22 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องคดี “ทวงคืนหอศิลป์ มช.” ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์เป็นผู้กล่าวหาดำเนินคดีฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สองอาจารย์ภาควิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากสาขาเดียวกัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 จากกรณีกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์พยายามเข้าใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงผลงานนิทรรศการ MAD Festival ตามหลักสูตรศิลปนิพนธ์ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหอศิลป์ฯ ทำให้เกิดการตัดโซ่และเข้าใช้พื้นที่
จนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 อาจารย์ทั้งสองคนพร้อมด้วยยศสุนทร ได้เดินทางไปยัง สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น โดยมี อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นผู้แจ้งความไว้ในวันเกิดเหตุ
ทั้งนี้ศาลเห็นว่า คณะกรรมการหอศิลป์ฯ พิจารณาล่าช้าเกินสมควร และการเข้าใช้พื้นที่ของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่มีเหตุอันสมควร ไม่ได้เป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของมหาวิทยาลัย จึงพิพากษายกฟ้อง

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หนึ่งในจำเลย เปิดเผยความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาว่าตนรู้สึกดีใจกับคำพิพากษา เนื่อกจากที่ผ่านมาตนต้องตื่นเช้าไปศาลเพื่อให้การและส่งเอกสาร ซึ่งทุกขั้นตอนนั้นรบกวนชีวิตการทำงานของเขาอย่างมาก
“จะได้ไปทำอย่างอื่นต่อเสียที เพราะตลอดที่ผ่านมา เราต้องตื่นแต่เช้าไปศาล ให้การ ทำเอกสาร ทุกอย่างมันกินพลังมาก เหมือนชีวิตหยุดอยู่แค่นั้น”
เขากล่าวว่า การต่อสู้ในคดีนี้ส่งผลต่อชีวิตส่วนตัว ทั้งการสมัครงานและการใช้ชีวิตทั่วไป พร้อมตั้งคำถามถึงเหตุผลในการตั้งคดีตั้งแต่ต้น ยศสุนทรยืนยันว่า สิ่งที่เขาและอาจารย์ทำ คือการแสดงออกทางวิชาการตามหลักสูตร เป็นสิทธิของนักศึกษาในการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดแสดงผลงานปลายภาคตามที่เคยเป็นมา ไม่ใช่การบุกรุกหรือทำลายทรัพย์สิน
“ดีใจครับ ดีกับทุกคน ดีกับศาล ดีกับผู้พิพากษาด้วย ที่ไม่ต้องมาทำคดีแบบนี้อีก” ยศสุนทร กล่าวส่งท้าย
ขณะที่ เปรมชัย (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้สังเกตการณ์คดี สะท้อนว่า คดีนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องข้อกฎหมาย แต่คือภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างในมหาวิทยาลัย ที่เสรีภาพทางวิชาการถูกตีกรอบโดยอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจมีแรงจูงใจทางอุดมการณ์หรือความขัดแย้งส่วนตัวแฝงอยู่
เขาระบุว่า ความพยายามนำเรื่องการจัดแสดงผลงานศิลปะไปสู่การฟ้องร้องคดีอาญา เป็นการใช้กฎหมายจัดการผู้เห็นต่างในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างน่ากังวล พร้อมตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะของสถาบันที่ควรเปิดกว้างต่อการเรียนรู้และการแสดงออกของนักศึกษา
“คดีแบบนี้มันไม่ควรต้องถึงศาลด้วยซ้ำ มันเป็นแค่การแสดงงานของนักศึกษา แต่กลับถูกทำให้กลายเป็นความผิดทางอาญา นี่คือการเปลี่ยนพื้นที่วิชาการให้กลายเป็นสนามอำนาจ” เปรมชัย กล่าว
เปรมชัยยังชี้ว่า การที่ศาลยกฟ้อง แม้จะน่ายินดี แต่ก็ไม่ได้ลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งในแง่ชื่อเสียง เวลา และทรัพยากร พร้อมเตือนว่า หากไม่จัดการปัญหาเชิงระบบ เสรีภาพในรั้วมหาวิทยาลัยจะยังคงเปราะบางต่อไป
“มันน่ายินดีที่เพื่อนเราไม่ต้องติดคุก แต่มันก็น่าหงุดหงิดเหมือนกัน ที่เรื่องแค่นี้กลับกลายเป็นคดีความ ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องปกติในมหาวิทยาลัย” เปรมชัย ส่งท้าย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...