Lampang city : เมื่ออยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน อนาคตจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง

เรื่อง: พินิจ ทองคำ

การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเชื่อมต่อภายในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว มีข้อมูลทางสติถิที่บ่งชี้ว่าคนไทยใช้โซเชียลมีเดียผ่าน Facebook มากเป็นอับดับหนึ่ง มีผู้ใช้ทั้งสิ้น 48.10 ล้านคน อิทธิพลของการสื่อสารจึงถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการพบปะในชีวิตจริงสู่การย่อโลกไว้ในแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำให้การสร้างความสัมพันธ์รวดเร็วขึ้น รู้จักกันได้มากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลาย เช่น การติดต่อค้าขายที่หมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ การรับฟังความคิดเห็นท่ามกลางประเด็นที่หลากหลาย การสะท้อนความเห็นต่อการพัฒนาเมือง รวมไปทั้งการผลักดันประเด็นทางสังคมหรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

“ Lampang City ” เป็นกลุ่มการสื่อสารที่อยู่ในพื้นที่แพลตฟอร์มของ Facebook ปัจจุบันมีสมาชิกภายในกลุ่มมากถึง 308,465 บัญชี เป็นกลุ่มบนแพลตฟอร์ม Facebook ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประชาชนจังหวัดลำปาง เนื้อหาภายในกลุ่มสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ของจังหวัดลำปาง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์, การซื้อขายสิ่งของต่าง ๆ ในพื้นที่, การร้องเรียนเรื่องราวสาธารณะ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งเป็นพื้นที่เพื่อการสื่อสารงานกิจกรรมที่เกิดขึ้นของภาคเอกชนและหน่วยงานราชการ

เครือข่ายผู้ใช้กว่า 3 แสนบัญชี ทำให้มีการตั้งคำถามถึงวันนี้และอนาคตของ Lampang city จะเป็นอย่างไร de Lampang  จึงเชิญ คุณเกรียงเดช สุทธภักติ ผู้ก่อตั้งและหนึ่งในแอดมินกลุ่มมาร่วมพูดคุยด้วยกัน

คุณเกรียงเดช สุทธภักติ

นิยามความหมายของกลุ่ม Lampang city นั้น คุณเกรียงเดช อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า “นิยามจริง ๆ เริ่มจากกลุ่มคนไม่กี่คนที่คิดว่าคนในจังหวัดลำปางนั้น มีคนสองจำพวก พวกแรกที่มีจำนวนมาก คือ เรียนมากแต่ไม่มีโอกาสได้เป็นผู้นำ ส่วนพวกที่สอง เป็นผู้นำแต่เรียนไม่มาก จึงมีการจัดตั้งกลุ่มที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดคุยกันในเรื่องทั่วไป ต่อมาเมื่อจำนวนสมาชิกภายในกลุ่มเพิ่มขึ้น นิยามของกลุ่มจึงกลายเป็นปากเสียงของคนลำปาง ทำตัวเป็นกล้องวงจรปิดที่ไม่มีเสียง นำเสนอความเป็นลำปางให้มากที่สุด” 

เมื่อสอบถามถึงเรื่องมิติการเปลี่ยนแปลงจังหวัดลำปางผ่านการใช้กลุ่ม Lampang city นั้น มีการอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “หน่วยงานราชการในยุคราชการนิยม มองกลุ่ม Lampang city เป็นกลุ่มอุปสรรค ไม่ควรเข้าใกล้ ไม่ควรไปสื่อสารในกลุ่ม แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมา ข้าราชการรุ่นใหม่มีการปรับเปลี่ยนการทำงาน การสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน จึงเกิดการรับรู้ของหน่วยงานราชการที่เพิ่มมากขึ้น”

“ความต้องการของคนลำปางไม่ถูกนำเสนอไปยังผู้มีอำนาจ การพัฒนาเมืองมาจากการอุปโลกน์ของคนไม่กี่คน ไม่ใยดีต่อความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่ผ่านมามีการจัดทำโพลรับฟังความคิดเห็นภายในกลุ่ม ความต้องการหลักของคนลำปาง คือ มีงานทำ มีรายได้ กลับมาทำงานที่บ้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกัน ผู้มีอำนาจกลับพยายามอนุรักษ์ทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม” คุณเกรียงเดช กล่าว

กลยุทธ์การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญของการดำรงอยู่ของกลุ่ม การบริหารจัดการย่อมมีกลยุทธ์ที่ต้องบาลานซ์ระหว่างความขัดแย้ง ความรู้สึก ความแตกต่าง และความหมายหลาก กลุ่ม Lampang city ย่อมมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกันเมื่อการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงนับว่ามีจุดที่น่ากังวลไม่น้อย

“สมาชิกกลุ่มจำนวนกว่า 100,000 คน คือ คนลำปางที่อยู่อาศัยนอกจังหวัด ต้องการติดตามว่าแต่ละวันลำปางเป็นอย่างไร กลยุทธ์สำคัญของการดำเนินงานต้องทราบว่าสมาชิกต้องการและรับรู้เรื่องอะไรบ้าง ต้องมีวิธีการนำเสนอด้วยความสร้างสรรค์ที่มีส่วนร่วมจากหลาย ๆ คน อาจมีความขัดแย้ง แต่ต้องเป็นความขัดแย้งที่ถกเถียงและอยู่ร่วมกันได้” 

คุณเกรียงเดชอธิบายเพิ่มเติมว่า “แอดมินมีการวิจัยและวิเคราะหฺ์เชิงลึก พบว่า กลุ่มคนอายุ 24 – 35 ปี เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกมากที่สุด ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนอายุ 18 – 24 ปี กลับเป็นกลุ่มอายุที่ขาดหายไป อนาคตของ Lampang city มีความน่ากังวล เพราะ กลุ่มคนรุ่นดังกล่าวต้องเป็นกลุ่มที่ต้องเติบโตมาทดแทนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มอื่นที่คนกลุ่มนี้ให้ความสนใจ”

ที่ผ่านมา Lampang city มักมีคำถามจากประชาชนอยู่เสมอถึงการสื่อสารประเด็นทางสังคมหรือประเด็นทางการเมือง หลายครั้งที่แอดมิดบางคนเลือกที่จะปิดกั้นการโพสต์ข้อความที่สื่อนัยยะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องดังกล่าว หรือปิดกั้นสมาชิกกลุ่ม แต่เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ประชาชนกลายเป็นผู้ที่ตื่นรู้และเกิดสำนึกการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มจึงเกิดขึ้น

คุณเกรียงเดช มีความเห็นว่า “การสื่อสารประเด็นทางสังคมและประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง อนาคตของระบบการเมืองต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย แม้แต่การบริหารของผู้มีอำนาจ ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน เช่น การสอบถามว่างบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำไปใช้ในโครงการใด เป็นต้น สถานการณ์ตอนนี้เป็นโอกาสของประชาชนที่มีอำนาจสำหรับการจัดการพื้นที่ ลำปางเป็นเมืองที่น่าน้อยใจ มีเพียงกลุ่มคนไม่กี่คนที่อำนาจการตัดสินใจ, คิดแทน, หวาดกลัวกับสิ่งที่ตัวเองควบคุมไม่ได้”

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว อนาคตของ Lampang city เป็นอย่างไร มิอาจมีผู้ใดล่วงรู้อนาคต เสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ที่ดังที่สุด อนาคตของลำปาง คนลำปางต้องกำหนดเอง อนาคตของกลุ่มด้วยเช่นกัน

“เตรียมการวางแผนอนาคตไว้ว่าอยากให้กลุ่มมีชีวิต ปัจจุบันกลุ่มกลายเป็นเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยแอดมิน การเลือกตั้งแอดมินกลุ่มจากสมาชิกที่ผ่านการเสนอชื่อเพื่อเลือกตั้งเป็นเรื่องที่หวังไว้ กลุ่มต้องกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ประชาชนสะท้อนความต้องการของตัวเอง ผู้มีอำนาจจะทำเรื่องอะไรต้องถามประชาชนก่อน ให้กลุ่มและประชาชนอยู่เหนือผู้มีอำนาจทั้งหลาย”

ท้ายที่สุด ทุกสังคมย่อมเกิดพลวัตของการเปลี่ยนแปลง แม้แต่เทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจจะเป็นสิ่งที่ล้าหลังในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง หากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน ผู้มีอำนาจไม่ฟังเสียงของประชาชน การเจริญเติบโตของเมืองย่อมเป็นไปด้วยความสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะมีทรัพยากรที่สมบูรณ์มากเพียงใด ความล้มเหลวย่อมเกิดขึ้นและส่งให้เมืองแห่งนั้นเป็นยักษ์หลับอย่างสมบูรณ์สำหรับลำปางในห้วงเวลานี้ ความหวังครั้งใหม่กำลังริเริ่มปักฐาน “Lampang city” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะของเครื่องมือของยุคเปลี่ยนผ่านที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


คอลัมน์ de Lampang เรื่องราวที่ลำปาง ผ่านมุมมองของนักสงสัยอิสระโดย พินิจ ทองคำ ชวนพุ่งตรงกับประเด็นอย่างตรงไปตรงมา ค้นคว้าค้นหาอย่างสนุกสนาน นำเสนอข้อมูลด้วยความกล้าหาญ วันนี้จึงขอชวนทุกคนเป็นนักสงสัยไปด้วยกัน พร้อมกับการเจริญเติบโตของลำปางและรัฐไทย

ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง