3 ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ นำโดย พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครจากพรรคประชาชน, พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย, พลตรี ดร.พนม ศรีเผือด ผู้สมัครในนามอิสระ ร่วมดีเบตเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายใน “เวที The Voice เลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ 2568” ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคาร 50 ปีรัฐศาสตร์ฯ โดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา
โดย ‘พันธุ์อาจ’ กล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างงานในเชียงใหม่ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จบการศึกษาจากสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มักประสบปัญหาหางานทำในจังหวัดนี้ เขาเน้นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ โดยไม่จำกัดเฉพาะในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ต้องขยายไปยังทุกอำเภอของจังหวัด
เขาชี้ว่า อบจ. จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เชียงใหม่กำลังเผชิญ ทั้งการขาดการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานเดิมของจังหวัด ขณะเดียวกันเศรษฐกิจเชียงใหม่ยังคงหดตัวลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาภาคเกษตรและท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พันธุ์อาจเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม โดยมีการปรับระบบการทำงานของ อบจ. ด้วยการตั้ง “สำนักพัฒนาเศรษฐกิจนวัตกรรมและการลงทุน” เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีในท้องถิ่น พร้อมทั้งเน้นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถเติบโตและขยายธุรกิจในเชียงใหม่ได้
เขายังเสนอนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการใช้นวัตกรรมในการดูแลสาธารณูปโภคและการบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการเป็นสังคมผู้สูงวัย (Super Age Society) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตสุดท้าย พันธุ์อาจย้ำถึงความสำคัญของการบริหารงานภาครัฐที่โปร่งใสและไม่มีการทุจริต
ทั้งนี้พันธุ์อาจยังเปิดเผยถึงความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดใน 3 มิติสำคัญ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเชียงใหม่ในอนาคต
มิติแรกคือ พหุวัฒนธรรม เชียงใหม่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการที่วัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาท ซึ่งทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม
มิติที่สองคือ ความหลากหลายทางเพศ เชียงใหม่เป็นหนึ่งในเมืองที่มีการยอมรับและสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเปิดเผย โดยพันธุ์อาจยกตัวอย่างว่า เมืองที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ “เศรษฐกิจสีส้ม” ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
มิติที่สามคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ เชียงใหม่มีความหลากหลายทางธรรมชาติที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะในด้านป่าไม้และความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างเศรษฐกิจ พันธุ์อาจเสริมว่า เชียงใหม่ควรมีนโยบายที่สนับสนุนและส่งเสริมความหลากหลายทั้ง 3 ด้านนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดในเวทีระดับโลก
‘พิชัย’ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเชียงใหม่ โดยย้ำว่าจังหวัดเชียงไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทุกคน พร้อมรับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายเพื่อบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดีที่สุด หากได้รับการเลือกตั้ง
พิชัยได้เปิดเผยว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของเขา อบจ.เชียงใหม่มีความโปร่งใสสูงถึง 99.3% ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาชนและสามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง เขากล่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 211 แห่งในเชียงใหม่ โดยเฉพาะ อบจ. จะทำหน้าที่เป็นพี่ใหญ่ในการดูแลพื้นที่ต่างๆ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนใน 25 อำเภอของจังหวัด
ในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานหลักของเชียงใหม่ที่มีรายได้ถึง 70% จากการท่องเที่ยว พิชัยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ศาลากลางเก่า 300 ไร่ให้เป็นสวนสาธารณะและแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ซึ่งกลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น “เชียงใหม่ Festival” และ “เชียงใหม่ เมืองดอกไม้”
เขายังกล่าวถึงการสนับสนุนการจัดงานกีฬาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ เช่น การจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน และวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์ซีวีลีก นอกจากนี้ยังมีแผนในการนำการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกมาจัดที่เชียงใหม่ในอนาคต
ในด้านสาธารณสุข พิชัยได้พูดถึงการพัฒนาระบบสุขภาพโดยการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาให้ อบจ.ดูแล 82 แห่ง พร้อมจัดตั้งหน่วยงาน “Contact Unit for Community Family Care” เพื่อให้บริการสุขภาพครบวงจรโดยมีแพทย์ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด พิชัยยังยืนยันว่าในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง อบจ.จะดูแลอย่างเต็มที่
พิชัย ชี้ว่า “เชียงใหม่” เป็นเมืองที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวถึง 70% โดยเฉพาะในงานสำคัญอย่าง “ชมมิ่งเชียงใหม่ Festival” และ “มนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งาม” ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 7 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมในทุกอำเภอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และพัฒนาการท่องเที่ยวในทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมการจัดงานกีฬาระดับโลก เช่น วิ่งเทลระดับโลก ที่จัดร่วมกับ UTMB และกระทรวงการท่องเที่ยว เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งดึงดูดนักวิ่งมากกว่า 8,000 คน และสร้างรายได้มหาศาลให้กับเชียงใหม่
พิชัยยังกล่าวถึงการพัฒนาสวนสาธารณะ เช่น สวนรถไฟ ที่ได้รับการยกจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ อปจร. เชียงใหม่ดูแล พร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว รวมถึงแผนพัฒนาเชียงใหม่เป็น “Medical Hub” ด้วยการประสานงานกับคณะศรีพัฒน์และคณะแพทยศาสตร์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ป่วยจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะยิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
‘พนม’ เปิดเผยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเชียงใหม่โดยยึดประสบการณ์กว่า 30 ปีในพื้นที่ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสำคัญที่ชาวเชียงใหม่เผชิญอยู่
พนมกล่าวว่าเขาเป็นคนเชียงใหม่ที่เกิดที่สุพรรณบุรี แต่ได้ใช้ชีวิตและทำงานในเชียงใหม่มากว่า 33 ปี โดยในช่วงเวลาที่ทำงานด้านการข่าวและมวลชนในทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เขาได้เห็นปัญหาหลายประการที่ยังคงสะสมและไม่ถูกแก้ไข เช่น ปัญหาความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะบนดอยและพื้นที่ชนบทที่ยังขาดแคลนถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา พนมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่นายก อบต. คนหนึ่งบอกว่าเมียของเขาเสียชีวิตจากการคลอดลูกกลางดอย เนื่องจากถนนไม่ดีพอและไม่สามารถเข้าถึงได้ในฤดูฝน
เขายังพูดถึงปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในหมู่บ้านบางแห่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มาเกิน 100 ปี และปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนและน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง ซึ่งเขามองว่าโครงสร้างพื้นฐานคือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทุกอย่าง และต้องมีการพัฒนาอย่างครอบคลุมเพื่อให้ทุกคนในเชียงใหม่ได้รับประโยชน์
ในด้านสาธารณสุข พนม เสนอนโยบายการยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีศักยภาพและความพร้อมในการดูแลประชาชนมากขึ้น โดยไม่เพียงแค่เป็นสถานีสุขภาพทั่วไป แต่ต้องเป็นศูนย์กลางที่ประชาชนสามารถพึ่งพาได้ในทุกสถานการณ์ เขาเสนอให้มีการจัดตั้งระบบฉุกเฉินที่มีศักยภาพ เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา
ในประเด็นการทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองสะอาด พนมกล่าวว่าเขามีความตั้งใจที่จะปรับปรุงความสะอาดในทุกมิติ ตั้งแต่การกำจัดขยะมูลฝอยจนถึงการทำให้บ้านเมืองมีความสะอาดทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเชื่อว่าเชียงใหม่ต้องการการพัฒนาทางด้านนี้เพื่อให้เมืองมีความสวยงามและน่าอยู่อาศัย
สุดท้าย พนมย้ำถึงความสำคัญของการบริหารงานที่โปร่งใสและการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาเชียงใหม่ให้เจริญก้าวหน้า เขาเชื่อว่าถ้าผู้นำมีความโปร่งใส การบริหารงานในท้องถิ่นจะดีทั้งหมดและเสนอแนวคิดโครงการ “แม่ปลูก ลูกขาย” ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมการเกษตรในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ พนม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในประเด็นของการติดตั้ง “รถไฟฟ้า” ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเขามองว่าเมืองเชียงใหม่ยังไม่พร้อมสำหรับการมีระบบรถไฟฟ้าในขณะนี้
พนม ระบุว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความเจริญเฉพาะบางพื้นที่ เช่น อำเภอเมือง อำเภอหางดง และอำเภอสันทราย โดยพื้นที่เหล่านี้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่เมืองเชียงใหม่ยังไม่ใช่เมืองขนาดใหญ่หรือมีพื้นที่กว้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องมีรถไฟฟ้าในช่วงเวลานี้
เขายังกล่าวถึงความสำคัญของ “รถ 4 ล้อแดง” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเชียงใหม่ที่มีความสำคัญทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในเมือง โดยเขามีแนวคิดที่จะนำรถ 4 ล้อแดงมาปัดฝุ่นและพัฒนาใหม่ เพื่อให้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวในเชียงใหม่
ในท้ายที่สุด พนม กล่าวว่า แม้จะมีการพูดถึงระบบขนส่งมวลชนใหม่ ๆ แต่เขาคิดว่าเชียงใหม่ยังไม่พร้อมสำหรับการมีระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และอาจจะต้องรอให้เมืองมีการขยายตัวและความเจริญมากขึ้นก่อนที่จะพิจารณาโครงการนี้ในอนาคต
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...