“…..ปุ๋นดีงืดล้ำ อึ่งขบงูต๋าย บ้านเมืองวุ่นวาย ป้อจายนุ่งซิ่น
ปู๊เมียผีต๋าย ซ้ำมาเยี๊ยะปลิ้น แป๋งปามาน ใส่ต๊อง
ปล๋าแห้งในไฟ จักไปอยู่ต๊อม ตั้งเหยี่ยนส้อม บนดอย
นกแอ่นฟ้า ต๋ายเปื้อคมหอย งัวแม่มอย ไล่ขบเสือแผ้ว…..”
ถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นคำประพันธ์ประเภท “คร่าว” หรือบทร้อยกรองของล้านนาที่ผู้เขียนยกขึ้นมาตอนต้นของบทความนี้ หากถูกอ่านด้วยน้ำคำ สำเนียงและเสียงในภาษาของคนเมืองอย่างถูกวรรคถูกตอนแล้ว คงอาจสร้างความคุ้นเคยในน้ำเรียงเสียงปากส่วนผู้ที่มักอ่านคร่าวบทสั้นๆนี้ผ่านผ่านทางหน้าปัดวิทยุ ในหลายช่วงเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงข่าวเช้า ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อราวสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา นี่จึงเป็นบทตั้งต้นก่อนเข้ารายการวิทยาของผู้ประกาศท่านหนึ่งซึ่งมักจะมีเอกลักษณ์ในการนำเสนอเนื้อหาสาระและข่าวสาร ตลอดจนเหตุการณ์ในบ้านเมืองด้วยภาษาคำเมืองที่ดัดเป็นเสียงของหญิงแก่สูงอายุ เธอรับบทในการเป็นผู้ประกาศข่าวภาษาท้องถิ่นที่คอยสะกิดต่อม คอยเม้าท์มอย และคอยเป็นแหล่งคลังข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นล้านนาที่มีความลุ่มลึกและช่ำชอง ตลอดจนมีลีลาในการเล่าเรื่องราวแบบจิกกัดเฉพาะตัวซึ่งหาตัวจับได้ยากยื่งนัก นี่คือความทรงจำที่คนทั่วไปจดจำเขาได้ในฉายานาม “ย่าบุญ” หรือชื่อจริง “อ้ายนิด ศิริพงษ์ ศรีโกไสย”
“ป้าอดผ่อบ่ได้ บ่นายเยี๊ยะหื้อป้าได้ผ่อ แต่งตั๋วก่อตันสมัย ขี่มอเตอร์ไซต์ก่อผ่อลอๆ (ป้านี้หยังมาชอบผ่อ (ซ้ำ)) สูเขารูปหล่อ ป้าอดผ่อบ่ได้”
เนื้อหาของบทเพลง ป้าอดผ่อบ่ได้ ขับร้องโดย ย่าบุญ เพลงลูกทุ่งคำเมืองที่ร้องแก้บทเพลง ลุงอดผ่อบ่ได้ ขับร้องโดย บุญศรี รัตนัง ศิลปินราชาลูกทุ่งคนเมืองผู้ล่วงลับนั้นมีความสนุกสนานและสะท้อนถึงจริตจะก้านตามไปจากหญิงสาวล้านนาผู้มีเสน่ห์ในนวนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนชาวกรุงเทพฯ สะท้อนถึงเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กับท่าทีและบุคลิกส่วนตัวของพวกขับร้องคนงานเพลงดังกล่าวได้ดีเป็นอย่างยิ่ง https://youtu.be/vReURtoSmPE?si=EV5cs1P62Ty_m4u1
ประกอบกับช่วงเวลาแห่ง Pride Month ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงเรื่องราวของบุคคลที่เป็น LGBTQ ตลอดจน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมวุฒิสภาก็ได้มีการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ในวาระ 3 ก่อนที่จะมีการบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ข้อเขียนนี้จึงอาจเป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ผู้เขียนปรารถนาที่อยากร่วมถ่ายทอดไว้เพื่อร่วมฉลองในวาระโอกาสดังกล่าว นั่นคือ การสร้างงานเขียนชิ้นเล็ก ๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สามัญชนหรือเรื่องเล่าที่มีต่อบุคคลธรรมดาผู้หนึ่งซึ่งถือได้ว่ามีสถานะและบทบาทต่อสังคมล้านนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ชื่อของ “ย่าบุญ” หรือ “อ้ายนิด ศิริพงษ์ ศรีโกไสย” ซึ่งผู้คนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมล้านนาเมื่อสองถึงสามทศวรรษก่อน มีความรับรู้ร่วมกันว่า น่าจะเป็นแรก ๆ ที่เปิดตัวให้คนอื่น ๆ ที่รู้จักเธอว่า LGBT ลำดับต้น ๆ ในแวดวงสาธารณะ แม้เธอเองจะได้ไม่แสดงกิริยาอาการอย่างชัดเจนโดยเปิดเผยตลอดเวลามากนัก แต่บทบาทที่เธอเป็นทั้ง “ครูสอนฟ้อน” ให้กับช่างฟ้อนหลาย ๆ หัววัดในเมืองเชียงใหม่และเป็นครูสอนเต้นที่เป็นผู้มีส่วนร่วมก่อตั้งวงดนตรีชื่อดังในตำนานอย่างคณะศรีสมเพชรร่วมกับคุณประสิทธิ์ ศรีสมเพชร หรือคณะละครซอย่าบุญแสงจันทร์ร่วมกับคุณแสงจันทร์ สายวงค์อินทร์ (ผู้ประพันธ์ผลงานเพลงหนุ่มซอรอแฟน) รวมไปถึงย่าบุญก็เป็นเบื้องหลังในการผลักดันการกำเนิดขึ้นของศิลปินซอหลายๆคนในยุคนั้นทั้งไอ่เก๋า-อีต่วม, บุญศรี รัตนังและบัวซอน ถนอมบุญ เป็นต้น ตลอดจนเป็นคนริเริ่มเอาทั้งวงดนตรีและคณะซอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำการแสดงออกโทรทัศน์ทางช่อง8 ลำปาง ชีวประวัติสามัญชนคนเมืองล้านนาอย่าง “ย่าบุญ” หรือ “อ้ายนิด ศิริพงษ์ ศรีโกไสย” บุคลากรดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขา นันทนาการ ประจำปี พ.ศ.2538 จึงควรค่าแก่การนำเล่าสืบไว้ให้ผู้คนรุ่นหลังได้รู้จักและจดจำในฐานะบุคคลที่เป็นความทรงจำร่วมทางสังคมหนึ่งในสายธารของประวัติศาสตร์สามัญชนคนล้านนา
“ย่าบุญ” เป็นนามฉายาที่สร้างชื่อเสียงให้กับศิริพงษ์ ศรีโกไสยให้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทางด้านวิทยุทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และหลายจังหวัดใกล้เคียงเมื่อประมาณสี่ทศวรรษก่อนหน้ามาจนถึงราวเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเขาลาลับจากโลกใบนี้ไป ชื่อเล่นของที่ถูกเรียกกันในบรรดาเพื่อนฝูงพี่น้องนักจัดรายการวิทยุ นักดนตรีและแวดวงศิลปะวัฒนธรรมล้านนาเรียกเขาว่า “อ้ายนิด” เขาเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2487 ที่บ้านช้างม่อย หน้าวัดหนองคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่ต่อมาถึงปัจจุบัน อายุของเขาในปีนี้คงจะเข้าสู่ปีที่ 80 ซึ่งในปีที่เขาได้จากไปนั้นอายุของเขาเพียง 54 ปีเท่านั้น (ย่าบุญเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2541) ย่าบุญจึงเป็นคนในเวียงเชียงใหม่โดยกำเนิด โดยเป็นบุตรของนายสวิง ศรีโกไสยและ นางจันทร์ดี ปัญญาอาคม (ที่เล่ากันว่าเป็นครูสอนช่างฟ้อนตามหัววัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่อีกด้วย) ย่าบุญ อ้ายนิดหรือนายศิริพงษ์จึงเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ซึ่งจากข้อมูลที่ผู้เขียนสอบถามและค้นพบได้ทราบมาว่าเขาได้ย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ย่านถนนราชดำเนินซอยข้างวัดพันอ้น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ตรงบริเวณด้านหลังวัดดอกคำ ซึ่งย่าบุญได้ใช้บ้านของเขาหลังนี้เป็นสถานที่เป็นสตูดิโอสำหรับผลิตรายการวิทยุและสื่อประชาสัมพันธ์ในช่วงชีวิตการทำงานของเขา
