ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา: สัปป๊ะความเชื่อว่าด้วย ‘เรื่องผี’ กับบทบาทความเป็นชายและ ความเป็นหญิงในสังคมล้านนา

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

“อันว่าผี มีอยู่ทุกเครือเขาและเส้นหญ้า จะหาแผ่นดินว่างผี สักฝ่ามือก็หามีไม่”

คำกล่าวโบราณข้างต้นของบรรพชนชาวล้านนาที่ยกมาอ้างนี้ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของ “ผี” ที่มีอยู่ในผืนแผ่นดินถิ่นล้านนาแถบนี้อย่างมากมาย ผีในสังคมล้านนาหรือว่าสังคมทั่วไปจึงมีฐานะเป็นทั้งความเชื่อ วิถีศรัทธา ความน่ากลัว ตลอดสิ่งที่ควรค่าแก่การบูชาที่แทรกซึมอยู่ในทุกวิถีการดำรงชีวิตของคนล้านนาที่มี  ความเกี่ยวพันกับสิ่งที่เรียกว่า “ผี” ตั้งแต่เกิดไปจนตาย แม้มีการเผยแพร่ศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ มาสู่ดินแดนล้านนาจึงได้มีการผสมผสานกับรากฐานความเชื่อดั้งเดิมและสามารถรับศาสนาความเชื่อใหม่ที่เผยแพร่เข้ามาสู่สังคมแห่งนี้ ล้านนาจึงเป็นอาณาบริเวณในการหลอมรวมความเชื่อของศาสนาต่าง ๆ เข้าด้วยกันซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนแถบนี้มาอย่างยาวนาน

ภาพ: ThaiPBS

“ผี” ถูกประกอบสร้างความหมายและความสัมพันธ์ที่เป็นไปในในลักษณะที่ประนีประนอมกับพุทธศาสนา กระบวนการที่ว่านี้ได้ทำให้ “ผีกับพุทธ” หลอมรวมกันในสถานที่เดียวกันได้อย่างไร้ตะเข็บแห่งความเชื่อ แม้ในพื้นที่ของวัดหรือศาสนสถานของพุทธในแบบล้านนานั้นก็มีผีดำรงอยู่ด้วยกันหลายจำพวกทั้ง ผีเปรต ผีกะยักษ์ หรือผีเสื้อวัดเสื้อวา เป็นต้น ผีเหล่านี้ล้วนมีที่มาแสนน่าหวาดหวั่นแตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับผี ในพื้นที่ทางศาสนาและพื้นที่ทางสังคมของล้านนาจึงแฝงไปด้วยนัยแห่งการหลอมรวมแบบทับซ้อนระหว่างทั้งตัวแทนของศาสนาดั้งเดิมที่ใครหลายคนผู้ให้ความสนใจอาจจะเคยได้รับรู้หรือได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อง (ทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีเสื้อวัดหรือแม้กระทั่งปู่แสะย่าแสะ เป็นต้น)

อย่างไรก็ดี ชื่อเรียกหรือนามของผีเหล่านี้ก็มักถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนาโดยสะท้อนผ่านเรื่องเล่า นิทานหรือตำนานมุขปาฐะมากมาย มากไปกว่านั้นผีก็ยังมีฐานะเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการธำรงอยู่ของศาสนาและก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผีเป็นปัจจัยสำคัญที่ประคับประคองให้ตัวตนของศาสนาดั้งเดิมนั้นยังคงดำรงอยู่และมีความสืบเนื่องมาเป็นฐานความคิด ความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมล้านนาจวบจนปัจจุบัน

แม้มุมมองหรือความรู้สึกผู้คนยุคปัจจุบันที่มีต่อ “ผี” นั้น จะมีความหมายที่เป็นไปในเชิงลบดูหวาดหวั่น น่ากลัว รวมทั้งมีพฤติกรรมที่เป็นไปในทางร้ายเฉกเช่นบทบาทของผีที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือละครร่วมสมัยหลายๆ ขณะที่ “ศาสนาพุทธ” มีบทบาททำให้ “ผี” ไม่มีความบริสุทธิ์หรือ “ผี” ทำให้ “ศาสนาพุทธ” ไม่มีความบริสุทธิ์ ซึ่งเราจะกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งแบบนั้นก็คงจะไม่เป็นธรรมซักเท่าใดนัก แต่ทั้ง “พุทธ” และ “ผี” จะเสริมพลังระหว่างกันและกันหรือลดทอนพลังระหว่างกันและกัน ก็คงเป็นสิ่งที่อธิบายได้อยากยิ่ง 

