Lanner Joy: ‘สวนเกสรและผีเสื้อ’ พื้นที่สีเขียวริมคลอง นำร่องพัฒนาชุมชนแม่ข่า บนแนวคิดช่วยกันดูแลสมดุลของกันและกัน

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

‘สวนเกสรและผีเสื้อ’ สวนดอกไม้ในตรอกเล็กๆ ริมคลองแม่ข่า ที่อยู่ข้างโรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ ย่านไนท์บาซาร์และกำแพงดิน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่การเรียนรู้นิเวศริมคลองแม่ข่า ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ Mae Kha City Lab และผู้ประกอบการริมคลองแม่ข่าย่านไนท์บาซาร์ นำโดย Duangtawan Hotel Chiang Mai, Star Hotel Chiang MaiMövenpick Suriwongse Hotel Chiang Mai และ Pavilion Night Bazaar ที่ได้หารือกันเพื่อสร้างแนวทางการฟื้นฟูนิเวศริมคลองแม่ข่า โดยทำสวนดอกไม้ขนาดเล็กเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ภายใต้หลักการ ‘ช่วยกันดูแล’

สวนเกสรและผีเสื้อริมคลองแม่ข่า

สวนเกสรและผีเสื้อ เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นจากกิจกรรม Earth Day : Mae Kha & Night Bazaar เมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ Mae Kha City Lab และทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่สำรวจและพบว่าบริเวณนี้มีแมลงและนกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสวนที่เน้นการดึงดูดสัตว์นานาชนิดให้เข้ามาอยู่ร่วมกันกับเมือง โดยการออกแบบการทำสวนในรูปแบบ Wild Gardening’ หรือ การทำสวนแบบผสมผสาน ที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดและคงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติให้มากที่สุด ด้วยการเลือกใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่สามารถเติบโตได้เองโดยไม่ต้องดูแลมาก ทำให้พันธุ์ไม้ในสวนสามารถดูแลกันเองได้ตามธรรมชาติ 

เปิดแนวคิด ‘Wild Gardening’ สวนแบบผสมผสาน

ดอกด้าย (ดอกหงอนไก่) ดอกตะล่อม (ดอกบานไม่รู้โรย) และต้นหญ้าที่ถูกปลูกด้วยกันแบบผสมผสาน

“พื้นที่สวนตรงนี้หากมองเผินๆ อาจเหมือนเป็นการปลูกต้นไม้แบบกระจัดกระจาย แต่จริงๆ เรามีแนวคิดและหลักการที่ชัดเจน เราใช้วิธีปลูกแบบ Matrix Planting หรือการปลูกแบบผสมผสาน โดยคัดเลือกต้นไม้หลากหลายระดับ ทั้งไม้สูง ไม้พุ่ม และไม้คลุมดินให้เติบโตไปด้วยกัน”

ผศ.วรงศ์ วงศ์ลังกา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์ป้อง-ผศ.วรงศ์ วงศ์ลังกา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมนักวิชาการที่ร่วมพัฒนาสวนเกสรและผีเสื้อ อธิบายแนวคิดของสวนแห่งนี้ว่าเป็นการทำสวนในรูปแบบการลูกอย่างผสมผสาน ที่อาจไม่ค่อยพบเเห็นได้มากนักในไทย เนื่องจากในการตกแต่งสวนด้วยระบบการจ้างเหมามักจะเลือกปลูกพืชชนิดเดียวกันเพราะตรวจสอบปริมาณงานได้ง่ายกว่า 

อาจารย์ป้องได้เสริมเกี่ยวกับการปลูกพืชแบบผสมผสานว่า การเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแล้วนำไปกระจายลงในพื้นที่จริง ช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชได้ เพราะพืชที่ปลูกในแปลงก็จะขึ้นแซมกันเองอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อมีต้นหญ้าขึ้นแซมก็จะดูไม่แปลกตา อีกทั้งการปลูกพืชรูปแบบนี้ยังลดความจำเป็นในการดูแล การตัดแต่ง ช่วยสร้างระบบนิเวศที่สมดุล วิธีนี้ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และช่วยให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เมืองอื่นๆ ได้ 

ต้นมะละกอ กะเพรา และดอกไม้ที่ขึ้นแซมกันอย่างเป็นธรรมชาติ

“แนวคิดของเราเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ลดการแทรกแซงของมนุษย์ ปล่อยให้ต้นไม้เติบโตและปรับตัวเองตามธรรมชาติ เมื่อพืชโตขึ้นจะสร้างร่มเงา กักเก็บความชื้น และช่วยให้พืชชนิดอื่นเติบโตได้ดีขึ้น”

ดอกด้าย หรือ ดอกหงอนไก่ ดอกไม้พื้นถิ่นของเมืองเหนือ

อีกจุดเด่นของสวนแห่งนี้คือการเลือกปลูก ‘ดอกด้าย’ ซึ่งเป็นดอกไม้พื้นถิ่นของเมืองเหนือ ที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การนำดอกด้ายไปทำบุญ ที่โดยทั่วไปเมื่อถึงวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านก็จะเด็ดเอาดอกด้ายไปประกอบการทำบุญ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวเหนือได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นดอกด้ายยังเป็นพืชที่ทนทาน โตเร็ว สามารถตัดไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ทำให้สวนเสียสมดุล 

เมล็ดดอกด้าย ดอกไม้ในชุมชนที่ถูกเก็บมาโปรยในพื้นที่สวนเกสรและผีเสื้อ

กระบวนการนี้เริ่มต้นจากการเก็บดอกไม้ในชุมชนและนำมาโปรยในพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ทำให้พื้นที่สีเขียวเกิดขึ้นในใจกลางเมือง แต่ยังสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติและชีวิตเมือง ทำให้แมลง นก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน

แปลงดอกไม้ พื้นที่ปลอดภัยของเหล่าแมลง

อาจารย์ป้องเล่าอีกว่า เขาได้ทำงานร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมว่าพื้นที่นี้ สามารถดึงดูดแมลงและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้จริงหรือไม่ จากการลงพื้นที่ทุกๆ สองสัปดาห์ เพื่อเก็บตัวอย่างแมลงและศึกษาบทบาทของเหล่าแมลง โดยช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกไม้ยังไม่บานมาก พวกเขาพบแมลงในพื้นที่ทั้งหมด 28 ชนิด 

ผีเสื้อที่พบในสวนเกสรและผีเสื้อ

‘ผีเสื้อ’ เป็นแมลงกลุ่มที่ถูกพบมากที่สุดในพื้นที่สวน โดยเฉพาะผีเสื้อขาวแพะ ผีเสื้อหนอนกา และผีเสื้อหนอนคูณธรรมดา นอกจากนั้นยังพบ ‘ผึ้ง’ อีกหลายชนิด ประกอบด้วย ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และชันโรง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผสมเกสร รวมไปถึง ‘แมลงปอ’ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และช่วยควบคุมปริมาณยุงได้อีกด้วย จากการสำรวจยังพบว่า ยิ่งดอกไม้บานมากขึ้น จำนวนแมลงก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยแมลงส่วนใหญ่ออกหากินช่วงที่มีแสงแดดและอากาศแห้ง

แมลงที่พบในสวนเกสรและผีเสื้อ

“แมลงเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศและการเกษตร อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวว่า หากโลกนี้ไม่มีผึ้ง มนุษย์จะสูญพันธุ์ภายใน 4 ปี เนื่องจาก 80% ของพืชทั้งหมดเป็นพืชดอก และในจำนวนนั้นมี 60% เป็นพืชอาหารที่ต้องอาศัยการผสมเกสรของแมลง หากเราใช้มนุษย์ผสมเกสรแทน จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี”

ผึ้งหลวงที่พบในสวนเกสรและผีเสื้อ

อาจารย์ป้องกล่าวถึงความสำคัญของแมลงต่อระบบนิเวศ และยังบอกอีกว่าพื้นที่นี้เป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะแห่งแรกของไทย ที่ออกแบบเพื่อรองรับและดึงดูดแมลงผสมเกสร ซึ่งแตกต่างจากสวนพฤกษศาสตร์ทั่วไปที่อาจมีการจำกัดการเข้าถึงของแมลง โดยเราเน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อแมลงให้เข้ามาเองตามธรรมชาติ 

“การอนุรักษ์แมลงไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัว หากมีการออกแบบและบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม พื้นที่นี้จึงเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไป”

Mae Kha City Lab ห้องทดลองต้นแบบเพื่อการพัฒนาชุมชน

“เราต้องการเริ่มจากอะไรเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่สิ่งใหญ่ โดยใช้ City Lab เป็นเวทีกลาง ที่มีข้อมูล การพูดคุย และกิจกรรมต่างๆ เพื่อทดลองแนวคิดใหม่ๆ และทำให้เห็นผลกระทบในเชิงบวกจากการพัฒนาพื้นที่”

สามารถ สุวรรณรัตน์  จาก Mae Kha City Lab  (ภาพจาก Imagine MaeKha

สามารถ สุวรรณรัตน์  จาก Mae Kha City Lab อธิบายถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาสวนเกสรและผีเสื้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมคลองแม่ข่าโดย Mae Kha City Lab เพื่อสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับเมือง ด้วยการรวมกลุ่มของนักวิชาการ นักออกแบบ ชาวบ้าน และผู้ประกอบการ มาร่วมกันสร้างโมเดลที่ใช้ทดลองในบางพื้นที่ที่คิดว่ามีศักยภาพในการพัฒนา โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายคือ ทำให้พื้นที่แม่ข่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมือง ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเชียงใหม่ได้ ไม่ใช่แค่การปรับภูมิทัศน์เทศบาล แต่รวมถึงการพัฒนาระบบต่างๆ ที่สามารถทำให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาเมืองไปในทางที่ดีขึ้น

“ในปีที่ผ่านมา เราดำเนินการโดยเน้นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก (SME) และชาวบ้าน โดยเริ่มจากการปรับปรุงพื้นที่จากหลังบ้านไปยังหน้าบ้าน ซึ่งมีทั้งร้านค้าและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น การจัดกิจกรรมและการพูดคุยกับชาวบ้าน ช่วยให้เราเข้าใจถึงความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ”

สามารถ เล่าถึงประเด็นสำคัญที่เจอในการทำงานพัฒนาพื้นที่ นั่นคือ เมื่อมีการปรับปรุงพื้นที่จากเทศบาล ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างไร พวกเขาจึงพยายามสร้างพื้นที่พูดคุยและลองทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างการยอมรับจากชาวบ้าน และผลลัพธ์จากการทดลองก็พบว่าโมเดล City Lab เป็นโมเดลที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากทั้งชาวบ้าน เทศบาล และผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา นอกจากนั้น การศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ ก็ทำให้ City Lab เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก

ในปี 2568 นี้ Mae Kha City Lab ได้เขยิบมาพัฒนาพื้นที่ย่านไนท์บาร์ซ่า ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง แต่มีศักยภาพในการพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับเมืองมากมาย โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำไมเทศบาลไม่เลือกปรับปรุงพื้นที่เหล่านี้ก่อน ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและสามารถสร้างรายได้ให้กับเมืองได้มาก 

สิ่งที่ Mae Kha City Lab ทำคือการสร้างเคสตัวอย่างเพื่อเป็นโมเดลให้พื้นที่ที่คล้ายกันนำไปปรับใช้ได้ หลักการก็คือหากเรามองว่าพื้นที่นี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเมืองและสร้างอัตลักษณ์ของเมืองได้ดี เราก็ควรออกแบบอะไรบางอย่างให้พื้นที่นี้มีความพิเศษ ถ้ามีข้อมูล หรืองานวิจัยมาสนับสนุน ก็จะยิ่งช่วยให้พิสูจน์ได้ว่าพื้นที่นี้สามารถตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ได้จริงๆ และทำให้การพัฒนาเป็นไปได้จริง

“เป้าหมายของเราคือการให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการในพื้นที่ร่วมมือกัน ลงเงินลงแรงเพื่อปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินคำบ่นต่างๆ เกี่ยวกับขยะและปัญหาภายในชุมชน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด เพราะปัญหาหลายอย่างไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง”

‘สวนเกสรและผีเสื้อ’ กับเป้าหมายพัฒนาระบบนิเวศริมคลองแม่ข่า

สามารถเล่าว่า แม้ที่ผ่านมาโครงการนี้จะมีอุปสรรคจากน้ำท่วม แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งการเลือกต้นไม้ รวมถึงการเลือกวิธีดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้การทำสวนเป็นไปได้ด้วยดี โดยทุกคนก็ช่วยกันลงแรงในการปลูก และดูแลพื้นที่ จนท้ายที่สุด ก็เห็นผลของความร่วมมือและการทำงานที่ดีร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้

“เราเริ่มต้นจากการทำสิ่งต่างๆ ด้วยการรวมตัวแทนจากโรงแรมต่างๆ ที่เคยแข่งขันกันเอง ให้มาร่วมมือกัน อย่างที่บอกว่าเราไม่ต้องทำการปรับปรุงอะไรมากมาย แค่ทำให้พื้นที่มันสวยงามขึ้น และสร้างความรู้สึกว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแล พอพวกเขาเริ่มเห็นประโยชน์ก็สามารถนำไปใช้ต่อได้เอง” 

ผู้ประกอบการเก็บเมล็ดกะเพราเพื่อนำไปเพาะปลูกอีกครั้ง

สามารถมองว่า แม้ Mae Kha City Lab จะเน้นการทำการทดลองนำร่อง (Pilot study) เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในทุกการทดลองจะต้องได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบเสมอไป บางครั้งก็อาจล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จแค่ครึ่งหนึ่ง หรืออาจจะประสบความสำเร็จมากๆ เลยก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องสามารถบอกและอธิบายได้ว่าแนวคิดหรือวิธีการที่ทำอยู่นี้ คืออะไร จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างไร และมีความท้าทายสำหรับคนในพื้นที่ได้ยังไงบ้าง 

“การทำงานแบบนี้คือการสร้างกระบวนการและวิธีคิดให้กับคนในพื้นที่ หลังจากที่เราทำเสร็จแล้ว คนในพื้นที่สามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยตัวเองโดยใช้วิธีคิดที่เราได้วางไว้ และมันจะไม่ใช่แค่การเล่าให้ฟัง แต่มันคือการที่เราทำด้วยกัน ได้เห็นผลลัพธ์จริงๆ ว่ามันเป็นอย่างไร”

พื้นที่ข้างที่พักอาศัยของคนในชุมชนริมคลองแม่ข่า ที่มีการปลูกต้นไม้

สุดท้ายแล้วการทำงานในลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่การสนับสนุนจากทีมผู้จัดทำเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่ดำเนินงานด้วยตัวเองได้ในระยะยาว แล้วพวกเขาจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ และสามารถพูดได้ว่า “เราได้ทำมันสำเร็จ” 

“เรามองว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้น เมื่อกลไกนี้สามารถทำงานได้ในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่เน้นแค่การทำสิ่งเดียว แต่คำนึงถึงการพัฒนาระยะยาวด้วย ในอนาคต เรามีแผนที่จะจัดเวทีสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้ โดยจะเชิญครูอาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวิเคราะห์และประเมินผล เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เราจะทำการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร”

เสียงจากกองกำลังของเมือง

ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเปิดสวนเกสรและผีเสื้อ นำโดย Mae Kha City Lab, นักวิชาการ และตัวแทนผู้ประกอบการที่ร่วมลงทุนและลงแรงกับพื้นที่ริมคลอง ประกอบด้วย โรงแรม Duangtawan Hotel Chiang Mai, โรงแรม Mövenpick Suriwongse Hotel Chiang Mai – โรงแรม Star Hotel Chiang Mai และ Pavilion Night Bazaar พร้อมทั้งตัวแทนคุณครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลวัดศรีดอนไชย โรงเรียนเทศบาลวัดศรีปิงเมือง โรงเรียนเทศบาลท่าสะต๋อย โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักช่างเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าร่วมงานเพื่อเดินชมสวนเกสรและผีเสื้อที่ร่วมกันปลูก พร้อมทั้งบอกเล่าความรู้สึกในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ไปด้วยกัน

ตัวแทนผู้ประกอบการ Pavilion Night Bazaar, โรงแรม Mövenpick Suriwongse Hotel Chiang Mai – โรงแรม Star Hotel Chiang Mai และโรงแรม Duangtawan Hotel Chiang Mai (ภาพจาก Imagine MaeKha

ตัวแทนผู้ประกอบการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพัฒนาสวนริมคลองแม่ขาเป็นสิ่งทำให้เห็นว่าชุมชนกำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะในเขตเมืองควรมีทั้งพื้นที่สีเขียวและพื้นที่พาณิชย์ในสัดส่วนที่สมดุล การปรับปรุงทางเดินและแสงสว่างโดยเทศบาลเป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้เห็นว่าข้อเสนอมีผลกระทบเชิงบวก และหากพัฒนาต่อไปในทิศทางที่เหมาะสม อาจดึงดูดผู้ประกอบการให้เข้ามาร่วมพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่นี้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของเมืองเชียงใหม่ 

การลงทุนและลงแรงของทุกคนเป็นมรดกทางความคิดที่สามารถส่งต่อได้ แม้ว่าแนวทางของเทศบาลอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในอนาคต แต่สิ่งสำคัญคือการทดลองและเรียนรู้จากการพัฒนา การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยเพิ่มเสน่ห์และความยั่งยืนให้เมืองมากขึ้น

นักเรียนที่มาเรียนรู้และเยี่ยมชมสวนเกสรและผีเสื้อ

ด้านตัวแทนคุณครูและนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาลเองก็มองว่า โครงการนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีคุณค่า และมีความเป็นธรรมชาติ ที่เหมาะสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน การได้เห็นระบบนิเวศที่นี่ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และเห็นโอกาสในการบูรณาการการเรียนการสอนในหลายวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ประวัติศาสตร์คลองแม่ขา รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการต่อยอดเป็นโครงการระยะยาว เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สวนเกสรและผีเสื้อ เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพลังในการสร้างและร่วมขับเคลื่อนเมืองจากการร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนแม่ข่าในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่มิตรภาพของคนเท่านั้น เพราะสวนแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่แห่งมิตรภาพของเหล่าแมลง สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในนิเวศคลองแม่ข่าอีกด้วย คงจะดีไม่น้อย หากประเทศของเรา มีพื้นที่แห่งมิตรภาพเหล่านี้ เกิดขึ้นในอีกหลายๆ แห่ง และหลายรูปแบบ…

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong