เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน
ปัญหาสัตว์รุกรานต่างถิ่น (Alien Spices) เป็นปัญหาใหญ่ของไทยมาอย่างยาวนาน ล่าสุดกับกรณีของปลาหมอคางดำ หรือ The blackchin tilapia ปลาในตระกูลเดียวกับปลานิลที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน มีถิ่นกำเนิดจากทางแอฟริกาใต้ ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ออกลูกไว กินไม่เลือก อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำเค็มและน้ำกร่อย การระบาดของปลาหมอคางดำทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นถูกทำลายเสียหายไปจำนวนมาก ปลาที่ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัดคือปลาตีน ปลานิล ปลาหมอและปลากระบอก ลามไปถึงสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงโดยเกษตรกร อย่างกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำ เกษตรกรกลุ่มธนาคารปูม้าในพื้นที่พันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาครไม่สามารถปล่อยปูม้าลงไปในบ่อเลี้ยง เพราะในบ่อมีแต่ปลาหมอคางดำ พอไม่สามารถเลี้ยงปูม้าได้ ก็ใช้หนี้ที่กู้มาจาก ธกส. ไม่ได้ ส่วนเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงครามต้องประกาศขายที่ดินเพราะไม่สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำใด ๆ ได้ กลายเป็นการสร้างภาระให้กับเกษตรเพิ่มขึ้น
ต้นตอของการระบาดคาดว่ามาหลุดออกมาจากบริษัทนำเข้าปลาแห่งหนึ่งในช่วงปี 2553 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ข่าวการหลุดของปลาหมอคางดำซาลงไป และมาพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกครั้งช่วงปี 2555 ล่าสุดวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมดสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ พบ 19 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 1.จันทบุรี 2.ระยอง 3.ฉะเชิงเทรา 4.สมุทรปราการ 5.นนทบุรี 6.กรุงเทพมหานคร 7.นครปฐม 8.ราชบุรี 9.สมุทรสาคร 10.สมุทรสงคราม 11.เพชรบุรี 12.ประจวบคีรีขันธ์ 13.ชุมพร 14.สุราษฎร์ธานี 15.นครศรีธรรมราช 16.สงขลา 17.ชลบุรี 18.พัทลุง และ 19.ปราจีนบุรี ที่มีการระบาดของปลาเอเลี่ยนชนิดนี้ โดยยังไม่พบการระบาดในแหล่งน้ำภาคอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานต่าง ๆ จะสามารถเตรียมตัวรับมือได้
จากข้อมูลของ Bio Thai พบว่าการระบาดของปลาหมอคางดำนี้มีความเชื่อมโยงกันกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารที่เป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพียงผู้เดียวในปี 2553 ซึ่งทางบริษัทได้ออกมารับซื้อปลาหมอคางดำเป็นจำนวน 2 ล้านกิโลกรัมในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังเกิดคำถามขึ้นจากสังคมว่าการรับซื้อปลาแบบนี้ช่วยลดจำนวนของปลาหมอคางดำได้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม การระบาดของปลาหมอคางดำไม่ใช่เรื่องใหม่ ทางกรมประมงได้มีการออกประกาศกรมประมงว่าด้วยเรื่องสัตว์รุกรานต่างถิ่น เป็นประเภทปลาจำนวน 26 ชนิด เช่นปลาหางนกยูง ปลาซัคเกอร์ ปลาช่อนอเมซอน ปลาเทราส์ ปลาดุกรัสเซีย เป็นต้น ที่กล่าวมานี้เป็นปลานำเข้ามาเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามและเชิงพานิชย์ แต่มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ปล่อยปลาเหล่านี้ลงแม่น้ำลำคลองเพราะเลิกเลี้ยงหรือปลาไม่ได้คุณภาพ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ “ปล่อยปลาแล้วได้บุญ”
ปล่อยปลาแล้วได้บุญแต่ถ้าปล่อยผิดกลุ่มจะได้บาป
วกกลับมาที่จังหวัดเชียงใหม่ ‘“อ่างตาดชมพู”’ อ่างเก็บน้ำบริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองแห่งที่สองต่อจากอ่างแก้ว เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง เป็นอ่างเก็บน้ำที่รองรับน้ำจากห้วยตาดชมพูที่ไหลมาจากบนดอยสุเทพ ซึ่งในตอนนี้มีจำนวนปลาดุกเพิ่มขึ้นมากจนเกิดความแออัดภายในอ่างเก็บน้ำ ภาพปลาดุกลอยคอร่วมกับปลาอื่นๆ อย่างปลานิลและปลาคาร์ฟ เพื่อรออาหารจากผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวแอบให้อาหารปลาและนำปลามาปล่อยอยู่บ่อยครั้ง หากยังมีการปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปจะทำให้สภาพแวดล้อมของอ่างตาดชมพูเสียแล้วทำให้เกิดขยะบริเวณโดยรอบอ่างตาดชมพูด้วย
แน่นอนว่าปลาดุกที่มีจำนวนมากผิดปกติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมาจากในป่าด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เกิดจากการนำมาปล่อยแก้บนหรือนำมาปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ ด้วยความเชื่อที่ว่าการปล่อยปลาดุกจะทำให้ศัตรูแพ้พ่าย ช่วยให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปล่อยปลาหมอเกิดความร่วมเย็น หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ปล่อยปลาไหลทำให้การเงินการงานราบรื่น เป็นต้น ในความเป็นจริงแล้วการที่ปล่อยปลาเหล่านี้จะได้บาปมากกว่าได้บุญ เพราะปลาที่ปล่อยไปจะไปกินลูกปลาท้องถิ่นทำให้สูญพันธุ์ มากกว่าการช่วยเพิ่มจำนวนปลา
กลุ่ม DO You See นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาที่อ่างตาดพบว่าการปล่อยปลาปล่อยตามคำแนะนำของหมอดูและตามความเชื่อ ไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นพื้นที่ใด ไม่ทราบว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ปลาจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ทางกลุ่มยังให้ความเห็นด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่าปลาที่ปล่อยไปจะทำลายระบบนิเวศโดยรอบเพราะจำนวนมูลฝอยตกค้างมากขึ้นจากจำนวนปลา และด้วยสภาพแวดล้อมของอ่างตาดที่ไม่ได้เป็นระบบน้ำหมุนเวียน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำประปาที่ผลิตจากอ่างตาดด้วย
ถอดบทเรียนปลาหมอคางดำ
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการดูแลกุ้งที่จังหวัดสมุทรสาครมาก่อน จึงเข้าใจถึงปัญหาของการระบาดของปลาหมอคางดำ เพราะลูกกุ้งที่ปล่อยไปจะถูกปลานักล่ากินก่อนที่จะโตเต็มที่ เกษตรกรจึงต้องทำการกำจัดปลานักล่าออกจากวังกุ้งให้มีปริมาณที่เหมาะสมตามธรรมชาติ แต่กับปลาหมอคางดำที่สามารถในการขยายพันธุ์ที่ไวมากและหิวทุก 30 นาที แทบไม่สามารถรับมือได้ถ้าหลุดเข้าไปในบ่อ แนวทางการจัดการปลาหมอคางดำปัจจุบันคือการกำจัดและนำมาบริโภค แต่อาจไม่ช่วยควบคุมปริมาณได้ดีนัก เนื่องจากเนื้อปลามีกลิ่นคาวและกลิ่นดินมากเมื่อเทียบกับปลาในตระกูลเดียวกันอย่างปลานิลหรือปลาหมอ
การแปรรูปหรือทำเป็นอาหารสัตว์อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า อีกแนวทางหนึ่งคือการตั้งค่าหัวปลาหมอคางดำ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้จากการล่าปลาหมอคางดำ แต่ต้องระวังเรื่องการเลี้ยงเพื่อมารับเงินค่าหัว มากกว่าที่จะจับปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
การใช้ปลานักล่าอย่างปลากระพงหรือปลาชะโดช่วยกำจัดปลาหมอคางดำก็เป็นอีกหนึ่งวิธี แต่อย่างไรก็ตามขนาดของปลานักล่าต้องมีขนาดที่ใหญ่กว่าขนาดของปลาหมอคางดำ มิฉะนั้นปลาหมอที่ตัวใหญ่กว่าจะกินปลากระพงแทนที่ปลากระพงจะกินปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังใช้เขตอภัยทานบริเวณหน้าวัดที่ติดกับแม่น้ำลำคลองเป็นแหล่งพักพิงเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรโดยที่ไม่มีใครเข้าไปจับได้ เพราะขัดกับกฏหมายและความเชื่อเรื่องบาปบุญ
ล่าสุด วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในการประชุมครั้งที่ 2/2567 มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำฯ ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกรกฎาคม 2567 – กันยายน 2570 วงเงินงบประมาณ 450 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดในการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าง ดังนี้
(1) ควบคุม กำจัด และลดประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในทุกพื้นที่ของ ประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ
(2) ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของปลาหมอคางดำ
(3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และการมีส่วนร่วมในการรับมือกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน พื้นที่รอยต่อและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
(4) ประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนให้ทราบถึงผลกระทบ และการดำเนินการร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
(5) พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการประมงในการป้องกันสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน
กลับมาที่อ่างตาดชมพู กลุ่ม DO You See ได้นำเสนอแนวทางการจัดการปลารุกรานต่างถิ่นจากเรื่อง “การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อจัดการคุณภาพแหล่งน้ำ กรณีศึกษา: อ่างเก็บน้ำตาดชมพู มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ไว้ว่าให้มีการกำหนดแนวทางและมาตรการณ์ในการป้องกันคนมาปล่อยปลา การกำหนดบทลงโทษผู้ที่นำปลามาปล่อยเนื่องจากพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 บังคับใช้กับปลาที่ปล่อยลงแหล่งน้ำเท่านั้นและกำหนดชนิดพันธุ์ที่ปล่อยไว้ ได้แก่ ปลาปิรันยา ปลาดุกไฟฟ้า และปลาไหลไฟฟ้าเท่านั้น ทำให้ไม่ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในอ่างตาด นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ติดป้ายประชาสัมพันธ์โดยรอบด้วย
การเปิดให้มีการจับปลาในอ่างตาดจะช่วยลดจำนวนปลาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามยังติดปัญหาในเรื่องของกฎระเบียบมหาวิทยาลัยที่ห้ามไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยากกว่าการจัดให้มีการจับปลาในแหล่งน้ำอื่น ๆ อีกแนวทางหนึ่งคือการปล่อยปลานักล่าเพื่อให้ไปกินปลาดุกในบ่อเช่นเดียวกันกับการปล่อยปลากะพงเพื่อจัดการกับปลาหมอคางดำ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
และสุดท้ายคือการเปลี่ยนแนวคิดจากการปล่อยปลาดุก(และปลาอื่นๆ)แล้วได้บุญ รวมไปถึงการระบาดของปลาหมอคางดำที่ถึงแม้จะมีมาตรการการแก้ไขตามมาซึ่งก็ยังเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ การแก้ต้นที่เหตุคงเป็นการไม่นำปลาต่างถิ่นปล่อยสู่ธรรมชาติ ปัญหาของการรุกรานปลาพื้นที่ ปัญหาการระบาดของโรคสัตว์น้ำ ปัญหาปลาที่ปล่อยไปมีโอกาสที่จะรอดน้อยเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวยก็คงจะไม่เกิดขึ้นและรัฐบาลก็ไม่ต้องมาตามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทีหลัง นอกจากนี้การสื่อให้เห็นว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้กับปลาท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบ่อด้วย หากต้องการปล่อยปลาจริงๆ ควรปล่อยปลาพื้นถิ่นมากกว่า
อ้างอิง
- https://www.sanook.com/news/9477250/
- https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20161227102809_file.pdf
- https://animalia.bio/blackchin-tilapia
- https://get-qr.com/files/65d087b07a0cd36aa3ae1273/1708166112479-7c4f5d9c0527ca6395eb8d93580f559f.pdf
- https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/430
- https://www.bbc.com/thai/articles/cxw2pk1gyl9o
- https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=894624086040884&id=100064799020029&mibextid=JOZb8W&rdid=2TWlpBnOpe3Ldcqf
- https://www.facebook.com/share/v/hxDh8pEdmwadPjXd/
- https://thematter.co/social/blackchin-tilapia-in-samut-sakhon/229329?fbclid=IwY2xjawERoxRleHRuA2FlbQIxMAABHWjmTdoWv04sWcGbiaynCv0vIuqCr1JA77c2ur8qUzS9NYKyj1i6kh6Azg_aem_aYHNiZ0FeSu-j88SZiLNLA
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/342398
- https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/40529.pdf?fbclid=IwY2xjawEzyplleHRuA2FlbQIxMAABHY4y-1_dwzL_nvW9muYOilQS6mzLgw3UAl0UbU8UOEZGJ-G04UfaPhsIDg_aem_FCZ6zcktJH_Uawbi-iSVJA
- https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2809289
Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com