อย่างไรก็ตาม “ผี” ก็มีหน้าที่ในสังคมล้านนาเพื่อให้การศึกษาและสร้างระเบียบสังคมซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อสังคมทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวมโดยก่อเกิดให้มีความรู้ ความสำนึกและความเป็นระเบียบในสังคม ผีแต่ละตัวเปรียบจึงเปรียบเสมือนรั้วแต่ละซี่ที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของผีอันเอื้อต่อการจัดระเบียบและควบคุมคนในสังคมให้ดำรงตนอยู่ในกฎระเบียบและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม โดยอาศัยผีเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนให้บุคคลเรียนรู้บทบาทหน้าที่ให้การศึกษาและอบรมระเบียบทางสังคมในด้านความประพฤติที่ถูกต้องและมีความเหมาะสมโดยความเชื่อดังกล่าวนี้ทำหน้าที่กำหนดและคาดหวังต่อการแสดงออกของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้แก่บุคคลในสังคมผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในด้านศาสนา ศีลธรรมจริยธรรม คุณธรรมหรือหลักพื้นฐานการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่น

หอเสื้อวัด ภาพ: กระทรวงวัฒนธรรม

สังคมล้านนามีความเชื่อเรื่องผีที่อยู่ในความทรงจำทางสังคมซึ่งถูกเล่าสืบต่อๆกันมา สิ่งสำคัญในเรื่องเล่าที่มีความเกี่ยวข้องกับผีนั่นคือประเด็น “เรื่องเพศ” ซึ่งหลายต่อหลายครั้งผีสะท้อนเรื่องราวทางเพศที่น่าสนใจและผู้เขียนก็อยากที่จะนำมาก๊อนเก๊าเล่าให้อ่านไว้ในที่นี้ เพราะการเล่ายังถือว่าเป็นการผลิตซ้ำเพื่อให้เรื่องเล่าได้ทำหน้าที่สั่งสอนโดยไม่ได้เป็นการบอกกล่าวตรง ๆ ซึ่งพฤติกรรมของผีย่อมเป็นสิ่งชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แฝงเร้นไว้ในเรื่องเล่าที่มีความเกี่ยวข้องกับผีในสังคมล้านนาผ่านมุมมองเรื่องเพศนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่งตั้งแต่ประเด็นผีผู้หญิงที่มีอำนาจหลังความตาย ผีผู้ชายบางตนที่สะท้อนสิ่งที่ผู้ชายถูกกดทับที่ทำให้ในทุก ๆ เรื่องเล่าสามารถได้รับการตีความเราก็จะเห็นถึงการสื่อสารอะไรบางอย่างจากเรื่องเล่าและประเด็นเกี่ยวกับผีในสังคมล้านนามาสู่ผู้คนในยุคปัจจุบันซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความน่าสะพรึงกลัวมากกว่า

สังคมล้านนามีระบอบการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างชายและหญิงที่มีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน ทำให้มุมมองที่มีต่อประเด็นเพศวิถีต่างๆที่มีในสังคมล้านนาจึงมีความสำคัญและช่วยกันค้ำจุนและพัฒนาสังคมไปพร้อม ๆ กัน (สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์, 2547 : 31)  ความเชื่อเกี่ยวกับผีในสังคมล้านนาจึงมักถูกเล่าเพื่อเป็นการนำเสนอพฤติกรรมอันเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ผู้คนในสังคมล้านนามีต่อเพศภาวะต่างๆที่นำไปสู่ความเข้าใจในกันและกันมากยิ่งขึ้น เมื่ออยู่ในวัยเด็กนั้นชายหญิงมิได้ถูกแบ่งแยกด้วยความเชื่อเรื่องผีเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อเติบโตขึ้นผีจะเข้ามาในฐานะผู้ควบคุมความประพฤติทางเพศและพฤติกรรมอื่น ๆ ก็เป็นแนวทำให้ชายหญิงรู้และเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายมากยิ่งขึ้น 

ซึ่งสำหรับมุมมองเชิงโครงสร้างหน้าที่ (Structure Functional Perspectives) ที่มีต่อผู้หญิงในสังคมล้านนามักมีความคาดหวังต่อความเป็น “แม่ญิงในอุดมคติ” ให้มีการการแสดงออกพฤติกรรมที่ดีและมีความเหมาะสมต่าง ๆ มากกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคติในเรื่องการถือผีจากฝ่ายแม่ซึ่งแง่มุมดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผีทำหน้าที่เป็นสิ่งคอยกระตุ้นเตือนให้ตระหนักและระลึกถึงความสำคัญของการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบศีลธรรมในเรื่องเพศโดยเฉพาะด้านการรักนวลสงวนตัว ไม่ประพฤติผิดคบชู้สู่ชาย ตลอดจนการไม่ละเลยหน้าที่ในการเซ่นไหว้บูชาผีบ้านผีเรือนรวมถึงผีบรรพบุรุษ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ความวิบัติชั่วร้ายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นแก่หญิงผู้นั้น

แม้ว่าการแต่งงานในสังคมล้านนาโดยส่วนใหญ่นั้น ทั้งชายและหญิงมีสิทธิเลือกคู่ครองได้โดยเสรี หญิงชายที่ต้องการจะแต่งงานกัน แม้ถูกพ่อแม่ขัดขวางหญิงชายก็จะหนีไปอยู่ด้วยกันแล้วอาจจะมีการกลับมา ขอขมาพ่อแม่ภายหลังโดยพ่อแม่ก็ต้องยอมรับคู่สามีภรรยาและการขอขมานั้น (สุเทพ สุนทรเภสัช, 2513 : 24) อย่างไรก็ดี มีความเชื่อว่าถ้าหากไม่มีการกลับมาขอขมาพ่อแม่และผีปู่ย่าก็จะนำมาซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเฉพาะเกิดขึ้นแก่ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนดังกล่าว 

พิธีปาดตง ภาพ: ชวนเที่ยวคอนหวัน

ทั้งนี้เป็นเพราะหน้าที่ในการเซ่นสรวงบูชาผีบ้านผีเรือน และผีปู่ย่าซึ่งผู้หญิงก็ต้องเป็นฝ่ายประพฤติปฏิบัติไม่ไห้ขาด ผู้หญิงในฐานะแม่เรือนจึงต้องมีการ“ปฏิบัติบูชาที่ดี” ต่อผีเรือนผ่านการเซ่นไหว้มิให้ขาดและกระทำตามจารีตประเพณีอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ความเชื่อต่อเรื่องที่กล่าวมานี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าผลลัพธ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะดีหรือเลวร้ายก็ล้วนขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้หญิงทั้งสิ้น ไม่ให้ความเคารพนับถือผีปู่ย่ารวมถึงไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณีของสังคม ฝ่ายหญิงจึงตกเป็นผู้ที่สังคมล้านนาเห็นว่าเป็นฝ่ายที่ต้องถูกลงโทษให้ทนทุกข์ทรมานมากกว่าฝ่ายชายหลายเท่า เพราะถือว่าผีปู่ย่าผู้มีอำนาจในการลงโทษนี้เป็นผีประจำตระกูลของฝ่ายหญิง และในวิถีวัฒนธรรมของชาวล้านนาก็ได้สอดแทรกความสำนึกในเรื่องนี้แก่ผู้หญิงอยู่ตลอดเวลา

ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือนมีนัยยะให้การอบรมสั่งสอนให้ผู้หญิงมีความเคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและอาชีพของตนไม่ว่าจะเป็นหม้อนึ่ง ไหข้าว ก้อนเส้า และบ่ากวักโดยวัตถุในครัวเรือนจำพวกนี้ มีใช้ในสังคมล้านนายุคอดีตและเป็นสิ่งที่แฝงไปด้วยความเชื่อที่ว่ามีผีประจำอยู่และคอยปกป้องดูแลวัตถุนั้น ๆ ตลอดถึงบุคคลและบ้านเรือน เช่นบ้านใดมีเด็กเล็ก ๆ และมักร้องไห้งอแงในตอนกลางคืน แม่ของเด็กหรือแม่อุ้ยจะเอาข้าวปั้นกล้วยหน่วย (ข้าวเหนียวหนึ่งปั้น กล้วยหนึ่งลูก) ไปไหว้ขอให้ผีหม้อนึ่งไหข้าวให้ช่วยปกป้องดูแลลูกหลาน เพราะชาวล้านนาเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการอาศัยอำนาจของผีหม้อนึ่งไหข้าวมาปกป้องมนุษย์ไม่ให้ประสบกับอันตราย ขวัญหนีหรือตกใจ ฉะนั้นในแต่ละปีแม่เรือนทั้งหลายจึงต้องกระทำพิธีเซ่นไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ เพราะความเชื่อที่แฝงอยู่ในข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้แม่เรือนผู้มีหน้าที่โดยตรงในการใช้งาน 

ดังนั้น การมีพิธีเซ่นไหว้จึงทำให้แม่เรือนเกิดความรู้สึกว่าวัตถุเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องใช้ในครัวเรือนหรืออุปกรณ์ในการทำมาหากินเท่านั้น หากแต่มีผีประจำอยู่และผีเหล่านี้ก็เป็นผีดีที่มีคุณต่อตนเองและบุคคลในบ้านซึ่งทำให้เหล่าแม่เรือนเกิดความเคารพจะหยิบจะใช้ก็เป็นไปด้วยความระมัดระวังถนุถนอม อันเป็นกุศโลบายต่อการใช้งานทรัพย์สินข้าวของเหล่านี้จึงไม่เสียหายแตกหัก ทั้งยังแฝงเร้นไปด้วยการสร้างนิสัยที่เป็นคุณสมบัติของแม่เรือนประการหนึ่งที่สังคมล้านนาประสงค์ (ศุภลักษณ์ ปัญโญ, 2553)

ด้วยความที่แม่เรือนก็คือหญิงเจ้าของบ้านฝ่ายหญิง หน้าที่หลักคือการดูแลบ้านให้สะอาด รวมถึงหุงหาอาหารให้ลูกและสามี และมีหน้าที่สำคัญอีกประการคือการหมั่นไหว้พลีผีเรือนอย่างสม่ำเสมอ ผีเรือนบ้านไหนจะมีแรงคุ้มบ้านคุ้มเรือนได้มากเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของแม่เรือน ส่วนกิจนอกบ้านนั้นโดยมากจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย จะเห็นได้ว่าสังคมล้านนาได้แบ่งบทบาทของชายและหญิงไว้ด้วยพื้นที่ (space) เหตุใดฝ่ายพื้นที่ในความรับผิดชอบของฝ่ายหญิงต้องเป็นบริเวณบ้านเรือน คำตอบนี้สามารถหาได้จากวัฒนธรรมสายแม่อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา บริเวณบ้านเป็นพื้นที่ที่สามารถเปลี่ยนสถานะของผู้หญิงให้กลายเป็นเพศศักดิ์สิทธิ์ (sacred gender) ได้ กล่าวคือเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านและนับถือผีเดียวกันกับฝ่ายหญิง จึงถือว่าฝ่ายหญิงเป็นเจ้าของพื้นที่ ฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายไหว้สาผีบ้านผีเรือนของตน ยามเกิดเหตุเพทภัยใด ๆ กับคนในบ้านก็เป็นหน้าที่โดยตรงของแม่เรือน ทั้งนี้พื้นที่บ้านเป็นเหมือนสถานที่ประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีแม่เรือนเป็นผู้มีพลังอำนาจพิเศษบางอย่างในการติดต่อหรือต่อรองกับผีหรือวิญญาณที่สถิตอยู่ในบ้านเรือน 

พิธีเลี้ยงผีมด จ.แพร่ ภาพ: จดหมายเหตุมานุษยวิทยา

โดย ปฐม หงส์สุวรรณ (2550 : 283)  ได้ตีความแนวคิดนี้ว่าการสร้างภาพที่พักอาศัยให้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นวิธีการต่อรองของผู้หญิงที่ถูกเบียดขับจากสังคมหลักให้กลายเป็นผู้มีสภาวะความเป็นรอง ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงผลิตสร้างพลังอำนาจด้วยวิธีการพลิกกลับสถานภาพของตนให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างภาพในบ้านให้กลายเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมหรือเป็นศาสนาศักดิ์สิทธิ์สำหรับชีวิต และเป็นเสมือนคลังเก็บรักษาพลังชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น บ้านมิได้มีความหมายว่าเป็นที่อาศัยอยู่ของแม่เรือนเท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่ที่แม่เรือนใช้ในการประกอบพิธีกรรมโดยใช้ตัวเองเป็นสื่อกลาง (mediator) ในการติดต่อกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งใช้เป็นสถานที่สร้างสภาวะความเป็นใหญ่ในสังคมปิตาธิปไตย

ความเชื่อเรื่องผีในสังคมล้านนามีส่วนสำคัญต่อการกำกับบทบาทของความเป็นเมียและแม่ที่มีคุณสมบัติในการดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาด ปรนนิบัติดูแลลูกและสามีให้มีความสะดวกสบายทั้งใจและกาย ประเด็นนี้ยังชี้ให้เห็นถึงระบบความซับซ้อนทางเพศของสังคมล้านนาว่า แม้ผู้หญิงจะดำรงตนอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าผู้ชายในแง่การเป็นเจ้าของบ้านหรือพื้นที่ซึ่งเมื่อฝ่ายหญิงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เมื่อหย่าขาดหรือเลิกรากันไป ฝ่ายชายจะได้ทรัพย์สินใดนั้นเป็นการตัดสินใจและหยิบยื่นของฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว 

ขณะเดียวกัน “ผี” ก็ทำหน้าที่แสดงบทบาทให้เห็นเป็นตัวอย่างในการวางตัว ตลอดจนสร้างความประพฤติที่สังคมต้องการและคาดหวังให้ผู้ชายที่สังคมล้านนาพึงปรารถนาซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สืบเนื่องมาจากแนวทางการปฏิบัติตนของผู้หญิง ในด้านการให้เกียรติฝ่ายหญิงโดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์เชิงเพศเพื่อไม่ให้เกิดการ “ผิดผี” (ศุภลักษณ์ ปัญโญ, 2553)

สังคมล้านนาในอดีตมีประเพณีการแอ่วสาวของฝ่ายชายและการอยู่นอกของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้ชายหญิงได้ใกล้ชิดและศึกษาเรียนรู้กันอย่างเป็นส่วนตัว การสั่งสอนหรือให้คติแก่ฝ่ายชายให้ตระหนักถึงการเป็นผู้ที่ให้เกียรติ ไม่ชิงสุกก่อนห่ามจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันเรื่องไม่ดีไม่งามไม่ให้เกิดขึ้น การละเมิดต่อระบบหรือธรรมเนียมว่าด้วยผีในสังคมล้านนายังมีความเชื่อว่าเป็นการไม่เคารพผีปู่ย่าซึ่งอาจนำไปสู่การได้รับผลกรรมในระดับขั้นรุนแรง ทั้งนี้ การที่บุคคลในสังคมได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ร่วมกันทั้งชายและหญิง ย่อมทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติ ตลอดถึงพฤติกรรมที่สังคมต้องการและเหมาะสมให้แก่เพศทั้งสอง 

พิธีเลี้ยงดง ปู่แสะ ย่าแสะ

ที่สำคัญจะเป็นการส่งเสริมให้ฝ่ายชายให้เกียรติฝ่ายหญิงซึ่งมุมมองเชิงโครงสร้างหน้าที่ที่มีต่อผู้ชายในสังคมล้านนามักมีความคาดหวังให้เพศชายว่าควรเป็นผู้ที่มีความขยันทำการงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน อีกประการหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ชายคือ ความซื่อสัตย์ไม่กล่าวคำโกหกซึ่งนอกจากผีเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้างนิสัยที่ดี เหมาะสมแก่เพศชายแล้ว ผียังให้ความรู้ในด้านการระวังรักษาความปลอดภัยของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องออกจากบ้านไปทำภาระกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน หรือไปแอ่วสาวในยามค่ำคืนที่ก็ต้องคอยระมัดระวังตัวทั้งจากผีและคนด้วยกันเอง

ความเชื่ออันมีต่อสิ่งที่ช่วยให้ชายผู้นั้นรอดพ้นจากอันตรายที่แวดล้อมตัวอยู่ คือการเรียนคาถาอาคมเพื่อป้องกันตัว ก็อีกลักษณะหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยให้แกตัวเองในยามที่ต้องไปในที่ต่างๆ และไปอย่างระแวดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในเรื่องการเข้าป่าขึ้นดอยไปหาอาหารหรือของป่าต่าง ๆ ผู้ชายต้องไม่พูดจาลบหลู่หยาบคาย โดยเฉพาะกับผีจำพวก ผีนางไม้หรือผีสองนางเพราะผีสาวเหล่านี้อาจจะจับไปเป็นสามี หรือทำร้ายให้เสียขวัญและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นัยยะของความเชื่อต่อเรื่องราวดังกล่าวอาจก็อาจตีความได้ว่าการออกจากบ้านเพื่อเข้าป่าขึ้นดอยของผู้ชายล้านนาในอดีตนั้นย่อมมีโอกาสพบปะกับผู้คนต่างบ้านต่างถิ่น ซึ่งอาจจะเป็นหญิงสาวชาวป่า หรือสาวต่างถิ่นที่เดินทางผ่านมา เรื่องเล่าที่กำกับความเชื่อในลักษณะนี้ย่อมเป็นการตักเตือนเหล่าชายหนุ่มตระหนักรู้ว่าหญิงสาวที่ตนพบในสถานที่นั้น ๆ เป็นหญิงที่ตนไม่ควรเข้าไปใกล้ชิดสนิทสนม หรือแสดงไมตรีมากจนเกินไป เพราะอาจจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางเพศได้ การประทับตราว่าหญิงเหล่านั้นอาจจะเป็นผี ยิ่งเป็นการเพิ่มช่องว่าง และความระมัดระวังให้แก่ชายหนุ่มได้มากขึ้น เพราะหากชายหนุ่มพึงใจ หรือพลาดท่าเสียทีไป เขาก็อาจจะไม่ได้กลับบ้านอีกเลย และอีกลักษณะหนึ่งอาจเป็นการระวังป้องกันการนอกใจในหมู่พ่อเรือนทั้งหลาย ยามออกบ้านไปทำภารกิจต่างๆ นอกจากนี้ยังถือได้ว่าผีเป็นสิ่งที่สามารถปกป้องกีดกั้นมนุษย์ผู้ชาย ผู้มีเพศสรีระที่ใหญ่โตและแข็งแรงให้มีความระมัดระวัง และให้เกียรติผู้หญิงมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าบทบาทของผีมีหน้าที่ในการสร้างระเบียบสังคมให้แก่บุคคลในประเด็นเรื่องเพศนั้น จะมุ่งเน้นให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่จะต้องรักนวลสงวนตัว ไม่มักมากในเรื่องเพศแล้ว ยังสอนให้ฝ่ายชายรู้จักให้เกียรติฝ่ายหญิงเช่นกัน  จะเห็นได้ว่าบทบาทของผีในการเป็นทางออกแก่วิธีทางเพศนั้น มักจะสร้างทางเลือกหรือทางออกในเรื่องเพศให้แก่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งผีนั้นถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์แก่ผู้หญิงมากกว่า แม้ว่าจะมองว่าฝ่ายหญิงเป็นเจ้าของปัจจัยไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้านเรือน แต่หากพิจารณาแล้ว “ความเป็นหญิง” ก็ยังถูกมองว่าต่ำกว่าชาย เพราะสังคมล้านนาให้โอกาสผู้หญิงเป็นผู้ปฏิบัติ แต่ให้โอกาสเพศชายเป็นผู้ปกครองเป็นสิ่งซึ่งสนับสนุนค่านิยมของชาวล้านนาที่ว่าสังคมล้านนาไม่ใช่สังคมที่เพศหญิง “ถูกกดขี่” ส่วนคำสอนอื่น ๆ เป็นการให้การอบรมแก่บุคคลเพื่อความปลอดภัยและการประพฤติตนให้เป็นผู้ที่มีศีลธรรมจริยธรรมอยู่เป็นนิจ 

อ้างอิง

  • ปฐม หงษ์สุวรรณ. (2550) กาลครั้งหนึ่ง:  ว่าด้วยตํานานกับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • สุเทพ สุนทรเภสัช. (2513). สังคมและวัฒนธรรมลานนาไทย ; รวมผลงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  • สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์. (2547). ผู้หญิงกับพระธาตุ.  เชียงใหม่ : มูลนิธิสถาบันพัฒนาบ้านเมือง.
  • ศุภลักษณ์ ปัญโญ. (2553). การศึกษาบทบาทของผีในนิทานพื้นบ้านล้านนา, เชียงใหม่. สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง