“ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง” ‘สมชาย’ ปาฐกถา 10 ปีรัฐประหาร ขอศูนย์ทนายฯ ปิดตัวลงโดยเร็ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สรุปความจาก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง’ เพื่อทบทวนความเลวร้ายของระบอบรัฐประหาร ที่ซ่อนเร้นในนามกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของไทย โดยเฉพาะการบิดเบือนกระบวนการทางกฎหมายเพื่อปราบปรามกดขี่สิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ในพิธีเปิดนิทรรศการ ‘วิสามัญยุติธรรม’ 10 ปีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผู้รักและปรารถนาในประชาธิปไตยทุกท่าน

การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 คือการรัฐประหารที่สร้างผลกระทบแก่สังคมและประชาชนไทยอย่างไพศาล รัฐประหารในครั้งนั้นได้ทำให้โอกาสของสังคมในการปรับตัว และการก้าวสู่ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสันติ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่ได้ออกมาเรียกร้องและแสดงความปรารถนาเพื่อความเปลี่ยนแปลง ก็กลับต้องเผชิญกับการกดปราบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง

การมาร่วมกันรำลึกถึงวาระครบรอบการรัฐประหารครั้งนี้ จึงไม่ใช่การมาร่วมกันชื่นชมยินดีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ตรงกันข้าม ควรเป็นการมารวมตัวกันเพื่อทบทวนและให้เกิดความตระหนักถึงความเลวร้ายที่ได้ปรากฏตัวขึ้น รัฐประหารครั้งนี้ได้เปิดเส้นทางและสร้างสังคมการเมืองในรูปแบบอำนาจนิยมที่ไม่แยแสต่อความถูกต้องและความชอบธรรมให้แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน

นับจากการคัดค้านการรัฐประหารสืบเนื่องมาถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันฯ ในช่วงหลัง พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา นอกจากการใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามต่อผู้เคลื่อนไหว เช่น การใช้กระสุนยาง กระสุนจริง รถฉีดน้ำ โล่ กระบอง เป็นต้น การจัดการของรัฐอีกรูปแบบที่ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในการรับมือกับประชาชนก็คือ “การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม”

“การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” คือการใช้กลไกและกระบวนการต่าง ๆ ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาตอบโต้กับการเคลื่อนไหวของประชาชน หากมีการชุมนุมเกิดขึ้น ก็จะยังไม่มีการสลายหรือการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมโดยตรง เจ้าหน้าที่รัฐจะมีการเก็บข้อมูล และภายหลังจากการชุมนุมก็จะมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น นับตั้งแต่การแจ้งความ แจ้งข้อหา การควบคุมตัว สั่งฟ้อง การตัดสินในชั้นศาล และการจำคุก

“การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” จะเกิดขึ้นด้วยการอ้างอิงถึงกฎหมายและใช้กระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้ดูราวกับว่าดำเนินไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม แต่จากเหตุการณ์จำนวนมากที่เกิดขึ้น จะพบว่าในกระบวนการนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความอิสระ ไร้หลักวิชา ของบุคคลและองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การดำเนินการในหลากหลายรูปแบบได้ถูกตั้งคำถามจากอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในขั้นตอนการจับกุม สิทธิในการประกันตัว การตัดสินข้อพิพาท การควบคุมตัว กระทั่งการรักษาเยียวยา

แม้ขั้นตอนของ “การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” มีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย นับตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ซึ่งบางหน่วยงาน องค์กร ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีมาตรฐาน แต่บัดนี้ทั้งหมดก็ได้เปิดเผยโฉมหน้าอันแท้จริงของตนออกมาให้เห็นว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นเพียงมายาภาพที่ประกอบสร้างขึ้นเท่านั้น

เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ปิดสนามบิน ล้มการเลือกตั้ง ยึดทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ ล้วนแต่ได้รับการประกันตัวอย่างง่ายดาย หรืออาจมีโทษอย่างเบาบาง รวมไปถึงบางกรณีก็มีคำตัดสินที่อธิบายว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ขณะที่ในวันนี้ ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ มีหลายคนที่อยู่ในคุกอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้เกิดการความเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ พวกเขาและเธอกลับไม่ได้รับการประกันต่อมาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาเหล่านั้นทำอะไรร้ายแรงมากกระนั้นหรือ จึงทำให้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังตกอยู่ในสภาวะ “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” ทั้งที่บางคนก็ยังอยู่ในสถานะของผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา

การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมส่งผลไม่น้อยต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน ระยะเวลา ระยะทาง ค่าใช้จ่าย ทนายความ พยานผู้เชี่ยวชาญ ทรัพยากรนานาชนิดต้องถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลไกทางกฎหมาย มีประชาชนถูกฟ้องคดีที่นราธิวาสในข้อหา 112 ห่างไกลจากบ้านนับพันกิโลเมตร ไม่มีการอนุญาตให้โอนย้ายการพิจารณาคดีมาที่ศาลในกรุงเทพฯ ก่อนคดีจะถูกยกฟ้องโดยศาลอุทธรณ์ บัดนี้เขาได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาแล้วจริงหรือ เรื่องราวอีกจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินไปในลักษณะอันคล้ายคลึงกัน

ในความเห็นของข้าพเจ้า โอกาสที่จะชนะคดีใน “การต่อสู้กับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” เป็นไปได้อย่างยากลำบาก การทำงานของกลไกกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในหลายคดีได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อสรุปที่เกิดขึ้นไม่ใช่การตัดสินด้วยหลักกฎหมาย หากเป็นการวินิจฉัยที่วางอยู่บนความภักดีมากกว่า บทบัญญัติหรือหลักการทางกฎหมายซึ่งแม้จะเป็นหลักพื้นฐานสำคัญก็สามารถถูกเหยียบย่ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บุคคลที่อยู่ในกระบวนการเหล่านี้ต่างกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนเองจะไม่ต้องรับผิด แม้จะไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหลักวิชาหรือหลักการทางกฎหมายก็ตาม

หลายคดีที่ข้าพเจ้าได้ไปร่วมให้ความเห็น แม้ว่าจะกระทำไปอย่างเต็มที่ด้วยการยืนยันถึงหลักวิชา แต่สุดท้ายก็ตระหนักดีว่าเหตุผลที่นำเสนอไปนั้น สามารถที่จะถูกปัดทิ้งไปได้อย่างไม่ไยดีแม้แต่น้อย นั่นคือความจริงที่มิอาจปฏิเสธ

ในเมื่อตระหนักถึงความพ่ายแพ้ในคดีที่วางอยู่ข้างหน้าแล้ว พวกเรายังจะต่อสู้กับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมนี้ต่อไปอีกหรือ โดยเฉพาะกับการสู้คดีในชั้นศาลที่ต้องทุ่มทรัพยากรจำนวนมากเข้าไป

ข้าพเจ้ามีเหตุผล 3 ประการด้วยกันกับการต่อสู้กับกระบวนการนี้

1.การต่อสู้ “ข้างในศาล” ไม่ได้แยกขาดจาก “การเมืองข้างนอก”

แม้การต่อสู้กับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมจะดำเนินไป “ข้างในศาล” อันเสมือนพื้นที่ปิด ภายในอำนาจบังคับที่เข้มแข็ง คนนอกเข้าไปมีส่วนได้น้อย อย่างไรก็ตาม ทั้งในด้านของกระบวนการ การพิจารณา และคำตัดสินก็สามารถกลายเป็นพื้นที่ที่ต่อสู้กันระหว่างบรรทัดฐานต่าง ๆ ที่อาจขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกัน

การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวกับผู้ถูกกล่าวหา จำเลย โดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายรองรับก็นำมาซึ่งการโต้แย้งหักล้างให้เกิดขึ้น การปฏิเสธอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลในคดี 112 ก็คือการโต้แย้งต่อความเป็นธรรมของกฎหมาย และความเป็นกลางของผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินอย่างแหลมคม

ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนน้อย มีตัวอย่างอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถหยิบยกขึ้นมาประกอบได้อีก กฎหมายจึงเป็นการเมือง (Law is Politics) ไม่มีกฎหมายที่ปราศจากอุดมการณ์ ความเชื่อ ในแบบที่มักจะสั่งสอนและเข้าใจกันอย่างตื้นเขินในแวดวงนิติศาสตร์ของไทย เมื่อกฎหมายเป็นการเมือง พื้นที่เหล่านี้จึงเปิดโอกาสให้แต่ละคน แต่ละกลุ่ม สามารถเลือกพื้นที่ในการตอบโต้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ตามความความสามารถและความจัดเจน การปล่อยให้การต่อสู้อยู่ “ข้างใน” แต่เพียงอย่างเดียวต่างหาก คือการลดทอนความสำคัญของพื้นที่การเมืองในกฎหมายให้ลดลง 

2.ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการแพ้หรือชัยชนะในคดี

หลายคนเข้าใจว่าการประสบชัยชนะในคดีคือปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ความพ่ายแพ้คือความล้มเหลวของการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์จำนวนมากที่อาจบ่งชี้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการพ่ายแพ้หรือชัยชนะในคดี คดีที่ประสบชัยชนะจำนวนมากไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ตรงกันข้าม ความพ่ายแพ้ในหลายคดีกลับได้นำไปสู่การถกเถียง โต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์ ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ขึ้นในระยะยาว

“แทนที่จะพิจารณาความสำเร็จหรือล้มเหลวจากผลแพ้ชนะในการต่อสู้แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะในศาลหรือทางการเมือง เราควรเพ่งเล็งไปที่การแสวงหาวิถีชีวิตที่ไม่ต้องถูกครอบงำจากความเชื่อบางอย่างที่กดทับความเป็นมนุษย์ การเผชิญหน้าและไม่ยอมจำนนกับความวิปริตผิดเพี้ยนในสังคม รวมถึงการยืนหยัดอย่างมั่นคงต่อหลักการประชาธิปไตยและความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญ” (Jules Lobel. Success without Victory: Lost Legal Battles and the Long Road to Justice in America)

3.การเปิดโปงให้เห็นถึงโครงสร้างที่ใหญ่กว่าเพียงประเด็นเฉพาะคดี

“การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากกระบวนการยุติธรรมมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระจากการครอบงำ ปฏิบัติการขององคาพยพในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องและในทิศทางเดียวกัน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่ของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยว่าไม่ได้ “บริสุทธิ์ – ยุติธรรม” ในแบบที่มักกล่าวอ้างกันในทางสาธารณะแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม องค์กรเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ภายในระบอบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน การเผชิญหน้ากับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมทำให้เราได้ตระหนักรู้อย่างสำคัญว่าหากต้องการสร้างสังคมที่สิทธิเสรีภาพจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงแล้ว การปฏิรูป ปฏิสังขรณ์ ปฏิวัติ หรืออะไรก็ตาม กับกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันข้างหน้า

ในฐานะที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันประการหนึ่งที่มีต่อหน่วยงานนี้ก็คือ ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะเห็นองค์กรนี้เติบโต ขยายงาน เพิ่มบุคลากร มีงบประมาณมากขึ้น เพราะยิ่งเติบใหญ่มากเท่าใดก็ยิ่งแสดงถึงความถอยหลังของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

ข้าพเจ้าอยากเห็นศูนย์ทนายฯ ปิดตัวลงโดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าบัดนี้สังคมไทยได้เดินเข้าสู่สภาวะปกติที่พึงจะเป็น เฉกเช่นเดียวกันกับสังคมอารยะทั้งหลาย ไม่มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพตามอำเภอใจ ไม่มีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ไม่มีการจำคุกบุคคลผู้บริสุทธิ์อย่างไม่แยแส นักโทษทางการเมืองทุกคนได้ออกมาจากเรือนจำและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

หวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นงานปิดตัวของศูนย์ทนายฯ ในอนาคตข้างหน้าอันไม่ไกลไปจากนี้มากนัก

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง