สอบ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สาวเชียงใหม่บุกร้องกมธ.ปราบโกง ถูกเบี้ยวงานศิลปะมูลค่า 7 แสน โผล่สคร.

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ชุติมา นวลพลับ ทำการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ณ รัฐสภา โดยมี พุธิตา ชัยอนันต์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือในฐานะโฆษก กมธ.

โดยการยื่นหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่ ชุติมา ได้ซื้อผลงาน “พระพุทธบาท” จากศิลปินแห่งชาติรายหนึ่งในราคา 7 แสนบาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งภายหลังจากที่ตนจ่ายเงินสดค่าผลงานแล้วแต่ยังไม่ได้รับผลงานตามที่ตกลงไว้ เนื่องจากศิลปินดังกล่าวขอยืมผลงานชิ้นนั้นไปแสดงในงาน “จิตตสังขาร” ต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 ศิลปินได้มีการอ้างว่ารัฐบาลขออนุญาตยืมผลงานชิ้นดังกล่าวไปจัดทำแสตมป์ที่ระลึก จนกระทั่งในปี 2557 ชุติมา ตัดสินใจลาออกจากการเป็นเลขาฯ ของศิลปินดังกล่าว หลังจากที่ต้องสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายการทำสัญญา พร้อมด้วยการจดบันทึกลงสมุดส่วนตัว โดยให้เซ็นรับทราบมาตลอด แต่ก็ยังไม่ได้รับผลงานศิลปะหรือเงินชดใช้ใดๆ จากตัวศิลปิน

หลังทำการปรึกษาทนาย ชุติมา ตัดสินใจทำหนังสือเพื่อทวงผลงานที่ตนเคยจ่ายเงินซื้อไป โดยตามกฎหมายแล้วไม่สามารถขอคืนเงินได้หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี แต่ยังสามารถทวงคืนผลงานศิลปะดังกล่าวได้ แต่ทางด้านศิลปินแห่งชาติก็ยังบอกปัดว่าไม่เคยขายงานและยืมงานจากตน แม้จะมีหลักฐานจากการบันทึกของ ชุติมา ก็ตาม

กระทั่งตนได้เห็นโพสต์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สคร.) ซึ่งระบุว่าผลงานศิลปะชิ้นนี้เป็นผลงานสะสมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งถูกโพสต์ไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เป็นการโพสต์ผลงานสะสมของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งหนึ่งในผลงานเหล่านั้นมีผลงาน “พระพุทธบาท” มูลค่า 7 แสนบาทที่ ชุติมา เคยซื้อไป ตนจึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจสอบงานว่าเป็นชิ้นเดียวกันกับที่เราเคยทำการซื้อหรือไม่ โดยทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ยืนยันให้ทาง ชุติมา รอฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อ จึงตัดสินใจดำเนินการแจ้งความต่อตัวอาจารย์ผู้วาด แต่กลับกลายเป็นว่าผลงานชื้นดังกล่าวเป็นสมบัติของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งอ้างว่าสั่งซื้อมาจากตัวศิลปินโดยตรง

“หลังจากประสานไปที่กระทรวงหลายครั้งก็ติดต่อไม่ได้ พอสอบถามได้เขาก็บอกว่าเป็นสมบัติของกระทรวง อย่างไรเราก็ไม่มีสิทธิให้คืน ทั้งที่เราไม่ได้อนุญาตให้อาจารย์คนดังกล่าวขาย โดยเราเป็นประชาชนธรรมดาถ้าให้ไปทวงเงินกับอาจารย์เขาเอง เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่หรือไม่ เราติดที่ว่างานเป็นสิทธิของเรา เราไม่ได้ให้เขาเอาไปขาย เขามีสิทธิอะไรไปซื้อขายกัน เราติดใจตรงนี้” นางชุติมาเผยกับสำนักข่าวมติชน


ภาพ : มติชน

หลังจากไม่สามารถเอาผิดกับศิลปินแห่งชาติได้โดยตรง ชุติมา จึงได้ทำหนังสือร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดย พุธิตา กล่าวว่า เบื้องต้นจะส่งเรื่องเข้าอนุกรรมาธิการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาว่าเรื่องที่ได้รับร้องเรียนมานั้น อยู่ในอำนาจของ กมธ.ป.ป.ช.หรือไม่ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 30 วัน หากอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ก็จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง แต่หากไม่เกี่ยวข้องกับ กมธ.ก็จะมีการส่งต่อไปยัง กมธ.ที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ศิลปินแห่งชาติ” เป็นตำแหน่งที่มีขึ้นสำหรับศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานด้านศิลปะ ทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ให้แก่ประเทศชาติ มีขึ้นครั้งแรกในโครงการศิลปินแห่งชาติ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2527 สมัย ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า มาเป็นระยะเวลายาวนาน การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ต้องมีการศึกษาพิจารณาผลงานศิลปะของศิลปินผู้นั้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ปรากฏแน่ชัดว่า ผลงานดังกล่าวมีคุณูปการต่อแผ่นดิน

นอกจากจะได้รับตำแหน่งและการยกย่องเชิดชูแล้ว ศิลปินแห่งชาติยังมีสวัสดิการเป็นเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับข้าราชการรวมทั้งมีเงินช่วยเหลือ เมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เกิดความเสียหายจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง ค่าสิ่งที่นำไปเยี่ยมในยามเจ็บป่วย หรือในโอกาสสำคัญ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง นอกจากนี้ มีเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท และค่าเครื่องเคารพศพ ตามประเพณีที่เหมาะสม เท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดจนเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือ เพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาทด้วย 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง