ้าง ครูก็บอก “ครูเนี่ยคิดถึงเด็กชนบทที่เขาไม่มีตุ๊กตาเล่น ครูรักสิ่งนี้มาก” ตอนแรกก็คิดในใจ “ครูคะ นี่คือทรัพย์สมบัติของครูเหรอ?”
หุ่นมือเหล่านี้คือความสุขของครู ชญาณิฐเล่าถึงความห่วงใยของครูองุ่นที่มีต่อเด็กๆ ที่ไร้โอกาส ความห่วงใยถูกแปลงสภาพออกมาในรูปลักษณ์ของตุ๊กตาหุ่นมือ
นอกจากนี้ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย หนึ่งในผู้ที่ทำงานใกล้ชิดในช่วงเวลาบั้นปลายของครูองุ่น ก็ได้เล่าถึงมุมมองของครูองุ่นที่มีต่อละครหุ่นมือว่า
“โดยพื้นฐานแล้วแกชอบละคร เพราะว่าละครมันมีกระบวนการที่ทำให้คนได้ใช้ความคิด ทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำหน้าที่ที่หมุนเวียนกันไปให้ครบ เสน่ห์ของละครมันอยู่ตรงนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ หรืออาจจะพูดได้ว่ากระบวนการสร้าง ‘ละคร’ มันสร้าง ‘คน’ แกก็เลยสนใจการทำละคร ไม่ว่าจะเป็นทำคณะละครหุ่น เขียนบทละคร สอนเย็บหุ่นมือ หรือแม้กระทั่งการมีพื้นที่ให้คนได้ทำละคร”
ครูองุ่นเชื่อว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ พอแกอายุมากขึ้น แกก็จะสนใจเรื่องเด็ก เพราะถ้าเด็กมีคุณภาพ มีวิธีคิดที่ถูกต้อง มีพื้นที่ต่างๆ ที่ทำให้เขาได้เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ผลดีอื่นๆ ก็จะตามมา
ไม่กี่ปีต่อมาหลังจากที่ครูองุ่นได้รับการปล่อยตัวจากศูนย์การุณยเทพ ในปี พ.ศ. 2526 ปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยความศรัทธาของครูองุ่นที่มีอุดมการณ์ของปรีดี ครูองุ่นจึงได้ยกที่ดินบางส่วนในซอยทองหล่อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ให้คงอยู่ในสังคมไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงเกิดขึ้นบนที่ดินผืนนี้ในปี 2538 และสานต่อภารกิจเพื่อสังคมและศิลปวัฒนธรรม และข้างๆ กันนี้ สวนครูองุ่นทองหล่อ ก็ได้เปิดพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมทางสังคม ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิกระจกเงา
ซึ่งก็รวมไปถึงที่ดินเนื้อที่ 571 ตารางวา บ้านเลขที่ 1 ซอย 3ค. ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่รู้จักในนาม สวนอัญญา ก็ยังคงสานต่อความคิดเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องภายใต้การดูแลของมูลนิธิไชยวนา และกลุ่มลานยิ้มการละคร
หลังจากที่ครูองุ่นได้ยกพื้นที่ของตนเองให้เป็นของสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2529 ครูองุ่นได้เริ่มป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งลูกศิษย์ได้ปรนนิบัติดูแลช่วงชีวิตสุดท้ายของครูองุ่นเป็นอย่างดี จนกระทั่งครูองุ่นได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบในวันที่ 21 มิถุนายน 2533
“ข้าพเจ้าหวังว่าบุคคลรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินการกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดก้าวไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป และถือเป็นภาระหมายเลขหนึ่ง ในอันที่จะสงวนรักษาผืนดินแห่งนี้ มิให้ตกไปเป็นที่รับใช้กิจการอย่างอื่นในเชิงธุรกิจเต็มรูปแบบ เช่นให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาลงทุน”
– ครูองุ่น มาลิก
Creative Space เจือปนความสร้างสรรค์
กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย กลุ่มลานยิ้มการละคร ศิลปินคนทำงานสร้างสรรค์ที่เข้ามาใช้พื้นที่สวนอัญญาในการสร้างงานรวมไปถึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาดูแลพื้นที่นี้กว่า 6 ปีเต็ม บอกถึงจุดเด่นและความสำคัญของสวนอัญญา
“เราว่าสวนอัญญามีคุณูปการต่อผู้คนในสังคมแต่ละยุคสมัยมาก ด้วยความที่สวนมันไม่มีเจ้าของ เช่น ช่วงเวลานี้มีคนกลุ่มหนึ่งมาใช้พื้นที่ตรงนี้ พออีก 10 ปีก็มีคนกลุ่มใหม่เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งการที่สวนนี้มันไม่มีเจ้าของที่ชัดเจน มันเลยทำให้ไม่มีกรอบทิศทางในสวนแห่งนี้และกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างทางความคิด เช่น ในช่วงเวลา 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา บรรยากาศของที่นี่ก็จะค่อนข้างเป็นไปในแนวทางของฝ่ายซ้าย แต่พอผ่านยุคสมัยมาเป็นช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 บรรยากาศของที่นี่ก็จะยึดโยงกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น สวนอัญญาตรงนี้ก็เลยกลายเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย และสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ เพราะคนรุ่นเก่าที่เคยอยู่ที่นี่มีความใจกว้างมากพอ”
“คือจะมีสักกี่คนที่สามารถยกทรัพย์สินสมบัติส่วนตัวให้เป็นของสาธารณะได้ มีโรงแรมหนึ่งมาติดต่อขอซื้อที่ดินสวนอัญญา ครูองุ่นก็ตวาดสวนกลับไปว่า ‘ฉันไม่ขาย! ฉันจะขายไปทำไม!’ ซึ่งครูองุ่นก็ได้กำชับเหล่าลูกศิษย์ทุกคนว่าให้ช่วยกันรักษาผืนดินนี้ไว้ใช้ทำกิจกรรม อย่านำไปทำธุรกิจ” ชญาณิฐเสริม
ปัจจุบันสวนอัญญายังคงเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างที่นักศึกษา นักกิจกรรม NGOs ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางสังคมอยู่ตลอด
แลครู มองปัจจุบัน
“เรื่องนี้ผมคุยกันกับเพื่อนๆ ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ในบ้านเมือง อุปนิสัยส่วนตัวของครูเองก็เป็นคนที่ไม่เพียงยืนอยู่ข้างหลัง แต่ว่าครูองุ่นเป็นนักปฏิบัติ ครูองุ่นเสียชีวิตเมื่อปี 2533 ปีถัดมาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็ทำการรัฐประหาร ซึ่งถ้าเรากลับมาคิดอีกทีว่าถ้าตอนนั้นครูองุ่นยังไม่เสียชีวิต ลูกศิษย์หรือคนใกล้ชิดของแกก็จะรู้สึกทุกข์ใจมากๆ แต่ในทางกลับกันเมื่อครูองุ่นไม่อยู่แล้ว แล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น พวกเราก็รู้สึกสบายใจ เพราะว่าอยากให้ครูได้ ‘พัก’ เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ขึ้น แกจะยืนอยู่เคียงข้างกับผู้ทุกข์ยากเสมอ ถ้าเป็นเรื่องของความทุกข์ยาก แกก็จะเจ็บปวดมากกว่าเรา แต่ในความเป็นจริงเราก็อยากให้ครูองุ่นที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งชีวิต มีความสุขกับชีวิตได้แล้ว”
สินธุ์สวัสดิ์พูดถึงประเด็นที่ว่าถ้าครูองุ่นยังมีชีวิตอยู่ ครูองุ่นก็คงจะทำเหมือนกับช่วงเวลาที่ยังอยู่ เพราะครูอยู่เคียงข้างผู้ทุกข์ยากเสมอ
“ในปี 2549 ผมเพิ่งมาทราบว่าครูเสียชีวิตลงแล้ว ผมก็จำคำพูดที่เคยพูดกับครูองุ่นตอนอยู่ในศูนย์การุณยเทพได้ว่าจะมาช่วยงานมูลนิธิของครู ผมก็เลยลาออกจากงานอาจารย์ มาช่วยงานมูลนิธิไชยวนาและก่อตั้งโครงการสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องอนามัยสาธารณสุข เกษตรอินทรีย์ และปัญหาเรื่องที่ดินทำกินต่างๆ” มนัสเล่าถึงความผูกพันและคำสัญญาที่มีกับครูองุ่น
“ต้องแบ่งออกเป็น 2 มุมมอง ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักครูองุ่นมาก่อน เขาจะมองว่าครูเป็นบุคคลสำคัญในสังคม แต่ในมุมมองของเราที่ศึกษาชีวประวัติของครูองุ่นมา เรารู้สึกว่าครูองุ่นเขาใช้ชีวิตไปตามยุคสมัย โดยไม่ได้มองว่าสิ่งต่างๆที่แกสร้างขึ้นมามีลักษณะเป็นนิรันดร์ พูดง่ายๆก็คือครูองุ่นไม่ได้มองว่าตัวเองจะมาเป็นบุคคลสำคัญในอีก 30 ปีต่อมา แต่ในช่วงเวลาที่แกมีชีวิตอยู่ เรารู้สึกว่าชีวิตครูองุ่นผจญภัยมากๆ ผจญภัยมากพอที่จะเป็นตัวของตัวเองจนกระทั่งแกเสียชีวิตลง มันทำให้เรารู้สึกศรัทธาความคิดของครูองุ่นที่ครูเชื่อว่าเหมาะสมและกล้าทำลงไป ซึ่งครูองุ่นก็เป็นเพียงคนไม่กี่คนที่กล้าออกมา Take-Action กับปัญหาทางสังคมไทยในยุคสมัยนั้น” กอล์ฟบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อครูองุ่น ทั้งมุมมองก่อนและหลังจากที่ได้รู้จัก
หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้คนที่มีความทรงจำกับครูองุ่นเรียบร้อยแล้ว ในช่วงค่ำคืนวันเดียวกันนั้นเอง มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Ikiru” (1952) กำกับโดย อากิระ คุโรซาว่า ภาพยนตร์ที่ฉายเรื่องราวของชายญี่ปุ่นวัยใกล้เกษียณที่พบว่าตนป่วยเป็นโรคร้าย ทำให้เขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยไม่หวังชื่อเสียง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของครูองุ่นในช่วงบั้นปลาย หลังจากการฉายภาพยนตร์สิ้นสุดลง ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อค้นหาความหมายและสัญญะที่ซุกซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ ก่อนจะแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตนเองในวันต่อไป
การสัมภาษณ์เหล่านี้เป็นการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดห้วงเวลาชีวิตของครูองุ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงต้นหรือช่วงปลายชีวิตของครูองุ่น รวมไปถึงผู้ที่สืบทอดเจตนารมณ์ของครูองุ่นมาถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความทรงจำที่มีต่อครูองุ่น และคุณูปการที่มีต่อสังคมไทย
ถึงแม้ในปัจจุบันครูองุ่นจากโลกนี้ไปอย่างสงบแล้ว แต่มรดกทรัพย์สินของครูองุ่นอย่างสวนอัญญา จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านของครูองุ่นในย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ รวมไปถึงอุดมการณ์อันกว้างใหญ่ที่ครูองุ่นได้ทิ้งร่องรอยไว้เป็นประวัติศาสตร์ ยังคงสร้างประโยชน์ให้สังคมไทยได้ขับเคลื่อนและเดินหน้าอย่างมีความหวังดั่งที่ครูองุ่นยึดถือต่อไป
อ้างอิง
ครูองุ่น มาลิก : รำลึก 30 ปีที่จากไป100 ปี ชาตกาล ‘องุ่น มาลิก’ จากดาวจุฬายุค 2480 สู่ครูผู้เป็นตัวอย่าง ผู้สร้าง และผู้ให้
ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ของปรีดี พนมยงค์
การสังหารชาวนาก่อน ‘6 ตุลา 19’
โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com