ภูมิหลังทางการศึกษาของย่าบุญนั้น จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบูรณศักดิ์วิทยาในปี พ.ศ.2498 และจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปีพ.ศ.2503 แล้วจึงกลับไปเรียนจบการศึกษาเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 แผนกวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนบูรณศักดิ์วิทยาจนกระทั่งจบการศึกษาในปี พ.ศ.2507 แล้วจึงได้ทำงานเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนแห่งเดียวกันนี้ (โรงเรียนบูรณศักดิ์วิทยาเป็นโรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ที่ปิดตัวลงไปแล้ว) ทั้งนี้ ย่าบุญ อ้ายนิดหรือนายศิริพงษ์เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยรักในศิลปะการละครและการแสดง รวมถึงการพากย์ภาพยนตร์ ตลอดจนชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เล็ก เขาได้มีประสบการณ์ฝึกหัดแสดงละครวิทยุกับครูเอนก พุทธศิริ ซึ่งเป็นครูประจำชั้นจนสามารถแสดงละครวิทยุได้และจากนั้นจึงได้ฝึกพากย์ภาพยนตร์กับคุณลุงศิลปิน สิทธิปัญญา จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ด้วยความที่ย่าบุญ อ้ายนิดหรือนายศิริพงษ์นั้นเป็นบุคคลที่ถือได้ว่ามีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะการแสดงติดตัวมาเป็นการเฉพาะทำให้ตัวของเขามีการสั่งสมประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เหล่านี้จนกระทั่งกลายมาเป็นความถนัดด้านการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากนั้น ขณะเดียวกันก็ได้รับโอกาสให้มาแสดงละครวิทยุที่สถานี ว.ส.ส.2 หรือสถานีวิทยุ ว.ป.ถ.2 เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยเริ่มต้นจากรายการที่เกี่ยวกับนิทานสำหรับเด็กในช่วงเวลาเที่ยงโดยใช้ชื่อรายการว่า “ยายกับตา” ขณะที่ในเวลาช่วงกลางคืนย่าบุญหรืออ้ายนิดก็ไปร่วมงานกับวงดนตรีคณะซีเอ็ม โดยรับหน้าที่อยู่ในแผนกช่างไฟด้วยความที่ตนเองนั้นมีทักษะฝีมือในเรื่องการเป็นช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในช่วงเวลาต่อมาเขามีบทบาทเป็นผู้ร่วมสร้างเครื่องขยายเสียงประเภทกำลังทุกประเภทในแก่ทั้งวงดนตรีและในแวดวงเครื่องเสียงด้วยความชำนาญ
ขณะเดียวกันในปี พ.ศ.2507 ก็ได้ร่วมกับคุณประสิทธิ์ ศรีสมเพชร ในการก่อตั้งวงดนตรีคณะศรีสมเพชร ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่โดยเริ่มพัฒนาวงให้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างซึ่งเขาก็เป็นผู้ริเริ่มนำดนตรีของจังหวัดเชียงใหม่ไปแพร่ออกอากาศที่ทีวีช่อง 8 ลำปาง เป็นคนแรกสมัยตั้งแต่ไม่มีทางรถยนต์ ขณะเดียวกันคนคิดสร้างสรรค์ของย่าบุญหรืออ้ายนิดนั้นยังไม่ได้หยุดเพียงแค่การทำวงดนตรีลูกทุ่งธรรมดาทั่วไปหากแต่เขายังเป็นผู้ริเริ่มนำเอาศิลปินช่างซอและละครซอนำไปแสดงที่ทีวีช่อง8ลำปางเป็นคนแรกอีกด้วยโดยเป็นผู้ให้การสนับสนุนนายสุรินทร์ หน่อคำ หรือไอ่เก๋า และสุจิตรา คำขัติหรืออีต่วม ตลอดจนศิลปินช่างซอชื่อดังในล้านนาที่ช่วงเวลาต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติอย่างบุญศรี รัตนังและบัวซอน ถนอมบุญ ตลอดจนศิลปินช่างซอในจังหวัดเชียงใหม่หลายคณะ ตลอดจนการจัดตั้งคณะละครซอและวงดนตรีที่ใช้ชื่อว่าคณะย่าบุญ-แสงจันทร์ ร่วมกับคุณแสงจันทร์ สายวงค์อินทร์ (ผู้ประพันธ์ผลงานเพลงหนุ่มซอรอแฟน) ซึ่งมีช่างซอฝีพระเอกแนวหน้าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างบัวซอน ถนอมบุญและบุญรัตน์ ป่าแงะเป็นศิลปินในสังกัดอีกด้วย
สำหรับผลงานในด้านการบริการสังคมในด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยการไปสอนการฟ้อนเล็บตามหัววัดต่าง ๆ ให้กับช่างฟ้อนหัววัดทั้งในพื้นที่ของอำเภอเมืองและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ให้มีความถูกต้องและเป็นมาตรฐานประมาณสามสิบกว่าหัววัดโดยที่ย่าบุญหรืออ้ายนิดไม่ได้คิดค่าจ้างเป็นเวลาร่วมสามทศวรรษซึ่งช่างฟ้อนแต่ละวัดที่เป็นลูกศิษย์ของย่าบุญหรืออ้ายนิดนั้นล้วนเป็นคณะช่างฟ้อนที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น ซึ่งตัวของย่าบุญหรืออ้ายนิดเองก็เป็นผู้ที่สืบทอดลวดลายการฟ้อนเล็บแบบฉบับมาจากแม่ครูนวลฉวี เสนาคำ (นักดนตรีและช่างฟ้อนรุ่นสุดท้ายของคุ้มหลวงนครเชียงใหม่)และแม่ครูเฉลิมศรี พรหมสุวรรณ (ผู้ซึ่งเป็นบุตรของครูรอด อักษรทับ และครูชั้น สุนทรวาชิน ปรมาจารย์ทางด้านดนตรีไทยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยสืบสายลายท่าฟ้อนมาจากคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมีผ่านสาย เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ )พร้อมทั้งไปขอคำปรึกษาจากแม่ครูสมพันธ์ โชตนา (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นาฏศิลป์พื้นบ้านล้านนา ประจำปีพุทธศักราช 2542) ขณะเดียวกันเครือข่ายช่างฟ้อนที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของย่าบุญจำนวนมากกว่า 200 คนก็เคยได้ร่วม ฟ้อนแห่ขบวนสงกรานต์เชียงใหม่ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลนครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 โดยทางย่าบุญได้ให้ความร่วมมือดังกล่าวต่อเนื่องมาหลายปี
การฟ้อนเล็บในแบบฉบับของย่าบุญ หรืออ้ายนิด ศิริพงษ์ ศรีโกไสยนั้น เรียกขานกันว่าเป็นฟ้อนครัวตาน (ฟ้อนนำหน้าขบวนแห่เครื่องครัวทานหรือไทยทานเข้าวัด “ครัวทาน” จึงประกอบด้วย เครื่องอัฐบริขารจิปาถะตั้งแต่ไม้กวาด หม้อน้ำ หม้อน้ำยา และเงินทอง ฯลฯ) ฟ้อนเมือง ฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเทียนในเวลาช่วงกลางคืนสามารถเรียกให้มีความแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ โดยส่วนมากใช้เป็นการฟ้อนนำขบวนแห่ของชาวบ้านจัดขึ้น โดยหากหมู่บ้านใดได้สร้างหรือบูรณะวัดเรียบร้อยแล้ว ก็ยังนิยมบอกบุญไปยังหมู่บ้านอื่นๆเพื่อมาร่วมฉลองเสนาสนะหรือการบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่างๆในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น ซึ่งย่าบุญหรืออ้ายนิดนั้น ได้ว่าเป็นบุคคลอีกผู้หนึ่งที่ล้วนผ่านการฝึกหัดการฟ้อนในลักษณะดังกล่าวนี้ในแบบฉบับโบราณซึ่งถูกส่งต่อมาจากเจ้านายในคุ้มหลวงราชสำนักเชียงใหม่ที่ได้มีการฝึกหัดดัดแปลงท่าฟ้อนครั้งสำคัญเมื่อคราวพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงฝึกหัดการฟ้อนเพื่อถวายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ประพาสหัวเมืองเหนือเมื่อปีพ.ศ. 2465 และการฟ้อนชนิดนี้ได้ขยายเป็นที่รู้จักในเหล่าบรรดาชาวกรุงเทพฯเมื่อ คราวงานสมโภชน์พระเศวตคชเดชดิลก ในพ.