22 พฤษภาคม 2566
วันแรกของงานประชุมนานาชาติสิทธิดิจิทัลเอเชีย-แปซิฟิก (DRAPAC23) ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม Uniserv CMU และหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหารือ ร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ออนไลน์ การเสวนาในวันแรกนี้คือ Opening Building Knowledge on Digital Rights (เปิดการสร้างความรู้ด้านสิทธิดิจิทัล)
Yin Maung, Engage Media กล่าวถึงเหตุผลในการจัด DRAPAC23 เพราะอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำให้การขับเคลื่อน Digital Rights นี้ดำเนินต่อไป และอยากกล่าวถึงหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Digital Rights ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนัง ทั้งจากประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย และทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ ทั้งผู้สนับสนุน อาสาสมัคร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะถ้าไม่มีทุกคนก็คงไม่มี DRAPAC23
ด้าน Dr. Ora-orn Poocharoen, School of Public Policy at Chiang Mai University Founding Director กล่าวว่า ได้มีการตระหนักถึงปัญหาที่มีความสำคัญในปัจจุบัน และรับรู้ถึงสัญญาณที่ดีในความร่วมมือของเราทุกคน ทั้งระดับประเทศและชุมชน เพราะเรากำลังอยู่ท่ามกลางความกลัวบนโลกใบนี้ และเป็นเรื่องสำคัญมากในการเล็งเห็นปัญหาในดิจิทัลแพลตฟอร์มที่กำลังริดรอนสิทธิของเรา
Anna Maria Oltorp, Sida – Director, Regional Team for Asia อธิบายว่าสิทธิมนุษยชนและเทคโนโลยี หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่ดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีความปลอดภัย สร้างความเท่าเทียม และสามารถร่วมมือได้ทั่วภูมิภาค
“เราต้องการผลักดันเรื่องอิสรภาพทางการพูดและการแสดงออก และสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเตอร์เน็ตกำลังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เราจะนำเสนอความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือทางอินเตอร์เน็ตตลอดทั้งปี ทุกคนจะได้แลกเปลี่ยนสิทธิดิจิทัลในเอเชีย ทุกสาขาอาชีพจะได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม เราสามารถร่วมสร้างหนทางในอนาคตจากการสร้างเทคโนโลยี ดึงดูดผู้คนมาร่วมกัน และสร้างผลลัพธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วนได้”
และ Michael Caster, ARTICLE 19 Asia Digital Programme Manager กล่าวขอบคุณ Engaged Media และ Partner ทุกภาคส่วน เพราะนี่คือพื้นที่นำเสนอประเด็นในการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
“เรากำลังทำให้ภูมิภาคของเราตั้งรับกับความท้าทายที่จะเกิดในอนาคต นั่นคือดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปมาก ความสามารถที่อยู่รอบตัวเรา และพื้นที่ตรงนี้กำลังได้รับผลกระทบและความกดดันต่าง ๆ จากระบบแพลตฟอร์ม เราต้องการเห็นทุกแพลตฟอร์มตอบสนองการยืนยันตัวตนต่อเรา ดูแลความเป็นส่วนตัว และป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ เราต้องรับมือกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นในดิจิทัล ไม่ใช่แค่ระดับชาติแต่ต้องคำนึงถึงระดับโลก เพื่อนำไปสู่กฎเกณฑ์สากลที่เราสามารถใช้ร่วมกันทั่วโลก อาจจะมีแคมเปญต่าง ๆ ผ่านรัฐบาล เพื่อดูแลสิทธิมนุษยชนด้านดิจิทัลที่กำลังถูกรุกราน เราต้องกดดันในรัฐมองเห็นว่านี่คือปัญหาที่ต้องจัดการ และการรวมตัวในครั้งนี้คือการสร้างโอกาสและความร่วมมือที่ดีกับทุกคน”
โดยภายในงานยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ถึงหัวข้อ Digital Rights ร่วมกับผู้ร่วมอภิปรายสำคัญ 3 คน
คนแรกคือ Pavitra Ramanujam, Asia Digital Rights Lead, Association for Progressive Communications โดยเธอกล่าวว่า สิ่งที่เธออยากได้กลับไปในการเสวนาวันนี้ คือบริบทแต่ละประเทศ เช่น กฎหมายและความท้าทายในชีวิตประจำวัน ที่จะทำให้สามารถเข้าใจ ช่วยเหลือ และปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเขาได้ เราต้องเข้าใจในสิทธิในการแสดงออก การมีหลายภาษา เชื้อชาติ สามารถเคารพความแตกต่างได้ และสามารถร่วมกันสร้างหลักเกณฑ์สากลออกมาได้
Golda Benjamin, Asia-Pacific Campaigner, Access Now กล่าวว่า การปิดอินเตอร์เน็ต หรือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า คือการพรากสิทธิมนุษยชนบางส่วนของเราไป เราถูกกดดันเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว รัฐบาลมองไม่เห็นความสำคัญของการแสดงออกทางความคิดทางการเมือง และในหลายพื้นที่ทั่วโลกก็ยังไม่เล็งเห็นความสำคัญของ Digital Rights เราจะผลักดันให้เกิดกฎหมาย กฎเกณฑ์ ให้เรานอนหลับสบาย และเกิดความเข้มแข็งขึ้นในชุมชน และสิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกคนเริ่มจากการเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ว่าจะทั้งชีวิตจริงและในดิจิทัล เพราะการที่เราจะเดินไปข้างหน้าได้อต้องเริ่มจากการเคารพสิทธิของแต่ละคนก่อน
และ Vino Lucero, Digital Rights Project Manager and DRAPAC Event Lead, Engage Media กล่าวว่า เขาอยากให้มีพื้นที่ในการพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในดิจิทัล และรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้ในบริบทและความหลากหลายของแต่ละประเทศ อีกประการสำคัญ คือเขาเห็นด้วยที่จะกำหนดขอบเขต Digital Rights เพื่อให้เรานำไปสู่การสร้างกฎเกณฑ์สากล เขาคิดว่าต้อง pushing back technology บริษัทต่าง ๆ ต้องทบทวนว่าสามารถทำอะไรบ้าง หรือมีองค์กร หรือสถาบันอะไรบ้างที่สามารถร่วมมือกันได้ ขณะนี้เรากำลังดีลกับปัญหาความไม่เท่าเทียม เรากำลังดูว่ารัฐทำอะไรบ้าง และเราได้เริ่มกลยุทธ์ต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตร แน่นอนว่าบางครั้งมันอาจจะไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ในทุกหน่วยงาน แต่เราจะหาทางออกเป็นกรณีในแต่ละประเทศ สิ่งที่เราต้องทำคือต้องทำร่วมกับพันธมิตรให้ได้จริง ๆ ในประเทศนั้น และเรียนรู้กันและกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปในเรื่องของ Digital Rights
“Digital Rights = Human Rights ถ้าเรามีชุมชนออนไลน์ที่เข้มแข็ง สามารถกระจายสิ่งเหล่านี้สู่ชุมชนได้จริง ๆ มันจะเป็นการใช้พื้นที่ออนไลน์ที่คุ้มค่า และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง” Vino Lucero ทิ้งท้าย
หากสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสวนานี้เพื่อขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัล สามารถดูกำหนดการในภาษาไทยได้โดยการสร้างบัญชีบนเว็บไซต์ของงาน DRAPAC23 ที่ https://drapac.engagemedia.org/. ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...