เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 เวลา 16.00-22.00 น. ณ ร้านสนิมทุน (Sanimthoon Community Café) คนรุ่นใหม่จากเมียนมาและไทยในเชียงใหม่ร่วมกันจัดกิจกรรม “ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ใครอื่นไกล” เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugees Day) เพื่อร่วมกันหาคำตอบและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย แลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ และเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตผู้ลี้ภัย รวมถึงแนวทางหรือโอกาสการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
โดยงานนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่จากเมียนมาและไทยในเชียงใหม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันโดยภายในงานมีการเสวนาว่าด้วย “ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ใครอื่นไกล: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในพหุสังคม” โดย ผศ.ดร.พิสิษฏ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.)
พิสิษฏ์ กล่าวถึงประเด็นในเรื่องนี้ว่า ในการที่เราจะอยู่ร่วมกันภายในพหุสังคมได้อย่างสันติสุขนั้นก็จำเป็นที่จะต้องรับรู้ถึงปัญหาอันเป็นต้นตอสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เบื้องหลังของแนวคิดการจัดการของรัฐต่อผู้คนในสังคมเสียก่อน มิเช่นนั้นก็อาจไม่สามารถที่จะดำเนินใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไปได้ ทั้งนี้ พิสิษฏ์กล่าวเพิ่มเติมว่า อุดมการณ์ความมั่นคงและวาทกรรมในเรื่องของการสร้างความเป็นอื่น ความเป็นเรา (us) ความเป็นเขา (them) ถือเป็นอุดมการณ์แนวความคิดหลักที่ส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม และยังส่งผลไปถึงการออกแบบนโยบายการจัดการในด้านต่าง ๆ ที่มีลักษณะของการกีดกันอยู่เป็นจำนวนมากในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้น จึงอยากชวนตั้งคำถามในเรื่องของนโยบาย ว่านโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาในถูกผลิตออกมารูปแบบไหนบ้าง และช่องว่างของนโยบายกับระดับปฏิบัติการนั้น ๆ มีอะไรบ้าง นอกจากนี้ พิสิษฏ์ได้กล่าวปิดท้ายในประเด็นเรื่องของความก้าวหน้าทางกฎหมายและนโยบายที่ถืออีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันผลักดันความก้าวหน้า อีกทั้งวุฒิภาวะทางสังคมวัฒนธรรม เพื่อร่วมกันสรรสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมแบบใหม่ขึ้นมา
ด้าน ศิววงศ์ ได้กล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการเกิดขึ้นของวันผู้ลี้ภัย มิใช่เพื่อการระลึกถึงความยากลำบากของผู้ลี้ภัย แต่เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัยที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ท่ามกลางความเจ็บปวดที่ผ่านมา โดยแบ่งประเด็นที่จะพูดเป็น 3 ช่วง คือ กรอบนโยบายของไทยต่อการจัดการผู้อพยพย้ายถิ่นฐานที่ผ่านมาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปรากฏการณ์ของการอพยพย้ายถิ่นภายใต้กรอบนโยบายของความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ต่อด้วยความก้าวหน้าในความพยายามในการจัดการปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน และทิ้งท้ายถึงแนวโน้มในเรื่องของการจัดการปัญหาและผลกระทบจากประเทศเมียนมาภายใต้กรอบการจัดการที่มีอยู่เดิม โดยไม่พาดพิงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาซึ่งเป็นลักษณะการจัดการโดยอ้อมของไทย ซึ่งอาจมีความล่าช้า
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการฉายสารคดีผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ร่วมกันรับประทานอาหารเมียนมา อ่านบทกวีโดยเพื่อนชาวเมียนมาและไทย รวมถึงแสดง Art Performance โดย จักกริช-ภัทรี ฉิมนอก และบทเพลงจากเพื่อนชาวไทยและเมียนมา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...