ศ. 2470 ต่อมาการฟ้อนในลักษณะดังกล่าวนี้ได้ซบเซาลงไปพักหนึ่งและมีการหัดฟ้อนขึ้นเป็นครั้งคราวแต่ลีลาท่าฟ้อนนั้นมีความแตกต่างกันออกไปโดยไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรที่แน่นอนแล้วแต่ครูฝึกจะดำเนินการสอนแบบไหนทั้งท่าทางและจังหวะการฟ้อน ฉะนั้น การฟ้อนในระยะนี้จึงแตกต่างกันออกไป ปีพ.ศ. 2474 เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ท่านเป็นผู้รักษาศิลปะทางนี้ได้รวบรวมเด็ก หญิงในคุ้มให้ครูหลวงเป็นผู้ฝึกในแบบท่า ลีลาต่าง ๆ โดยนี้เจ้าแก้วนวรัฐให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงประทานให้หม่อมแสงซึ่งเป็นหม่อมของท่านซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญในศิลปะการฟ้อนเป็นผู้ควบคุมการฝึกหัดในระยะนี้ต้องใช้เวลา และปรับปรุงท่าทางเครื่องแต่งกายและเครื่องดนตรีเพื่อความเหมาะสมเป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นแบบอย่างที่เชื่อถือได้ ในระหว่างที่ฝึกหัดท่าและลีลาการฟ้อนนี้ ก็ได้มีการจัดการแสดงต้อนรับแขกเมืองและให้ประชาชนชมอยู่เสมอ
เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐได้พิลาลัยไปแล้ว การฟ้อนรำเหล่านี้จึงได้ชะงักไป แต่ก็มีอยู่บ้างตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งช่วงเวลาต่อมาเมื่อประมาณปีพ.ศ 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จประพาสจังหวัดเชียงใหม่เหล่าบรรดาครูนักเรียนตลอดจนช่างฟ้อนจากหัววัดต่าง ๆ จึงได้มีการฟื้นฟูการฟ้อนเล็บขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเป็นการฟ้อนต้อนรับเสด็จ ตลอดจนใช้เป็นการฟ้อนเพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนพระทัยและสนใจต่อพระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันการฟ้อนแบบนี้มีอยู่ตามวัดต่าง ๆ และในหมู่นักเรียนนักศึกษาเพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น แม้ว่าลีลาการฟ้อนเมืองเป็นไปตามครูผู้สอนไม่ได้ยึดถืออะไรเป็นรูปแบบที่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ฟ้อนและเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ
นอกจากนี้บทบาทของย่าบุญหรืออ้ายนิดยังได้เป็นผู้นำวงดนตรีศรีสมเพชรไปบันทึกแผ่นเสียงที่ห้องบันทึกเสียงกมลสุโกศล กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ในปีพ.ศ.2511 โดยเพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงเป็นชุดแรกคือ เพลงเย็นฤดีหรือนางสาวเย็นฤดีขับร้องโดยวีรพล คำมงคล ซึ่งเป็นคนแต่งเองด้วย เนื้อเพลงเป็นคำเมืองผสมภาษาไทยกลาง เนื่องจากเนื้อหากล่าวถึง หญิงสาวที่ลืมกำพืดของตัวเอง สร้างตัวตนขึ้นมาใหม่หลังจากที่เริ่มพอจะมีชื่อเสียง โดยต่อมาในปีพ.ศ.2513 ได้คิดค้นทำนองเพลงซอพื้นเมืองมาประยุกต์เป็นดนตรีไทยสากลเป็นคนแรกและครั้งแรกของเชียงใหม่ คือเพลงหนุ่มซอรอแฟน(แฟน) ที่โด่งดังที่สุดโดยให้คุณแสงจันทร์ สายวงค์อินทร์ เป็นผู้แต่งเนื้อร้องจากทำนองซอเงี้ยวหรือเสเลเมา ขณะที่ในปีพ.ศ. 2514 ยังได้จัดรายการวิทยุที่สถานีวิทยุ บ.ก. แม่โจ้ร่วมกับคุณคำแปง ศรีสุวรรณในรายการที่มีชื่อว่า “ปัญหาอะไรเอ่ย” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาใช้นามสมมุติว่า “ย่าบุญ” ในการจัดรายการวิทยุและนี่จึงเป็นการตอกย้ำหมุดหมายให้กลายเป็นภาพจำที่คนเมืองล้านนาทั่วไปในวงกว่ามีต่อตัวเขา ในฐานะนักจัดรายการที่ใช้ “เสียงคนแก่ผู้หญิง” ดำเนินรายการ และต่อมาในปี พ.ศ.2518 ย่าบุญได้ย้ายมาจัดรายการที่สถานีวิทยุพลังงานทหารเรือ หรือ ว.พ.ท.703 โดยได้เป็นผู้อ่านข่าวเช้าด้วยลีลาภาษาคำเมืองในชื่อรายการว่า “ข่าวใกล้แจ้ง” และจัดเคยรายการที่ใช้เสียงผู้ชายปกติในชื่อผู้ดำเนินรายการเสียงหนุ่มชื่อ “วีรพันธ์ ศรีโกไสย” ดำเนินรายการทั่วภาคเหนือทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ ลำปาง แม่สอด และแม่ฮ่องสอน
สำหรับกระบวนการทำงานด้านวิทยุของย่าบุญหรืออ้ายนิด นักจัดรายการวิทยุทุกคนต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎของวิทยุกระจายเสียงโดยมีการบันทึกเทปและตรวจสอบเสียก่อนก่อนที่จะนำไปออกอากาศ การจัดรายการประเภทข่าวจึงต้องนำข่าวมาอ่านเพื่อทบทวนและวิเคราะห์ก่อนที่จะนำไปอ่านออกอากาศว่ามีผลต่อผู้ตกเป็นข่าวหรือจะนำไปสู่การเสียรูปคดีหรือไม่สิ่งเหล่านี้ล้วนถือเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของนักจัดรายการวิทยุที่ต้องคำนึงถึง ส่วนรายการเพลงนั้นจะจัดโดยการนำจดหมายที่ผู้ฟังและนำเข้ามาตรวจสอบดูก่อนว่าผู้ฟังนั้นแนะนำเพลงอะไรเข้ามาบ้างเพื่อที่จะได้เขียนชื่อเพลงให้กับผู้ควบคุมเสียงให้เปิดเพลงที่ขอมาได้อย่างถูกต้องซึ่งสำหรับย่าบุญคิดว่าการจากเพลงตามใจตัวเองเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อการจัดรายการ นอกจากนี้การแสดงละครวิทยุก็ยังเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เจ้าบุญระบุว่าต้องรู้ถึงผู้ประพันธ์บทว่าจะให้เราแสดงเป็นตัวอะไรเมื่อทราบแล้วก็นำบทมาอ่านและใช้ดินสอดำขีดเส้นใต้ของตัวละครนั้นก่อนจะทำการแสดงก็ต้องมีการอ่านเพื่อทบทวนบททุกครั้งและการแสดงละครวิทยุไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะแสดงเรื่องนอกบทที่ผู้ประพันธ์เขียนมาเพราะจะทำให้ตัวละครอื่นที่จะสนทนาคู่กันหาบทไม่เจอและนอกเหนือจากการจัดรายการวิทยุ ตลอดจนการแสดงละครวิทยุแล้วเรื่องบุญก็ยังมีความสามารถในเรื่องของการพากย์ภาพยนตร์อีกด้วย
แน่นอนว่าผลงานอันเป็นที่รับรู้ว่ามีความโดดเด่นสำหรับเขาศิริพงษ์ ศรีโกไสยคือการจัดรายการวิทยุโดยใช้ภาษาคำเมืองสลับเพลงในนาม เสียงคนแก่ผู้หญิง ใช้ชื่อว่า “ย่าบุญ” ซึ่งจัดมาเป็นเวลาเกือบสี่ทศวรรษแล้วซึ่งเป็นรายการที่ได้รับความนิยมชมชอบโดยการจัดรายการวิทยุที่เป็นเสียงคนแก่นั้นมีนักจัดรายการที่สามารถทำได้น้อยมาก รวมถึงลักษณะของการพูดจาภูมิปัญญาและความรู้ขออนุญาตบุญเองจึงทำให้รายการของเขาเข้าถึงชาวบ้านได้เป็นอย่างดีเป็นการจัดรายการที่แปลกใหม่และใช้พรสวรรค์เฉพาะตัว สามารถวิจารณ์ข่าวต่าง ๆ ได้อย่างชัดแจ้ง ถูกใจชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านในหลายช่วงวัยและการจัดรายการข่าวของท่านส่วนมากจะเป็นข่าวอาชญากรรม เพราะชาวบ้าน สนใจฟังข่าวในจุดนี้จุดเดียว และท่านจะไม่ฝืนความต้องการของชาวบ้านไม่หนีและตามใจความต้องการของของผู้ฟังที่มีจดหมายมาตลอด ซึ่งทำให้ท่านจัดรายการอ่านข่าวชาวบ้านภาษาคำเมืองโดยใช้เสียงคนแก่ผู้หญิง ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษและพรสวรรค์เฉพาะตัว จนได้รับความสำเร็จและเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ฟังอย่างกว้างขวาง ซึ่งการจัดรายการวิทยุทุกรายการจะจัดโดยใช้วิธีบันทึกเทปส่งตามสถานีต่าง ๆ ตามกำหนดเวลาและจะต้องบันทึกเทปให้น้อยกว่าเวลาหมด 5 นาทีเพื่อจะได้บอกลารายการได้และไม่กินเวลาของรายการอื่น
บทบาทและชื่อเสียงของย่าบุญได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหลายแวดวงโดยในราวทศวรรษ 2530 เขามีบทบาทเป็นวิทยากรบรรยายตามทางศึกษาหลายแห่งสถาบันราชภัฏมหาวิทยาลัยพายัพ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพรวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษทางด้านนิเทศศาสตร์ในหลายสถาบัน ยิ่งไปกว่านั้นย่าบุญยังเคยเป็นกรรมการภายนอกในการสอบวิทยานิพนธ์ของคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อเพลงคำเมืองกับวัฒนธรรมชาวล้านนา : วิเคราะห์เนื้อหาเพลงคำเมืองช่วง มกราคม-ธันวาคม 2537 ของคุณพรพิไล เทพคำ เมื่อปี 2539 ก่อนที่อีกสองปีถัดมาเขาจะเสียชีวิตลงในเดือนมกราคม ปี 2541 คงจะมีเพียงแต่ชื่อหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับเขาผู้นี้ที่ตกค้างอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่มีอายุตั้งแต่ 30-40 ปีขึ้นไป ตลอดจนผลงานเพียงไม่กี่เรื่องที่ยังเหลือคงค้างไว้ในเว็บไซต์ YouTube และม้วนเทปเก่าที่บันทึกเสียงเกี่ยวข้องกับการจัดรายการระหว่าง “ย่าบุญ” กับ “อ้ายสีหมื่น” (หรือคุณอุดม รังษี) ซึ่งก็เป็นบุคคลที่ผู้เขียนกว้าก็คือค้นหาข้อมูลอันเกี่ยวข้องกับเขาได้ยากยิ่งเหลือเกิน
แม้มีเรื่องเล่ากล่าวขานถึงวีรกรรมการใช้ชีวิตของย่าบุญหรืออ้ายนิด ศิริพงษ์ ศรีโกไสยว่าเป็นไปอย่างโลดโผน โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาแต่ผู้เขียนคงไม่ปรารถนาที่จะเจาะจงนำมาเล่าในข้อเขียนดังกล่าวนี้แน่นอนว่ามนุษย์เรามีชั่วดีทีเหลวที่แตกต่างกันไปแต่ส่วนใหญ่แล้วผู้คนมักจะมีความทรงจำร่วมทางสังคมต่อบุคคลหนึ่ง ๆ ในเรื่องที่ดีเป็นส่วนมากคนงานของย่าบุญหรืออ้ายนิด ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พูดเขียนอยากจะเลือกนำมาเล่าในฐานะประวัติศาสตร์สามัญชนหรือคนที่ถูกร่วมจดจำไว้ในสังคมล้านนาร่วมสมัย ท้ายสุดนี้ผู้เขียนขอขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ แห่งสาขาวิชาดนตรีศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์เวลาส่วนตัวเพื่อเดินทางไปเข้าถึงข้อมูลที่ผู้เขียนได้ฝากฝังรบกวนไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเฉพาะและภาพถ่ายของบุคคลต้นเรื่องจนกระทั่งนำมาซึ่งข้อเขียนดังกล่าวนี้ พร้อมกันนั้นผู้เขียนขอขอบคุณบรรดามิตรแก้วสหายคำในแวดวงศิลปินช่างปีช่างซอที่เคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ย่าบุญ” ให้กับผู้เขียนฟังโดยเฉพาะแม่ครูศรีออน ทิพย์รัตน์แห่งบ้านเสียงไทย รวมทั้งพี่ต้า ผู้กว้างขวางแห่งบ้านบ่ายท่าแพและน้าจร บุตรชายบุญธรรมของแม่ครูแสงจันทร์สาย วงค์อินทร์สำหรับบทสนทนาสั้นๆทางโทรศัพท์มา ณ โอกาสนี้
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า