ไกลศูนย์กลาง: อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เมืองลิเกที่รัฐแทบไม่เคยเหลียวแล

เรื่อง: ป.ละม้ายสัน

จากข่าวเมื่อปี 2563 ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ศิลปินพื้นบ้านทุกแขนงทั่วประเทศต่างไร้งานการแสดง รายงานจากข่าวมติชนออนไลน์เผยว่าการแสดงลิเก ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการไลฟ์สด เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของนักแสดงกว่า 500 ชีวิต ใน 45 คณะ ของอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร[1]

จากข่าวก็จะเห็นได้ว่า การแสดง ‘ลิเก’ นั้นแทบจะอยู่นอกสายตาของรัฐ และทำให้การแสดงของตัวเองนั้นต้องพึ่งฐานแฟนคลับเป็นหลักโดยไม่มีการช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐแม้แต่น้อย ผมเลยอยากฉายให้เห็นภาพกว้างของประวัติศาสตร์ลิเกและเมืองตะพานหิน เผื่อวันใดวันหนึ่งรัฐเหลียวแลมองคุณค่าของลิเกบ้าง

สำหรับผมที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนล่างนั้น หากนึกถึงตะพานหินในหัวผมจะนึกถึงศิลปินลูกทุ่งชื่อดังนามว่า “ยอดรัก สลักใจ” (นิพนธ์ ไพรวัลย์) ที่เพลงของเขาได้ยินติดหูมาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ดี ในแง่ของลิเกนั้น ผมรับรู้จากผู้เฒ่าผู้แกที่เอ่ยถึงเมืองตะพานหินว่า เมืองนี้คือ “ดง” ของลิเก 

ลิเก จากมหรสพของคนชั้นสูงสู่เสียงสะท้อนของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

ควานหาดูคำว่า “ลิเก” ว่ามีความหมายเชิงภาษาอย่างไร จึงเจอข้อมูลจากสารนุกรมไทย ฉบับที่ 27 อธิบายว่า ลิเก เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษา ฮิบรู ว่า ซาครู (Zakhur) หมายถึงการสรรเสริญพระเจ้าในศาสนายูดาย หรือยิว ต่อมาชาวอาหรับเรียกการสวดสรรเสริญพระเจ้าว่า ซิกร (Zikr) และซิกิร (Zikir) ผู้สวดนั่งล้อมเป็นวงโยกตัวไปมา เมื่อการสวดแพร่หลายเข้าไปในอินเดียโดยชาวอิหร่าน เรียกว่า ดฮิกิร (Dhikir) โดยมีการตีกลองรำประกอบ และได้เผยแพร่ขยายเข้ามาทางภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ดิเก (Dikay) และจิเก (Jikay) ครั้นเมื่อประชาชนชาวมุสลิมนำวัฒนธรรมลิเกเข้าสู่กรุงเทพฯ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์การเรียกชื่อก็เปลี่ยนมาเป็น ยิเก หรือยี่เก (Yikay) ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้เปลี่ยนมาเป็น ลิเก (Likay) เมื่อ พ.ศ.2452 และยังคงใช้เรียกว่า “ลิเก”อย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา[2]

การแพร่ขยายการแสดงลิเกไปสู่ชาวบ้าน ภิญญพันธ์ พจนลาวัลย์ ผู้เขียนหนังสือ ต่างจังหวัดในแดนไทย ได้พูดถึงการแพร่ขยายศิลปะการแสดงจากราชสำนักสู่ชนบทไว้คือ ด้วยความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรมของภาคกลางในอดีตเติบโตมาจากเพลงพื้นบ้านที่เป็นที่ผ่อนคลายของชาวบ้านในสังคมเกษตรกรรม แต่มันเริ่มผ่อนลงเมื่อการแสดงลิเกเข้าแพร่ขยายเข้าสู่สังคมภาคกลาง

การแสดงนี้นำมาจากการสวดแขกเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นครั้งแรกในนาม “ลิเกทรงเครื่อง” ในวิกเจ้าพระยาเพชรปราณีวัดราชนัดดา กรุงเทพมหานคร เวลาต่อมาได้มีการยกระดับโดยนำครูละครหลวงมาสอนรำ คณะลิเกศิษย์หอมหวนได้แตกย่อยสาขามากถึง 35 คณะ กล่าวกันว่ายุคลิเกเฟื่องฟูอยู่ช่วงทศวรรษที่ 2500-2530 ลิเกได้กลายเป็นความบันเทิงอันทันสมัยที่ได้รับอิทธิพลเพลงลูกทุ่ง และมีการจัดทำเวทีทันสมัยเทียบเท่าเวทีคอนเสิร์ต แต่ถึงกระนั้น คู่แข่งที่สำคัญสำหรับลิเกก็คือ หนังกลางแปลงเช่นกัน [3] 

อย่างไรก็ดี ลิเกเป็นที่นิยมในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 2530 ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จากงานวิจัยของ สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล เรื่อง แต่งองค์ทรงเครื่อง “ลิเก” ในวัฒนธรรมประชาไทย ชี้ให้เห็นว่า ลิเกเป็นศิลปะการแสดงในกระแสวัฒนธรรมประชาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างไปอย่างศิลปะการแสดงพื้นบ้านและศิลปะการแสดงของชนชั้นผู้นำ ลิเกเกิดขึ้นและพัฒนามาควบคู่กับความทันสมัยและการขยายตัวของสังคมเมืองเป็นศิลปะที่หาเงินจากผู้ชมโดยตรง 

รูปแบบและเนื้อหาของการแสดงลิเกจึงถูกกำหนดโดยรสนิยมและความต้องการทางศิลปะของผู้ชมซึ่งเป็นสมาชิกของผู้ใช้แรงงาน (ชาวบ้านร้านตลาด) ที่เน้นการเสนอความจริงทางโลกียะของมนุษย์และสังคมโดยการล้อเลียน เสียดสี และเยอะเย้ยกิจกรรมทางกายภาพของมนุษย์ เช่น การกิน การขับถ่าย การร่วมเพศและการนอน การแสดงที่เน้น “ความดิบของร่างอุจาด” ในลิเกจึงเป็นเสียงสะท้อนและการประท้วงความยุติธรรม ความยากจนและชีวิตในชายขอบของชนชั้นแรงงานในสังคมไทยสมัยใหม่[4]

ส่วนลิเกตะพานหิน มีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งคือการมีเสียงที่เหน่อ ซึ่งเป็นทางร้องเฉพาะของลิเกตะพานหิน และมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย จากมุมมองของผู้ใกล้ชิดกับลิเกตะพานหิน กล่าวว่า “ส่วนตัวมองลิเกว่าเป็นวัฒนธรรมประจำอำเภอตะพานหินเลย แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงเพื่อการแก้บนมากกว่า” ฟอง (นามสมมุติ) 

ส่วนมุมของผู้ที่รับชมลิเกตะพานหินกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดพิจิตร การแสดงลิเกเท่าที่เห็นมักสัมพันธ์กับงานแต่งงานบวชในพื้นที่มากกว่า” ฟ้า (นามสมมุติ)  ผู้ที่ได้รับชมลิเกตะพานหิน จังหวัดพิจิตร 

การเติบโตของเมืองตะพานหิน กับลิเก

เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ในอดีตนั้น เมืองตะพานหินกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร เดิมเมืองนี้เป็นเพียงตำบลเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรเพียง 28 กิโลเมตร แต่เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือ และสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟตะพานหินถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งผลทำให้สถานีรถไฟตะพานหินกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างพิจิตรกับเพชรบูรณ์ เนื่องจากมีสินค้าที่ส่งผ่านเข้าออกจังหวัดเพชรบูรณ์ต้องผ่านบริเวณนี้ ทำให้เห็นสถานีรถไฟเป็นจุดที่มีธุรกิจที่คึกคัก มีตลาดร้านค้า และบ้านเรือนหนาแน่น จนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของจังหวัดพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียง[5] เช่นกัน

รถไฟจึงเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมือง และทำให้เมืองตะพานหินมีความเติบโตตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน หากเปรียบเทียบคณะลิเกกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร จะพบว่าอำเภอตะพานหินอำเภอเดียวมีคณะลิเกมากกว่าที่อื่น ๆ ยกเว้นจังหวัดนครสวรรค์

จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง จำนวนคณะลิเก
พิจิตร38 คณะ (คณะลิเกตะพานหินมีถึง 32 คณะ)
พิษณุโลก6 คณะ
กำแพงเพชร8 คณะ
นครสวรรค์48 คณะ
สุโขทัย13 คณะ
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ปี 2560 https://catalog.travellink.go.th/sr_Latn/dataset/local-actors

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้มีผมข้อสังเกตประการหนึ่งว่าเมืองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างอำเภอเมืองนครสวรรค์และอำเภอตะพานหินจะมีจำนวนของคณะลิเกมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากทั้งสองเมืองดังกล่าวมีผู้คนมีอัตราการบริโภคมากกว่าที่อื่น ๆ และในปัจจุบันการแสดงลิเกก็ได้สืบทอดมาถึงคนรุ่นใหม่ “เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นลูกหลานคณะลิเก ตาเป็นครูลิเกอยู่ที่ตะพานหิน สอนลิเกยึดอาชีพลิเกอยู่บ้าง ตาของเพื่อนเป็นคนสร้างคณะลิเกขึ้นมา และเพื่อนเองก็ทำการแสดงมาจนถึงทุกวันนี้” ถ้อยคำสัมภาษณ์ของ ‘ฟอง’ ผู้ที่ใกล้ชิดกับการแวดวงการแสดงนามสมมุติ 

ภาพปกกลุ่ม Facebook ลิเกพิจิตร https://www.facebook.com/photo/?fbid=2561820233960448&set=p.2561820233960448

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวมข้อมูลนักแสดงพื้นบ้านไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ซึ่งรวบรวมรายชื่อคณะลิเกอำเภอตะพานหินได้แก่ กว่า 32 คณะได้แก่ 1.คณะแสงวิรัตน์ 2.คณะยอดรักเพชรรุ่ง 3.คณะเพชรเกษม 4.คณะรุ่งทิพย์ 5.คณะเพชรน้ำเอก 6.คณะไข่ทองคำ 7.สวายหลายชายแสวง 8.รุ่งนเรศวร์ ยอดรัก 9.เกษมชัย อุษาวดี 10.โต้ง พิชัยรัตน์ 11.คณะเพชรอนันต์ 12.คณะแสงสว่างดาวร้าย 14.ตลกชายบอย 15.คณะชยากร ปัญญากูล 16.ไชยเชรษฐ์ เสียงเสน่ห์ 17.คณะจ๊ะเอ๋ ไผ่ทอง 18.คณะสกุณา บุตรวินัย 19.คณะวินัย ชัยชนะ 20.คณะฉัตร ชัยมนต์กระจ่าง 22.คณะชัยวัฒน์ ปราชญ์กวี 23.คณะสมชาย รวมดารา 24.คณะอำมฤทธิ์ บุตรจำลอง 25.คณะตลก มาแรงไอ้แหว่ง ไวไว 26.คณะมณีแดง 27.คณะยอดธง 28.คณะศรรัก สุกัญญา 29.คณะดาวยั่ว ทัศนัยไก่ฟ้า 30.คณะจงกล ดีเจ 31.คณะขวัญดาว ดารณี 32.คณะเพชรวิฑูรย์ จุฑาทิพย์

แม้ข้อมูลข้างต้นจะมีการสำรวจคณะลิเกโดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งตัวเลขของคณะลิเกก็แทบไม่ตรงกับสำนักข่าวที่ได้ไปลงพื้นที่สำรวจในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ข้อมูลของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมลงเมื่อปี 2560 มีจำนวนลิเกในอำเภอตะพานหินเพียง 32 คณะ แต่ข้อมูลของข่าวหลายสำนักในปี 2563 มีจำนวนคณะลิเกถึง 45 คณะ น่าสนใจว่าเพียง 3 ปี จะมีจำนวนลิเกเพิ่มมากขึ้นถึง 13 คณะ ดังนั้นผมจึงตั้งคำถามกับข้อมูลชุดนี้ว่าคณะลิเกอาจมีการตกสำรวจหรือเปล่า และหากสังเกตดี ๆ ผมตั้งใจข้ามเลข 13 และตัวเลข 21 ออกไปเพราะข้อมูลนั้นทั้งสองตัวเลขไม่อยู่ในฐานข้อมูลชุดนี้ เราจะเชื่อถือข้อมูลชุดนี้ได้อยู่หรือไม่?

การดิ้นรนของคณะลิเกตะพานหิน

แต่ถึงกระนั้น ประเด็นหลักที่อยากจะสื่อสารก็คือ คณะลิเกในตะพานหินจิตร ที่รัฐได้มีการสำรวจเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมหรือช่วยเหลือนั้น เป็นได้เพียงการสนับสนุนอย่างผิวเผิน และไม่เพียงต่อต่อความเดือดร้อย และขาดความเหลียวแลในระยะยาว เห็นได้ว่าคณะลิเกเองนั้นแทบไม่มีการสนับสนุนใด ๆ จากรัฐเลย มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่ออกมาช่วยเหลือเพียงเท่านั้นหากเสริชคำว่าลิเกตะพานหินใน Google เราจะเห็นแต่ข่าวหลายสำนักที่พยายามสะท้อนความยากลำบากของคณะลิเกในช่วงวิกฤตโควิด 19 ซึ่งข่าวแทบทั้งหมดก็ทำให้เห็นว่า ประชาชนที่รับชมลิเกและผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือกันเอง เช่น ลิเกตะพานหินนับร้อยชีวิตโอดครวญจะอดตายอยู่แล้ว, เจ้าคณะจังหวัดพิตรแจกถุงยังชีพช่วยลิเกตะพานหินโอดครวญเจอโควิด 19 ไม่มีงานแสดง, ลิเกพิจิตรไร้งานแสดงไลฟ์สดการแสดงตลอดพ.ค นี้ วอนแฟนคล้องมาลัยออนไลน์  ฯลฯ 

จากข่าวที่ยกมานี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าลิเกเมืองตะพานหินนั้นต้องพึ่งฐานแฟนคลับซึ่งการพึ่งฐานแฟนคลับก็ต้องต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้าสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงโควิด โดยฟอง นามสมมุติ ได้อธิบายไว้ว่า

ช่วงของโควิดก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นลิเกไลฟ์สดใน Facebook และร้องเพลงลูกทุ่ง” ซึ่งในช่วงนั้นลิเกหลายคณะจะผลัดเปลี่ยน หมุ่นเวียนกันมาทำการแสดง โดยใช้บ้านสิงห์สวาย ซอยวัดสันติพลาราม (หลวงพ่อศรี) เป็นสถานที่การจัดแสดง

น่าสนว่าใจในปัจจุบันนี้รัฐบาลพยายามพลักดันนโยบายเกี่ยวกับ Soft Power ซึ่งลิเกอาจจัดอยู่ในแขนงหนึ่งคือด้านการเผยแพร่วัฒนธรรม หมวดดนตรีและนาฏศิลป์ และรัฐจะเข้ามาผลักดันหรือมองการแสดงศิลปะของประชาชนอย่างลิเกอย่างไรนั้น คงต้องรอดูต่อไป และหากปล่อยให้คณะลิเกอยู่ด้วยการพึ่งตนเองอย่างเดียวโดยไม่มีการเหลียวแลจากรัฐอย่างที่ผ่าน ๆ มา ศิลปะการแสดงของวัฒนธรรมประชาชนประเภทนี้คงต้องดิ้นรนอยู่กับความยากลำบากอย่างรู้จบ และจะอยู่รอดต่อไปในอนาคตที่มีคนสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไร


  • [1] มติชนออนไลน์, ลิเกพิจิตรไร้งานแสดงไลฟ์สดการแสดงตลอดพ.ค.นี้ วอนแฟนคล้องมาลัยออนไลน์… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2183877.
  • [2] สารนุกรมไทยสำหรับเยาชนฯ/ เล่มที่ 27 / เรื่องที่ 1 ลิเก / ที่มาของลิเก.https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=27&chap=1&page=chap1.htm
  • [3] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. ต่างจังหวัดในแดนไทย : การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. องค์การมหาชน. 2567. หน้า 278.
  • [4] สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, ศิลปะกิจ ตี่ขันติกุล, รายงานวิจัยแต่งองค์ทรงเครื่อง : ลิเกในวัฒนธรรมประชนไทย, นครราชสีมา : สำนักเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาเทคโนโลยีสุรนารี, 2541.
  • [5] อ้างถึงใน วศิน ปัญญาวุธตระกูล, ประวัติศาสตร์ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง. พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3. 2560. หน้า 249.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง