งานประเพณี ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เกิดขึ้นเมื่อไหร่?

เรื่อง: ศตวรรษ ไรนุ่น

ถ้าถามถึงเดือนพฤศจิกายน มีวันสำคัญอะไร? หลายคนคงตอบได้ว่ามี “วันลอยกระทง”

วันลอยกระทงเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไปในประเทศ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ โดยจะมีกิจกรรมที่ให้ผู้คนพากันทำ “กระทง” จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน แล้วนำไปลอยในสายน้ำ โดยตามความเชื่อในปัจจุบันเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา หรือเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก

แนวคิดและที่มาของประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ มาจากนายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2520 และต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรในระหว่าง พ.ศ. 2541-2542 ได้เสนอให้จังหวัดสุโขทัย “พลิกฟื้น” ประเพณีนี้ขึ้นและจัดให้เป็นงานใหญ่ระดับชาติ มีจุดประสงค์สำคัญคือสร้างสุโขทัยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจ


ภาพ: ททท.สำนักงานสุโขทัย (TAT Sukhothai Office)

ประเพณีนี้อาศัยการตีความจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ได้มีการกล่าวถึงเทศกาลประเพณีในเมืองสุโขทัยคือ “…คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐิน เดือนณึ่งจิ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐิน เถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลอง ด้วยเสียงพาดเสียงพิณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ มีดั่งจักแตก…”

โดยเนื้อความในจาลึกที่กล่าวถึง ประเพณีและพิธีกรรมหลังช่วงออกพรรษา ในเดือน 11 ถึงเดือน 12 โดยเฉพาะเนื้อความที่กล่าวว่า “ท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ” นั้น นายนิคม มูสิกะคามะและคณะได้ตีความถึงเทศกาลว่าเป็น การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที และได้ให้ชื่อเทศกาลนี้ตามคำในศิลาจารึกว่า “งานเผาเทียนเล่นไฟ” ซึ่งนำไปสู่แนวคิดการจัดงานประเพณี โดยมีจุดเน้นที่เป็นหัวใจคือ การ “ฟื้นฟู” ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน และการเล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดต่าง ๆ มีการเริ่มจัดงานอย่างใหญ่โตตั้งแต่ พ.ศ.2520

โดยจัดงานขึ้นครั้งแรก วันที่ 24-26 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีกิจกรรมในงานเริ่มต้นด้วยการทำพิธีบวงวรวงพระแม่ย่า หน้าศาลกลางจังหวัดสุโขทัย  จากนั้นเคลื่อนขบวนไปประกอบพิธีสดุดี บูรพกษัตราธิราชและบรรพชนสุโขทัย ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และทางจังหวัดสุโขทัยจัดขบวนแห่กระทงจำนวน 11 ขบวน ประกอบด้วย

ขบวนที่ 1.ขบวนพนมหมาก พนมดอกไม้, ขบวนที่ 2.ชุดรำบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, ขบวนที่ 3.ดนตรีปี่พาทย์ ประกอบขบวนที่, ขบวนที่ 4.ขบวนช้างประมาณ 20 เชือก, ขบวนที่ 5.ขบวนเกวียนกระทงและนางนพมาศ, ขบวนที่ 6.ขบวนกระทงจากลูกเสือชาวบ้านอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัย, ขบวนที่ 7.ดนตรีปี่พาทย์สำหรับฟ้อนกระทง, ขบวนที่ 8.ขบวนม้า, ขบวนที่ 9.ขบวนวัว เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อความในจารึกที่ว่า “…จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย…”, ขบวนที่ 10.ขบวนกลองยาวการฟ้อนรำพื้นเมือง และขบวนที่ 11.ขบวนเบ็ดเตล็ด มีทั้งการฟ้อนรำ ตลกหัวโต และเดินไม้สูง


ภาพ: ททท.สำนักงานสุโขทัย (TAT Sukhothai Office)

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานทรงลอยพระประทีปเป็นปฐมฤกษ์ 

หลังจากจัดงาน “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย” ในครั้งแรก การจัดงานประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากคนไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนการ ทำให้การจัดงานประเพณีดังกล่าวได้รับการสืบต่อมาจนกลายเป็นงานเทศกาลประจำปีระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากขึ้นตามลำดับ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในงานมีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละปี

ในปี พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นปีฉลอง 700 ปี ลายสือไท จึงได้มีการขยายวันขึ้นเป็น 7 วัน 7 คืน และในปีต่อๆมาได้มีการเพิ่มจำนวนวันจัดงานติดต่อกันขึ้นเรื่อยๆจนถึง 10 วัน 10 คืน มีรูปแบบการจัดกิจกรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ช่วงเช้ามีพิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข ด้วยการตักบาตรทำบุญ ต่อด้วยประกวดกระทง โคมชัก โคมแขวน ขบวนแห่จุลกฐิน รับ 12 กัณฑ์ ในช่วงบ่ายแห่อัญเชิญพระประทีป กระทงพระราชทาน ขนวบแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอจังหวัดสุโขทัย และในช่วงเย็นการแสดงประกอบแสงสีเสียง พิธีเผาเทียนเล่นไฟ เป็นต้น


ภาพ: ททท.สำนักงานสุโขทัย (TAT Sukhothai Office)

ซึ่งในปี พ.ศ.2566 จะเริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ที่ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยภายในงานจะมีกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งวันและหลายโซน ดังนี้
โซนที่ 1 : การแสดงแสงเสียงสุดตระการตา
โซนที่ 2 : Check in Landmark โซนสีสันแห่งสายน้ำมหกรรมลอยกระทง  บริเวณหน้าวัดชนะสงคราม (จัดโดย ททท.)
โซนที่ 3 : การประกวดโคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ กระทงเล็ก บริเวณหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
โซนที่ 4 : การประกวดกระทงใหญ่ บริเวณตระพังตาล
โซนที่ 5 : การแสดงพลุตะไล ไฟพะเนียง
โซนที่ 6 : การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ และละครหุ่น
โซนที่ 7 : การแสดงจำลองวิถีชีวิตสมัยกรุงสุโขทัย
โซนที่ 8 : เที่ยวชมตลาดบ้านบ้านสุโขทัย
โซนที่ 9 : เที่ยวชมตลาดแลกเบี้ยสุโขทัย – ตลาดรอบรั้วเมืองพระร่วง
โซนที่ 10 : การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์สุโขทัย (จัดโดย อพท.4) 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ที่น่าตื่นตาตื่นใจ และสนุกสนานที่รอให้ทุกคนมาสัมผัสกันอีกมากมายทั้ง การจัดตลาดโบราณ ตลาดประสาน การจัดประกวดกระทง โคมซัก โคมแขวน ประกวดนางนพมาศ การแสดงทางศิลปะวัฒนธรรม การแสดงพลุตะไล ไฟพะเนียง และการแสดงแสงเสียง สุโขทัย


ภาพ: ททท.สำนักงานสุโขทัย (TAT Sukhothai Office)

จากหลักฐานเราจึงทราบได้ว่าจังหวัดสุโขทัยได้มีการเริ่มจัดงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ขึ้นผ่านมาแล้ว4ทศวรรษ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และยังเป็นเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์และนำรายได้มาสู่จังหวัดสุโขทัยนั่นหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะเข้ามาสู่จังหวัด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่สร้างรายได้ในธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยที่สุดในรอบปี

อ้างอิง

1.วริศรา ตั้งค้าวานิช, ประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗), หน้า ๒๕๔-๒๖๐.

2.คนลูกทุ่ง.ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ : เทศกาลและประเพณีประดิษฐ์ หนึ่งในประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เพิ่งสร้าง(ออนไลน์).2558. (30 กันยายน 2566)

3.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย (ออนไลน์).2566. (1 พฤศจิกายน 2566)

4.กระทรวงวัฒนธรรม, ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองมรดกโลก (กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕63), หน้า 37-49.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง