เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา
‘การสูงวัยของประชากร’ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นประเด็นที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจ ในขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มช้าลง จำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ประชากรไทยโดยรวมมีอัตราลดลง แต่ในทางกลับกันประชากรผู้สูงอายุกลับมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยดัชนีการสูงอายุของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 82.6 ในปี 2557 เป็น 97 ในปี 2560 จนกระทั่งมีค่าเกิน 100 ในปี 2565 ซึ่งหมายถึงการมีจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่าจำนวนประชากรวัยเด็ก
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลสถิติผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13,064,929 คน หรือ 20.8% ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรไทยรวมทั้งประเทศ 65,061,190 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสููงอายุุอย่างสมบูรณ์ หรือ Complete-Aged Society (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ) และคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged society) ในปี 2583
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสำรวจลึกลงไปจะพบว่า แม้จำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของภาคเหนือจะอยู่อันดับ 3 ของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ แต่ภาคเหนือกลับมีสัดส่วนผู้สูงอายุเทียบกับประชากรสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี 2566 ภาคเหนือมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 2,674,301 คน คิดเป็น 23.39% ของจำนวนประชากรภาคเหนือทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุสูงที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ 393,733 คน คิดเป็น 24.08% ของจำนวนประชากรจังหวัด รองลงมาคือ เชียงราย 271,888 คน (23.34%) และนครสวรรค์ 240,605 คน (23.59%) ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ เพชรบูรณ์ 204,676 คน (21.2%) ลำปาง 198,510 คน (28.01%) พิษณุโลก 187,817 คน (22.36%) กำแพงเพชร 146,593 คน (20.84%) สุโขทัย 138,336 คน (23.97%) พิจิตร 124,302 คน (23.85%) พะเยา 118,978 คน (26.11%) แพร่ 116,898 คน (27.46%) น่าน 112,842 คน (23.96%) อุตรดิตถ์ 109,451 คน (24.96%) ลำพูน 108,205 คน (27.37%) ตาก 89,108 คน (16.24%) อุทัยธานี 73,501 คน (22.84%) แม่ฮ่องสอน 38,858 คน (16.02%) ตัวเลขที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ภาคเหนือเองก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคม Complete-Aged Society แล้วเช่นกัน
บทบาทภาครัฐและข้อเสนอต่อการรับมือสังคมผู้สูงอายุ
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ‘ประเด็นผู้สูงอายุ’ กลายเป็นนโยบายระดับรัฐบาลครั้งแรกที่มีบทบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ จากนั้นมาก็มีการออกกฎหมาย นโยบาย และแผนงานต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2525-2544) ปฏิญญาผู้สูงอายุไทย 2542 แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ 2546 (ฉบับแก้ไข 2553) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (2566-2580) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการวางแผนรับมือปัญหาผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี แต่ประเทศไทยเองก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมา
เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย และโครงการส่งเสริมพัฒนาการจัดการข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อการเผยแพร่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัย จึงได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อรับมือต่อโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายประการ ได้แก่ 1. การปฏิรูปเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เดิมมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์จากรัฐ ให้กลายเป็น ‘เงินบำนาญพื้นฐาน’ จำนวน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน 2. การสร้างหลักประกันรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานสูงวัย ให้มีการจ้างงานที่ยืดหยุ่น โดยภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ 3. การปฏิรูประบบดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ และพัฒนาระบบการจัดการที่เป็นศูนย์บริการกลางสำหรับผู้สูงอายุ ‘1 ตำบล 1 ศูนย์บริการ’ 3. การปฏิรูปบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีขอบเขตที่ชัดเจน และทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม ทั้งสถานที่ส่วนบุคคล สถานที่สาธารณะ และระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเดินทางสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อให้เกิดลักษณะ ‘อยู่ดี’ ภายใต้หลักการออกแบบเพื่อมวลชน (universal design) และ 6. การสร้างเสริมศักยภาพผู้สูงอายุเท่าทันเทคโนโลยี และเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในยุคนี้ได้
ขณะเดียวกัน ศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวิจัยในประเด็นสังคมสูงวัยมาอย่างยาวนาน ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวไว้ ดังนี้
ประเด็นแรก ภาครัฐควรมีกลไกหรือพื้นที่เพื่อแสวงหาจุดที่ลงตัวในการกำหนดทิศทางของนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นโยบายบำนาญ หรือนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจน
ประเด็นที่สอง ภาครัฐควรผลักดันให้มีคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการประสานระบบอันหลากหลายของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ประสานนโยบายต่าง ๆ ในภาพรวมให้เกิดความสอดคล้องระหว่างกัน อาทิ หลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพสำหรับผู้สูงอายุไทย นโยบายบำนาญ และการออมเพื่อยามชราภาพ เป็นต้น รวมทั้งทำหน้าที่เชิงวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในอนาคต
ประเด็นที่สาม การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุผ่านแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 ทั้งส่วนที่เป็นแผนระยะยาวและระยะปานกลาง ผ่านการเชื่อมโยงมิติของพื้นที่เข้ากับภาพของผู้สูงอายุที่กำหนดไว้ในแผนฯ ภายใต้แนวคิดการสูงวัยในถิ่นเดิม “ผู้สูงอายุทุกคนที่อาศัยในถิ่นที่อยู่ใด ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม”
นอกจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรผลักดันท้องถิ่นด้านการเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย โดยสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีในระยะสั้นคือ การทำให้บทบาทหน้าที่ของ อปท. ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุ” ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้
อ้างอิง
- สถิติผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
- สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2565
- นโยบายสังคมสูงวัย Thai PBS Policy Watch
- สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในมิติความต่างเชิงพื้นที่ พ.ศ. 2564
- Aging Society ไทยเข้าสู่สังคม “แก่เต็มขั้น” สวนทางเด็กเกิดน้อย
- 6 ข้อเสนอนโยบายผู้สูงอายุ จากภาคประชาสังคมสู่การเลือกตั้ง ’66
- สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุไทย โดย อาจารย์ ดร.ดร.สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