เรื่อง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
ภาพจำพื้นที่เมืองอุตรดิตถ์ในความคิดคนนอกอย่างผู้เขียน เมื่อตอนขับผ่านจังหวัดนี้เผื่อไปเชียงใหม่ ก็คล้ายในภาพยนต์ธี่หยด 2 ที่เห็นแต่ทุ่งนาป่าเขา ลำเนา พ่อเลี้ยง คล้ายๆ กัน แต่เมื่อได้อ่านเอกสารเก่าๆ โดยเฉพาะบันทึกของชนชั้นนำสยามสมัยก่อนนั้นมันเป็นคนละเรื่อง ภาพจำเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายไป
ในอดีตตลาดแถบเมืองอุตรดิตถ์ถือว่าเป็นตลาดที่การค้าขายเฟื่องฟูอย่างมาก เนื่องด้วยที่ตั้งของเมืองนั้นเป็นเมืองที่ติดกับชายแดนอย่างหลวงพระบาง ในลาวซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีการติดต่อการขายกับพื้นที่อื่นๆ อยู่โดยตลอด
ความเฟื่องฟูของเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้สามารถเห็นได้จากบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2435-2458) หลายต่อหลายชิ้น เช่น บทพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวตามทางรถไฟ และเอกสารเสด็จตรวจราชการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
สภาพความเฟื่องฟูของอุตรดิตถ์ในสมัยก่อน
ในบทนิพนธ์ชิ้นดังกล่าว เป็นการบรรยายถึงบรรยากาศเมือง การค้า โบราณสถาน โบราณวัตถุ (ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นที่สนใจของท่านมากที่สุด เนื่องจากกำลังค้นหาความยาวนานของรัฐชาติที่กำลังจะสร้างขึ้น) โดยกล่าวถึงเมืองอุตรดิตถ์ว่า
“เมืองอุตรดิตถ์นี้ เดิมนี้เป็นแต่ตำบลบ้านอยู่ในเขตของเมืองพิชัยเรียกว่า “บางโพธิ์ท่าอิฐ” อยู่ริมลำน้ำน่านข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่สำคัญเพราะทางลำน้ำน่านเรือใหญ่ขึ้นไปได้สะดวกเพียงนั้น เหนือนั้นขึ้นไปน้ำตื้น เรือบรรทุกสินค้าลงไปจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปรวมกันอยู่ที่บางโพธิ์ท่าอิฐ พวกพ่อค้าเมืองหลวงพระบาง เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนสิบสองปันนาก็นำสินค้าลงมาจำหน่ายและรับซื้อสินค้ากรุงเทพ ฯ ณ ที่ตำบลนั้นการค้าขายเจริญขึ้นทุกที” (เที่ยวตามทางรถไฟ.หน้า 76-77.)
นอกจะกล่าวถึงสภาพเมืองอุตรดิตถ์ ยังอภิปรายอย่างละเอียดในเรื่องการค้ากับหัวเมืองอื่นโดยเฉพาะหลวงพระบาง กล่าวคือ
“การค้าขายกับเมืองหลวงพระบางนั้น ได้ความว่าเจริญขึ้นมาก พวกเมืองอุตรดิฐไปตั้งร้านค้าขายที่เมืองหลวงพระบางก็มีบ้าง พวกเมืองหลวงพระบางมารับซื้อสินค้าไปขายที่เมืองหลวงพระบางก็มีโดยมาก การค้าขายสะดวกดี ฝรั่งเศสไม่ได้เรียกเก็บภาษีขาเข้าจากสินค้าอย่างอื่น นอกจากไม้ขีดไฟแลมีน้ำมันเปโตรเลียม แต่สินค้าขาออกเรียกเก็บภาษีทุกอย่าง เมืองอุตรดิฐเปนตลาดของเมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองนคร ลำปาง (เฉพาะแต่เกลือ เพราะบรรทุกเรือขึ้นไปทางน้ำวัง ราคาซื้อแรงกว่าอุตรดิฐ) เมืองหลวงพระบาง เมืองด่านซ้าย เมืองหล่มศักดิ์ เมืองนครไทย เวลารถไฟแล้วเมืองอุตรดิฐคงจะเจรีญขึ้นอีก ถ้าหากว่ารถไฟไม่เรียกค่าบรรทุกเกีนไป…” (เอกสารเสด็จตรวจราชการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย.หน้า. 190.)
ชุมทางการค้า
นิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงการค้าในหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยนั้นคือวิทยานิพนธ์ของณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ที่ศึกษาการก่อตัวของรัฐสยามสมัยใหม่ด้วยแว่นตาของสามัญชน และใช้เรื่องราวของชีวิตคนธรรมดาในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงจากรัฐจารีตเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ ได้วิเคราะห์ถึงเหตุผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจของหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ว่า
“ระบบการปกครองแบบศักดินาเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในด้านต่างๆ รวมถึง “เจ้าภาษีนายอากรและคนในบังคับต่างชาติ” ที่ถือว่าเป็นคนจากภายนอกพื้นที่ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยทั้งสองกลุ่มนี้ก็ใช้อำนาจของรัฐบาลกรุงเทพฯ และรัฐบาลอาณานิคมเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน” (หน้า 94)
และกล่าวต่อว่า “คนทั้งสองกลุ่มนี้เปรียบเสมือนดังบริบททางสังคมการเมืองที่เหล่าพ่อค้าสามัญชนต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย การแสวงหาผลประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราจึงได้ดึงให้คนทุกกลุ่มเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในพื้นที่ ชุมทางการค้า ชีวิตทางการค้าของสามัญชนจึงมีขอบข่ายกว้างไกลขึ้น” (หน้าเดียวกัน.)
ด้วยความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นชุมทางการค้าที่ไม่ใช้เพียงแค่การค้าขายกันเองในสยามเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ชุมทางการค้านี้จึงเชื่อมต่อโลกเข้ามาอยู่ในท้องถิ่น สิ่งที่แสดงออกได้อย่างดีต่อประเด็นนี้ได้ดีคือ ชาวอุตรดิตถ์ได้ดื่มบรั่นดี วิสกี้ และเหล้านอกอื่นๆ โดยมีหลักฐานจากกรมดำรงฯ ความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าไปดูตลาด พบนักเลงสุรากำลังเสพย์สุราอยู่ในร้านขายสุรา ต่างประเทศจำนวน ๓ คน จึงแวะเข้าไปสนทนาได้ความว่า ที่ตลาดอำเภอพิไชยนี้มีร้านสุราต่างประเทศ ซึ่งเสียค่าไลเซนปีละ ๑๒0 บาท ร้าน ๑ กับสุราโรง ซึ่งนายอากรจัดให้มาตั้งขายร้าน ๑ สุราที่ขายในร้านสุราต่างประเทศนั้นมีสุราฝรั่งกับสุราจีน จำพวกสุราฝรั่งมีสุรา ๓ อย่างคือ วิสกี้สัก ๓ ยี่ห้อ บรันดีสัก ๓ ยี่ห้อ สุราจีนนั้นเปนสุรากลั่นเมืองเซียงไฮ้อย่างสีขาวทำนองเดียวกับสุราโรงแต่แรงกว่า อิกอย่างหนึ่งสีแดงเรียกว่าเล่านาทำนองเปนยาดองอ่อนกว่าอย่างสีขาว…” (เอกสารเสด็จตรวจราชการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย. หน้า 192.)
ชาวบ้านอุตรดิตถ์จึงรับรู้ถึงโลกภายนอกผ่านสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างบรั่นดี วิสกี้ที่ยกตัวอย่างมาในบทความนี้ (ผมยังไม่ได้สำรวจสินค้าอื่นๆ ที่เข้ามาในเมืองนี้ เพราะมัวแต่โฟกัสในเรื่องที่ตัวเองชอบจึงละเลยสิ่งอื่นไป) และมิได้ปิดตัวประหนึ่งอยู่บนเกาะที่ไม่สัมพันธ์กับใคร
อย่างไรก็ดี สภาพบ้านเมืองของอุตรดิตถ์ก็มิได้เฟื่องฟูตลอด โดยเฉพาะช่วงหลังต่อมาอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ ภาพจำทุ่งนาป่าเขาและลำเนาเหมือนกับการเดินทางผ่านเหมือนหนังธี่หยด 2 ที่เกริ่นไปตอนต้นเล็กน้อย จากเดิมที่ค่อยๆ จางลง ก็เวียนซ้ำกลับมาในหัวอีกครั้งเมื่อเขียนบทความชิ้นนี้จบลง
อ้างอิง
- ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว. สามัญชนในหัวเมืองฝ่ายเหนือกับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่สยาม พ.ศ.2400-2450. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2561.
- ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จกรมพระยา. เที่ยวตามทางรถไฟ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2509.
- ดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยา, เอกสารเสด็จตรวจราชการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.๑๑๙-๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๔๔๕). กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2564.

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน