นักสิทธิฯ จัดรำลึก 14 ปี เหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ต้น–ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่ม Chiang Mai Pride ได้จัดกิจกรรมรำลึก 14 ปี เหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด จากกรณีที่งานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ ถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อต้านไม่ให้จัดงานนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 


‘เสาร์ซาวเอ็ด’ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงต่อกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการจัดงานพาเหรดเกย์ไพรด์ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดยมีการเรียกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เพราะในช่วงเวลานั้นหลังจากที่ทางทีมผู้จัดได้ประกาศจัดงาน ทางหน่วยงานราชการหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ก็ออกมาแสดงท่าทีต่อการยกเลิกกิจกรรมด้วยเหตุผลว่า “ไม่เหมาะสมและขัดต่อวัฒนธรรมเชียงใหม่ ทำให้วัฒนธรรมล้านนาถูกมองในแง่ลบ นำไปสู่การเลียนแบบโดยเยาวชน”

นอกจากนี้สื่อท้องถิ่น เช่น หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์และสถานีวิทยุท้องถิ่นได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความอคติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

และในวันจัดงาน 21 กุมภาพันธ์ 2552 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รวมตัวกันที่บริเวณวัดอุปคุต เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวน แต่มีกลุ่มที่แอบอ้างว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ชื่อกลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 ได้ทำการเข้าไปปิดล้อมผู้เข้าร่วมงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ โดยสื่อมวลชนในขณะนั้น ได้รายงานว่า กลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 ประมาณ 1,000 คน ได้ทำการปิดล้อมโดยใช้รถบรรทุกพร้อมเครื่องขยายเสียง เพื่อปิดล้อมไม่ให้ขบวนของผู้เข้าร่วมงานได้เดินขบวน และได้มีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เสียดสี มีการขว้างก้อนหิน ปาเศษอาหาร ใส่ผู้จัดงานจนได้รับบาดเจ็บ จนต้องยกเลิกการกิจกรรมในครั้งนี้ไป

นอกจากนี้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ได้มีการกำหนดเป็น วันยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้

Chiang Mai Pride 2022 เจียงใหม่ไพรด์ ไพร์ดทั้งแผ่นดิน​

ภาพ : พลอยจันทร์

แม้เหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดจะผ่านมาร่วม 14 ปีเต็มแล้ว แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ภาคี Chiang Mai Pride และเครือข่ายได้จัดกิจกรรม Chiangmai Pride 2022 ขบวนพาเหรดและกิจกรรมที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ โดยขบวนพาเหรดได้เคลื่อนขบวนตั้งแต่ บริเวณพุทธสถานเชื่อมไปถึงถนนไนท์บาซาร์ ถนนกำแพงดิน ถนนลอยเคราะห์ ก่อนที่ปักหลักจัดเวทีกิจกรรมต่อเนื่อง ณ ลานอเนกประสงค์ ข่วงประตูท่าแพ​ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมเดินขบวนอย่างคับคั่งไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม LGBTQ+ จากเครือข่ายต่าง ๆ พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไป

​นี่ถือเป็นย่างก้าวที่ชี้ให้เห็นถึงความกล้าหาญในการแสดงออกเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่ชัดเจนที่สุดในช่วงเวลาปัจจุบันนี้

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง