เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 สภาลมหายใจเชียงใหม่และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันเปิดเวทีพื้นที่ความรู้การใช้ไฟ สู่แนวทางการจัดทำแผนการจัดการไฟเชิงพื้นที่ขึ้น ณ ห้องทิพย์พิมาน โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเวทีนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการใช้ไฟและทิศทางการบริหารจัดการไฟผ่านแอพพลิเคชั่น Fire D 2567 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเวทีดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจำนวน 80 คน เป็นตัวแทนจาก 15 ชุมชนใน 5 ตำบลนำร่องของจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้เกิดแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในปี 2567 องค์กรผู้จัดและหน่วยงานภาคีและ ประชาชนผู้สนใจทั่วไป
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้เป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเชิงรุกที่จะมีแผนบริหารจัดการระดับพื้นที่ให้ชัดเจนในทางปฏิบัติเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี จะไม่ใช่การแก้ไขที่เป็นอีเว้นท์ช่วงที่เกิดปัญหาและผลลัพธ์ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลแนวทางไปร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์แก้ไขก่อนจะเสนอแนวทางพร้อมกับการเชื่อมโยงถึงนโยบายและงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นแนวทางเดียวกัน ซึ่งในแผนจะมีการแบ่งโซนพื้นที่ป่าที่เกิดปัญหาไว้ 7 พื้นที่หลักในการบริหารจัดการ ซึ่งแนวทางวิธีการจะเหมาะสมเฉพาะพื้นที่ ทั้งหมดคือ สิ่งที่ต้องทำงานให้เกิดความยั่งยืนไม่ใช่มาทำตอนมีปัญหาเหมือนผ่านมา เดือนกรกฎาคมนี้จะสรุปก่อนเข้าที่ประชุมกำหนดแนวทางหลักในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคมและกันยายนก็น่าจะมีรูปร่างชัดเจน ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่ต้องต่อยอดคือเราจะต้องถอดบทเรียนพื้นที่ชุมชนที่ไม่เกิดปัญหาด้วยว่าทำอย่างไรเพื่อนำมาเรียนรู้ชื่นชมการบริหารจัดการ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายของภาคเหนือหรือระดับนโยบายที่กว้างขึ้นต่อไป
นายพงศ์ภาวัต ใหญ่วงศ์กรณ์ ผู้อำนวยการส่วนควมคุมและปฏิบัติการไฟป่าฯ กล่าวว่า พื้นที่ป่าในการกำกับดูแลมีกว่า 7,627,165 ไร่ เฉพาะเชียงใหม่มีกว่า 5.2 ล้านไร่ 80-90% เป็นป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าผลัดใบที่เป็นจุดเกิดปัญหามากกว่า 62% ความหลากหลายในการใช้พื้นที่และสภาพผืนป่าและชุมชนทำให้การจัดการยาก พื้นที่ที่เกิดปัญหามากคืออุทยานแห่งชาติศรีลานนา ,แม่ปิงและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งจำเป็นต้องมาคุยกันเพื่อการจัดการที่ถูกจุดและมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หยิบยกบทเรียนและตัวอย่างการจัดการเชื้อเพลิงทั้งที่สหรัฐฯและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า มีปัจจัยเกี่ยวข้องของนิเวศวิทยาไฟป่า ส่งผลต่อวงรอบไฟ จึงต้องบริหารจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรม การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่แต่ละพื้นที่จะต่างกันไปแต่ต้องดำเนินการเพราะผืนป่าแต่ละชนิดจะกำหนดพฤติกรรมไฟ องค์ความรู้เหล่านี้ต้องเหมาะสม
ด้านตัวแทนชุมนุมต่างๆ เห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องมีการใช้ไฟเพื่อจัดการเชื้อเพลิงสะสมเพื่อป้องกันไฟที่รุนแรง ผ่านมาชุมชนต่างสำนึกในการดูแลและเรียนรู้จากประสบการณ์จากสภาพผืนป่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ มีการร่วมมือกันดูแล จนระยะหลังราชการหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนแต่ยังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะเรื่องเครื่องมือ องค์ความรู้และงบประมาณ เห็นตรงกันว่า แต่ละพื้นที่จะต้องมีรูปแบบวิธีที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น การใช้แผนมาตรการเดียวทำเหมือนกันทุกพื้นที่ไม่ได้
นอกจากนั้นยังมีการเปิดวงแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดทําแผนบริหารจัดการไฟในพื้นที่ชุมชน-ตําบล ตัวอย่างหรือถือแนวทางการบริหารจัดการไฟ ในปี 2567 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดย สมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า จากการบริหารเชื้อเพลิงเกิดไฟจำเป็นหรือไม่จำเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาจุดความร้อนที่เกิดขึ้นนับเป็น KPI หมด แนวทางของปี67 นี้ จังหวัดเชียงใหม่จะมีแผนการดำเนินงานตัวชี้วัดแบบใหม่ ซึ่งได้มีการถอดบทเรียนมาแล้ว ก็จะมีการปรับเปลี่ยน การใช้จุด Hotspot จากการบริหารเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจะแยกออกมา จะไม่นับว่าเป็นจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด จุดความร้อนที่เกิดจากการบริหารเชื้อเพลิง หรือว่าเท่ากับคำร้องขอที่มีการบริหารเชื้อเพลิงแสดงว่าจะมีผลสำเร็จในระดับหนึ่ง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...