เวทีถกแนวทางส่งเสริมธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานตามแผน NAP on BHR ระยะที่ 2

19 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรม ibis Styles Chiang Mai | Hotel อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ Solidarity Center และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกันจัดโครงการเวทีเสวนาว่าด้วย “แนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (NAP on BHR) ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความสำคัญและสร้างความเข้าใจของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับด้านงานคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการ แรงงาน รวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการแสวงหาการทำงานร่วมกัน และระดมความคิดเห็นที่สามารถนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน

เปิดพื้นที่เข้าใจหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หาแนวทางแก้ไขข้อท้าทายด้านแรงงาน

มีการกล่าวเปิดเวทีสัมมนา ‘แนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (NAP on BHR)’ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยณรงค์ เหลืองวิลัย คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานต้อนรับผู้เข้าร่วมโดยเน้นย้ำว่า ในฐานะฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และทำงานในประเด็นดังกล่าวร่วมกับเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการมาอย่างยาวนาน รวมถึงประเด็น Business and Human Rights ด้วยเช่นกัน อาทิ การร่วมจัดงานเพื่อติดตามความคืบหน้าของ NAP 1 และมีข้อเสนอบางส่วนเพื่อการพัฒนา NAP 2 มีงานวิจัยศึกษาในประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีการศึกษาและติดตามประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดน สำหรับงานในวันนี้ ทางคณะนิติศาสตร์ Solidarity Center และ มสพ. ต้องขอขอบคุณผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรรมการนโยบายเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่  ภาคเอกชน/สภาหอการค้า อีกทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยหวังว่าเวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจในหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติ การพิจารณาถึงข้อท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในด้านแรงงาน และการแสวงหาแนวทางร่วมกันในการก้าวข้ามข้อจำกัดหรือข้อท้ายต่าง ๆ ต่อไป

ด้านเพ็ญพิชชา จรรย์โกมล มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวต้อนรับงานประชุมโดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจในเรื่องของหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติ โดยองค์การสหประชาชาติ ได้ออกหลักการชี้แนะด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน  (UN Guiding Principle on Business and  Human Rights: UNGPs) เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปรับใช้และดำเนินการเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจทั้งห่วงโซ่  และประเทศไทยได้รับหลักการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งได้นำหลักการชี้แนะฯ กรอบในการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plans: NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ซึ่งปัจจุบันได้มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านแรงงาน (Labour) 2. ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Environment) 3. ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Defender) และ 4. ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ (Investment) หรือ LEDI เพื่อให้เกิดการคุ้มครองประชาชนและชุมชนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงป้องกันบรรเทา หรือแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบเชิงลบอันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ในภาคเหนือ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี 31 ม.ค. 2566 ซึ่งได้ประกาศให้ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลําพูน และลำปาง เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ที่ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดิจิทัล ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร รวมถึงท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) โดยมีแนวคิดว่าจะนำแนวคิด BCG Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาเป็นกรอบของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เพื่อเป้าหมายในการส่งเสริมการกระจายความมั่งคั่งจากศูนย์กลางสู่ภูมิภาค แต่สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของฝั่งแรงงานในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาคเกษตร แรงงานทำงานบ้าน  แรงงานก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งแรงงานจ้างเหมาบริการ ฯลฯ โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างชาติ หรือแรงงานชาติพันธุ์ ทำให้แรงงานนอกระบบในส่วนภูมิภาคเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมายขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแรงงานในภูมิภาคจังหวัดภาคเหนือมีสัดส่วนสูง อันเนื่องมาจากการได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐกำหนด รวมถึงการใช้สิทธิประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพ จนถึงเรื่องวันหยุดวันลาที่ไม่ชัดเจน เป็นต้น

ทั้งนี้ David John Welsh ผู้อำนวยการโครงการของ Solidarity Center ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกฎหมายไทยเท่านั้นที่จะทำให้แรงงาน รวมถึงแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพหรือตั้งสหภาพได้ แต่ยังรวมไปถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรีที่เกี่ยวกับการเจรจาระดับนานาชาติ ฉะนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงาน ภาคนายจ้างหรือผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติก็มีส่วนในการรับผิดชอบและต้องเคารพด้านสิทธิมนุษยชน

กรมคุ้มครองสิทธิฯ เปิดตัวแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2567) เน้นมาตรการบังคับภาครัฐ-ภาคสมัครใจภาคธุรกิจ

ต่อมาภายในงานได้เริ่มต้นการนำเสนอที่มีชื่อว่า “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2567)” โดยผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระทรวงยุติธรรม อานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กองมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของ NAP ระยะที่ 2 คือ ภาครัฐจะต้องขับเน้นในเรื่องของมาตรการการบังคับโดยใช้เครื่องมือออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของภาคธุรกิจ/รัฐวิสาหกิจนั้นยังคงใช้มาตรการภาคสมัครใจ โดยภาครัฐคาดหวังให้เพียงภาคธุรกิจดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและมีความรับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีหน้าที่ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐบาลเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามแผนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

อานนท์ เผยว่าแนวทางข้อเสนอที่ทางหน่วยงานภาครัฐได้มีให้กับภาคธุรกิจที่จะต้องควรดำเนินการตามกรอบของ NAP ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายเกี่ยวกับด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านแรงงาน การจัดหางานที่เป็นธรรมและการขึ้นทะเบียนแรงงาน การคุ้มครองช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน และการฝึกอบรม การขจัดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิดและการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางแรงงานการดูแลบุตรแรงงานข้ามชาติ การจัดช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานการส่งเสริมการดำเนินงานของภาคธุรกิจให้เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบร้องทุกข์ การอำนวยความยุติธรรมผ่านกลไกเยียวยา และกลไกการระงับข้อพิพาท ดังนั้น กลไกการขับเคลื่อน NAP จะดำเนินโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติฯ ผ่านทั้งกลไกระดับประเทศและระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ

ถกแนวทางส่งเสริมธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนกับแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ

ต่อมาในเวลา 09.40-10.30 น. มีการจัดเวทีเสวนาว่าด้วย “แนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ภายใต้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (NAP on BHR) ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยผู้แทนจากกรรมการนโยบายเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ผู้แทนจากจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนภาคเอกชน/สภาหอการค้า และผู้แทนแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานไทย

บุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒน์ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่นั้นถือเป็นการส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงุทนเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทว่าเงื่อนไขหนึ่งของการได้สิทธิประโยชน์ทางธุรกิจจากการลงทุนตามเป้าหมายคือ การที่ภาคธุรกิจได้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เท่าทันกับอุตสาหกรรมแบบใหม่ในอนาคต โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือการวิจัยพัฒนา ทั้งนี้  ความก้าวหน้าของพื้นที่ในภาคเหนือคือ การมีจุดเน้นในเรื่องของ ‘Creative LANNA’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาความเจริญของกลุ่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อไม่ให้ความเจริญกระจุกตัวอยู่เพียงกรุงเทพมหานครเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งเป็นการสร้างแนวนโยบายและการขับเคลื่อนส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน อาจกล่าวได้ว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจึงถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินการ และให้สิทธิพิเศษต่อผู้ลงทุนธุรกิจที่ดำเนินการตามแนวทางของรัฐ  ฉะนั้น โครงสร้างกลไกระดับชาติจะต้องเป็นตัวประสานเชื่อมรายละเอียดของแผนแต่ละแผนเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแผนปฏิบัติฯ อย่างกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ควรดำเนินการเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงการคุ้มครองด้านแรงงานไปควบคู่กัน อีกทั้งควรมีโครงการที่ขับเคลื่อน ประเมินผล และสามารถกระจายลงไปในพื้นที่ได้ปฏิบัติ

เดชา ยิ่งรักสกุลชัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ความต้องการแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือของภาคส่วนเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลักที่ถือเป็นอุตสาหกรรมระดับพื้นฐาน ยังคงมีความต้องพึ่งพาแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก ซึ่งมักที่จะมีประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องในแง่ของการละเมิดสิทธิฯ ระหว่างกันทั้งนายจ้างและแรงงานที่ไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมาย ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างที่เป็นผู้ประกอบการและแรงงานที่เป็นลูกจ้าง เดชากล่าวว่า หากดูในรายละเอียดและพูดอย่างเป็นธรรมต้องมองปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายลูกจ้างต้องพิจารณาตนเองว่าทักษะของตนนั้นเหมาะสมกับงานหรือมีคุณสมบัติที่จะสามารทำงานนั้นได้หรือไม่ โดยที่จะไม่เป็นอันตรายหรือเสี่ยงภัยจนเกิดอุบัติเหตเนื่องจากการขาดทักษะ ขณะเดียวกันในด้านของสถานประกอบการก็จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในเรื่องของภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เดชาจึงได้ให้ข้อเสนอแนวทางส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ในแง่ของการพัฒนากฎหมายคุ้มครองแรงงาน การอบรมสร้างความรู้แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการสร้างกลไกการพูดคุยในสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจในกฎหมายแรงงาน และความตระหนักในในสิทธิบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะให้ทั้งสองฝ่ายศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายแรงงานให้ถ่องแท้ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน โดยนายจ้างควรคำนึงถึงความเหมาะสมของงานและแรงงาน เพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ที่ทุกคนทำงานอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่แค่ทำงานหนัก

“ในแง่ผู้ประกอบการนะครับ เรื่อง Happy Workplace สถานที่ทำงานที่มีความสุขก็คือปลอดภัย ในเรื่องสถานที่ก็ต้องแข็งแรงปลอดภัยสวยงามและในงบประมาณที่เหมาะสม ผู้ประกอบการปัจจุบันอย่างการจ้างงานแม่บ้าน ภาคธุรกิจก็จ้างผ่านบริษัท ตรงนี้ก็ต้องดูว่าบริษัทนั้นทำตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ตรวจสอบเอกสารหน่วยงานราชการรับรองให้ครบถ้วน และควรใช้สิ่งนี้ในการพิจารณาการจ้างงานลูกจ้างผ่านบริษัท” เดชา กล่าว

นอกจากนี้ เดชา กล่าวว่า อย่างเรื่อง NAP on BHR เป็นเรื่องที่สภาอุตสาหกรรมต้องทำ คนทำภาคธุรกิจจะปฏิเสธการไม่รู้เรื่องสิทธิของแรงงานไม่ควรเกิดขึ้น แม้แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานชาติไหนก็ควรปฏิบัติเท่าเทียมกัน เนื่องจากแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทย หากมีช่องทางให้รับเรื่องร้องเรียนในสภาอุตสาหกรรมก็จะเห็นได้ว่าองค์กรธุรกิจใดที่มีเรื่องเข้ามา ถ้าเป็นสมาชิกก็จะมีการพูดคุย หรือหากไม่ใช่สมาชิกก็ให้ทางหอการค้าทำหน้าที่ชี้ให้ภาคธุรกิจปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย  จนนำไปสู่คู่มือหรือข้อควรปฏิบัติที่ส่งให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคแรงงานให้เข้าใจในแนวทางปฏิบัติที่ควรเป็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

รุ่งทิวา จันทร์ศรี นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กล่าวว่า ปัญหาและข้อท้าทายในการจ้างงานในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องประเด็นแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ อาทิ การเปลี่ยนงานโดยไม่แจ้งนายจ้าง ส่งผลให้นายจ้างเดิมโดนค่าปรับ หรือการลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งปัญหาดังกล่าว รัฐบาล ในนามกระทรวงแรงงาน กำลังพยายามแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ยังคงมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายหลักที่ทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานเป็นไปได้ยาก ในส่วนของกรมการจัดหางาน กำลังดำเนินการนำเสนอแนวทางการขึ้นทะเบียนใหม่ให้สถานะแรงงานต่างด้าว มุ่งเน้นไปยังกลุ่มแรงงาน 4 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ที่มีเอกสารไม่ครบถ้วน หรือหมดอายุ หรือสิ้นสุดการอนุญาตทำงาน โดยจะเปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนใหม่เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านข้อเสนอแนวนโยบายของกระทรวงแรงงาน ปี 2567 ที่เสนอให้มี One Stop Service และให้ภาคเอกชนมาเป็นผู้ดำเนินการในการขึ้นทะเบียนให้จบภายในที่เดียว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปีงบประมาณหน้า ณ โลตัสหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนที่เปลี่ยนตามมติคณะรัฐมนตรี รุ่งทิวา กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาล่าสุดจะมีการกำหนดนโยบายเพื่อให้มีความชัดเจน มีหลักปฏิบัติ คำนึงถึงการออกกฎหมาย การนำเข้าแรงงานต้องนำเข้าอย่างมีระบบ ถูกต้องตามกฎหมาย และตอบสนองความต้องการแรงงานตาม MOU ยุทธศาสตร์การป้องกันและส่งกลับ เพื่อไม่ให้มีการแอบซ่อนแรงงานและนายจ้างต้องนำแรงงานเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ได้

Nan saw yin ประธานสหพันธ์คนงานข้ามชาติ/ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ความท้าทายและปัญหาอุปสรรคของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ต้องเผชิญกับเรื่องการแบกรับค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารประจำตัวที่มีราคาสูง ซึ่งนายจ้างบางรายมักผลักภาระค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารให้แรงงาน หรือบังคับให้ใช้บริการนายหน้า ทำให้แรงงานต้องจ้างนายหน้าซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งที่ตามกฎหมายนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วน และการเข้าไม่ถึงสิทธิทางสุขภาพ เช่น ระบบประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน แต่ขณะเดียวกันแรงงานเหล่านี้ก็ทำงานที่มีความเสี่ยงที่มักไม่ได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และขาดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จะทำงานด้านภาคภาคเกษตร ปศุสัตว์ ก่อสร้าง และบริการ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงได้ก็ทำให้มีหลายคนที่เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ได้รับการดูแลคุ้มครอง หรือต้องอยู่อย่างยากลำบากและผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งในภาคเหนือแรงงานข้ามชาติกว่า ร้อยละ 50 เข้าไม่ถึงสิทธิประกันสุขภาพ อีกทั้ง ความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิในที่ทำงาน อาทิ การขาดความเป็นส่วนตัว และการถูกคุกคามทางเพศ นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติยังประสบข้อท้าทายด้านเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารของแรงงานที่กำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบ คุัมครองคนทำงานทุกสาขาอาชีพด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ รวมถึงการพิจารณาในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Convention) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมให้เกิดขึ้นกับแรงงานทุกภาคส่วน

ระดมสมองทุกภาคส่วนส่งเสริมธุรกิจรับผิดชอบ-เคารพสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน

ต่อมาในเวลา 11.00-12.00 น. มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อ “แนวทางความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน ในประเด็นด้านแรงงาน” โดยผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนจากกรรมการนโยบายเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ผู้แทนจากจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนภาคเอกชน/สภาหอการค้า และผู้แทนแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานไทย

“แรงงานภาคเหนือมีความพิเศษที่ส่วนมากจะเป็นแรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับแรงงานสัญชาติไทยมีสถานะเปราะบางมากกว่า และการมองเพียงแต่ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมองให้เห็นภาพรวมของห่วงโซ่ธุรกิจ นอกจากนี้มาตรการเชิงสมัครใจสำหรับภาคธุรกิจอาจไม่เพียงพอ ขอเสนอให้พิจารณาว่าควรจะมีกฎหมายส่งเสริมให้ภาคธุรกิจต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นอยากให้มีความสำคัญมากขึ้นกับการคุ้มครองแรงงาน” กรกนก กล่าว

กรกนก วัฒนภูมิ ETOs Watch กล่าวว่า ในพื้นที่เชียงใหม่ภาครัฐอาจต้องเริ่มต้นจากการค้นหาว่าห่วงโซ่อุปทานในเชียงใหม่เป็นอย่างไร โดยกำหนดประเภทกิจการในภาคธุรกิจขึ้นมาศึกษา อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการเกษตร เนื่องจากแต่ละประเภทกิจการมีความแตกต่างกัน เมื่อมีภาพของห่วงโซ่ธุรกิจในพื้นที่ภาคเหนือชัดเจน  ก็จะมองเห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน

ในส่วนของการคุ้มครองและเยียวยา มีกลไกที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น สถาบันการเงิน มีเกณฑ์ในการปล่อยกู้ที่พิจารณาถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกลไกของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  ที่กำหนดให้ผู้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเขียนรายงาน 56-1 One report เพื่อสะท้อนว่าห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ห่วงโซ่ทางธุรกิจของตนสอดคล้องกับหลักสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หรือหลัก ESG (Environment, Social and Governance) ฯลฯ  และหากเราทราบว่ามีใครที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่นี้ก็จะสามารเรียกร้องแสวงหาการคุ้มครองและเยียวยาให้เกิดขึ้นได้จริง

อย่างไรก็ดี มาตรการต่าง ๆ ที่มีต่อภาคธุรกิจยังคงเป็นมาตรการในเชิงสมัครใจ ดังนั้น กรกนก มีข้อเสนอว่า จะต้องยกระดับแผน NAP โดยกำหนดตัวชี้วัดว่าภาคธุรกิจได้ดำเนินการในเรื่องใดแล้วบ้าง และที่สำคัญคือการปรับจากมาตรการสมัครใจเป็นมาตรการในเชิงกฎหมาย โดยหน่วยงานรัฐจะต้องพิจารณาถึงการจัดทำกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่อไป ซึ่งเป็นทิศทางที่ประเทศไทยต้องเดินไป ดังจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศมีการขยับไปมากแล้ว

“สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ กฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) ที่ผ่านจากสภาฯ ในยุโรปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อว่า CSDDD ซึ่งประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศจะอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เพราะฉะนั้นใครที่ทำการค้ากับ EU ก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้” กรกนก กล่าว

กรกนก ได้ยกตัวอย่างกลไกต่างประเทศ อย่างกรณีประเทศอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนีย มีกฎหมายภายในประเทศชื่อว่า ‘Modern Slavery Act’ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานทาสสมัยใหม่ และยังมีอีกหลายประเทศทีมีกฎหมาย ‘Human Rights Due Diligence (HRDD)’ หรือ ‘การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน’ อย่างประเทศเยอรมัน เรียกว่า ‘Supply Chain DD Act’ ถ้าเราทำธุรกิจกับประเทศเยอรมันก็จะเกี่ยวข้องทันที ในส่วนของประเทศนอรเวย์จะเน้นในเรื่องของ ‘การทำงานอย่างมีคุณค่า’(decent work) อีกทั้งประเทศฝรั่งเศสก็ยังเป็นประเทศแรกที่ ‘Duty of vigilance’ บังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องทำแผน HRDD โดยหากไม่ปฏิบัติตามก็สามารถฟ้องศาลฝรั่งเศสได้ และล่าสุดสหภาพยุโรปได้ประกาศว่าจะมี Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD)

นอกจากนี้ ยังมีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและจะต้องดำเนินการตามแนวทางชี้แนะที่ชื่อว่า ‘OECD Guidelines for Multinational Enterprises on Responsible Business Conduct’ ซึ่งมีข้อดีคือ เมื่อบริษัทไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจไม่ว่าที่ใดในโลก ถ้าไม่ทำตามผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อ ‘National Contact Points’ แต่ไม่ใช่สภาพบังคับ อย่างไรก็ดี จะต้องมีการเจรจาปัญหาต่อโครงสร้างนี้ ซึ่งมีการถกเถียงว่ายังเป็นจุดอ่อนของกลไก ในประเทศไทยเองนั้นทางกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ทำรายงานเรื่องนี้แล้ว และออกแบบ National Contact Points ของประเทศไทยว่าควรเป็นแบบใด ฉะนั้น การทบทวนเงื่อนไขการดำเนินการด้านธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นกรอบการดำเนินงานให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกอย่างไรและทำไมต้องปฏิบัติเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อาคม สุวรรณกันธา รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ข้อเสนอ 5 ข้อจากภาคเอกชน ดังนี้

1. ‘ยุทธศาสตร์ไทยใหม่’ ที่มีแนวปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติ หรือผู้อพยพเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยให้ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการสิทธิและถูกต้องตามกฎหมาย โดยเชื่อว่าหากภาครัฐสามารถตรวจสอบตรวจวัดข้อมูลคนเข้าเมืองอย่างแม่นยำ จะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แรงงานเหล่านี้เมื่อได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย (Permanent Resident) ก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒมนาประเทศและคืนภาษีเงินได้ให้ภาครัฐบาล 

2. ระบบ One Stop Service ต้องแม่นยำและประมวลผลสำเร็จ สามารถมีฐานข้อมูล Big Data ของรัฐที่ติดตามจำนวนประชากรข้ามชาติได้

3. กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ต้องแยกให้ชัดระหว่างเงื่อนไขของแรงงานคนไทยและคนต่างชาติ โดยออกแบบให้เหมาะสม

4. การแก้ไขจุดอ่อนของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรี และในรูปแบบการนำเข้าแบบ MOU ต้องแก้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ระบบปัจจุบันเอื้อให้แรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพิงนายหน้าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

5. การเคารพแรงงานทุกคนในฐานะที่เป็นเป็นคนทำงานเหมือนกันโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งต้องสร้างการเรียนรู้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้เคารพซึ่งกันและกัน ต้องมีความรู้สึกว่าคนเหล่านี้เข้ามาทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านระเบียงเศรษฐกิจของไทย

“การสร้างความตระหนัก การให้ความรู้ หรือรับฟังข้อเสนอจากภาคแรงงานยังไม่มีใครจัดเลย ทำอย่างไรให้แรงงานรู้จักสิทธิมนุษยชนและเข้าใจมากขึ้น เพราะจริง ๆ เรามีการขับเคลื่อนเรื่องการให้ Sex worker อยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนและเขียนเพียงว่ากลุ่มเปราะบาง การจ้างงานของสถานที่ราชการนิยมใช้ Sub Contract มันเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ฉะนั้นทำยังไงให้แผน NAP ระยะที่ 2 สามารถบังคับใช้ให้รัฐเลิกใช้การจ้างงาน Sub Contract เพราะคุณส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ศุกาญจน์ตา กล่าว

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวถึง ความคาดหวังต่อรูปธรรมในระยะ 2 ของแผน NAP ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน ฉะนั้นจึงมองว่า ธุรกิจกับการเคารพด้านสิทธิมนุษยชนยังมีความเลือนลางในการปฏิบัติจริง ในฐานะแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า การพูดเรื่องนี้เน้นที่ภาคธุรกิจมากกว่าภาคแรงงาน ไม่มีการส่งเสริมหรือพูดคุยกับกลุ่มแรงงานทั้งที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว และไม่มีโครงสร้างที่นำผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างการปฏิบัติ ฉะนั้น รูปธรรมสำคัญของ NAP-2 คือ รัฐต้องทำเป็นภาคีอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ที่ให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มและจัดตั้งเพื่อเป็นพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้ได้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง  พอกล่าวถึงเรื่องนี้ก็จะเห็นว่า ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติก็ยังมองเรื่องความมั่นคงเป็นหลักมากกว่าเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เรามีแรงงานข้ามชาติในเชียงใหม่เกือบแสนคน และปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แรงงานที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนยังคงถูกเลือกปฏิบัติ จำกัดเสรีภาพในการเดินทางได้ หากมองเรื่องของกลไกคุ้มครองหลักการธุรกิจบทบาทการเยียวยา ไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เยียวยาดี อาทิ กองทุนเงินทดแทน ประกันสังคม แต่การเข้าถึงสิทธิยังคงเป็นเรื่องยากและมีปัญหาเป็นจำนวนมาก เช่น การแจ้งเกิด หรือการรับสิทธิประโยชน์ค่าเลี้ยงดูบุตร ไม่รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่แม้แรงงานที่มีสิทธิก็ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างง่าย ฉะนั้นมองว่า NAP-2 จะเกิดขึ้นได้จริงรัฐจะต้องเห็นด้วยว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องรู้เท่ากันก่อนทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง