เรื่อง: Lanner
ภาพ: filmfilmbypawae
“ONCE IN A BLUE MOON ปิดเทอมนี้ ฉันมีเธอ” ละครเวทีโรแมนติก-มิวสิคัล เรื่องแรกในปี 2566 ของ Wonderjuey. กลุ่มคนละครสร้างสรรค์ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่อยากมอบเสียงหัวเราะและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตในโลกที่แสนโลกร้าย ที่การกลับมาทำละครครั้งนี้ ที่มีโจทย์ตั้งต้นคือการทำละครแนว Girl Love ซึ่งทำให้ละครเรื่องนี้มีความซับซ้อนในเรื่องของแนวทางในการนำเสนอ รวมไปถึงการส่งสารที่แม้จะเล่าเรื่องง่ายๆ อย่างความสัมพันธ์เพื่อนแอบรักเพื่อน แต่ก็เต็มไปด้วยส่วนผสมสำคัญอื่นๆ ที่แทรกมาตั้งแต่เรื่องของมนุษย์ต่างดาว ความเป็นส่วนตัวและพื้นที่ปลอดภัย รวมไปถึงพื้นที่จริงๆ ที่พาผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของละครด้วย
ONCE A BLUE MOON เล่าเรื่องราวการเจอกันในช่วงปิดเทอมของ ‘เอิท’ และ ‘พาย’ สองเพื่อนรักวัยมัธยมที่เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก การกลับมาเจอกันครั้งนี้ เอิทเกิดความสงสัยว่าทําไมพายถึงรู้ใจมากขนาดนี้ ขณะเดียวกัน พายเองก็มีความลับที่ไม่กล้าบอกเอิท นั่นก็คือ ‘ความสามารถพิเศษในการอ่านใจ’ ในความสงสัยนั้นเอิทอยากทดสอบเพื่อค้นหาความจริงจากพาย ทําให้ทั้งคู่เกิดความรู้สึกพิเศษบางอย่างต่อกันจนความรู้สึกดีที่ก่อตัวขึ้นของพวกเธอนั้น กําลังรุกล้ำพื้นที่ของกันและกันอย่างไม่รู้ตัว
ในช่วงต้นเองก็มุ่งถ่ายทอดความสดใส อัดแน่นบทเพลงที่ป็อปติดหูง่ายที่เป็นเพลงที่แต่งคำร้องและคำนองเองทั้งหมด (ดีจนคิดว่าน่าจะเผยแพร่ต่อได้ไม่ยาก) ก่อนที่จะค่อยๆ คลายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ‘เอิร์ธ’ และ ‘พาย’ ที่ค่อยๆ เผยให้เห็นเบื้องลึกของความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนสนิท ที่ค่อยๆ ตัดสลับความรู้สึกที่วนเวียน ตั้งคำถาม กระวนกระวาย และฉายให้เห็นว่าต่างคนต่างมีใจให้กันแต่ด้วยภาวะบางอย่างทำให้ทั้งคู่ยังไม่สามารถเผยความรู้สึกรักในใจออกไปได้
นอกจากเรื่องรักวุ่นๆ แบบ Poppy Love ใสๆ วัยมัธยมแล้ว ในช่วงกลางเรื่อง ก็ค่อยๆ เผยให้เห็นความสามารถพิเศษและความลับของพายที่เหมือนดั่งจุดหักเหของละครที่ทำให้เรื่องราวหลุดจากความรักโรแมนติกแบบเดิมๆ เป็น Sci-Fi, Romance อย่าง รถของเล่นจากต่างดาวที่พร้อมวิ่งเข้ามาในฉากและเปลี่ยนเรื่องราวแย่ๆ ให้กลายเป็นเรื่องที่ดีขึ้น หรือจี้ที่ห้อยและคอยปกป้องเอิร์ธอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงเรื่องครอบครัวของเอิร์ธที่มีความลับเรื่องการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ให้เรื่องราวนั้นพลิกผันหักเหในช่วงท้ายของเรื่อง และที่ขาดไม่ได้คือด้วยแสงสีที่ Mood&Tone พร้อมสอดรับกับอารมณ์ สถานการณ์ของละครได้อย่างแนบเนียนและมีความแฟนซีไปพร้อมๆ กัน
ความพิเศษของ ONCE A BLUE MOON อีกอย่างคือการเล่นของพื้นที่ในการทำละคร ที่ให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งในละครเช่นเดียวกัน ONCE A BLUE MOON เลือกใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดแต่แฝงไปด้วยความแปลกใหม่ ทำให้ผู้ชมทุกคนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับละคร ผู้ชมทุกคนจะได้รับการสุ่มว่าจะได้ไปรับชมห้องของ พายหรือเอิร์ธ ที่หลังจากสุ่มเสร็จ ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าไปชมแบบแนบชิดในห้องของพายหรือเอิร์ธ หรือจะเลือกรับชมอยู่ห่างๆ อยู่ข้างนอกห้อง ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกระหว่างการจะเว้นไว้ไม่เลือกที่จะเข้าไปในพื้นที่ปลอดภัย หรือการข้ามเข้าไปสู่พื้นที่ส่วนตัวของนักแสดง ซึ่งถ้าเลือกทางใดทางหนึ่งประสบการณ์ในการรับชมก็แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
ด้วยความที่เป็นละครเวทีที่มีความยาวกว่า 1 ชั่วโมง 38 นาที รายละเอียดยิบย่อยที่เข้ามาเป็นลูกเล่นสำคัญก็มีเยอะจนล้นบ้าง อย่างการพูดถึงสถานการณ์ทางการเมือง หรือการพูดถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ยังไม่ค่อยกระจ่างเท่าไหร่ แต่เนื้อเรื่องหลักก็นำพาหรือให้เราฉุกคิดกันได้บ้าง รวมไปถึงความแปลกแยกแปลกดาวด้วยเช่นกัน
หากใครสนใจรับชมละครสามารถจองบัตรได้ที่: https://forms.gle/VXd6ZgQJJRJMosG68
วันที่ 22-23 และ 29-30 กรกฎาคมนี้
เวลา 14.00 และ 19.00 น.
จัดแสดงที่: ร้านข้าวนึ่ง https://maps.app.goo.gl/a1hZ8N2kFWWvUrQV8?g_st=ic
#เอิทพาย
#onceinourbluemoon
#wonderjuey2023
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...